“ใบไม้มันยังผลัดใบ เปลี่ยนผันตามฤดูกาล…”
ไม่ต้องให้ริวเอาจิตมาสัมผัส ไม่ต้องให้หมอลักษณ์เอาธงมาฟันเล่น เสียงหล่อๆ ของพี่ตูน บอดี้แสลม ก็ทำนายทายทักสัจธรรมของโลกเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ กาลเวลาผันผ่านไปแวบเดียว จากเด็กจบใหม่ที่เคยต้องไฝว้กับความคร่ำครึของระบบ และความแตกต่างทางทัศนคติของช่วงวัยที่ห่างกันกับคนรุ่นก่อนหน้านั้น วันนี้มนุษย์ Gen Y เจเนอเรชั่นที่ว่ากันว่าอินดี้ ดื้อดึง อีโก้สูงและเป็นตัวของตัวเองสูงที่สุดในทางช้างเผือก ก็ได้วิวัฒนาการขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งเหล่า Gen X, Baby Boomer รุ่นพ่อรุ่นแม่กันไปไม่น้อย บ้างก็ออกมาริเริ่มกิจการเป็นของตัวเอง บ้างก็สามารถไต่เต้าขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้บริหารกันได้สำเร็จ
ซึ่งไม่ว่ามนุษย์มิลเลนเนียลจะกระโดดขึ้นไปรับหัวโขนตำแหน่งไหนมาสวม แต่สิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งอันเป็นผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินั่นก็คือ คนกลุ่มใหม่และกลุ่มใหญ่ที่ชาว Gen Y ต้องหาทางรับมือและทำงานด้วยไม่ใช่คนรุ่นผู้เฒ่าเต่าอีกต่อไป หากแต่เป็นเหล่าเด็กๆ กลุ่ม Gen Z (หลายสำนักให้คำจำกัดความว่า เป็นเด็กที่เกิดหลังปี 1997 หรือมีอายุน้อยกว่า 18 ปีลงไป) หรือที่มีอีกชื่อเรียกว่า เซนเทนเนียล (centennials) ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นมาแทนที่ในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างในอนาคตต่างหาก
เอาล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งแอบสะดุ้งในใจไป ว่าการถ่ายเลือดครั้งนี้จะเกิดอภิมหากาพย์ศึกไทยไฟต์แบบที่คน Gen Y เคยปะทะกับคนรุ่นก่อนหน้ามาก่อนหน้านี้หรือเปล่า เพราะผลสำรวจจาก Deloitte บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลก ที่ทำการเก็บข้อมูลจากเหล่าหนุ่มสาวมิลเลนเนียลทั่วโลกพบว่า แนวโน้มการทำงานของคนสองเจเนอเรชั่นนี้ดูจะเข้ากันได้ และเป็นไปในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ
อินเดียคือประเทศที่มองว่า Gen Z จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการทำงานมากที่สุด ส่วนน้อยที่สุดน่ะเหรอ เกาหลีใต้จ้ะ
ไม่ว่าจะเป็นเพราะความสามารถในเชิงเทคโนโลยี การมีความคิดสร้างสรรค์สูง หรือเพราะแค่เด็กมันใสๆ ชวนเต๊าะ แต่คนกว่า 6 ใน 10 (หรือราว 61%) เชื่อว่าคน Gen Z จะเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันบริษัทให้เป็นไปในเชิงบวก โดยเฉพาะคน Gen Y ที่ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าหรือพนักงานระดับสูง (ยิ้มอ่อน กรีดซองค่าเทอมในมือด้วยความบริสุทธิ์ใจ) ที่ฉุดกราฟตัวเลขพุ่งไปสูงถึง 67%
อาจเป็นไปได้ว่าด้วยความใกล้ชิดของวัย ทัศนคติ และไลฟ์สไตล์ที่คล้ายคลึงกันมากกว่า อันมีผลมาจากความหลอมรวมและไหลเลื่อนบนโลกยุคออนไลน์ จึงทำให้คน Gen Y เชื่อมั่น เลือกจะฝากความหวัง หรือกระทั่งเห็นภาพสะท้อนของตัวเองในตัวเด็กรุ่นใหม่รุ่นนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับสายตาที่ใช้มองคนทำงานรุ่นเก่าก่อนว่าล้าหลัง เฉื่อยแฉะ เต็มไปด้วยระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อรู้ว่าประเทศส่วนใหญ่ (เฉลี่ยได้ 70%) ที่ให้คุณค่าเชิงบวกต่อคน Gen Z คือกลุ่มประเทศ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อาทิ อินเดีย (91%) ฟิลลิปปินส์ (85%) บราซิล (75%) และเปรู (75%) ที่ผู้บริหารในอดีตไม่สามารถนำพาเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในโลกได้ มากกว่าประเทศตลาดผู้บริโภคมีความพร้อม (Mature Markets) ที่ใส่คะแนนให้เฉลี่ยเพียง 52%
