Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ คือหนึ่งในประเด็นที่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะในหลายๆ องค์กรใหญ่ ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก ได้ประกาศการมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
แต่ปัญหาคือคนทั่วไปอย่างเราๆ ที่ยังรู้สึกว่าเป้าหมายนี้ยังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะมองว่าเป็นภารกิจขององค์กรใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว การจะไปสู่เป้าหมายนี้ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero ที่ GC ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือในการค้นหาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือศูนย์ไปด้วยกัน
The MATTER ชวนไปพูดคุยในประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในเป้าหมายนี้ เปลี่ยนภาพเป้าหมายใหญ่ให้ใกล้ตัวกับ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน, แพรี่พาย – อมตา จิตตะเสนีย์ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังที่ผันตัวเองมาเป็น Urban Farmer และ Student of Earth และ ณัฏชนา เตี้ยมฉายพันธ์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท พีบี ฟู้ดทอรี่ จำกัด แบรนด์ TRUMPKIN ผลิตภัณฑ์ Plant Base Cheese ที่ได้รับรางวัล Startup Winner 2022 เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน
การได้สัมผัสกับงาน GC Circular Living Symposium 2022 ในวันนี้ ประทับใจอะไรเป็นพิเศษ ที่คิดว่าจะนำไปสู่อนาคต Net Zero ได้ดีที่สุด
ดร.สิงห์: ผมดีใจที่มีงานแบบนี้ อยากให้มีบ่อยๆ เพราะว่าคนยังไม่ค่อยคิดถึงเรื่องนี้มากนัก จะเห็นเลยว่า เราคุยกันเรื่อง Sustainability มาตั้งนานแล้ว ทำไมบ้านเมืองเราหรือโลกเรายังรวนอยู่เลย เพราะเรายังสื่อสารเรื่องนี้น้อยไป งานนี้จึงสำคัญมาก ทำให้ได้เห็น Innovations ใหม่ๆ ว่ามีบริษัทที่หลากหลายรวมทั้งบริษัทใหญ่ๆ อย่าง GC ทำอะไรบ้าง ผมเห็นหลายคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้าน Sustainability มากันเยอะมาก แม้แต่เพื่อนผมจากไต้หวันก็มาขึ้นเวทีงานนี้เหมือนกัน ไม่คิดว่างานนี้จะมีคนสนใจเยอะขนาดนี้ ดีใจและประทับใจ
แพรี่พาย: ประทับใจพลังงานที่เกิดขึ้นในงานระหว่างผู้คนที่มาร่วมงาน รวมถึงบรรยากาศภายในงานด้วยค่ะ ทำให้สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
ณัฏชนา: เท่าที่สัมผัสมา ความร่วมมือที่จะนำไปสู่อนาคต Net Zero ได้ดีที่สุด ก็คือการรวมพลังของทุกคนในหลากหลายภาคส่วน ทั้งผู้จัดงาน ผู้ที่มาแลกเปลี่ยน หรือผู้ที่เข้ามาเข้าชมงาน ซึ่งก่อนเข้ามาในงาน บางคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจในเรื่องของ Net Zero เลย เชื่อว่าจบงานไป ทุกคนจะให้ความสนใจและตั้งใจจริงที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกของเรา เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย
มองว่าทุกวันนี้ คนทั่วไปสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน
แพรี่พาย : ถ้าเทียบกับประสบการณ์ตัวเองจาก 10 ปีก่อนตอนเป็นแพรี่พาย Make-Up Artist สมัยนั้น เราอยู่ในวงการคนปลายน้ำ (ผู้บริโภค ลูกค้า ผู้ใช้สินค้า) ถือว่ามีความตะหนักน้อยมากค่ะ แม้แต่ตัวเราตอนนั้นเองยังฟุ่มเฟือยในการบริโภคและใช้ทรัพยากรมากเกินจำเป็นจนเป็นขยะ เป็นปัญหามลพิษต่างๆ นานา ต่อสิ่งแวดล้อม และคิดว่าปัญหาต่างๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น รวมถึงงานขับเคลื่อนที่ผ่านมาเราเห็นว่าถูกจำกัดอยู่ในวงการนักสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ NGO และหน่วยงาน CSR ของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น ถ้าเทียบกับสัดส่วนวงการอื่น อาชีพอื่นๆ บนโลกถือว่าน้อยมากค่ะ และถ้าเทียบกับแพรตอนนั้นถือว่าไกลตัวมากจริงๆ ค่ะ
แต่ปัจจุบันนี้แพรย้ายตัวเองมาทำงานต้นน้ำ (ภาคการผลิต) ทำงานกับคนต้นน้ำ (ชุมชน) ที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในการผลิต เราเห็นเลยว่ามันจำเป็นที่เราต้องลุกมาดูแล ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ ที่ดีใช้ในภาคการผลิตปัจจัย 4 ได้เลยค่ะ และแพรเองก็ได้ลงไปลุยในพื้นที่ ช่วยประเด็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ทำได้ และทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อสื่อสารให้คนปลายน้ำ(โดยเฉพาะผู้บริโภคในเมือง)ให้เข้าใจ เห็นความสำคัญ ตระหนักถึงผลกระทบ แพรหวังว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มคนในวงการการอื่น อาชีพอื่นๆ ที่เป็นคนปลายน้ำได้ไม่มากก็น้อยค่ะ และเกือบ 5 ปีกับการทำงานจุดนี้แพรถือว่ามันเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนค่ะ แม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ลงมือทำจริง มีทั้งกลุ่มคนต้นน้ำ คนกลางน้ำ และคนปลายน้ำ ที่สามารถขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรม และส่งผลดีในระดับชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัดได้จริงค่ะ
ดร.สิงห์: คนในสังคมสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเยอะครับ แต่การจะเปลี่ยนระบบการสร้างความยั่งยืน คนรุ่นใหม่ต้องโมโหให้นานพอ ไม่ใช่โมโหชั่วครู่แล้วก็หายไป จนคนที่อยู่ในระบบปัจจุบันต้องเปลี่ยนตาม ไม่เปลี่ยนไม่ได้ จริงๆ แล้ว ถ้าเราจะแก้ไข เราต้องทำให้ความรู้สึกต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างแรงกล้าที่นานพอ จนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ณัฏชนา: คิดว่าถ้าเทียบกับช่วงก่อนโควิด คนหันมาสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีวิกฤตมากมายที่เกิดขึ้นกับโลกของเรา เหมือนกับว่าโลกกำลังส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้กับมนุษย์ ว่าเหมือนเขาไม่ไหวแล้วนะ ที่เห็นชัดๆ เลย คือตั้งแต่ช่วงฝุ่นละออง PM 2.5 แล้วก็ตามด้วยปัญหาโควิดติดๆ กันเลย ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงเรื่องสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เพราะว่าปัญหามันใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ
อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนยังมองว่าประเด็น Net Zero เป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นภาพใหญ่เกินไป
แพรี่พาย: ไกลตัวตรงที่ว่า องค์ความรู้ตรงนี้ถูกพูดในเชิงที่ลึกเกินไปสำหรับคนอย่างพวกเราจะเข้าใจ แต่ถ้ามันถูกแปลให้ดูเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น สื่อสารให้ง่ายขึ้นและเชื่อมให้ถึงประเด็นง่ายๆ ในชีวิตประจำวันของคนได้ อาจจะต้องให้ง่ายถึงระดับที่เด็กอนุบาลเข้าใจ คนก็อาจเข้าใจและเข้าถึงมากขึ้นค่ะ หรือการจัดการแก้ไขปัญหาแต่ละอย่าง อาจจะยังไม่ได้ตรงจุดชัดเจน ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การจัดการยังมองในระดับนโยบายภาพใหญ่ไกลตัวเกินไป แต่ถ้าเราเลือกที่จะคุยและเริ่มจัดการในประเด็นเล็กๆ ไกลตัวก่อน กระตุ้นในประชาชนมีส่วนร่วม รวมตัวกันลงมือทำ ขยายจากการจัดการผลกระทบเล็กๆ แล้วค่อยขยับไปช่วยกันจัดการในภาพใหญ่ร่วมกัน แพรคิดว่าอนาคตมันก็จะค่อยๆ ส่งผลให้เรื่องของการจัดการ Net Zero หรือความฝันที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์เป็นจริงได้สำหรับทุกคน
ณัฏชนา: คิดว่าส่วนหนึ่ง คนอาจจะมองคำว่า Net Zero เป็นภาพใหญ่หรือว่าไกลตัวเอง เพราะว่าไม่เข้าใจความหมายว่ามันคืออะไร ซึ่งแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ก็มาจากต่างชาติมากกว่าของไทย ซึ่งบางครั้งพอรู้แล้วว่า Net Zero เกี่ยวกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำถามถัดมาก็คือ ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่ทราบว่ากิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรามีส่วนกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ ตั้งแต่การกิน การนอน การออกกำลังกาย หรือบริการที่ตัวเองใช้อยู่ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วในเมื่อคนไม่รู้ว่าตัวเองมีส่วนสร้างผลกระทบ ก็ย่อมจะทำให้คนไม่เกิดการตระหนัก หรือไม่ได้พยายามที่จะหาทางที่จะลดกิจกรรมเหล่านั้น เพราะเขาคิดว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง และมองว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรใหญ่ๆ หรือภาคอุตสาหกรรมใหญ่ๆ มากกว่า
ดร.สิงห์: ผมว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจก็เลยรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว เพราะ Net Zero มี 2 อย่าง คือ Net Zero Emissions คือลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ คือสิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่ แต่สุดท้ายแล้ว เราต้องไปให้ถึง Net Zero Carbon (รวม Embodied Carbon) ซึ่งจะยากกว่ามากครับ ระหว่างนั้นเราก็ตั้งเป้าที่ Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ก่อน คำเหล่านี้ยังเป็นคำที่คนทั่วไปก็ยังงงๆ อยู่ เราต้องแยกให้ออก ค่อยๆ อธิบาย ให้เขารู้ว่าตอนนี้เราโฟกัสที่ Net Zero Emissions อยู่นะ แล้วเดี๋ยวถ้าเราเจ๋งพอ เก่งพอ มีเทคโนโลยีพอ เราอาจจะไปที่ Net Zero Carbonได้ ผมว่าเราต้อง Educate อีกสักพักหนึ่งให้คนเข้าใจ โดยที่ไม่ใช่ว่าเราไปซื้อ Carbon Credit มาลดได้ตลอดนะ ไม่อย่างนั้นเราจะไปไม่รอด
เพราะฉะนั้นแล้วต้องสื่อสารแบบไหน ที่ทำให้คนทั่วไปมองเป้าหมาย Net Zero เป็นภาพเดียวกับองค์กรใหญ่ๆ
ณัฏชนา: พอพูดถึง Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คนจำนวนมากจะนึกถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องไกลตัว เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย ด้วยคำพูดหรือภาพง่ายๆ ให้เขามองภาพเล็กและใกล้ตัวที่สุด แล้วก็เน้นย้ำไปที่กิจกรรมในชีวิตของผู้คนให้มากขึ้น เพื่อให้คนทุกคนสามารถปรับตัวร่วมกันได้
ดร.สิงห์: สื่อด้วยตัวอย่างครับ แม้แต่องค์กรหลายองค์กรก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจต้องเล่าให้คนในสังคมเข้าใจว่า ตอนนี้ที่ภาวะโลกรวนเกิดขึ้น เพราะการปล่อยคาร์บอน มีเทน ก๊าซเรือนกระจกต่างๆ นั่นหมายความว่าถ้าจะทำให้โลกไม่รวน คือคุณต้องปล่อยก๊าซเหล่านี้ให้น้อยลง หรือที่บอกว่า Net Zero Emissions ถ้าจะกลับไปสู่สภาพสมดุลในอดีต เราก็ต้องช่วยกันทุกคน บริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องทำ เพราะว่าเขาปล่อยเยอะ เป็นหมื่นเป็นล้านตันต่อปี อย่างพวกเราต่อคน ปล่อยแค่ 7-8 ตันต่อปี เก่งหน่อยก็ 4 ตันต่อปี นี่คือข้อแตกต่างว่าทำไมถึงได้เน้นที่บริษัทใหญ่ๆ ก่อน เพราะถ้าลดบริษัทใหญ่ได้ Impact จะเยอะ แต่ถ้าตัวเล็กตัวน้อยอย่างเรา รวมกันเป็นล้านคนก็ช่วยได้เยอะเช่นกัน
แพรี่พาย: แพรว่าถ้ามามองในเรื่องของการแก้ปัญหา อาจจะต้องกลับไปดูที่ตัวเราด้วยว่า ในวันหนึ่งๆ กิจกรรมในชีวิตประจำวันเรามีอะไรบ้าง อย่างเช่นการเลือกการกิน เราสามารถเลือกได้ แทนที่จะไปซัปพอร์ตระบบทุนนิยม เราก็เลือกกินอะไรที่มาจากเกษตรอินทรีย์ของชุมชนต่างๆ เพราะอย่างส่วนตัว รู้สึกว่าระยะเวลา 4-5 ปีที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับธรรมชาติ ใกล้ชิดกับชุมชน มันเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนจิตวิญญาณ เปลี่ยนพลังงานในตัวเราเองได้ ไม่ได้อยากที่จะมาพูดว่าควรจะไปซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลิกใช้หลอด เลิกใช้ถุงพลาสติก มันเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่เราทุกคนสามารถมองตัวเองว่าเป็นหมากตัวสำคัญในบอร์ดเกม Net Zero นี้ได้ เราก็จะเป็นผู้บริโภคที่สามารถเปลี่ยนเทรนด์การบริโภค การใช้ชีวิตที่นำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ไม่ยากเช่นกัน เราสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันได้
ในแง่ของคนออกแบบแล้ว การดีไซน์สินค้าหรือบริการต่างๆ ต้องคิดมาเพื่อให้คนทั่วไปตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม มีความยากง่ายอย่างไร
ดร.สิงห์: อาจยากในช่วงแรกเพราะไม่ได้คิดถึงประโยชน์ต่อผู้ใช้เท่านั้น แต่ต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย และคนอาจมองว่านักออกแบบเป็นคนที่กระตุ้นกิเลส ทำให้คนอยากซื้อ แต่ก็ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา เมื่อนักออกแบบรู้อย่างนี้แล้ว จะสร้าง Solution ยังไง นักออกแบบเราจึงมีกระบวนการหลายอย่างที่จะช่วยเรื่องนี้ เช่น ออกแบบที่ไม่สร้างขยะอะไรเลย ไม่ให้เหลือเศษทิ้งจากการผลิต ใช้ Modular System