ในยุคที่ผู้ประกอบการ (SMEs) ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่เริ่มปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายของความยั่งยืน
จากความเชื่อที่ว่า พลังเล็กๆ เมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นพลังใหญ่ที่ช่วยให้โลกยังเดินหน้าต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานและรุ่นต่อๆ ไปได้อย่างมีความสุข
แต่คำถามเกิดขึ้นว่า แล้ว SMEs ที่กำลังเติบโตเหล่านี้ จะเริ่มต้นก้าวย่างสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร?
SMEs หลายรายอาจอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นแนวทางความยั่งยืนอย่างไรดี หลายรายได้ลงมือทำแล้วแต่ไม่รู้จะเดินหน้าต่ออย่างไร
คำตอบที่เราได้จาก คุณพณิตตรา เวชชาชีวะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Financial Institutions และ ESG Solutions ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย คือ “เราต้องเดินไปด้วยกัน”
ความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกองค์กร
เราเชื่อว่า หลายคนมองความยั่งยืนเป็นเรื่องระดับมหภาค ความร่วมมือระดับโลก การออกนโยบายระดับชาติ หรือการประกาศเป้าหมายการพัฒนาเพื่อก้าวเข้าใกล้โลกสีเขียวขององค์กรยักษ์ใหญ่ แต่คุณพณิตตราได้บอกกับเราว่า ปัจจุบันความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของภาครัฐ หรือองค์กรขนาดใหญ่อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ SMEs ต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ด้วย
“ความยั่งยืนจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เข้มแข็ง แตกต่าง และยืนหยัดต่อความท้าทายที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นจากกฎระเบียบระดับนานาชาติที่เปลี่ยนแปลงไป จากกฎหมายของประเทศที่จะเริ่มผลักดันเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น จากความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน หรือจากความต้องการของนักลงทุนรายใหญ่ที่พร้อมจะลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้าน ESG มากยิ่งขึ้น”
คุณพณิตตราเล่าว่า เมื่อไม่นานมานี้ ยูโอบีได้สำรวจ SMEs ไทยกว่า 500 บริษัทในเชิงลึก และพบว่า จริงๆ แล้วกว่า 90% ของ SMEs ทราบว่าการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ดี มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่เริ่มผสานความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่า SMEs เอง ก็ให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืน แต่อาจยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี
ผลสำรวจพบว่า อุปสรรคที่ทำให้ SMEs ไม่สามารถผสานความยั่งยืนเข้าไปในองค์กรได้เท่าที่ควร เรื่องแรกก็คือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจกระทบกับเรื่องผลกำไร และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ยังขาดทรัพยากรที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ การเริ่มต้นทำเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับ SMEs
“เมื่อเป็นเรื่องเงินทุนหรืองบประมาณที่ต้องเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นจุดที่ธนาคารพร้อมให้ความสนับสนุน ด้วยบทบาทของเราที่เป็นทั้งแหล่งเงินทุน แหล่งความรู้ และแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่หมายรวมถึงเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของ SMEs โดยยูโอบีต้องการให้ความยั่งยืนไม่เพียงเกิดขึ้นในกระบวนการทำงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นแนวคิดพื้นฐานในการสานต่อธุรกิจต่อในอนาคตด้วย”
ยูโอบีจึงเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกๆ ในประเทศ ที่ได้เข้ามาดูในเรื่ององค์ความรู้ด้านความยั่งยืนแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความพร้อมในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ นอกเหนือไปจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Smart Business Transformation, Sustainability Innovation Programme และโครงการ GreenTech Accelerator ที่ล้วนมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการถ่ายทอดความรู้และส่งต่อแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนให้แก่ SMEs ในทุกอุตสาหกรรม
คุณพณิตตรายังเสริมต่ออีกว่า เทรนด์เรื่องความยั่งยืนในปัจจุบันนั้นกำลังมีพัฒนาการที่สำคัญในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเพื่อให้ไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งได้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในทั่วทุกอุตสาหกรรม
“SMEs อาจต้องเริ่มพิจารณาว่า ถ้าการบังคับใช้ พ.ร.บ. นี้เกิดขึ้นจริงแล้ว จะส่งผลอย่างไรกับธุรกิจของเรา ขั้นตอนต่อไปจะต้องเป็นอย่างไร แล้วเราจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ และมีแหล่งเงินทุนจากไหนที่เราจะเข้าถึงได้บ้าง เพราะฉะนั้นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจากธนาคาร จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนกิจกรรมการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้”
การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเป็นหนึ่งในแผนที่ยูโอบีวางไว้เพื่อการเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน และเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 สำหรับ 2 หมวดธุรกิจหลักที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมภายใต้ Built Environment และพลังงาน พร้อมกับการสนับสนุนให้ SMEs สามารถดำเนินงานด้านความยั่งยืนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยเงินลงทุน องค์ความรู้ที่จะช่วยเป็นแนวทางในภาคปฏิบัติ และสร้างความยั่งยืนในอนาคตร่วมกันระหว่าง SMEs และธนาคาร
“เราจะต้องช่วยให้ลูกค้าเดินไปได้ในทางเดียวกับเรา นั่นจึงเป็นที่มาที่ยูโอบีจัดทำ Sustainable Finance Frameworks เพื่อกำหนดว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างที่ยูโอบีจะให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ซึ่งต้องเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่น (Do no significant harm) เช่นเดียวกันกับจุดมุ่งหมายของธนาคารที่ต้องการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน (Build Sustainable Future for ASEAN)”
ปัจจุบัน Sustainable Finance Frameworks ของยูโอบีครอบคลุม 6 กิจกรรม ได้แก่ สินเชื่อเพื่ออาคารสีเขียว (Green Building) สินเชื่อเพื่อเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สินเชื่อบริการและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Trade Finance) สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Financing) และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรม (Food and Agribusiness)
สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน และ UOB Sustainability Compass
แต่ก่อนที่จะไปถึงการขอสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนได้นั้น SMEs เองจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบริษัทของตนนั้นมีสถานะด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับใด นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า UOB Sustainability Compass ซึ่งเป็นแบบทดสอบง่ายๆ ที่ช่วยประเมินสถานะของการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนสำหรับ SMEs ที่ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม โดย SMEs จะได้รับรายงานที่จะเป็นเสมือนคู่มือในการดำเนินการเรื่องของความยั่งยืนที่เฉพาะเจาะจงกับอุตสาหกรรมและระดับความพร้อมของธุรกิจนั้นๆ
“UOB Sustainability Compass เราทำร่วมกับ PwC เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับ SMEs ได้สำรวจความพร้อมของบริษัทในเรื่อง ความยั่งยืน ผ่านการตอบคำถาม Yes / No จำนวน 14 ข้อ โดยจะครอบคลุม 8 ภาคธุรกิจ หลังจากตอบคำถามหมดเรียบร้อยแล้ว SMEs จะได้รับรายงานที่บอกว่า ณ ปัจจุบัน ระดับความยั่งยืนของบริษัทอยู่ในจุดไหน ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น (Starter) ปานกลาง (Intermediate) หรือสูง (Advanced) ในรายงานจะมี Roadmap ของการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ใน 5 ขั้นตอน ตั้งแต่การทำความเข้าใจ การวัดผล การกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมาย การดำเนินการตามกลยุทธ์ และการประยุกต์ใช้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนแบบบูรณาการ พร้อมกับรายละเอียดในแต่ละขั้นตอน โดยมีข้อมูลจำเพาะของกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และมาตราฐานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงคำแนะนำเกี่ยวกับโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางในการจัดการด้านความยั่งยืน เราอยากให้ UOB Sustainability Compass เป็นเสมือนเข็มทิศที่ชี้นำทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
“Sustainability Compass จะจุดประกายให้ SMEs ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ จากปัจจัยและสถานการณ์ต่างๆ หรือแม้แต่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องใน value chain เช่น แรงกดดันจากลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการให้คู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจจัดการเรื่องความยั่งยืน กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง SMEs จำเป็นต้องประมวลผลว่าตนอยู่จุดไหน และสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อจัดการด้านความยั่งยืน ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต”
เดินสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งในไทย และทั่วภูมิภาค
จากข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2567 มีธุรกิจที่ใช้บริการ UOB Sustainability Compass หลังจากการเปิดตัวครั้งแรกที่สิงคโปร์และมาเลเซียไปแล้วกว่า 1,700 บริษัท โดยในเมืองไทยของเราได้เริ่มต้นแนะนำให้กับลูกค้าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และกว่า 400 บริษัทในไทยได้ใช้เครื่องมือนี้ เป้าหมายต่อไปคือการเปิดตัวที่ประเทศอินโดนีเซียในปลายปีนี้
“เรามองว่า นอกเหนือจากการสนับสนุนในมุมของโซลูชันทางการเงินของเรา อย่างสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เรายังอยากให้การสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ ให้ธุรกิจสามารถเริ่มต้นการดำเนินการด้านความยั่งยืนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของ UOB Sustainability Compass และโครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนต่างๆ”
นอกจากผลลัพธ์ในการตอบรับความต้องการของลูกค้าแง่ความยั่งยืนของธุรกิจในทางตรงแล้ว ความยั่งยืนยังส่งต่อแรงกระเพื่อมถึงสังคม ชุมชน และผู้คน ตามเป้าหมาย Sustainability Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การให้ความรู้และทักษะด้านความยั่งยืนในทุกระดับ และการสนับสนุนทางการเงินผ่านสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน