ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะมาจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของเราทุกคน ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่มีการรณรงค์กันมาอย่างยาวนาน และเรายังคงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่อไป
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล จึงได้ปรับตัวและตอบสนองกับเป้าหมายนี้ ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทุกองค์กรใหญ่ในระดับโลกต้องร่วมมือกัน จนเกิดเป็นแผนความมุ่งมั่น Together To Net Zero กับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ให้สำเร็จ
ลองไปเจาะลึกเบื้องหลังของเป้าหมายนี้ของ GC ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) พร้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ ตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน (SDGs) ทั้งเรื่องของกลยุทธ์และการลงทุน ว่าจะไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร
ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือปัญหาระดับโลกที่มีการกล่าวถึงผลกระทบในด้านต่างๆ มานานหลายปี นอกจากการที่คนทั่วไปจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ด้วยการลดใช้ทรัพยากร หรือหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว หัวใจหลักคือองค์กรขนาดใหญ่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคครัวเรือน ภาคพาณิชยกรรม ภาคเกษตรกรรม ที่ีมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบดังกล่าว จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องร่วมมือกัน
GC กับเป้าหมายที่จับต้องได้
ด้าน GC เองถือเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ จึงได้เร่งปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ด้วยการดำเนินการตามกรอบนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างเต็มตัว รวมทั้งสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มธุรกิจของคู่ค้าอีกด้วย โดยได้กำหนดตั้งเป้าหมายระยะกลางในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 ก่อนจะไปสู่เป้าหมายระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 เรียกว่าเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ และนับเป็นอีกหนึ่งก้าวใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับสากล จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและการลงทุนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ สูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2573 เลยทีเดียว
3 เสาหลัก สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
โดยการจะนำพา GC ไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จำเป็นต้องมีการวางกลยุทธ์ผ่านกรอบการดำเนินงานด้วย 3 เสาหลักต่อไปนี้
1. Efficiency-driven
เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางของเป้าหมาย ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดการปล่อยของเสียในทุกกระบวนการผลิต โดยใช้หลัก 5Rs ซึ่งประกอบไปด้วย Reduce Reuse Recycle Refuse Renewable บวกเข้ากับการใช้นวัตกรรม ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล การแสวงหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ รวมทั้งแหล่งพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดการใช้พลังงานจากเดิมให้ได้มากที่สุด
2. Portfolio-driven
ระหว่างทาง คือการปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของ GC Group ให้ไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุหมุนเวียน และการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษมูลค่าสูง โดยยังคงรักษาการเติบโตขององค์กรไว้เช่นเดิม ในมุมมองของผู้บริโภคอย่างเราๆ จึงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ รวมถึงปริมาณขยะพลาสติกที่ลดลง ตอกย้ำถึงการเป็น ‘เคมีที่เข้าถึงทุกความสุข’ ได้อย่างแท้จริง
3. Compensation-driven
ปลายทางของกรอบนโยบายสุดท้าย ที่แก้ปัญหาด้วยการใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยการจัดหาและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตร และการปลูกป่าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งป่าบก และป่าชายเลน เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างพันธมิตรและการร่วมทุน ที่สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
จากแนวทางของ GC เพื่อไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ให้สำเร็จได้ ไม่สามารถดำเนินการเพียงคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมทุกองค์กร และผู้บริโภคอย่างเราๆ ทุกคน เพื่อส่งต่อโลกใบนี้ที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไป