ไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวน้ำเค็มรุกจนทำให้น้ำประปากร่อย พูดง่ายๆ ก็คือตอนนี้น้ำจืดในเขื่อนมีปริมาณน้อยลงทุกวัน ประกอบกับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นมาเรื่อยๆ น้ำเค็มจึงได้แทรกซึมเข้ามาผสมกับน้ำจืด จนทำให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่บางส่วนมีรสกร่อยหรือเค็ม
ที่ยกตัวอย่างเรื่องน้ำประปาขึ้นมาก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า วิกฤตภัยแล้งน่ะมันแสนจะใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด แถมล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยายังออกมาคาดการณ์ว่าปี 2563 นี้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญฝนแล้งยาวไปจนถึงเดือนมิถุนายน เพราะปริมาณของน้ำฝนนั้นต่ำกว่าค่าปกติถึง 3-5% ซึ่งความแล้งหนักนี้เข้าใกล้กับสถิติแล้งจัดๆ เมื่อปี 2522 เรียกได้ว่าตอนนี้ความต้องการใช้น้ำเริ่มจะสูงกว่าปริมาณน้ำที่เรามีสำรองอยู่ขึ้นทุกวันๆ น้ำซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต ถึงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนวิถีประจำวัน เพื่อรับมือกับวิกฤตภัยแล้งนี้อย่างจริงๆ จังๆ กันได้แล้วนะ!
น้ำในเขื่อนทั่วประเทศลดลงเข้าขั้นวิกฤต
ฤดูฝนใช่แค่ช่วงเวลาที่ทำให้เราชุ่มฉ่ำ แต่มันยังถือเป็นเวลาทองในการสะสมน้ำไว้สำรองใช้ในฤดูอื่นๆ ที่ฝนไม่ตกด้วย แต่ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมานั้นปรากฏการณ์เอลนีโญได้เข้ามาทักทายประเทศไทย ซึ่งเจ้าเอลนีโญนี้มีผลกระทบต่อภูมิอากาศโดยรวมของพื้นที่ชายฝั่งและส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยเป็นมาประมาณ 10% ไม่ใช่แค่นั้น มันยังทำให้ฝนทิ้งช่วงนาน 2 เดือน ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2562 และนั่นก็ทำให้เขื่อนมากกว่า 10 แห่งมีปริมาณน้ำน้อยลงเรื่อยๆ
ทีนี้ เมื่อฝนตกน้อย แต่ปริมาณการใช้น้ำของเรายังเท่าเดิมและมีแนวโน้มว่าจะใช้น้ำกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ มันก็คือการที่เราต้องเอาน้ำที่มีสำรองอยู่มาใช้ แต่พอเอามาใช้แล้วไม่ได้เติมกลับลงไป นั่นจึงทำให้ปริมาณน้ำลดน้อยลงทุกที จากข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 พบว่าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำสะสมอยู่แค่ประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำจริงถึง 3 เท่า ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศก็มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีก่อนอยู่ประมาณ 12%
ที่แน่ๆ ศูนย์วิจัยกสิรกรไทยได้ประเมินความเสียหายในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2562 ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีว่ามูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้นไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท
ฝนแล้งขาดช่วงยาวนานถึงครึ่งปี
กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะฝนแล้งไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2563 และในช่วงต้นปีแบบนี้ฝนก็จะตกในอัตราที่น้อยกว่าค่าปกติ 3-5% และเมื่อเทียบปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม 2562 กับเดือนมกราคม 2563 ยังพบอีกว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 14%
สิ่งที่น่ากังวลมากๆ คือ หากเราหวังจะสะสมน้ำฝนเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งแต่ฝนดันไม่ตกตามฤดูหรือตกมาในปริมาณน้อย เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งจริงๆ ทำให้มีน้ำใช้ไม่เพียงพอก็จะทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ค่าความเค็มของน้ำมากขึ้น สัญญาณบ่งบอกภัยแล้ง
ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นที่สุดในรอบ 40 ปีนี้ยังส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำประปากร่อยและเค็ม นั่นเพราะพอน้ำจืดในเขื่อนลดน้อยลงประกอบกับที่น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ความเค็มจึงเข้ามาปนกับน้ำจืดและผ่านเข้ามาในระบบผลิตน้ำประปาทำให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรสกร่อยหรือเค็มในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้เร่งผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเจือจางและดันน้ำเค็มออกไปให้มากที่สุด แต่ทั้งหมดก็อาจจะไม่รับประกันว่าปัญหาน้ำเค็มนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก นั่นเพราะน้ำในเขื่อนเราก็น้อยลงเรื่อยๆ ส่วนน้ำทะเลก็หนุนขึ้นสูงได้เรื่อยๆ อีกเหมือนกัน
จากการตรวจสอบพบว่า ในน้ำประปาตอนนี้มีค่าของเกลือผสมอยู่ที่ 400 – 800 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 100 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น แล้วอย่าลืมว่าในหนึ่งวันเราไม่ได้รับโซเดียมจากที่เดียว แม้ว่าคนที่สุขภาพดีจะยังดื่มน้ำประปารสปะแล่มๆ นี้ได้ แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ในระยะยาว ส่วนคนที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากกรณีนี้ก็คือผู้ป่วยโรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางสมอง ผู้สูงอายุรวมถึงเด็กเล็ก จึงควรหลีกเลี่ยง ซื้อน้ำขวดดื่มแทนแถมการใช้เครื่องกรองน้ำทั่วๆ ไปหรือต้มน้ำก่อนดื่มตามที่แชร์ๆ กันก็ไม่ได้ช่วยให้ความเค็มลดลง
ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ สถานการณ์น้ำประปากร่อยและเค็มเช่นนี้น่าจะอยู่กับเรายาวๆ ไปถึงเดือนพฤษภาคมเลยทีเดียว
East Water ชวนคนไทยร่วมกันดูแลทรัพยากรน้ำผ่านโครงการ สะกิดไทย ใส่ใจน้ำ
ชวนคนไทยร่วมกันดูแลทรัพยากรน้ำผ่านโครงการ สะกิดไทย ใส่ใจน้ำ เมื่อภัยแล้งไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ อีสท์ วอเตอร์ หรือบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำการบริหารการจัดการน้ำของประเทศไทยมากว่า 20 ปี จึงได้พัฒนาโปรเจกต์ที่จะทำให้เกิดการร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างจริงจังและยั่งยืน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาและป้องกันวิกฤตภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยสิ่งที่อีสท์ วอเตอร์ ตั้งใจทำก็คือเครื่องมือสื่อสารภายใต้แนวคิด URD ที่ง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย เพื่อให้ทุกคนนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ และนั่นหมายความการร่วมมือกันเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละที่จะเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในที่สุด
เตรียมตัวรับมือวิกฤตน้ำด้วยแนวคิด URD
การรับมือกับวิกฤตภัยแล้งไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปสำหรับทุกคน เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำในชีวิตประจำวันผ่านแนวคิด URD ที่ย่อมาจาก U = Useful คุ้มค่า R = Reserve คาดการณ์ และ D = Detect ควบคุม
แนวคิด URD นี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหน่วยครัวเรือน เกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม เพราะร่วมกันทั้งหมดนี้เราก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตน้ำในด้านต่างๆและช่วยประสานให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวได้ด้วย
U = Useful ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อวันนี้และวันข้างหน้า
วิธีบริหารและจัดการน้ำตามแนวคิด URD แบบแรกคือ U = Useful หรือความคุ้มค่า ซึ่งนั่นคือการใช้งานน้ำให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดน้ำ (Reduce) การนำน้ำที่ยังดีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อื่นๆ (Reuse) และการใช้น้ำที่ยังนำไปปรับปรุงหรือบำบัดให้เกิดคุณภาพใหม่ (Recycle) นั่นเอง
ตัวอย่างง่ายๆ ที่คุณทำได้ที่บ้าน เช่น คุณสามารถนำน้ำสุดท้ายจากการล้างผักไปรดต้นไม้ต่อ เวลาแปรงฟันหรืออาบน้ำอาจจะลองสังเกตตัวเองว่าขณะที่ทำความสะอาดร่างกายอยู่นั้น เปิดน้ำทิ้งให้ไหลไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลยหรือเปล่า นอกจากนั้นยังอาจเช็คท่อน้ำและก๊อกน้ำว่าติดตั้งดีหรือยัง มีตรงไหนชำรุดเสียหายจนทำให้น้ำรั่วไหลออกมาบ้าง
ส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ ก็อาจจะต้องคำนึงถึงการใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุดผ่านการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่จะช่วยให้กิจการสามารถนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ได้ ทั้งยังเป็นการลดการปล่อยน้ำเสียสู่สาธารณะไปอีกทางหนึ่งด้วยนะ
R = Reserve คาดการณ์ปริมาณน้ำเพื่อจัดสรรและสำรองไว้ใช้
วิธีการบริหารและจัดการน้ำตามแนวคิด URD แบบที่ 2 ก็คือ R = Reserve หรือการคาดการณ์การใช้น้ำให้เพียงพอต่อปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ พูดง่ายๆ ก็คือการหาสมดุลสำหรับการใช้น้ำ โดยประเมินว่าเรามีน้ำเท่าไหร่และเพียงพอต่อการใช้หรือไม่ ซึ่งการคาดการณ์ปริมาณน้ำที่เรามี ปริมาณที่เราจะใช้ ก็จะทำให้เราวางแผนในการจัดการน้ำรวมถึงวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็นไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนปริมาณน้ำที่จะใช้ในการเกษตรและวางแผนในการหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง ส่วนในโรงงานอุตสาหกรรมก็ควรจะต้องวางแผนการใช้น้ำในกระบวนผลิตอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการเสียสมดุลของการใช้น้ำในแต่ละเดือนจนส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำในที่สุด
D = Detect วางแผนและควบคุมการใช้น้ำให้สมดุลกับตัวเอง
วิธีการบริหารและจัดการน้ำตามแนวคิด URD แบบที่ 3 ก็คือ D = Detect หรือการควบคุมการใช้น้ำด้วยการวางแผนการใช้น้ำให้พอดีกับพฤติกรรมการใช้น้ำของตนเอง เพราะต้องไม่ลืมว่าการใช้น้ำทุกๆ หยดของเรานั้นล้วนสัมพันธ์กับการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม หากมองในภาพกว้างก็จะเห็นว่าน้ำหนึ่งแหล่งนั้นต้องกระจายให้เข้าถึงคนทุกคน ภาคการผลิตทุกภาค เสมือนว่าทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันนั่นเอง
การควบคุมการใช้น้ำอาจเริ่มต้นด้วยการวางแผนการใช้น้ำในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบันทึกข้อมูลการใช้น้ำ เพื่อประเมินการใช้น้ำที่ผ่านมาและคาดการณ์การใช้การในอนาคต นอกจากนั้นการบันทึกปริมาณการใช้น้ำเป็นประจำยังจะช่วยให้เราเห็นว่าในแต่ละเดือนเราใช้น้ำไปเท่าไหร่ แล้วเราใช้เพราะความจำเป็นหรือว่าเทมันทิ้งไปเฉยๆ กันนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://workpointnews.com/2020/01/07/drought-4/
http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TNECO6108270010020
https://www.bbc.com/thai/thailand-51004534