เพื่อให้มีการถอดประกอบได้ ซ่อมแซมง่าย ใช้วัสดุรีไซเคิล สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่นักออกแบบจะช่วยได้ ผมจะรู้เลยว่าถ้าเราจะไปขุดเอาทรัพยากรใหม่ออกมาใช้ กับการใช้ Recycled Materials ถึงแม้ว่ามันจะมีต้นทุนคล้ายกัน แต่พลังงานที่ใส่เข้าไปในการ Recycle น้อยกว่าการขุดเจาะจากโลกราวๆ 4 เท่า ฉะนั้นนักออกแบบจึงควรเลือกวัสดุ Recycle มาใช้ สิ่งเหล่านี้คือมุมมองต่างๆ ที่รวมอยู่ภายใต้แนวคิด Design for Environment หรือ DfE
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสิ่งแวดล้อม มีความยากง่ายอย่างไร และอะไรเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ
แพรี่พาย: อย่างของตัวแพรเอง ธรรมชาติเป็นเครื่องมือและแรงบันดาลใจที่สำคัญและชัดเจนที่สุดที่ทำให้แพรเห็นความสำคัญ และความยิ่งใหญ่ของเขาจนทำให้แพรกลับมาตระหนักถึงคุณค่าของแพรที่มีต่อโลกนี้ และลองปรับไลฟ์สไตล์ เปลี่ยนหน้าที่ และลงมือปฏิบัติเพื่อรักษาคุณค่าที่สำคัญของธรรมชาตินี้ไว้ ในฐานะหน้าที่ที่แพรเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในระบบนิเวศนี้ แต่บางทีถ้าเราอยู่ในเมือง เราไม่ได้ไปคลุกคลีกับธรรมชาติบ่อยๆ เราอาจจะต้องเริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ ที่สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สัมผัสพืชต้นไม้ เช่นการปลูกผักสัมผัสดิน พืช ดอกไม้ แมลงในกระถางหรือสวนเล็กๆ ของเรา หรืออาจจะหาโอกาสไปลองสัมผัสดูต้นไม้ ป่า เขา ข้างนอกบ้าง จากที่เราเคยไปแบบชิลล์ถ่ายรูปเช็กอินอย่างเดียว อาจจะเปลี่ยนไปชิลล์แบบตามหาความหมายและคุณค่าเบื้องหลังของธรรมชาติที่สวยงามนั้น เบื้องหลังชุมชนที่ดูแลพื้นที่ตรงนั้น เราลองไปแบบเปิดใจ ทำความเข้าใจ ไปทำความรู้จักกับกิจกรรมและกลุ่มคนที่เขาทำเรื่องดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมบ้าง คือแพรเองสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ก็จริง แต่เราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนมาโลกสวย จับมือกันกู้โลกได้ทุกอย่าง มันยาก เลยพูดได้อย่างเดียวว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่นี้ กับเส้นทางที่แพรกำลังเดินอยู่ มันเป็นสิ่งที่เติมเต็มชีวิตได้จริงๆ มันทำให้แพรรู้สึกถึงคุณค่าและเติมเต็มความหมายของคำว่ามนุษย์ที่ได้เกิดมาบนโลกนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องขึ้นอยู่กับเขาเหล่านั้นว่าเมื่อสนใจแล้วจะสามารถลงมือปฏิบัติและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
ในแง่ของการสร้างแบรนด์ การออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีส่วนช่วยให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างไร
