จะเรียกว่าเป็นโชคดีของพ่อแม่ในยุคนี้ก็คงไม่ผิดนัก เพราะการเลี้ยงดูลูกสักคนเต็มไปด้วยตัวช่วยต่างๆ มากมาย ทั้งของเล่นสุดล้ำ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โรงเรียนที่มีหลักสูตรเฉพาะทาง กระทั่งความรู้เรื่องการเลี้ยงดูก็มีให้อ่านกันล้นอินเทอร์เน็ต
แต่ขณะเดียวกันด้วยตัวช่วยต่างๆ ที่มากล้นเกินไปก็อาจกลายเป็นข้อเสีย เพราะทัศนคติของพ่อแม่ยุคใหม่ต่างหวังพึ่งแต่เครื่องมือที่ช่วยในการเลี้ยงดูมากเกินไป ทำให้มองข้าม ‘สิ่งเล็กๆ’ ที่อยู่ใกล้ตัว อย่างการปฏิสัมพันธ์ง่ายๆ เช่นการเล่นกับลูกหรือการเล่านิทานด้วยตนเองไป
The MATTER จึงชวนคุยกับ หมอโอ๋ – พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงความสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนาของลูกโดยใช้การปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมง่ายๆ ในครอบครัว เพื่อพิสูจน์ว่า พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกได้อย่างไรและในงาน GOOD Society Expo 2018 จะพบกิจกรรมอะไรของคุณหมอบ้าง
ความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร
ยุคนี้เป็นยุคที่มีสื่อเข้ามาเยอะ ทำให้พ่อแม่มีความรู้ในการเลี้ยงลูกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเลี้ยงลูกเชิงบวกเยอะขึ้น ทั้งหนังสือและโลกออนไลน์ แต่ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะจะเห็นว่าหลายครั้งเรื่องของความรู้ก็ถูกแชร์คู่ไปกับเรื่องของการค้าเหมือนกัน เป็นหน้าที่ของพ่อแม่เองที่ต้องพยายามกลั่นกรอง มองหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้จริงๆ ขณะเดียวกันก็มีครอบครัวที่อาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องของพัฒนาการหรือการเรียนรู้อะไรมาก บางบ้านก็ยังปล่อยเด็กอยู่กับมือถือ อยู่กับหน้าจอ ไม่ได้สนใจกระตุ้นพัฒนาการเด็กอย่างจริงจัง ฉะนั้นจึงค่อนข้างมีหลากหลายรูปแบบ
พอสื่อมีมากเกินไป ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าไม่มั่นใจในตัวเองในการเลี้ยงลูกหรือเปล่า จึงต้องหาที่พึ่งอย่างเช่นที่ปรึกษาหรือเครื่องมือในการเลี้ยงลูกต่างๆ
แต่ก่อนคนอาจจะคิดว่า เลี้ยงลูกก็ไม่เห็นยากเลย พ่อแม่ของเราก็เลี้ยงเรามาได้ แต่ต้องบอกว่าโลกสมัยก่อนกับโลกปัจจุบันแตกต่างกันมาก เด็กยุคนี้มีความฉลาดมากขึ้น เพราะโลกที่เปิดกว้างที่ขึ้น ในขณะเดียวกันเขาก็อยู่กับความเสี่ยงต่างๆ ที่เยอะขึ้นด้วย โดยทั่วไปพ่อแม่ก็ไม่ได้มีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกมากอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยมีมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนไหนสอนเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการหาองค์ความรู้เอง ส่วนหนึ่งหมอเชื่อว่ามันช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับพ่อแม่ ว่ามีแนวทาง มีหลักการที่จะตอบโจทย์ในการเลี้ยงลูกได้ ขณะเดียวกันข้อมูลที่เยอะมากเกินไป บางทีก็อาจจะทำให้พ่อแม่รู้สึกสับสน เพราะความรู้ที่เราได้มาเป็นแบบนี้ แต่เราถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ ทำให้ต้องอาศัยที่พึ่ง อยากแนะนำว่า เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าล้าหรือเริ่มสับสน ก็ให้ใช้สัญชาตญาณของความเป็นพ่อแม่ของตัวเอง เพราะเรารู้จักลูกของเราดีที่สุด เพื่อเลี้ยงลูกอย่างที่ต้องการจริงๆ
มองว่าเทคโนโลยีหรือสื่อทุกวันนี้ อย่างเช่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ทำให้การเสริมสร้างพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กลดน้อยลงอย่างไร
ต้องบอกว่าตัวสื่อและเทคโนโลยีทุกวันนี้ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ ประโยชน์เราก็คงพอมองออก เช่นช่วยเสริมสร้างเรื่องพัฒนาการทางภาษา เด็กหลายคนเรียนรู้ภาษาต่างประเทศได้จากคลิปวิดีโอ แทนที่จะต้องเรียนจากคนต่างชาติโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของสมาธิ เพราะภาพบนหน้าจอที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาทำให้ความรู้สึกของเด็กชินกับอะไรที่เร็วๆ และอยู่กับอะไรที่ค่อนข้างนิ่งหรือช้าไม่ค่อยได้ จะมีอาการเหมือนสมาธิสั้น เด็กหลายคนมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เพราะไม่สามารถเรียนรู้จากคำพูดเร็วๆ ในสื่อได้เท่ากับการคุยหรือเล่านิทานแบบช้าๆ ซึ่งทำให้ซึมซับเรื่องของภาษาได้ดีและเข้าใจได้มากกว่า หรือบางคนอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ไม่มองหน้า ไม่สบตา ทำให้พบเจอปัญหาออทิสติกเทียมเยอะขึ้นในเด็กที่พ่อแม่ทิ้งเอาไว้กับหน้าจอต่างๆ เนื่องจากสมองของเด็กเป็นสมองที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างมาก การใช้เวลาไปอยู่กับหน้าจอมากเกินไปจะบั่นทอนประสิทธิภาพการพัฒนาสมองอย่างมหาศาล ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ไม่ควรเกินวันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ยกเว้นเป็นวิดีโอคอลที่คุยกับพ่อแม่ในเวลาที่จำเป็นเท่านั้น
นอกจากผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กโดยตรงแล้ว ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวถือว่าได้รับผลกระทบไหม
ปัจจุบันส่วนใหญ่มักเจอปัญหาจากตัวพ่อแม่เองที่ใช้งานมือถือหรือแท็บเล็ตเยอะมาก เวลาก็น้อยมากอยู่แล้ว ก็ยังจะเอาไปใช้อยู่กับหน้าจออีก พ่อแม่หลายคนหงุดหงิดเวลาที่ลูกเข้ามารบกวน ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดี
มีงานวิจัยที่พบเลยว่าพ่อแม่ที่ติดหน้าจอมือถือส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย เป็นเด็ก EQ ไม่ดี หลายครั้งพอพ่อแม่ก็ปล่อยให้ลูกติดหน้าจอไปด้วย แล้วเข้าไปควบคุมด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น บ่น ว่า ตำหนิ ก็ยิ่งทำให้เด็กมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่ก้าวร้าวและรุนแรง เป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามมา ทางแก้หลักๆ เลยก็คืออย่าเอาแท็บเล็ตมาเป็นเวลาเล่นกับลูก เพราะว่าเวลาเล่นถึงเราจะเล่นอยู่กับลูก แต่ลูกไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเรา ลูกมีปฏิสัมพันธ์กับหน้าจอ ฉะนั้นถ้าอยากได้เวลาคุณภาพ ก็ใช้เวลาร่วมกันในการเล่นบอร์ดเกม เล่นกิจกรรมอื่นๆ หรือออกกำลังกายร่วมกันดีกว่า
หัวใจสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กคืออะไร
คือการทำให้เด็กรู้ว่าตัวเขามีตัวตน ตัวเขามีความหมาย ตัวเขาเป็นที่รัก สิ่งเหล่านี้จะเสริมสร้างเรื่องของ Self Esteem หรือความนับถือตัวเอง นอกจากนี้ความสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนาการก็คือการเสริมสร้างสมองส่วนคิด วิเคราะห์เหตุผล ส่วนการควบคุมอารมณ์ หรือที่เรียกว่าสมองส่วน Executive Functions หรือ EF ซึ่งสมองส่วนนี้มีระยะเวลาที่จะพัฒนาได้ไม่นาน วัยที่สำคัญที่สุดก็คือแรกเกิดจนถึง 6 ปีแรก หลังจากนั้นก็ยังพัฒนาได้แต่ว่าจะไม่เท่ากับช่วงแรกๆ ของชีวิต สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาการผ่านการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพ่อแม่ ซึ่งจะติดตัวไปเป็นเรื่องของความฉลาด สติปัญญา รวมไปถึงความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดทางสังคม ความนับถือตนเอง รวมถึงบุคลิกภาพของเด็กในอนาคต
เพราะฉะนั้นมีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยให้เด็กสามารถเติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพ
ปัจจัยที่จะช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ หมอเคยแยกเอาไว้สั้นๆ เป็นแนวคิด 5L หนึ่ง คือ Love ความรักที่เด็กได้รับจากพ่อแม่ สอง คือเรื่องของ Learn การเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ตามพัฒนาการและตามวัยได้อย่างเหมาะสม สาม คือ Limit คือการสร้างวินัย บอกขอบเขตให้เด็กเรียนรู้ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ อะไรถูกอะไรผิด ซึ่งการกำหนดวินัยก็เป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ควรจะต้องช่วย สี่ คือ Let them go คือการปล่อยให้เด็กมีเส้นทางการเติบโตเป็นของตนเอง พ่อแม่ต้องค่อยๆ ปล่อยมือลูกให้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ตามวัยที่เขาเติบโตขึ้น ไม่ควรมองว่าลูกเป็นของเราหรือกำหนดชะตาชีวิต กำหนดอาชีพของเขาด้วยตัวของเราเอง และสุดท้าย ห้า คือเรื่องของ Let it be พ่อแม่ต้องรู้จักที่จะปล่อยวาง ปล่อยลูกให้เผชิญกับปัญหาบางอย่างด้วยความเข้าใจ
สำหรับโครงการ ‘สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก’ ทำไมถึงใช้คำว่าสิ่งเล็กๆ
คือบางทีเราพบว่าพ่อแม่ยุคใหม่มองเรื่องการเลี้ยงดูลูกเป็นเรื่องใหญ่ หลายคนมองเรื่องของเล่นราคาแพง ลูกต้องเข้าโรงเรียนดีๆ ลูกต้องไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อจะได้เสริมสร้างพัฒนาการ เราจึงเลือกใช้คำว่า ‘สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก’ เพราะเราอยากให้พ่อแม่มองว่า จริงๆ แล้วการเลี้ยงลูกไม่ต้องการอะไรที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเลย มันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่พ่อแม่ลงทุนทำกับลูกได้ง่ายๆ แต่ว่ามันช่วยลูกได้มาก อย่างเช่นเราเลือกการเล่น ‘จ๊ะเอ๋’ ขึ้นมา เพราะเราพบว่าเป็นการเล่นเล็กๆ ที่เล่นกันบ่อยมาก แต่พ่อแม่อาจจะไม่รู้เลยว่าประโยชน์ของมันมีคุณค่ามหาศาล มากกว่าการเล่นสนุกเฉยๆ เพราะช่วยสร้างพัฒนาการลูกในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักตัวตน การเข้าใจเรื่องของการมีอยู่และหายไปของสิ่งของ การรู้จักอดทนรอคอย การฝึกความคิดยืดหยุ่น เป็นเรื่องของการทำสิ่งเล็กๆ แต่สร้างผลที่ยิ่งใหญ่ เลยเป็นที่มาของชื่อโครงการนี้
แล้วอย่างฟังก์ชันของการเล่านิทาน สำคัญต่อเด็กและพ่อแม่อย่างไร
ต้องบอกว่านิทานเป็นสื่อที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กหลายด้านมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความจำ เด็กจะเรียนรู้เรื่องของคำศัพท์ เรื่องของภาษาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิทานเพื่อมาตกตะกอนเป็นความคิดของตนเอง เด็กจะได้ฝึกในเรื่องของการอดทนและการควบคุมตนเอง เพราะเวลาเล่านิทานมันไม่เร็ว ต้องรอผ่านการเปิดทีละหน้าๆ เพื่อติดตามการดำเนินของเรื่อง ซึ่งมันไม่ได้ดั่งใจ ต้องรอคอย ขณะเดียวกันก็ช่วยฝึกเรื่องของความคิดยืดหยุ่น ฝึกเรื่องของการแปลงสิ่งที่ได้เห็น ได้อ่านมาเป็นความคิดของตัวเอง ว่าถ้าไม่ทำแบบนี้เหมือนตัวละครในเรื่อง จะทำอย่างอื่นได้ไหม เป็นการฝึกในเรื่องของศีลธรรมด้วย สาเหตุที่เขาทำแบบนี้ ส่งผลให้เกิดเรื่องแบบนี้ นอกจากนั้นยังฝึกในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เด็กจะฟังนิทานแล้วเกิดความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง เด็กบางคนวาดภาพเรื่องต่างๆ จากนิทานที่เขาได้ยินมาเป็นภาพของตัวเองในสมองด้วย ฉะนั้นการเล่านิทานช่วยเสริมสร้างในเรื่องของพัฒนาการอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง Executive Functions ของสมอง และที่สำคัญการเล่านิทานทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพ่อแม่ เราไม่เจอพ่อแม่เล่านิทานด้วยอารมณ์ที่หงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่มีความสุข แต่เวลาเล่านิทานจะเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่เองก็สงบ เด็กเองก็จะได้รับทั้งความสงบและความสุขในบ้านจากการเล่านิทาน และทำให้เด็กรู้ว่าพ่อแม่เป็นของเล่นที่ดีที่สุดในโลกได้
ทำไมพ่อแม่จึงเป็นของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก
เพราะว่าไม่มีของเล่นชิ้นไหนที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน ตัวเองเป็นที่รัก และตัวเองมีความหมายเท่ากับพ่อแม่อีกแล้ว เวลาที่เด็กเล่นของเล่นทั่วไป เด็กก็จะได้แค่ความสนุก ได้แค่ความรู้ ได้แค่ความสุข แต่เวลาเล่นกับพ่อแม่ เด็กจะได้รอยยิ้ม ได้รู้ว่าตัวเขาเป็นที่รัก ได้รู้ว่าตัวเขามีคุณค่า เพราะมีคนที่สละเวลามาเล่นกับเขา สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้จากของเล่นอื่นๆ ฉะนั้นการเล่นกับพ่อแม่ เป็นของเล่นที่ไม่ได้เสริมสร้างแค่พัฒนาการ แต่ยังมันเสริมสร้างเรื่องของความรู้สึกมีตัวตนของเด็ก ซึ่งมันจะอยู่คงทนถาวรยาวนานไปตลอดชีวิตของเขา
ในงาน GOOD Society Expo 2018 ที่กำลังจะจัดขึ้น โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก มีกิจกรรมอะไรให้ได้เข้าร่วมบ้าง
สำหรับงาน GOOD Society Expo โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูกจะมีเวทีเสวนาและการแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่จะมาพูดคุยกันในประเด็นเรื่องของการเลี้ยงลูกในปัจจุบัน ส่วนเด็กๆ ก็จะมีกิจกรรมที่จะเสริมสร้างในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจเรื่องการเสริมสร้างพัฒนาการของลูก ผ่านการเล่นและการปฏิสัมพันธ์ที่สามารถสร้างได้ด้วยสิ่งเล็กๆ ที่พ่อแม่ทุกคนมีอยู่แล้ว
เชิญชวนเป็นส่วนหนึ่งในการทำดีกับ GOOD Society Expo 2018 เทศกาลทำดีหวังผล ที่จะทำให้คนไทยเห็นโอกาสว่าตัวเองสามารถช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง กับ 9 โซนกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำดีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทันที 13 – 16 กันยายน 2561 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์