ภาพชินตาของหนุ่มสาวออฟฟิศในปัจจุบัน คือการได้เห็นเพื่อนร่วมงานคนพิการในสำนักงาน
เขาและเธอมีความมุ่งมั่นและพยายามในการทำงานไม่น้อยกว่าผู้คนทั่วไปที่ต้องการเติบโตและก้าวหน้าในชีวิตช่วงวัยทำงาน แม้อุปสรรคทางร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย แต่ความความมุ่งมั่นก็พาคนพิการหลายคนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งการงานที่เติบโตไม่ต่างจากเราทุกคน
ตลอด 5 ปีของการก่อตั้งมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมคือเบื้องหลังของการเติบโตของการจ้างงานคนพิการทั่วประเทศไทยในระยะหลังนี้ โดยพันธกิจหลักของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม คือการเชื่อมโยงให้คนพิการเข้าถึงโอกาสงานและอาชีพมากขึ้น แม้ผลที่เห็นเป็นรูปธรรมคือตัวเลขการจ้างงานของผู้พิการที่สูงขึ้นเป็นทวีคูณ หากแต่ผลที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับเขาและเธอ
และวันนี้ คุณอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม จะมาเล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่มูลนิธิฯ กำลังทำและขับเคลื่อนเพื่อสร้างโอกาสทางการทำงานและคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการทั่วประเทศ
เหตุผลที่มูลนิธิฯ เข้ามาทำงานเรื่องนี้ และทำได้สำเร็จในระยะเวลาเพียงไม่นาน
“ประเทศไทยมีคนพิการที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายปัจจุบันกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอยู่ประมาณ 2 ล้านคน ตอนเราเริ่มงานเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1.6-1.7 ล้านคน เมื่อต้นปีสำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจจำนวนผู้พิการอยู่ที่ 3.5 ล้านคน ไม่ว่าจะตัวเลขใด ก็นับว่าจำนวนคนพิการก็ยังเยอะอยู่ดี”
“ตัวเลขที่น่าสนใจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ต่อก็คือ ครึ่งหนึ่งของคนพิการ 2 ล้านคนเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในวัยทำงาน ประมาณ 8 แสนคน ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนคนพิการในวัยทำงานที่ให้ข้อมูลว่าตัวเองมีงานทำ แต่อีกครึ่งหนึ่งบอกว่าไม่มีอาชีพ นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่เพราะผู้พิการเฉียดครึ่งล้านที่ไม่มีงานทำ ในส่วนการสนับสนุนของภาครัฐก็มีการสนับสนุนเรื่องรายได้ผ่านทางเบี้ยคนพิการ และสุขภาวะผ่านทางบัตรทอง แต่คนพิการในพื้นที่ชนบท การเข้าถึงสุขภาวะต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นข้อจำกัดเท่าที่ภาครัฐจะทำได้”
สถิติเชิงสังคมได้ให้ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงในเรื่องการจ้างงานในคนพิการ แต่ขณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยเราก็มีพระราชบัญญัติอเพื่อส่งเสริมการจ้างงานคนพิการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดฉบับหนึ่ง มูลนิธิฯ จึงมีหน้าที่ทำให้สมการทั้งสองด้านมาบรรจบในจุดที่สมดุลกัน
“พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็น พรบ.ด้านคนพิการที่ก้าวหน้าพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกในมุมของการส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพ เพราะ พรบ.นี้ กำหนดว่า สถานประกอบการคือนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีพนักงานทำงานด้วยร้อยละ 1 แต่ในภาคของกฎหมายมันออกฤทธิ์ไม่สุด เพราะความจริงคนพิการหลายแสนคน กำหนดว่าต้องจ้าง 100 ต่อ 1 ซึ่งหมายความว่า จ้างคนพิการเพียง 5-6 หมื่นคนก็ครบแล้ว ปรากฎว่าจ้างไม่ครบ เพราะคนพิการมีเฉียดครึ่งล้าน เท่ากับว่ามีช่องว่างตรงนี้อยู่”
เหตุผลใดที่ทำให้กฎหมายที่ดีตัวนี้ ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่?
ช่องว่างของการจ้างงาน วัดด้วยสถิติตัวเลขก่อนการเริ่มต้นมูลนิธิฯ ในปี 2557 จากที่ควรจ้างได้ 5 หมื่นอัตรา แต่การจ้างงานจริงเกิดขึ้นเพียง 3 หมื่นอัตราเท่านั้น หน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงอยู่ที่การสร้างโอกาสให้ 2 หมื่นคนที่เหลือได้เข้าทำงานตามที่ควรจะเป็น
“เวลาสถานประกอบการจ้างได้ไม่ครบ กฎหมายก็กำหนดว่าผู้ประกอบการจะต้องนำเงินที่ปกติต้องใช้ในการจ้างงานผู้พิการส่งเข้าเป็นเงินสมทบกองทุน ปีๆ หนึ่งจ้างขาดไป 2 หมื่นอัตรา นั่นเท่ากับเงินส่งเข้ากองทุนเกือบ 2 พันกว่าล้าน ตอนที่เราเริ่มเคลื่อนงาน ตอนนั้นกองทุนมีเงินแล้ว 8 พันล้าน แต่คนพิการ 4 แสนกว่าคนไม่มีงานทำ มันก็เป็นเหตุชวนให้คิดว่ามันน่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง และมีอะไรที่ควรจะทำได้”
คุณอภิชาติแจกแจงถึงกลไกที่เอื้อให้กฎหมายออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น
“ข้อแรก พอไปดูรากปัญหา ถ้าจะทำงาน จะต้องมีทักษะ 94% ของคนพิการเข้าถึงการศึกษาเพียงระดับประถมฯ หรือต่ำกว่า เป็นเหตุใหญ่ทำให้สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแล้ว ไม่สามารถหาคนพิการที่ตรงกับคุณสมบัติได้ นี่ยังไม่พูดถึงความท้าทายของความพิการที่เข้าไปทำอีก
ข้อถัดมาคือ คนพิการกว่า 90% อาศัยอยู่ในจังหวัดหรือท้องถิ่นที่ไม่ใช่แหล่งงาน เลยทำให้คนพิการที่มีความพร้อมในระดับที่สถานประกอบการจะรับเข้าไปทำได้โดยไม่ยากลำบากนักก็เหลือจำนวนไม่มาก ผู้พิการที่เหลือก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะมาหางานตรงนั้นได้ แล้วก็ไม่มีใครช่วยเรื่องนี้ได้เท่าไหร่”
มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยถมช่องว่างของคนพิการที่ขาดอาชีพอย่างไร?
มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม จึงทำหน้าที่เป็นกลไกตรงกลาง เพื่อเชื่อมโยงระหว่างคนพิการ หน่วยงาน และท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ด้วยการนำปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาสร้างเป็นโมเดลการสร้างงานคนพิการเชิงสังคม คือการประสานคนพิการเข้ากับหน่วยงานบริการประชาชนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน เทศบาล และ อบต. ซึ่งเน้นการทำงานเชิงรุกด้วยการส่งเสริมการทำงานของคนพิการแบบรายบุคคล
“เราก็เข้ามาจับประเด็นโดยคิดว่า มันจะมีแนวคิดวิธีการใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม และจะทำให้คนพิการได้รับการจ้างงานหรือมีอาชีพได้ไหม เลยมาลงตัวที่ว่า ในเมื่อโจทย์มันแก้ยากมากด้วยวิธีเดิม แล้วก็เป็นสิ่งที่ใครก็แก้ไม่ได้ ทำอย่างไรให้การศึกษาและถิ่นที่อยู่ไม่เป็นข้อจำกัด เราได้ยินจากคนพิการตอนทีมงานลงพื้นที่ว่า แต่ถ้ามีงานใกล้บ้าน แล้วอยู่ในทักษะที่เขาพอทำได้ เขาอยากทำนะ คำนี้มันติดกลับมาที่เรา”
“ประกอบกับทีมงานได้ไปเห็นตัวอย่างว่า มีหน่วยงานในพื้นที่บางแห่งมีคนพิการไปช่วยงานเป็นอาสาสมัคร จึงมาตกผลึกเป็นความคิดที่ว่า ถ้าเราสามารถมีโอกาสงานของหน่วยงานบริการที่ใกล้บ้านคนพิการ แล้วมีคนยอมจ่ายเงินก็คือบริษัทมาสนับสนุนการมีอาชีพของคนพิการแทนที่จะส่งเงินเข้ากองทุน แล้วงานนี้ก็เป็นงานที่มีประโยชน์ บริการชุมชน ก็น่าจะช่วยตอบโจทย์ทุกฝ่ายได้ดี จึงกลายมาเป็นแนวคิดของการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม”
ตั้งแต่เริ่มโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างไรบ้าง?
จากเริ่มต้นโครงการปลายปี 2557 มูลนิธิฯ ระดมบริษัทได้ 20 กว่าแห่ง สนับสนุนประมาณ 200 กว่าอัตรา จึงนับว่าในปี 2558 เป็นปีแรกที่มีการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม
“คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคนแรกคือ คนพิการที่เดิมไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ก็จะกลายเป็นคนที่ไปทำงานทุกวัน มีรายได้สม่ำเสมอทุกเดือนจากบริษัทจ่ายมา หน่วยงานพื้นที่ก็มีคนมาช่วยงานฟรีๆ ก็ทำให้งานขับเคลื่อนได้ดีขึ้น เพราะหน่วยงานพื้นที่ก็เป็นหน่วยงานที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณกำลังคนอยู่แล้ว ตรงนี้ก็ตอบโจทย์ได้เยอะถ้าเลือกงานได้เหมาะ มันก็เป็นที่มาของการเริ่มต้น และขยายมาเรื่อยๆ”
“จนปีล่าสุดมีบริษัทเข้าร่วมประมาณ 500 กว่าแห่ง และเราก็ไม่ได้ทำงานคนเดียวแล้ว มีภาคีหลากหลายมาร่วมทำงานในแนวทางเดียวกัน มาเรียนรู้แล้วไปทำงานในแบบเดียวกัน คนพิการปีที่แล้ว 7,000 กว่าคน ได้รับโอกาสแบบนี้ มีหน่วยงานในท้องถิ่นที่เป็นจุดที่คนพิการไปช่วยงาน 1,000 กว่าหน่วย กลายเป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นและทำงานด้วยอาสาทั้งสิ้น รวมๆ แล้วพอจะพูดได้ว่า 5 ปี เกิดโอกาสงานมากถึง 20,000 งานเกิดขึ้น เป็นเงินเกือบ 2,000 พันล้าน จากการขับเคลื่อนแบบนี้”
อยากให้ลองยกตัวอย่างความสำเร็จของโครงการที่ช่วยการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคนพิการ?
ความเห็นในการรับคนพิการเข้าทำงานส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นจากความสงสาร หากแต่คนพิการจำนวนมากที่ทำงานตอบโจทย์กับชุมชนได้เป็นอย่างดี กลไกสำคัญจึงอยู่ที่หน่วยงานในพื้นที่ว่าต้องเกิดการใช้โอกาสอย่างคุ้มค่า ด้วยการมอบหมายภารกิจที่เหมาะสม และคัดกรองคนพิการที่เหมาะสมมาทำ เพื่อเป็นการพัฒนาคนพิการทั้งแง่การเลี้ยงชีพและจิตใจ
“เคสที่สร้างผลกระทบได้เยอะ ก็เช่นคนพิการสติปัญญาอย่างครูเป็ด (คุณอนุชา ขวัญชุม) เขาเองเคยอยู่บ้านราชาวดี แล้วก็ช่วยงานที่นั่นต่อในฐานะผู้ช่วยครู พอได้รับการจ้างงานก็เลยมีรายได้และกลายเป็นผู้ช่วยครูที่เข้าใจเด็กๆ หรือบางหน่วยงานเริ่มต้นจากเป็นแม่บ้าน ต่อมาเป็นเจ้าหน้าที่ทำเอกสาร สุดท้ายก็ทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์แล้วได้ช่วยหมอฟัน มันก็เป็นลำดับขั้นขึ้นไป”
“อีกพื้นที่เป็นคนพิการอายุมากในจังหวัดตาก เขารวมกลุ่มกันทำงานร่วมกับป่าไม้ในพื้นที่เพื่อดูแลรักษาป่าชุมชนในพื้นที่ ใส่ขาเทียมนี่แหละแต่ก็ปีนเขาขึ้นไปดูแลรักษาป่า ซึ่งก็อยู่ดูแลต่อเนื่อง 3 ปี ป่าสภาพก็ดีขึ้น”
“อีกกรณีการก้าวหน้าเป็นรายบุคคล ครูมน (คุณพัชรมณฑ์ เสวะนา) พิการไม่มีแขน มีแต่ขา พึ่งได้เรียนหนังสือตอนอายุ 23 ปี เริ่มจาก กศน. ระหว่างเรียนเลยไปเป็นผู้ช่วยครูสอนเด็กในพื้นที่ตัวเอง แล้วได้รับการจ้างงานที่เราช่วยแมทช์บริษัทให้ ระหว่างการจ้างงานก็เรียนจนจบปริญญาตรีและโทนิติศาสตร์ ในที่สุดก็ทำงานเป็นนิติกรอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทย นี่ก็ก้าวจากตรงนี้มาในกระบวนการแบบนี้”
จากกระบวนการทั้งหมดนี้ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัดคือ สุขภาวะของคนพิการที่ดีขึ้น ความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองเป็นเรื่องที่ทุกคนสะท้อนว่ามีคุณค่าสูงสุด ความรู้สึกได้รับการยอมรับจากสังคม ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ส่วนเรื่องรายได้สม่ำเสมอก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
ทางด้านงบประมาณสนับสนุนมูลนิธิฯ ได้มาจากช่องทางใดบ้าง?