ณัฏชนา: เรื่องของ Plant Based หลายคนก็คงจะมีคำถามว่าช่วยโลกได้จริงเหรอ คือต้องอธิบายก่อนว่าการผลิตอาหารจากพืช จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์ จากงานวิจัยและจากการศึกษาบอกว่าจะลดได้ถึง 3 กระบวนการ คือเราไม่ต้องทำลายพื้นที่ป่าเพิ่มเพื่อทำปศุสัตว์ ไม่ต้องปลูกพืชเพื่อมาทำเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งจะลดการถางป่า และลดของเสียจากการทำปศุสัตว์ได้ อย่างผลิตภัณฑ์ของเราที่เป็นชีส ซึ่งปกติการผลิตชีสจากนมวัว ต้องใช้น้ำนมประมาณ 10 กิโลกรัม ถึงจะได้ชีส 1 กิโลกรัม หมายความว่าก๊าซต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยงวัวหรือสัตว์ ก็จะถูกนับอยู่ในนี้ด้วย มีสมมติฐานที่บอกว่ากระบวนการผลิตชีส 1 กิโลกรัมจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 6.5 – 12.8 กิโลกรัม ในขณะที่ Plant Based Cheese จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.7 กิโลกรัมเท่านั้น
มองว่าในอนาคตอันใกล้ ถ้าหากประเด็น Net Zero ทุกคนมองเห็นภาพตรงกัน ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ดร.สิงห์: เราก็จะมีฤดูกาลที่ปกติขึ้น หน้าร้อนจะไม่ร้อนจัดขึ้น หน้าฝนจะไม่ตกห่าใหญ่จนเดาทางไม่ออก น้ำจะท่วมน้อยลง ประเทศจะลงทุนกับการป้องกันความเสี่ยงด้านภัยพิบัติน้อยลง ซึ่งแพงมาก เราไม่ต้องไปเสียเงินเตรียมพร้อมกับน้ำท่วมใหญ่หรือไฟป่า ถ้าเราก้าวไปสู่จุดนั้นได้ แล้วนำเงินก้อนนั้นมาสร้างโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสในด้านการศึกษา นำเงินไปลงทุนกับเศรษฐกิจ นวัตกรรม และการวิจัยเพื่อช่วยเหลือคนให้ได้มากขึ้น
แพรี่พาย: แพรคิดว่า มันจะไม่มีวันที่ทุกคนจะมองเห็นภาพตรงกันทั้งหมดเหมือนกัน ทุกคนมีความคิดและชีวิตที่ดิ้นรนต่างกัน อาจจะมองโลกไม่สวย แพรขอมองโลกจากความเป็นจริงที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเป็นไปได้มากที่สุดถ้านับจากตอนนี้ไปอีก 10 ปี 30 ปีข้างหน้า แพรรู้สึกว่าเราควรจะมองหาและคบหากับกลุ่มคนที่คิดถึงอนาคตเดียวกันกับเราให้มากที่สุด และพร้อมที่จะลงมือสร้างโลกอนาคตที่ใกล้เคียงความเป็น Net Zero มากที่สุด มันอาจจะเป็นแค่กลุ่มคนเล็กๆ แต่ถ้ามีกลุ่มเล็กๆ เริ่มรวมตัวกันตามแต่และความฝัน และค่อยๆ หากลุ่มที่ฝันใกล้เคียงกันมาร่วมทำงานเดินไปด้วยกันจาก 1 กลุ่มรวมเป็น 3 กลุ่มไปเรื่อยๆ เหมือนกับแหล่งน้ำเล็กๆ ค่อยๆ ไหลรวมมาเป็นลำธาร เป็นแม่น้ำและมหาสมุทรของพวกเรา นั่นคือโลกที่แพรกำลังทำอยู่และคิดว่าอยากสร้างให้มันเป็นจริงในอนาคตอันใกล้นี้
ณัฏชนา: คิดว่าถ้าเกิดคนเข้าใจมากขึ้น ภายใต้การสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย คือเขารู้แล้วว่ากิจกรรมไหนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เขาก็สามารถช่วยในการลดได้ ส่วนตัวรู้สึกว่าถ้าเรามีเหตุผลซัปพอร์ตมากพอ ว่าทำไมคนต้องเปลี่ยน มีทางเลือกที่ดีมากพอให้เขา อยู่ดีๆ ถ้าบอกว่าคุณต้องมากินผลิตภัณฑ์จากพืชนะ แต่ว่ารสชาติยังไม่ตอบโจทย์ กินแล้วยังไม่ได้ดีต่อสุขภาพเลย คนก็ไม่ได้อยากจะเปลี่ยน แต่ถ้าเกิดเราสามารถพัฒนานวัตกรรมดีๆ เป็นทางเลือกให้เขาได้ ต่อให้เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ เขาก็ยังอยากกินของเรา สุดท้ายถ้ามีการผลักดันเรื่อง Net Zero มากขึ้น มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะลดลง ราคาขายก็ต่ำ ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
อยากฝากอะไรถึงคนทั่วไปที่ยังมองว่า Net Zero เป็นเรื่องไกลตัว
