ในโลกของการทำงานยุคใหม่ที่เรื่องของเทคโนโลยีกลายเป็นสื่อกลางในการทำงาน ประกอบกับเรื่องของ Digital Disruption ทำให้เทรนด์ของการทำงานเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่เพียงแต่คนทำงานต้องพัฒนาทักษะตัวเองเท่านั้น องค์กรก็ต้องปรับตัวไม่หยุดด้วยเช่นกัน
บ้านปู คือผู้นำด้านพลังงานที่มีความหลากหลายในระดับนานาชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของคนทำงานอย่างมาก มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง อย่างการ Work from Home บ้านปูเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2008 ก่อนองค์กรไหนๆ หรือ Flexible Benefit ที่พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการที่ต้องการเองได้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องการสร้าง Ecosystem ที่ลดขั้นตอนการทำงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้มากที่สุด และการมองเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ในอนาคต ที่ต้องมีความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงการทำงานมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทุกรูปแบบการทำงานในโลกปัจจุบัน
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ คุณเวโรจน์ ลิ้มจรูญ Group Senior Vice President – Human Resources บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ถึงเบื้องหลังของการบริหารคนทำงาน ที่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยมีหัวใจสำคัญคือ Banpu Heart หรือค่านิยมในการทำงานในแบบบ้านปู ที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเติบโตในโลกการทำงานได้สำเร็จ
อยากให้เล่าถึงการเติบโตของบ้านปูที่ผ่านมา ถึงความเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เกิดขึ้น
บ้านปูเราก่อตั้งมาเมื่อปี 1983 ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 38 แล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับคน ก็เป็นคนทำงานที่กำลังแสวงหาสิ่งที่ตัวเองต้องการในชีวิต บ้านปูเราเริ่มจากธุรกิจเดียว คือทำธุรกิจเหมืองแร่ แต่ตลอดระยะเวลาที่เราเติบโตขึ้นมา เราเน้นการลงพื้นที่ต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งหมด 10 ประเทศ รวมประเทศไทยด้วย ล่าสุดคืออเมริกา จากธุรกิจเดียวก็กลายเป็นหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจไฟฟ้า Oil and Gas เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เติบโตขึ้น และสุดท้ายคือ Energy Technology เรื่องของรถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และสมาร์ทซิตี้ คนทำงานจากหลักร้อย ตอนนี้มี 5,800 คน แต่มีคนไทยแค่ 550 คนเอง ตรงนี้เป็นเอกลักษณ์ของเราที่มีเพื่อนพนักงานเป็นชาวต่างชาติ
ในการเปลี่ยนแปลงทำให้พนักงานได้สัมผัสถึงความไม่อยู่นิ่ง เราหมุนไปเรื่อยๆ มีความเติบโต มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้พนักงานเห็นภาพว่าทุกคนต้องปรับตัว ต้องทันกับกระแสโลก ตั้งแต่อดีตเราเคยทำงานแค่ในเมืองไทย ต้องถูกส่งไปทำงานกับเพื่อนที่ต่างประเทศ ภาษาที่เราเคยใช้เป็นภาษาไทย ก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ ทุกคนต้องถือโน้ตบุ๊ก โหลดแอปพลิเคชัน โหลดโปรแกรม และเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวคนเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานได้รับการปลูกฝังในเรื่องของความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
มองเทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้อย่างไร
จากมุมที่ได้สัมผัสพนักงานที่เข้ามาใหม่ อย่างพนักงานบ้านปูที่กรุงเทพฯ ประมาณ 530 คน 1 ใน 4 จะเป็นน้องรุ่นใหม่ ที่สังเกตดู เขามีศักยภาพในตัวเองเยอะ ชอบความอิสระ มีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน มุ่งมั่นที่อยากจะทำอะไรให้เกิดความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เวลาเรามอบหมายงานให้จึงต้องมีความหมายและคุณค่าพอสมควร มีความอดทนไม่สูงมาก คือไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าถ้าเทียบกับพี่ๆ ในรุ่นก่อน เขาอาจจะอดทนต่อการที่ต้องรอน้อยกว่า ซึ่งจุดนี้ไม่ได้เป็นจุดลบหรือไม่ดี แต่เป็นเพราะเขามุ่งหาผลสำเร็จที่ไวมากกว่า เปรียบเทียบกับตอนที่ผมหนุ่มๆ เพิ่งจบมาใหม่ แล้วเข้าทำงาน สิ่งแวดล้อมในช่วงนั้น มีขั้นตอน มีกฎระเบียบเยอะ การทำงานก็ไม่ต้องแข่งขันกันแบบรวดเร็ว หรือการแข่งขันในตลาดก็ไม่ได้รุนแรง โครงสร้างองค์กรก็มีเลเยอร์หลายชั้น แต่พอมาถึงปัจจุบัน การแข่งขันสูงขึ้น มีการเน้นเรื่องความรวดเร็ว การทำงานขั้นตอนน้อยลง มีการตัดสินใจที่รวดเร็วมากขึ้น สมัยรุ่นผมกับน้องในยุคนี้จึงมีความแตกต่างกันมาก
กระแสของ Digital Disruption ที่เกิดขึ้น บ้านปูรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ในรูปแบบไหน
จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก คือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว บ้านปูตัดสินใจจ้างบริษัทที่ปรึกษาระดับ Global มาทำเรื่องของ Digital Transformation ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีโควิด แต่เราคิดว่าถ้าไม่ปรับตัว อาจจะตามไม่ทันกระแสโลก จึงพยายามลดขั้นตอนการทำงาน โดยนำเรื่องของดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันเข้ามาปรับใช้ ช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวก ผ่านระบบต่างๆ ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลา การขออนุมัติต่างๆ หรือแม้แต่การ Training ก็อยู่บนออนไลน์
ที่บ้านปูเราน่าจะเป็นบริษัทต้นๆ ที่ใช้ระบบ Push Mail คือการรับ-ส่งอีเมลทำงาน ผ่านระบบปฏิบัติการของ Blackberry มีการซื้อเครื่อง Blackberry ให้ผู้บริหารทุกคน จำได้ว่าตอนนั้นเครื่องละประมาณเกือบ 70,000 บาท เพราะเชื่อว่าการที่เราทำงานได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการเติบโตของธุรกิจได้มากขึ้น และบ้านปูก็เป็นบริษัทต้นๆ ที่ปรับเปลี่ยนไม่ให้พนักงานใช้พีซี แต่ให้ใช้โน้ตบุ๊กแทน ตั้งแต่ประมาณปี 2540-2541 โน้ตบุ๊กในตลาดก็มีไม่กี่ยี่ห้อ ราคาประมาณเครื่องละ 80,000-100,000 บาท ตอนนั้นพนักงานใหม่เข้ามาเขาก็เซอร์ไพรซ์ สามารถเอาโน้ตบุ๊กกลับบ้านได้ด้วย ผมจะบอกน้องๆ ในทีมเสมอว่าถ้าเราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่เปลี่ยน คนก็จะไม่เปลี่ยนแน่นอน เพราะฉะนั้นในบริบทของบ้านปู เราพยายามทำให้สิ่งแวดล้อมเอื้อให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว สภาพแวดล้อมการทำงานด้านอื่นๆ บ้านปูมีการปรับเปลี่ยนมากน้อยขนาดไหน
ด้าน Ecosystem บ้านปูมองภาพว่า ถ้าเรายังมีเลเยอร์ในการทำงาน 6-7 ระดับ การสื่อสารกว่าจะไปถึงระดับล่างสุด ก็ไม่ทันแล้ว เราจะทำยังไงที่จะทำให้หัวหน้างานเข้าถึงลูกน้องได้ใกล้และเร็วที่สุด ตั้งแต่ซีอีโอลงไปเลย เราตัดสินใจทุบ 7-8 เลเยอร์ ให้เหลือ 4 เลเยอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารที่รวดเร็ว และสามารถกระจายอำนาจให้คนทำงานได้มากขึ้น
และสิ่งที่สร้างถัดมา คือเรื่องของ Flexible Workplace บ้านปูเรานำเรื่องของ Work from Home มาใช้ตั้งแต่ปี 2008 ในขณะที่คนยังไม่เข้าใจเลยว่าทำไมถึงต้อง Work from Home เพราะตอนนั้นบ้านปูเราทำงานกับต่างประเทศเยอะ บางทีวันหยุดของเรากับต่างประเทศก็ไม่ตรงกัน บางครั้งก็มีเรื่องของ Time Zone ที่ต่างกัน เราก็เลยต้องยืดหยุ่นให้พนักงาน การที่พนักงานสามารถ Work from Home ได้ น่าจะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การบริหารงาน และการทำงานกับคนอื่นก็ง่ายขึ้น แต่น่าสนใจว่าหลังจากที่อินเทอร์เน็ตแพร่หลายมากขึ้น ทุกสถานที่ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ก็มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ พนักงานก็ขอว่าไม่ต้อง Work from Home ได้ไหม Work from Anywhere เลย เราก็เลยเปลี่ยนเป็น Work from Anywhere เมื่อปี 2012-2013 ซึ่งถ้านับถึงตอนนี้ก็ 8 ปีแล้ว
ถัดมาคือเรื่องของ Flexible Benefit เพราะเรามองว่าทุกคนมีความต้องการเรื่องของสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างกัน อย่างเช่น ถ้าเกิดเราดีไซน์ให้มีสวัสดิการ 10 รายการ พนักงานทั้ง 500 คนใช้เหมือนกันหมด น้องรุ่นใหม่อาจจะไม่ชอบ เช่น สวัสดิการเรื่องประกันชีวิต เพราะมันไกลตัว เขาบอกว่าขอเปลี่ยนได้ไหม อยากจะได้บัตร MRT หรือ BTS แทน หรือบอกว่าไม่เอาสวัสดิการค่าที่จอดรถ ขอเปลี่ยนเป็นค่าฟิตเนสแทนได้ไหม เรียกว่าเป็นสวัสดิการและสิทธิประโยชน์แบบยืดหยุ่น มีให้เลือกประมาณ 42 รายการ พนักงานทุกคนสามารถเลือกได้ตามที่ตัวเองชอบ ภายใต้งบประมาณที่เรากำหนดให้ในแต่ละคน
ได้ยินมาว่าบ้านปูมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง อยากให้เล่าถึงวิธีคิดในการออกแบบว่าเป็นอย่างไร
บ้านปูเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่เราเรียกว่า Banpu Heart เราจะไม่เรียกว่า Corporate Culture เพราะเวลาพูดแล้วเด็กรุ่นใหม่จะรู้สึกว่ามันแข็ง เราเลยพยายามทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ซอฟต์และดู Friendly ก็เลยใช้คำว่า Banpu Heart ประกอบด้วย Value ที่เราให้พนักงานปฏิบัติ คือ Passionate ต้องมีใจรักในการทำงาน มีเรื่องของ Innovative มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สุดท้ายคือเรื่องของ Committed พนักงานทุกคนต้องมี Commitment กับงานและเพื่อนร่วมงาน เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังและหล่อหลอมให้พนักงานมีร่วมกัน แต่เวลาเราพูดถึงสิ่งเหล่านี้ สมมติไปถามพนักงาน A B C คำว่า Passion ของเขา A กับ B จะต่างกัน หรือพอถามคำว่า Innovation ถามพนักงาน C กับ B ทั้ง 2 คนอาจจะให้คำนิยามความเข้าใจไม่เหมือนกัน เลยเป็นที่มาให้เกิดการทำไกด์ไลน์ 10 พฤติกรรมที่เราต้องการให้พนักงานแสดงออกมาละเอียดขึ้น
อย่างภายใต้ Passionate เราขอให้พนักงานประพฤติ 4 พฤติกรรมนี้ หนึ่งคือขอให้พนักงาน Pursue for Success ทำให้สำเร็จ สองคือ Can Do More อย่าย่อท้อต่องานที่เข้ามา เราสามารถทำเพิ่มและฝ่าฟันมันไปได้ สามคือเรื่อง Be Agile and Change ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลง และสี่คือ Express Care and Share แสดงเรื่องของการห่วงใยและแบ่งปัน พอมาถึงด้าน Innovative ขอให้พนักงานปฏิบัติ 3 พฤติกรรมคือ Transcend the Trend ก้าวล้ำนำหน้า Ideate and Get Real คิดจริงทำจริง และ Learn Fast, Do First เรียนเร็วทำเร็ว ส่วนด้าน Committed มี 3 พฤติกรรม คือหนึ่ง Adhere to Integrity and Ethics ขอให้มีความยึดมั่นในความถูกต้อง มีจริยธรรม สองคือให้ Synergize and Network ผสานพลังร่วม และสร้างเครือข่าย สุดท้ายสำคัญมาก Engage to Sustainability Development เพราะธุรกิจเราอยู่ในธุรกิจพลังงาน ต้องยึดมั่นและมีพันธสัญญาต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรกับสังคม
คิดว่าอะไรเป็นจุดแข็งสำคัญของ Banpu Heart ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ประทับใจ
เราเคยทำสำรวจพนักงานใหม่ของเราประมาณ 45 คนที่เข้ามาใหม่ อายุงานประมาณ 6 – 12 เดือน ว่ามีความเห็นยังไงเมื่อเข้ามาบ้านปูแล้ว อะไรที่เป็นจุดเด่นที่ทำให้เขาอยู่กับบ้านปู ผลของการสำรวจพบว่า เขามองจุดแข็งคือเรื่องค่านิยมของบ้านปู เวลาที่เรารับ Candidate จะมีแบบทดสอบที่เราดีไซน์ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา ว่าคนไหนที่มีค่านิยมแมตช์กับ Banpu Heart บ้าง เราจะบอกเสมอว่าเราเคารพคนที่มาสมัครทุกคน ในความเป็นตัวตนของเขา เวลาเขามาทำงานกับเราก็ไม่ต้องปรับตัวมาก ในการคัดเลือก เราจะวัดทั้ง 10 พฤติกรรมเลย พอเข้ามาแล้ว ก็มีการประเมินผลวัดผลงานของเขาจากพฤติกรรมของ Banpu Heart เพราะเราเชื่อว่า งานที่ดี ไม่สำคัญเท่ากับเขาทำอย่างไรให้งานนั้นสำเร็จ ซึ่งมันคือพฤติกรรมที่เขาแสดงออกในการทำงาน
หลักการในการดูแลบุคลากรของบริษัท เราเป็น Caring Workplace เวลาคนเข้ามาทำงาน จะมีความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มั่นคง เราพยายามออกแบบและสร้าง Ecosystem ต่างๆ ให้มีความเชื่อร่วมกันผ่าน Banpu Heart ถ้ามาที่นี่ คุณสามารถปลดปล่อยศักยภาพของคุณได้เต็มที่ มีการพัฒนาศักยภาพอยู่ตลอดเวลา มีความหลากหลายในการทำงาน เพราะมีคนทำงานกว่า 5,800 คนจาก 10 ประเทศ เป็นโอกาสในการเรียนรู้กับคนในหลายความสามารถ หลายประสบการณ์ หลายความเชี่ยวชาญ คือจุดที่เราพยายามสื่อสารออกไปข้างนอก ให้ทั้งคนข้างนอกและข้างในเห็นด้วยว่า เราดูแลคนของเรายังไง เพราะว่าการ Caring หมายถึงว่า ถ้าเขาทำพลาด เราพร้อมดูแลเขานะ
ปัญหาเรื่อง Generation Gap ที่่มีอยู่ในทุกองค์กร บ้านปูเองมีการไขปัญหานี้อย่างไร
เราใช้การลดช่องว่างไม่ให้มี Gap โดยสร้างให้เกิด Flat Organization ที่ค่อนข้างแบน เพราะฉะนั้นทุกคนจะเข้าถึงกันได้ง่าย และสิ่งที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข คือทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน มาจากค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่เรายึดถือกัน ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้เคารพกันด้วยอายุ หรือความเป็น Gen ไหน เราสร้างให้หัวหน้างานทุกคนเป็น People Champion เพราะเป็นคนที่ใกล้พนักงานที่สุด หัวหน้างานต้องเก่งเรื่องการดูแลคน รวมทั้งการทำ Digital Transformation มาตลอด 3 ปี ไม่ว่าจะเป็น Gen ไหนก็ต้อง Go Digital การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยน้อยลง ซึ่งมาจากเรื่องของ Culture ด้านเทคโนโลยีที่เราดีไซน์ให้คนต่างวัยเข้าถึงระหว่างกันได้
ถ้าให้อธิบายตัวตนของคนทำงานแบบบ้านปู จะนิยามไว้ว่าอะไร
ถามว่าทำไมต้องเป็น Banpu Heart คือเรามีการทำให้ชัดขึ้นในเรื่องค่านิยมในการทำงานร่วมกัน ก่อนหน้านี้เรามี Banpu Spirit ที่มีทั้งหมด 27 พฤติกรรม ภายใต้ Innovation, Integrity, Care, Synergy เราพยายามไม่อยากให้พนักงานรู้สึกว่าต้องตีความเยอะ และกระแสโลกมีความผันเปลี่ยน เราจึงทำให้กระชับขึ้น จาก 27 เหลือแค่ 10 พฤติกรรม ที่เป็นการตอบโจทย์อนาคต คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจได้ ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า Banpu Heart ที่เป็นการ Transform จาก Banpu Spirit ถ้ามีคนมาถามว่า คนบ้านปูเป็นยังไง ทุกอย่างมันสะท้อนอยู่ในค่านิยมตรงนั้น คือเป็นคนที่คนอื่นสามารถไว้วางใจได้ มี Commitment สูง กล้าคิด กล้าแสดงออก แต่มีความสุภาพ ถ่อมตน และยึดมั่นในความถูกต้องอยู่เสมอ
การที่บ้านปูจะเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว หัวใจในการดูแลคนทำงานต้องพัฒนาไปในทิศทางไหน
ที่บ้านปูเองเราก็คุยกันเรื่องนี้มากเหมือนกัน มีการตั้งเป้าในปี 2025 บ้านปูจะมีธุรกิจและวิธีการทำงานที่ Greener & Smarter เรามีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือกลุ่มแหล่งพลังงาน กลุ่มผลิตพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยีพลังงาน นี่คือเป้าหมายที่เราจะไปข้างหน้า แล้วเราจะเตรียมคนของเรายังไง สิ่งที่เราทำมาตลอด คือเน้นให้ผู้บริหารเก่งเรื่องคน เรื่อง Flexible Workplace เรื่องการทำให้ Culture แมตช์กันได้ และผสมผสานคนในแต่ละ Generation ได้ แต่สิ่งที่จะช่วยตอบโจทย์และเตรียมให้คนของเราไปสู่ยุคใหม่ได้ ต้องเตรียมสองเรื่อง คือการสร้างคนของเราให้มี Growth Mindset สร้างสมรรถนะขีดความสามารถของคนของเราใหม่ และในเรื่องของ Digital Literacy หรือความสามารถด้านดิจิทัล