ผู้สนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นเคลื่อนงานมา 5 ปีนั่นคือ สสส. หากแต่เงินทุนจาก สสส. เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดโมเดลโครงการเท่านั้น ขั้นถัดมาจึงเป็นการระดมเงินทุนเพื่อการสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิฯ ในระยะยาว
“เราได้ให้ทาง TDRI ช่วยคำนวณค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับการดำเนินการ ก็ได้ตัวเลขออกมาประมาณเกือบ 3,000 บาทต่อการประสานให้เกิดการจ้างงานคนพิการ 1 คนใน 1 ปี เลยกลายเป็นโจทย์ว่า ถ้าเราต้องการดูแลคนพิการจำนวน 3,000 อัตราต่อเนื่องในทุกปีไปได้ เราต้องมีเงินดำเนินการเท่าไหร่”
จากเงินจำนวน 3,000 บาทต่อหัวต่อปี จึงถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน ได้แก่ ตู้ชื่นใจ บริษัท และภาคประชาชน “เราเริ่มจากตู้ชื่นใจก่อน ด้วยการทำ Co-Branding กับบริษัท Forth แล้วเราช่วยหาบริษัทที่ยินดีสนับสนุนสถานที่ให้ตู้เหล่านี้ไปตั้งเพื่อจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติได้ ซึ่งยอดขายที่จำหน่ายผ่านตู้นี้ 5% ก็จะเอามาสนับสนุนการเคลื่อนงานของมูลนิธิฯ ตอนนี้มีอยู่ 200 ตู้ และมีความตั้งใจที่จะตั้้งให้ได้ถึง 1,000 ตู้”
“ลำดับต่อมาเป็นการสปอนเซอร์กับทางบริษัท และสุดท้ายคือการระดมทุนทางเทใจโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย จึงกลายเป็นสามประสาน สามช่องทางใส่รวมกัน จึงเท่ากับว่า ทุก 1,000 บาทที่ระดมผ่านเทใจ จะมี matching fund จากตู้ชื่นใจและบริษัท และตั้งเป้าหมายว่า 3,000 คนก็เท่ากับระดมผ่านส่วนละ 3 ล้านบาท ภายในเวลา 8 เดือนที่จะทำการระดมกัน”
เหตุผลที่เลือกเทใจดอทคอม เป็นช่องทางสำหรับการระดมทุน
“ผมเลือกจากช่องทางที่เรารู้จักและทุกคนก็รู้จัก รวมทั้งภารกิจเพื่อสังคมที่ตรงกัน และอีกส่วนก็คือมีโอกาสร่วมงานกันในหลายๆ เรื่อง ซึ่งผมคิดว่าแพลตฟอร์มการระดมทุนแบบนี้เราไม่เคยทำ ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ แต่เราก็หวังว่าช่องทางนี้จะไปได้ดี แล้วก็ทำให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องนี้และมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ และทางเทใจเองก็มีความตั้งใจและช่องทางในการหาวิธีการเชื่อมและสร้างความรับรู้ในเรื่องนี้ให้กับสังคม”
“สิ่งที่เราต้องทำมากขึ้น คือการสื่อสารผลกระทบเรื่องการจ้างงานของคนพิการได้มากขึ้น เพราะถ้าผู้คนได้รับรู้ว่า 3,000 บาท ไปสร้างชีวิตใหม่ให้คนพิการมากขนาดไหน ผมคิดว่าเป็น 3,000 บาท ที่คุ้มค่ามากและเปลี่ยนชีวิตคนจริงๆ เราคิดดูง่ายๆ ว่า จากคนที่ก่อนหน้าเข้าถึงโอกาสงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ อยู่ในบ้านรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น แต่จากวันนั้นพอได้โอกาสงาน สิ่งที่เกิดขึ้น ทุกวันออกจากบ้านไปทำงาน สุขภาพกายดีขึ้น ตอบคำถามคนรอบข้างได้ว่าไปทำงาน ซึ่งก็เป็นคำตอบที่รู้สึกว่าตัวเองมั่นใจที่จะตอบ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า พอสิ้นเดือนเงินเดือนออก มันให้ชีวิตใหม่คนหนึ่งคน หรือบางทีทั้งครอบครัวเลย”
ชวนคุณร่วมระดมทุน และติดตามผลการระดมทุนกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ผ่านทางเทใจดอทคอมได้ที่ https://taejai.com/th/d/empowerlife/ แล้วหนึ่ง แรงเล็กๆ ของคุณ จะเป็นหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของสังคมทั้งทางสุขภาวะและหัวใจของคนพิการทั่วประเทศ