ประเด็นช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล คือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยมายาวนาน
การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่เพียงแค่การมอบอุปกรณ์การเรียนรู้ แต่จำเป็นต้องวางไปถึงรากฐานของหลักสูตรวิชาต่างๆ ไปจนถึงการแนะแนวเส้นทางการศึกษาให้กับเด็กๆ เพื่อต่อยอดไปสู่อนาคต
UOB My Digital Space (UOB MDS) คือโครงการที่มุ่งเน้นการลดช่องว่างทางการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ตั้งแต่วิชาพื้นฐาน ไปจนถึงวิชาการเงินที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยความร่วมมือระหว่าง ธนาคารยูโอบี และ โครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีนักเรียนในหลากหลายพื้นที่ได้รับการสนับสนุนทั้งห้องเรียน อุปกรณ์เทคโนโลยี หลักสูตรดิจิทัล และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ มีจำนวนนักเรียนได้รับประโยชน์ทั้งหมดมากกว่า 10,000 คน และมีนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลกว่า 3,800 คน
ความสำเร็จของโครงการไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขข้างต้นเท่านั้น แต่เป็นต้นแบบของการวางรากฐานระบบการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้นจริง ลองไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ ที่จะเปลี่ยนอนาคตของการศึกษาไทยให้ไม่เหมือนเดิม
เนรมิตห้องเรียนดิจิทัล ปัจจัยแรกในการเรียนรู้
เพราะบรรยากาศในห้องเรียน คือจุดเริ่มต้นที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ โครงการ UOB MDS จึงตั้งต้นด้วยการเนรมิตห้องเรียนใหม่ ช่วยปรับปรุงและตกแต่งห้องเรียนให้สวยงาม สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ให้สมกับเป็นห้องเรียนดิจิทัลอย่างแท้จริง พร้อมกับมอบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การเรียนรู้ต่างๆ ที่จำเป็น โดยมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 คนต่อ 1 เครื่องให้เพียงพอต่อจำนวนของเด็กนักเรียน ซึ่งในปี 2565 ได้มอบห้องเรียนดิจิทัลให้กับ 3 โรงเรียน ปี 2566 จำนวน 3 โรงเรียน และล่าสุดปี 2567 อีกจำนวน 2 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 8 โรงเรียน 8 จังหวัด เรียกว่าเป็นการตั้งต้นจากการให้ความสำคัญกับฮาร์ดแวร์ในการเรียนรู้
สนับสนุนหลักสูตรดิจิทัล พัฒนาทักษะวิชาเรียน
หลังจากที่ได้รับฮาร์ดแวร์แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือซอฟต์แวร์ในการเรียนรู้ โดยโครงการ UOB MDS ได้มอบหลักสูตรดิจิทัลในวิชาพื้นฐาน ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผ่านแพลตฟอร์ม Learn Education และวิชาภาษาอังกฤษ ผ่านแพลตฟอร์ม Winner English ในรูปแบบสื่อการสอนที่มีทั้งวิดีโอ แบบฝึกหัด และเกม ที่ออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้ครูสามารถจัดการการเรียนการสอนได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเด็กก็สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีการวัดผลได้ทันที ส่งผลให้การวัดผลสัมฤทธิ์ในปีการศึกษา 2566 ที่มีการเก็บข้อมูลใน 3 โรงเรียนเป้าหมาย เด็กนักเรียนที่ผ่านการเรียนในห้องเรียนดิจิทัล มีผลการเรียนทั้ง 3 วิชาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แนะแนวเส้นทางการศึกษา วางรากฐานวิชาการเงิน
นอกจากวิชาการพื้นฐานที่โครงการ UOB MDS ได้เข้าไปดูแลแล้ว การแนะแนวเกี่ยวกับความถนัดและเป้าหมายในการเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ โครงการจึงได้สนับสนุนแพลตฟอร์มแนะแนวออนไลน์ a-chieve เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้ามาปรึกษาเส้นทางการศึกษาของตนเองได้ตลอดเวลา เพื่อตั้งเป้าหมายในชีวิตและการประกอบอาชีพในอนาคตได้ตามความถนัดของตนเอง
อีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการ คือการริเริ่มหลักสูตรเรียนรู้การเงินสำหรับเยาวชน “UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน” ช่วยสร้างทักษะความรู้และภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับการเงินให้ตั้งแต่วัยเรียน เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่มีหลักสูตรในลักษณะนี้ ทำให้หลายหน่วยงานด้านศึกษา มองเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานแนวคิดด้านการเงินตั้งแต่ยังเด็ก
ความสำเร็จของเด็ก ไม่หยุดแค่หลักสูตร
ความสำเร็จของโครงการ UOB MDS คงไม่มีตัวเลขหรือสถิติไหนจะวัดผลได้ดีไปกว่าความรู้สึกของเด็กๆ ที่ต่างให้ความเห็นว่า การเรียนรู้ผ่านห้องเรียนดิจิทัลทำให้ทัศนคติต่อการเรียนสนุกมากขึ้น มีส่วนร่วมกับวิชาเรียนมากขึ้น ไม่น่าเบื่อ โดยเฉพาะการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถกลับมาดูซ้ำ หรือกลับมาทบทวนบทเรียนตอนไหนก็ได้ ไม่ต้องรอคาบเรียน สามารถทำแบบฝึกหัดซ้ำได้มากเท่าที่ต้องการ ส่งผลให้ผลการเรียนดีขึ้น และการมีคอมพิวเตอร์พร้อมกับอินเทอร์เน็ต ช่วยให้เปิดโลกกว้างการเรียนรู้ ตามเทรนด์โลกได้ทัน การเรียนรู้ของเด็กๆ จึงไม่หยุดอยู่แค่หลักสูตรที่กำหนดไว้ แต่เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่จะทำให้อนาคตของพวกเขาชัดเจนขึ้นอย่างแน่นอน
ความสำเร็จของครู สู่อนาคตการศึกษาไทย
ไม่เพียงแค่ความสำเร็จในเชิงความรู้สึกของเด็กๆ เท่านั้น แต่สำหรับมุมมองของคุณครูที่ได้ใช้เครื่องมือและหลักสูตรของโครงการ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สื่อดิจิทัลช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดภาระของครู ทำให้ดูแลเด็กได้ทั่วถึงขึ้น โดยที่เด็กเองมีความสนใจในเนื้อหาการเรียนมากขึ้น ทำความเข้าใจกับเนื้อหาต่างๆ ได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือลดข้อจำกัดในการสอนเด็กพื้นที่ห่างไกล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไปพร้อมๆ กับการพัฒนารากฐานการศึกษาของไทยให้เข้มแข็งต่อไป