ดร.สิงห์: ผมรู้ว่าผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม จากภัยพิบัติต่างๆ หรือจากโลกรวน มันไม่เท่ากันทุกคน บางคนเลี่ยงได้ บางคนเลี่ยงไม่ได้ บางคนโลกร้อนฉันก็เปิดแอร์ได้ แต่บางคนทำไม่ได้ ฉะนั้นจึงมีหลายคนที่มี Privilege สามารถจะหนีจากจุด A ไปจุด B ได้ในช่วงเวลาที่ลำบาก เขาเลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อถึง ณ จุดหนึ่ง จุดที่หนีไม่ได้แล้ว หนีไปไหนก็เจอปัญหาเดิม อาจจะแก้ไม่ทันแล้ว เพราะฉะนั้นอย่ารอชาติหน้า ทำชาตินี้ ปัญหามันไม่ได้ไกลอย่างที่เราคิด ผมว่าเด็กรุ่นใหม่ เด็ก Gen Z รู้ เขาเติบโตมาพร้อมปัญหา ตั้งแต่ลืมตามาก็เจอ โรคระบาด โลกร้อน คนที่ยังไม่รู้หรือคิดว่าไกลตัว ส่วนใหญ่คือ Gen X ที่ยังไม่เจอปัญหาจังๆ อยากจะฝากคน Gen X กับ Gen Y ไว้
แพรี่พาย: อยากให้เข้าใจก่อนว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลกระทบนี้ต่อสิ่งแวดล้อม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราไม่ได้ใช้ทรัพยากรบนโลกนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะมันเริ่มจะส่งผลกระทบกลับมาให้เราเห็นในช่วงที่เราแก่แล้ว เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ยารักษาโรค ทุกอย่างเริ่มจะไม่โอเคแล้ว อย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่า เราสามารถเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางของหมากในเกมส์นี้ได้ ถ้าเราไม่ต้องอยู่ต้องกิน เราก็ไม่จำเป็นที่ต้องมีผู้ผลิต เราไม่ต้องทำอะไร แต่เราต้องกินต้องอยู่ต้องใช้ เราคือผู้บริโภคปลายน้ำ ดังนั้นถ้าเราอยากมีของกินของใช้อุดมสมบูรณ์ต่อไปนานๆ เราควรมีจิตสำนึกของนักบริโภคใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ให้ความเห็นอกเห็นใจผู้ผลิตให้มาก และมันจะส่งผลให้ผู้ผลิตจใส่ใจถึงผู้บริโภคอย่างเราด้วย รวมถึงผู้ผลิตเองคำนึงไปถึงการใส่ใจดูแลทรัพยากรธรรมชาติต้นน้ำ ที่เป็นต้นทุนการผลิตทุกอย่างด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าทุกอย่างมันจะเชื่อมโยงถึงกันเป็นห่วงโซ่อาหารของโลกนี้
ณัฏชนา: อยากจะบอกให้เขาค่อยๆ เปิดใจและทำความเข้าใจ เพราะว่าเชื่อว่าทุกๆ คนสามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งจริงๆ สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย ตัวเราเองก็เหมือนแค่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มาอาศัยอยู่ ถ้าเราสามารถทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่จะตอบแทนพื้นที่ที่เราอาศัย เพื่อส่งต่อโลกที่เป็นเหมือนบ้านให้เป็นมรดกกับ Generation ต่อไป เพราะว่าต่อให้มันไม่สำเร็จในวันนี้ สมมติสำเร็จปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ 20 ปีก็ 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย โลกเราก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน
นับเป็นหลาย ๆ ความตั้งใจคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักสร้างสรรค์ นักคิด และและนักออกแบบ ที่มองว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ “เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน”