ก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ออกมาเจอกับโลกกว้าง ทุกคนย่อมผ่านวัยเด็ก วัยที่มีแค่บ้านกับโรงเรียน วัยที่ปัญหารอบตัวคือเรื่องใหญ่โตเสมอ แต่เพียงเวลาผ่านไปไม่กี่สิบปี เทคโนโลยีได้เปิดโลกอีกใบให้กับเด็กนั่นคือโลกออนไลน์
กับหลายคน โลกแห่งนี้แสดงออกถึงความคิดความเห็นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเปิดเผยใบหน้า และกับบางคนที่บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าโลกเสมือนจริงแห่งนี้ไม่ใช่โลกของเรา เพราะเต็มไปด้วยคำพูดทิ่มแทงโดยคนแปลกหน้าที่อาจจะใกล้ตัวมากจนไม่อยากนึกถึง
เสียงพูดจา ที่ดังกว่าเสียงขอความช่วยเหลือ
“หนูมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาเป็นเน็ตไอดอลหน้าตาน่ารัก ก็โดนหาว่าแอ๊บค่ะ สุดท้ายคือเขาก็ต้องออกจากโรงเรียนไป เพราะด้วยบุคลิกของเขาเป็นคนไม่ค่อยเข้าหาคนด้วย”
“การพูดหยอกล้อเรื่องรูปร่างหน้าตาค่ะ จริงๆ ด้วยความเป็นเพื่อนกันก็เลยไม่ค่อยซีเรียส แต่ถ้ากับคนไม่สนิทก็คิดว่านี่เป็นการบุลลี่แบบหนึ่ง”
หลายครั้งที่ความช่วยเหลือไม่ถูกส่งเสียงออกมา เพียงเพราะเจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร หรือคุ้มค่าแค่ไหนกับการต้องพยายามแก้ปัญหาที่เจ้าตัวไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหาด้วยซ้ำ หากแต่แท้จริงในจิตใต้สำนึกของวัยรุ่นหลายกลุ่มต่างก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหารุนแรง ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรจะต้องเจอกับเรื่องเหล่านี้
“สำหรับหนู เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะคะ เพราะมันกระทบทางจิตใจ ถ้าสะสมมากเข้าจนพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า มันทำลายชีวิตคนๆ หนึ่งได้เลยนะคะ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่มาจากเรื่องเล็กๆ ที่เกิดจากแค่ความสนุกปากของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าโดนเอง อาจจะเลือกโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต เพราะน่าจะให้คำตอบที่ถูกทางค่ะ”
โรงเรียน พื้นที่ควรปลอดภัย
ความคิดเห็นหนึ่งของครูมด – ณัฐวรา วงศ์ศรีแก้ว ในฐานะคุณครูแสดงให้เราเห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากพื้นที่ออฟไลน์อย่างในโรงเรียนก่อน แล้วค่อยขยายวงเข้าไปสู่โซเชียลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโพสต์สื่อสารทางเดียว เน้นเป็นพื้นที่เพื่อการระบายกับทุกเรื่องตั้งแต่ปัญหาส่วนตัวจนถึงเรื่องที่ขัดใจ หลายครั้งที่คลุมเครือจนกลายเป็นปัญหาใหญ่วกกลับมาในการใช้ชีวิตจริงประจำวัน
“ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กที่เด่นเกินไป หรือเก่งเกินไป แล้วไม่ค่อยเข้าสังคมกับเพื่อนเลย บวกกับเด็กทุกวันนี้ระบายทุกอย่างลงบนโซเชียลมีเดียถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ชนวนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ว่า ไม่รู้ว่าต้นทางโพสต์ถึงใคร แล้วพอเหตุการณ์พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน อีกฝั่งก็คิดว่าเป็นตัวเอง ปัญหาบางทีก็เกิดขึ้นจากในห้องเรียนนี่เอง”
การป้องกันปัญหาส่วนหนึ่งของคุณครูคือการใช้กิจกรรมเข้ามาช่วย เพื่อมองหาความผิดปกติท่ามกลางเด็กจำนวนมากๆ อย่างของคุณครูมด ก็เลือกในตารางเพื่อนสนิทช่วยในการหากลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาถูกบุลลี่ได้ในอนาคต
“วิธีคือให้นักเรียนเขียนชื่อเพื่อนสนิทลงในกระดาษ พอเขียนเสร็จคุณครูก็เก็บรวบรวมมา จากนั้นแล้วคุณครูเองก็กลับเอาไปทำเป็นการบ้าน ด้วยการโยงเส้นว่าแต่ละคนสนิทกับใคร จนครบทุกแผ่น คุณครูก็จะเห็นได้ในภาพรวมผ่านชาร์ตนี้เลยว่า จะมีนักเรียนอยู่แค่ไม่กี่คนที่ไม่มีเพื่อนโยงไปหาเลย ตัวนี้จะเป็นการบ่งบอกได้ว่าเด็กคนนี้เริ่มมีปัญหาแล้ว มีแนวโน้มถูกบุลลี่ วิธีการแก้ก็คือครูจะช่วยปรับความเข้าใจกับเขาว่ามนุษย์เรามีรากฐานจิตใจอย่างไร ให้เขาเข้าใจในการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ค่ะ”