ทั้งนี้อนาคตอาจจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปอีกเยอะ อาจจะเป็นเทรนด์การทำงานใหม่ ที่คนไม่อยากทำงานหนึ่งเดือนเต็ม อยากทำงานแค่ 1 ใน 3 เราจะเอื้อความยืดหยุ่นให้พนักงานยังไง ก็มีการคุยกันในกลุ่มผู้บริหารว่า อนาคตเราคงจะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขอยกตัวอย่างเป็น 2 กรณี เช่น กรณีที่ 1 หากเราอยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ตรงกับที่บริษัทต้องการ แต่บ้านเขาอยู่เชียงใหม่ และไม่ได้ต้องการย้ายมากรุงเทพฯ เราก็ยินดีที่จะจ้างงานในลักษณะที่เขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้
หรือกรณีที่ 2 คนเราแต่ละคนอาจจะมีไลฟ์สไตล์และความจำเป็นในการดำรงชีวิตต่างกัน บางคนอาจจะไม่ต้องการทำงานเต็มเวลา เช่น อยากทำงานเดือนละ 10 วัน หรือ 15 วัน เป็น Partial Working Time หรือ ที่เรียกว่าการทำงาน Part Time และวันที่เหลือในแต่ละเดือน เขาก็สามารถไปรับจ็อบอื่นหรือไปประกอบธุรกิจที่เขาอยากทำได้ เพื่อตอบโจทย์ชีวิตทำงานของคนรุ่นใหม่ ถัดมาคือเรื่องของการหมุนเวียนข้ามการทำงานระหว่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้เขามีประสบการณ์และฝึกให้มีความสามารถมากขึ้น สำคัญที่สุดคือเราต้องทำให้พนักงานเป็นศูนย์กลางหรือ Employee Centricity รับฟังความเห็นของพนักงานมากขึ้น อะไรที่ช่วยให้เขาทำงานได้ดีขึ้น ทำงานแล้วมีความสุขขึ้น เราต้องสร้างและเตรียมให้มากยิ่งขึ้น และสุดท้าย สิ่งที่เราควรจะทำให้ดีที่สุดคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันในสังคมของบ้านปู Building Across Organization ระหว่างพนักงานของเราในทุกระดับ
สุดท้ายอยากแนะนำอะไรให้กับคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาเป็นคนบ้านปูบ้าง
ในโลกยุคใหม่ ภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง เราอยากให้เขาเตรียมพร้อม เพราะเทรนด์การทำงานจะไปสู่ Automation มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เขาจะต้องพยายามมากที่สุด คือเรียนรู้ทุกเรื่องด้วยตัวเอง ความรู้ทุกอย่างมันอยู่ในยูทูบ เว็บไซต์ทั้งหมดแล้ว และต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ เพราะเป็น Minimum Requirement แล้ว สมัยนี้เรียนไม่ยาก มีรูปแบบที่จะฝึกภาษามากมาย และสิ่งที่อยากเห็น คือเรื่องของ Human Relationship เพราะว่าโลกปัจจุบันมันแทบจะเจอกันน้อยลงแล้ว สุดท้ายที่อยากจะแนะนำ ทุกองค์กรมีความคาดหวังว่าถ้าเข้ามาแล้ว เขาต้องมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง เฉพาะเจาะจงในเชิงลึก ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ บางคนเก่งในเรื่อง Data บางคนเก่งในเรื่องการวิเคราะห์ธุรกิจ บางคนเก่งในการทำระบบ บางคนเก่งในการสร้างคอนเทนต์ คือขอให้เก่งมากๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องฝึกและหาให้เจอ ไม่มีคำว่ายากและช้าไป ทุกคนสามารถสร้างได้ นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกให้น้องๆ รุ่นใหม่ฟัง ไม่ว่าจะเข้ามาทำงานกับบ้านปูหรือไม่ก็ตาม