การศึกษา คือหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุกครั้งเมื่อถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องก้าวเดินไปข้างหน้า
นั่นก็เพราะการศึกษาคือรากฐานของทุกสิ่ง ตั้งแต่ทรัพยากรบุคคลในประเทศ ความรู้ความสามารถ รวมทั้งตรรกะและเหตุผล เพื่อสร้างประเทศที่เจริญรุดหน้ารอบด้านทั้งคุณภาพชีวิตและวิทยาการ
หากแต่ความสมบูรณ์แบบของรากฐานการศึกษายังคงอยู่เป็นเพียงทฤษฎี นั่นก็เพราะปัญหา Limited Education หรือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน การศึกษาที่ดีตามมาตรฐานจำกัดอยู่กับนักเรียนเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังจ่ายหรืออยู่ในตัวเมือง
การศึกษาภาคบังคับกับการเข้าถึงประชากรวัยเรียนที่ยังไม่ทั่วถึง ส่วนหนึ่งจากปัญหาภายในครอบครัว อีกส่วนสำคัญเกิดจากการจัดการพื้นฐานด้านการศึกษาที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ซี่งมีปัญหาและความต้องการเฉพาะ นั่นทำให้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นแบบโดมิโน เมื่อรากฐานทางการศึกษาทั้งจากครอบครัวและเงินทุนไม่มั่นคงแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่พยุงนักเรียนในระบบให้ก้าวเดินต่อไปในเส้นทางการเรียน ทั้งส่งผลต่อถึงอนาคตทั้งกับตัวเด็กเองและสังคมโดยรวม
นักเรียนไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
การศึกษาขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างในระดับประถมศึกษาที่เน้นการอ่านออกเขียนได้เป็นลำดับแรก หากแต่ยังมีเด็กไทยในระดับประถมมากกว่า 140,000 คนที่อ่านหนังสือไม่ออก และ 270,000 ที่เขียนหนังสือไม่ได้ ต้นเหตุคืออะไร?
ปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรคือเหตุผลหลักที่ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งทรัพยากรบุคคลอย่างคุณครู ทั้งมีครูไม่ครบชั้น หรือสัดส่วนครูต่อนักเรียนที่ไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งอุปกรณ์สนับสนุนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน เครื่องเขียน ชุดนักเรียน และอาหารกลางวัน ทั้งหมดส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่ไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เพียงพอและทั่วถึง โดยเฉพาะกับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลจากโอกาส
นักเรียนไทยลาออกจากโรงเรียนกลางคัน
การหลุดจากระบบการศึกษาหรือต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเป็นเรื่องปกติไปแล้วในครอบครัวที่มีฐานะยากจน และการหาเลี้ยงปากท้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ถึงแม้รัฐจะมีนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยอุดหนุนทางด้านการศึกษา แต่ในสภาพความเป็นอยู่จริง ปัญหาการเงินยังคงเป็นเรื่องสำคัญของครอบครัวอยู่ดี
จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาของไทยสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมสูงถึงปีละ 330,000 ล้านบาท และที่น่าเป็นห่วงคือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 120,000 คน ไปเป็นคุณแม่วัยใส และอีก 36,537 คน ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ (ข้อมูลจากสถาบันอนาคตไทยศึกษา) เท่ากับว่าเราสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศอันเนื่องมาจากการขาดการศึกษาหรือโอกาสทางการศึกษาที่ดี
นักเรียนไทยในชนบทไม่ได้รับการศึกษาที่ได้มาตรฐาน
ช่องว่างทางการศึกษาที่สำคัญคือเรื่องระยะทางห่างไกลจากชุมชนหรือเขตเมือง โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นสูงขึ้นนั่นคือระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา นั่นทำให้นักเรียนไทยในชนบทที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนยากจนกว่ามีโอกาสเข้าเรียนมัธยมปลายยากกว่า เนื่องจากความสามารถในการสร้างรายได้ที่ต่างกัน ยิ่งฉีกให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างฐานะที่แตกต่างกันยิ่งห่างไกลกันออกไป
การพิสูจน์เป็นตัวเลขสถิติทางคุณภาพทางการศึกษากระทำผ่านการทดสอบประเมินศักยภาพในโครงการ PISA ที่เน้นการทดสอบทักษะการรู้เรื่อง เน้นความเข้าใจในการเรียนรู้และการวิเคราะห์ถึงชีวิตในอนาคต ชี้ให้เห็นว่าเด็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีคะแนนดีกว่าเด็กจากต่างจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด โดย 47% ของเด็กมัธยมในเขตชนบทไม่สามารถอ่านจับใจความได้ ความแตกต่างเหล่านี้เกิดขึ้นจากสัดส่วน “ครูต่อนักเรียน” ในโรงเรียนขนาดใหญ่และในกรุงเทพฯ มีมากเกินจนล้น แต่โรงเรียนขนาดเล็กกว่า 1 หมื่นแห่งมีครูไม่ครบชั้นเรียนด้วยซ้ำ
นักเรียนไทยอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีเงินทุนพร้อมสนับสนุนการศึกษา
ฐานะยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการศึกษา นโยบายของภาครัฐในการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนในสถานศึกษาอย่างเท่าเทียมนั้นแก้ไขปัญหาด้านเงินทุนทางการศึกษาได้เพียงส่วนหนึ่ง และเป็นการมองในเชิงภาพรวมระดับประเทศ ยกตัวอย่างในปี 2558 ประเทศไทยมีเด็กในวัยเรียนที่มีฐานะยากจน จำนวน 4,600,000 คน และเป็นตัวเลขสูงถึง 65% ของครอบครัวไทยซึ่งไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะส่งลูกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำงานเพื่อวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจและครัวเรือนในเชิงลึก และสร้างวิถีทางแก้ไขปัญหาที่ได้ผลในบริบททางสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่นโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นั่นเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้นักเรียนไทยในชนบทได้มีความหวังว่า การศึกษาขั้นสูงขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม และยังคงมีคนที่มองเห็นเขาเสมอแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
เปลี่ยนการศึกษาไทย ให้เป็นของ(ไม่)ลิมิเต็ด
หากระยะทางของพื้นที่ห่างไกลคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางการศึกษาระหว่างนักเรียนเมืองกับนักเรียนในชนบท แล้วเราจะกำจัดช่องว่างของระยะทางเช่นนี้ได้ด้วยวิธีไหนบ้าง? คงต้องกลับมองกันที่ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำเสียมากกว่าระยะทางที่ห่างไกล ซึ่งจากการเปรียบเทียบประสบการณ์จัดการศึกษากับนานาประเทศพบว่า งบประมาณจัดสรรในระดับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในระดับขั้นพื้นฐานที่ยังมีช่องโหว่ในการจัดการ และส่งผลต่อเนื่องถึงความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา สู่ระดับรายบุคคล เช่นนั้นแล้ว เงินทุนการศึกษาจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาต้นทุนมนุษย์ให้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นกว่าที่กำลังเป็นอยู่
แล้วเราในฐานะคนที่อยู่ในเมือง จะทำอย่างไรได้บ้างกับปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น? ด้วยโอกาสทั้งเรื่องรายได้และการเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มากกว่า จึงเกิดเป็นทางเลือกรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ให้และผู้รับได้อย่างตรงกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หลายโครงการเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการพัฒนาในระดับประเทศ แต่เหล่านี้จะขับเคลื่อนไม่ได้เลย หากขาดความช่วยเหลือในระดับประชาชนและกลุ่มบุคคลที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการช่วยเหลือด้วยประสิทธิภาพสูงสุด
โครงการ Limited Education จึงเกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยผ่านความร่วมมือของผู้คนในสังคม โดยใช้โครงการนี้เป็นพื้นที่รวบรวมสินค้า Limited Edition จากพันธมิตรแบรนด์ดังมากมายในประเทศ ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ให้ทรัพยากรบุคคลได้เติบโตไปพร้อมกัน สร้างคุณภาพชีวิตและคุณภาพของเด็กไทยทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดคุณภาพของสังคมที่ดีต่อเนื่องตามมาในอนาคต ซึ่งโครงการ Limited Education นี้ได้ช่วยนักเรียนขาดโอกาสไปแล้วมากกว่า 15,000 คน ใน 82 โรงเรียน 30 จังหวัดจากทั่วเมืองไทย และยังคงดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อสร้่างโอกาสให้มากขึ้นเรื่อยๆ
การช่วยให้เด็กๆ ที่ขาดโอกาสเหล่านี้ได้มีการศึกษาที่ดีขึ้น มีความทรงจำในโรงเรียนที่ดีได้เช่นเดียวกับคุณ เพียงให้การสนับสนุนโครงการ https://www.limitededucation.org/ ยิ่งช้อปยิ่งได้ลด ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา