เชื่อเถอะว่าตั้งแต่ที่ พี่มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ริเริ่มสร้างอาณาจักรเฟซบุ๊กขึ้นมา ก็ดูเหมือนว่ามีคนอยู่สองจำพวกที่อยากจะแอดเฟรนด์มาส่องความเป็นไปของเราใจจะขาด
แน่ล่ะว่าพวกหนึ่งถ้าไม่ใช่แฟนใหม่ของแฟนเก่า ก็มักจะเป็นแฟนเก่าของแฟนใหม่ ส่วนอีกพวกนั้นดูจะน่าหวาดผวายิ่งกว่า เป็นชื่อที่ต่อให้ส่งรีเควสต์เพื่อแอดเฟรนด์มากี่ครั้ง ก็ทำเอาเรากระอักกระอ่วนใจ แกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ไม่เห็นไปเสียทุกที ซึ่งชื่อเหล่านั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็นสองคนที่เราใกล้ชิดที่สุด ทว่าก็พยายามจะทิ้งระยะห่างในโลกออนไลน์มากที่สุดเช่นกัน อย่างพ่อกับแม่เรานี่เอง
ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเพียงครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น ทว่ากลับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำหน้าที่สะท้อนถึงปัญหา ‘ช่องว่างภายในครอบครัวจากการใช้โซเชียลมีเดีย’ ในหลาย ๆ ครอบครัวทั่วประเทศ โดยมีข้อมูลงานวิจัยด้านการใช้โซเชียลมีเดียในครอบครัว จากโครงการสานรักของ AIS เป็นตัวช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะด้วยไลฟ์สไตล์ แง่มุมความคิด หรือความแตกต่างของช่วงวัย ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคที่กีดกันความสัมพันธ์ของคนสองรุ่นออกจากกันบนโลกออนไลน์โดยสิ้นเชิง ขณะที่พ่อแม่ใช้สิทธิ์ความเป็นห่วงเป็นใยพยายามจะเข้าไปสอดส่องความเป็นไปในพื้นที่ส่วนตัวของลูก และพยายามจะใส่ข้อมูลที่ (คิดเอาเองว่า) เป็นประโยชน์ โดยไม่เคยเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์ ตลอดจนความสนใจของลูกเลยนั้น ฝั่งคนเป็นลูกเองก็พยายามรักษาโลกส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียไว้ทุกวิถีทาง ด้วยกลัวพ่อแม่จะตำหนิในสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วย ซึ่งความไม่เข้าใจกันที่เป็นตัวเพิ่มช่องว่างให้ขยายกว้างออกไปเช่นนี้ บางครั้งก็อาจลุกลามมาบั่นทอนความสัมพันธ์ในโลกแห่งความจริงให้ย่ำแย่ขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว
อย่ากระนั้นเลย นอกจากการใช้โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตในแบบที่ต่างคนต่างใช้แล้ว เราก็มี 4 ไอเดียดี ๆ ที่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัย ซึ่งจะช่วยให้ทั้งฝั่งลูกและพ่อแม่ได้ใช้เวลาร่วมกันในโลกออนไลน์อย่างมีความสุข สนุก กระชับช่องว่างที่มี ให้ทั้งสองฝ่ายได้ใกล้ชิดและใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นมาฝาก จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
พูดไม่ออก บอกด้วย Sticker แฮนด์เมด
บางครั้งบางคราวกว่าพ่อแม่จะเพ่งแป้นพิมพ์แล้วบรรจงรัวนิ้วได้จบครบทั้งประโยค คนเป็นลูกก็หมดอารมณ์จะคุยด้วยเสียก่อน นั่นยังไม่รวมถึงการใช้คำแข็ง ๆ ห้วน ๆ ตก ๆ หล่น ๆ สไตล์คนพิมพ์ไม่ค่อยเก่งแต่รักหมดใจนั่นอีก เรามีวิธีแก้ปัญหานี้ง่าย ๆ มาให้ทดลองใช้กันดู ด้วยแอปพลิเคชัน Selfie Sticker ก็คือการเซลฟี่ภาพตัวเองเพื่อนำไปทำเป็นสติกเกอร์ พร้อมใส่ข้อความต่าง ๆ โดยเราสามารถเลือกคำที่คนในครอบครัวมักจะใช้บ่อย ๆ เช่น เป็นห่วงนะ กินข้าวหรือยัง กลับดึกมั้ย มารถอะไร ขอเงินหน่อย (แฮ่ม!) เพื่อมาสร้างเป็นชุดสติ๊กเกอร์ที่สามารถนำไปใช้กับโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ตัวช่วยในการคุยให้คนในครอบครัวเอาไว้ใช้สื่อสารกัน ทั้งง่าย น่ารัก แล้วก็ฟรีด้วยจ้า
ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูสตรีมมิ่ง
นอกจากช่วงเวลาละครหลังข่าวของแม่ บอลนัดสำคัญของพ่อ หรือซีรีส์ตำนานจีนสารพัดดอกเหมยของอากง อาม่าแล้ว คงจะดีไม่ใช่น้อยหากทุกคนในครอบครัวจะได้ลองใช้ช่วงเวลาหนึ่งมานั่งหน้าจอ ทดลองดูหนังหรือซีรีส์ใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งทุกวันนี้ด้วยบริการสตรีมมิ่งของผู้ให้บริการหลายเจ้า ทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถแชร์แอคเคาท์กันเพื่อดูหนัง ซีรีส์ หรือรายการได้หลากหลาย ในแบบที่ถูกลิขสิทธิ์และราคาไม่แพง เชื่อได้เลยว่านอกจากจะทำให้ทุกคนในครอบครัวได้เปิดโลกความสนุกรูปแบบใหม่ หัวข้อคุยบนโต๊ะมื้อเย็นวันถัดไปยังจะทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกด้วย
แลกเพจที่ใช่ IG ที่ชอบ
หลายครั้งที่คนในสองเจเนอเรชั่นต่างไม่เข้าใจในโลกของอีกฝ่าย เป็นเพราะต่างก็ไม่เคยทดลองเข้าไปรู้จัก หรือเปิดใจให้กับความแตกต่างตรงนั้น อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ทางฝั่งพ่อแม่ และฝั่งลูกได้เรียนรู้ถึงความชอบ ความสนใจ ของอีกฝ่ายได้ง่าย ๆ ก็คือการแลกเปลี่ยนเพจ หรือแอคเคาท์ IG ที่แต่ละฝ่ายชื่นชอบ แน่นอนล่ะว่าผลลัพธ์สุดท้ายคนในช่วงวัยพ่อแม่ อาจไม่รู้สึกอินไปกับเพจแรปเปอร์ต่างประเทศ หรือ IG งานดีไซน์ล้ำ ๆ สักเท่าไหร่ พอ ๆ กับที่คนเป็นลูกเองก็อาจจะกลอกตาบนกับเพจต้นไม้ดอกไม้ หรือชุมชนแลกเปลี่ยนพูดคุยของผู้สูงอายุ แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นเปิดใจ เปิดพื้นที่ให้อีกฝ่ายได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยกระชับช่องว่างของคนทั้งคู่ และใครจะไปรู้ว่าสุดท้ายแล้วเราอาจจะพบเพจดี ๆ หรือ IG สนุก ๆ ที่คนทั้งสองเจเนอเรชั่นสามารถเชื่อมต่อกันติดก็เป็นได้
บันทึกทุกความรู้สึกเอาไว้ใน Family Diary
เชื่อว่าในหลาย ๆ ครอบครัวที่พ่อแม่หรือผู้สูงอายุในบ้านพากันเข้าสู่สังคมออนไลน์โดยพร้อมเพรียงกันแล้วนั้น ในบ้านนั้น ๆ ย่อมจะต้องมีกรุ๊ปไลน์กลุ่มที่บรรจุไว้ด้วยสมาชิกภายในครอบครัวทุกคน ไว้เป็นที่แลกเปลี่ยน พูดคุย (หรือกระทั่งไว้ส่งสวัสดีวันจันทร์ทั้ง ๆ ที่นั่งข้าง ๆ กันอยู่บนโต๊ะอาหารเช้า) ซึ่งหลายครั้ง เจ้ากรุ๊ปที่ว่าก็มักจะถูกลดความสำคัญลงไปบ่อย ๆ เพราะมักจะถูกมองว่าน่ารำคาญ และไม่มีอะไรสลักสำคัญมากพอจะให้กดดู ทั้ง ๆ ที่ถ้าลองไล่อ่านดูดี ๆ สิ่งที่อัดแน่นอยู่ในบทสนทนาเรื่อยเปื่อย พิมพ์ผิด ๆ ถูก ๆ บ้างเต็มไปด้วยคลิป และรูปไร้สาระบ้าง นั้นกลับเต็มไปด้วยความห่วงใย ความอยากแบ่งปันความสุข ความรู้สึกดี ๆ ของผู้ส่ง จะดีกว่าไหมหากเราลองเปลี่ยนความคิดสักเล็กน้อย ว่าเจ้ากรุ๊ปไลน์นี้ไม่ได้เป็นเพียงกรุ๊ปไลน์ธรรมดา หากแต่เป็น Family Diary หรือสมุดบันทึกออนไลน์ ที่คอยบันทึกบทสนทนาที่เราจะสามารถเก็บไว้เป็นความทรงจำได้ในอนาคต เมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว เราก็จะเริ่มอยากมีส่วนร่วม อยากบันทึกคำพูดดี ๆ อยากแบ่งปันอะไรดี ๆ และไม่มองข้อความเหล่านั้นด้วยความรำคาญอีกต่อไป
สุดท้ายแล้วไม่ว่าการใช้โซเชียลมีเดียในแบบที่แตกต่าง จะสามารถย่นระยะทางความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้หรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่รอยร้าว หรือช่องว่างเริ่มจะเกิดขึ้น สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายควรจะทำก็คือการเปิดใจพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา พยายามเข้าใจในธรรมชาติของอีกฝ่าย และไม่มองอีกฝ่ายในแง่ร้ายไปเสียก่อน
เพราะสุดท้ายไม่ว่าเราจะ Block หรือ Unfriend ใครที่ไม่ถูกใจเราไปในโลกออนไลน์ แต่เราก็ไม่อาจถอนตัวจาก Relationship กับคนในครอบครัวได้อยู่ดี