เก่งมาจากไหน ยังไงก็ต้องให้พี่สอน
รถไฟรางคู่ไม่อาจสร้างเสร็จในรัฐบาลเดียวฉันใด เหล่าเซนเทนเนียลหน้าใสก็ไม่อาจสมบูรณ์แบบได้ง่ายๆ ฉันนั้น แม้เหล่ารุ่นพี่ Gen Y จะมองเห็นข้อดีมากมายในตัวรุ่นน้อง Gen Z แต่พวกเขาก็ยังคงคิดว่าเด็กเหล่านี้ยังต้องการการขัดเกลาอีกมาก ผลสำรวจเห็นพ้องต้องตรงกันว่าพวกเขายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ช่วยสนับสนุน และสอนให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นพนักงานที่ดีได้ตามประสาคนอาบน้ำแร่แช่ออนเซ็นมาก่อน มากกว่าจะใช้การดุด่าว่ากล่าว หรือวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ลงมือเปลี่ยนแปลง
ห้าข้อแนะนำหลักที่พี่ๆ จากทั่วทุกมุมโลกอยากฝากไว้ให้คิส (คิด!) ก็คือ จงเรียนรู้ให้มากที่สุด เปิดใจและเก็บเกี่ยวความรู้จากผู้อื่น, จงทำงานหนัก ทำให้ดีที่สุดและอย่าขี้เกียจ, จงอดทน ค่อยๆ ใช้เวลาและเรียนรู้ไปทีละขั้น, จงทุ่มเท มุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียรเพื่อความสำเร็จที่ปลายทาง และ จงยืดหยุ่น รู้จักปรับตัวและกล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ
เขียนโปรแกรมเก่งให้ตาย ยังพ่ายสื่อสารให้เป็น
สิ่งที่น่าแปลกใจและค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่สุดสำหรับผลสำรวจชิ้นนี้ เห็นจะเป็นความสามารถที่เหล่ามิลเลนเนียลต้องการจากเด็ก Gen Z เอาล่ะ อาจจะจริงที่ว่าทักษะเฉพาะในการทำงาน (Hard Skill) อย่างความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือวิวัฒนาการใหม่ๆ คือจุดแข็งที่ทำให้คน Gen Y เห็นอนาคตในตัวเด็กเหล่านี้ ทว่าเมื่อมองในผลสำรวจอย่างจริงจัง กลับพบว่าสิ่งที่พวกเขาอยากพัฒนา และยกให้เป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันธุรกิจสู่ความสำเร็จ กลับเป็นความสามารถที่ใช้สนับสนุนการทำงาน (Soft Skill) มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการสื่อสาร, ความยืดหยุ่น, ความเป็นผู้นำ หรือความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์
คำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับรายงานชิ้นนี้ อาจเป็นเพราะธุรกิจในโลกทุกวันนี้มีการแข่งขันกันสูงยิ่งกว่าเวทีนางงามอาเซียน ยากที่จะหาใครเป็นเจ้าตลาดแต่เพียงผู้เดียว ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เทรนด์มาไวไปไว บางอย่างเกิด ยังไม่ทันจะตั้งอยู่ ก็ดับไปเสียแล้ว การสร้างผลงานหรือผลิตภัณฑ์ที่ทรงประสิทธิภาพสูงจึงไม่ใช่คำตอบเดียวของความสำเร็จ หากแต่ต้องการปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งคนที่มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวได้ง่าย เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างถ่องแท้ จึงมีโอกาสมากกว่าที่จะนำความสำเร็จมาสู่บริษัท
อ่านมาถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจจะเริ่มโวยวายในใจว่าไหงไม่เห็นมีการปะทะ การนองเลือดอะไรระหว่างคนสองเจเนอเรชั่นอย่างที่คาดหวังจะได้เห็นเลย โธ่ พ่อคุณ! ไม่มีก็ดีแล้วไหม ถ้าคน Gen Y และคน Gen Z สามารถร่วมมือกันทำงานได้อย่างกลมเกลียว มีวิสัยทัศน์ แล้วช่วยกันผลัดเอาเลือดเสียในอดีตทิ้งไว้ข้างหลังได้ นั่นไม่นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะได้เห็นอนาคตอันสดใสรออยู่ที่ปลายทางหรอกเหรอ ขออย่างเดียว เมื่อยุคสมัยแห่งการผลัดใบมาถึง หวังว่าคนยุคมิลเลนเนียลอย่างเราๆ ที่กำลังจะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ จะไม่เผลอทำอะไรแบบที่เราเคยสบถก่นด่าด้วยความไม่ชอบใจในสมัยที่ไดโนเสาร์ครองโลกก็แล้วกัน