เกือบ 2 ปีที่ GET ลงสู่สนามฟู้ดเดลิเวอรี่ และเซอร์วิสออนดีมานด์
พวกเขาก็ทยอยคว้าความสำเร็จมาเก็บไว้กับตัว ทั้งยอดการให้บริการกว่า 10 ล้านครั้ง ภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังเปิดตัว ก่อนจะฉลองวันเกิดด้วยยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทะลุ 2 ล้านครั้ง รวมถึงจำนวนพาร์ตเนอร์ ทั้งคนขับ และร้านค้า ที่มาร่วมทำงานกันภายใต้แอปฯ สีเขียวเลม่อนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ทว่าตัวเลขความสำเร็จก็ยังไม่ใช่ความภาคภูมิใจเดียวของพวกเขา ความไว้วางใจจากเหล่าพาร์ตเนอร์ที่มีให้กันและกันในช่วงเวลายากลำบากต่างหาก ที่พวกเขาภูมิใจและอยากรักษาไว้
ย้อนกลับไปก้าวแรกที่แอปฯ GET เริ่มให้บริการกับคนกรุงเทพฯ ด้วย 3 ประเภทบริการ ได้แก่ ‘GET WIN’ บริการเรียกรถจักรยานยนต์, ‘GET DELIVERY’ บริการรับส่งพัสดุ และ ‘GET FOOD’ บริการส่งอาหาร ใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถดึงดูดให้ร้านอาหารกว่า 20,000 ร้าน ทุกแนว ทุกประเภทอาหารเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ โดยมีเหล่าไดรฟ์เวอร์เข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างร้านอาหารและลูกค้ากว่า 40,000 คน
มาถึงวันนี้ GET กำลังจะก้าวไปอีกขั้น ด้วยการรีแบรนด์ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gojek’ ตามชื่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการในระดับอาเซียน และผู้ลงทุนรายใหญ่ เพื่อยกระดับการให้บริการในไทยของพวกเขาเทียบเท่ากับที่ Gojek ทำไว้ในระดับอาเซียน
ว่าแต่ Gojek คือใคร?
สำหรับคนไทยอาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่หากใครเคยไปอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ก็อาจจะได้เห็นหรือเคยใช้แอปฯ เซอร์วิสออนดีมานด์เจ้านี้ ซึ่งมีบริการกว่า 20 ประเภทในแอปฯ เดียว เช่น ขนส่ง รับ-ส่งอาหาร บริการนวด บริการทำความสะอาดบ้าน โลจิสติกส์ บริการ e-money เรียกว่าเป็นซูเปอร์แอปฯ ที่ตอบโจทย์คนยุคดิจิทัลได้อย่างไร้ที่ติ
ด้วยจุดเด่นของแอปฯ ที่แตกต่าง ทำให้ Gojek มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ขึ้นแท่นเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านเหรียญ) รายแรกของอินโดนีเซีย และอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่จุดเริ่มต้นของพวกเขาคือการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องพบเจอกับปัญหารถติดในเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจัดเป็นเมืองที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลก
Nadiem Makarim อดีตนักศึกษา Harvard Business School คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง โดยเขาเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมากในจาการ์ตาต้องเผื่อเวลาหลายชั่วโมงเพื่อจะทำกิจกรรมบางอย่าง แม้จะเป็นระยะใกล้ๆ เนื่องด้วยการจราจรหนาแน่น เขาจึงเริ่มต้นให้บริการโดยให้ผู้ใช้โทรเข้ามาที่ศูนย์ เพื่อให้มอเตอร์ไซค์มารับและไปส่งถึงที่หมาย ซึ่งในเวลานั้นมีรถมอเตอร์ไซค์ให้บริการแค่ 20 คันเท่านั้น
จากมอเตอร์ไซค์ 20 คันและเสียงตอบรับจากผู้ใช้ Gojek ค่อยๆ มองหาช่องว่างระหว่างความต้องการของชาวอินโดนีเซีย กับการจราจรหนาแน่นและความลำบากในการเดินทาง ก่อนจะพัฒนาเป็นบริการที่หลากหลาย รวบรวมภาคธุรกิจหลายๆ อุตสาหกรรมและผู้คนหลากอาชีพเข้าไว้ด้วยกัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนขับพาร์ตเนอร์กว่า 2 ล้านคน และร้านค้ากว่า 500,000 แห่งในกว่า 200 เมือง
นอกจาก Gojek จะกลายเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้ตั้งเป้าโตแค่ในประเทศ แต่หมายมั่นจะนำเทคโนโลยีที่มีมาต่อยอดสร้างประโยชน์ในประเทศอื่นๆ ด้วย
ดังนั้นเมื่อเล็งเห็นแล้วว่า ประเทศไทย คือ สมรภูมิใหม่ในการขยายธุรกิจ Gojek จึงปูทางด้วยการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน และองค์ความรู้ให้กับ GET ซึ่งเปิดตัวให้บริการด้วยการชูความเข้าใจอินไซต์ลูกค้าไทยเป็นอย่างไร
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ด้วยกลยุทธ์ที่ถูกจุด ทำให้ GET ค่อยๆ เป็นที่รู้จัก พร้อมๆ กับสร้างสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว จึงถึงเวลาที่ GET จะรีแบรนด์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ Gojek โดยที่ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าจะยังใช้บริการที่ชื่นชอบได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการบริการที่ดีขึ้นและหลากหลาย
และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โอกาสในการสร้างรายได้ของพาร์ตเนอร์ซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อน จะยังมั่นคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนไปเช่นกัน พิสูจน์ได้จากเสียงความประทับใจที่พาร์ตเนอร์มีต่อ GET ตลอดเวลาหนึ่งปี
บุ๋ง-รังสิมันตุ์ พิพัฒน์พัฒนานนท์ อายุ 50 ปี หนึ่งในคนขับของ GET เล่าว่า
ตนเข้ามาขับ GET ตามที่เพื่อนแนะนำในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากงานประจำ เพราะเห็นว่าการใช้งานแอปฯ ไม่ยุ่งยาก แม้ว่าจะไม่ค่อยคุ้นกับการใช้เทคโนโลยีก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้ทำงานได้ไม่มีปัญหา เลยตัดสินใจมาขับ GET แบบเต็มตัว ทำได้ราวปีกว่า และกลายเป็นอาชีพหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้ไม่ต่างจากตอนทำงานประจำ
“ผมรู้มาว่าเร็วๆ นี้ GET จะรีแบรนด์เป็น Gojek ก็ตื่นเต้นครับ เพราะ Gojek เป็นแอปฯ ที่ดังมากในอินโดนีเซีย ถ้ามาเมืองไทย เขาก็น่าจะนำเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเมืองไทยมาช่วยพัฒนาระบบให้ดีขึ้น ผมจึงไม่กลัว แต่กลับมั่นใจด้วยซ้ำว่า น่าจะทำให้ลูกค้ายิ่งมั่นใจในการใช้บริการมากขึ้น”
ทางด้าน ญาดาณี อาริยโชคชัย เจ้าของร้านคูมิ ก็แชร์ประสบการณ์ไว้ว่า แรกเริ่มธุรกิจของตนเป็นแบรนด์โยเกิร์ตนำเข้าจากออสเตรเลียที่เพิ่งเริ่มทำตลาด ลูกค้าจึงยังไม่รู้จัก ออเดอร์ช่วงแรกๆ ยังไม่มาก โชคดีที่หลังจากเข้าร่วมกับ GET ก็มีทีมงานเข้ามาช่วยทำโปรโมชั่นร่วมกับทางร้าน หลังจากนั้นผลตอบรับก็ดีมาก ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว มีลูกค้าคลิกเข้ามาออเดอร์มากขึ้น
“การทำโปรโมชั่นกับ GET ถือเป็นจุดที่แจ้งเกิดของแบรนด์ก็ว่าได้ ทำให้ร้านเล็กๆ อย่างเราเป็นที่รู้จัก เพราะ GET ก็เป็นแอปฯ ที่มีฐานแฟนเยอะอยู่แล้ว พอมีโปรโมชั่นก็ยิ่งทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก ส่วนเรื่องการรีแบรนด์จาก GET เป็น Gojek ไม่รู้สึกหนักใจเลย แถมยังรู้สึกมั่นใจด้วยซ้ำว่า ประสบการณ์ของ Gojek จะนำโซลูชันใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาระบบเดิมที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงโปรโมชั่นและแผนการตลาดออกมาดึงดูดให้มีผู้ใช้งานมากขึ้นแน่นอน”
หากจะบอกว่าการเปลี่ยนชื่อจาก GET เป็น Gojek นั้น จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยก็คงไม่ใช่ เพราะเป้าหมายของ Gojek คือการพัฒนาแพลตฟอร์มเซอร์วิสออนดีมานด์ มอบการบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับคนไทย ส่งเสริมให้พาร์ตเนอร์ชาวไทยทั้งคนขับและร้านอาหารได้รับโอกาสทำรายได้ที่มากขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
มีเพียงสิ่งเดียวที่จะเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง คือการทำทุกอย่างให้ลูกค้ากับพาร์ตเนอร์ทุกฝ่ายใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและมั่นใจ