Cyberbully ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์
จากทรรศนะโดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เท้าความคำว่า Bullying ในเชิงภาษาที่สัมพันธ์กับสภาพการณ์ทางสังคม “จริงๆ Cyber Bullying มันเป็นรูปแบบหนึ่งของ Bullying ซึ่งโดยตัวมันเอง มันหมายถึงการรังแก ซึ่งไปทับซ้อนกับการแกล้งกัน ซึ่งในสังคมไทยมันมีความหมายถึงความสนิทสนม การหยอกล้อและความสัมพันธ์ในเรื่องส่วนตัว แต่รังแกมันหมายความถึงในด้านลบเสียมากกว่า มันจึงทับซ้อนกันอยู่ระหว่างข้อดีของความสัมพันธ์ที่สนิทสนม กับข้อเสียของการทำร้ายความรู้สึก ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ”
เทคโนโลยีคือตัวแปรสำคัญที่เข้ามาขยายวงของการบุลลี่ จากเดิมที่การบุลลี่ทางกายภาพอาจต้องยกพวกเยอะกว่าถึงจะมีโอกาสชนะมากกว่า แต่โซเชียลมีเดียเข้ามาสร้างความเท่าเทียมบนพื้นที่ของการแสดงออก นั่นทำให้ความสามารถในการบุลลี่ของทุกคนใกล้เคียงกันมากขึ้น
“จากงานวิจัยเราพบว่า ในเด็กยุคใหม่คนที่ถูกรังแกและคนที่รังแกคนอื่น มันมีสัดส่วนเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แปลว่ามันมีการเอาคืนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนอกจากนี้เราพบว่าจุดเริ่มต้นก็คือมันจะเริ่มจากการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางวาจา แล้วก็ไปสู่ทางร่างกาย ไปสู่ทางสังคม แล้วก็ทางสังคมนี่แหละมันจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ Cyberbullying ซึ่งเทคโนโลยีมันทำให้รูปแบบการ บุลลี่ไปสู่ Cyber มันเลวร้ายมากขึ้น ปริมาณเยอะขึ้น ถึงแม้ความเจ็บปวดทางกายอาจจะไม่ได้เยอะ แต่ความเจ็บปวดทางใจมันจะรุนแรง เพราะลักษณะของการทำร้ายกันผ่าน Cyber จะวนเป็นลูปไปกลับอย่างไม่จบสิ้น”
เปิดตาดู เปิดใจฟัง
แล้วทางใดบ้างที่จะตัดขาดทำลายลูปของการกลั่นแกล้งนี้ลงได้? ดร.ธานี ได้ให้คำแนะนำ 2 แบบ เริ่มจากทางออกระยะยาวซึ่งอยู่บนพื้นฐานของอุดมคติ นั่นคือความเข้าใจระหว่างครอบครัวที่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงตัวตนของตัวเอง และกิจกรรมในโรงเรียนที่ควรเปิดกว้างมากพอให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เพื่อสร้างให้ทุกคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง พื้นที่ที่สบายใจและทำสิ่งที่สนใจเหล่านั้นได้ดี หากแต่ทางออกระยะยาวถูกสกัดกั้นด้วยความไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ให้กับคนรอบตัว สายด่วนหรือบริการแชตก็อาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับเด็กยุคโซเชียล เป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาที่สบายใจ บรรเทาความรู้สึกหนักอึ้งลงไปได้
สุดท้ายแล้ว การที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งในบทบาทลูก-พ่อแม่ หรือนักเรียน-คุณครู ลองเปิดตาดู เปิดใจฟัง น่าจะเป็นการค้นหาทางออกร่วมกันที่ดีที่สุด “ผู้ใหญ่ยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้ที่เกิดกับเด็ก เพราะว่ารู้สึกว่าเป็นเรื่องเด็กแกล้งกัน ทำไมอดทนไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าถ้าคุยกับเด็กเกือบทุกคนตอนนี้ เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นคำแนะนำของผมก็คือทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจในสังคมก็คือ เปิดตาดูแล้วจะเห็น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้วสำหรับเด็ก แต่แค่ผู้ใหญ่เรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง”
เรียนรู้แนวทางเพิ่มเติมที่ http://digiworld-th.parentzone.org.uk