สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในฐานะขององค์กรที่สร้างสรรค์แคมเปญเพื่อสุขภาพดีๆ ออกมามากมาย หรือที่เรียกว่า Health Promotion
ทั้งการรณรงค์เรื่องของสุขภาพ การลดเหล้า งดบุหรี่ เพิ่มกิจกรรมทางกาย อาหารเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงเรื่องสุขภาพจิต ที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีมากว่า 18 ปีแล้ว
หากมองในระดับโลก ผลงานของ สสส. ถือว่าได้รับการยอมรับจากองค์กรเพื่อสุขภาพทั่วโลก ที่ต้องเดินทางมาศึกษาดูงานปีละกว่า 30 คณะ โดยเบื้องหลังของความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากการทำงานอย่างหนักของ สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ของ สสส. ซึ่งเป็นเหมือนตัวกลางที่เชื่อมความร่วมมือจากภาคีต่างๆ จากทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
The MATTER คุยกับ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. ถึงเบื้องหลังการทำงานของทีม กับเป้าหมายในการสร้าง Health Literacy หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพของ ไม่ใช่แค่คนไทยแต่รวมไปถึงคนทั่วโลกที่จะมีสุขภาพดีร่วมกัน
จุดเริ่มต้นจากพิมพ์เขียวของ Ottawa Charter
“ตอนนี้ สสส.อายุ 18 ปี แต่จุดเริ่มต้นต้องเท้าความไปประมาณสัก 30 กว่าปีที่ผ่านมา การประชุมครั้งแรกขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยเรื่อง Health Promotion ที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา มีการประกาศ Ottawa Charter ซึ่งระบุว่าการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีได้ จะต้องทำ 5 เรื่องอาทิ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ การสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน การปรับระบบบริการสุขภาพ การมีนโยบายสาธารณะที่ดี และการเสริมสมรรถนะส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางสากลที่หลายๆ ประเทศนำไปเป็นหลักยึดในการสร้างเสริมสุขภาพ แต่จะทำให้สัมฤทธิ์ผล ต้องทำแบบรวมศูนย์ให้เห็นภาพรวม จนกระทั่งมีบางประเทศ อย่างออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่เอา Ottawa Charter มาใช้ก่อนในระดับรัฐ พอทำไปสักพักก็เริ่มเป็นต้นแบบที่ดี มีหลายๆ ประเทศที่มาดูงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเมืองไทยที่กำลังจะก่อตั้ง สสส. พอดี ที่ได้ไปดูงานที่ Victorian Health Promotion Foundation (VicHealth) และ Western Australia Health Promotion Foundation (HealthWay) ที่อยู่ออสเตรเลียเหมือนกัน จนออกมาเป็นพิมพ์เขียวของ สสส.
“เฟสแรกก็เป็นการที่เราเรียนรู้จากต่างประเทศ แล้วก็ลงมือทำไปเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เรามองตัวเองว่าเป็นหน่วยงาน Innovative เพราะฉะนั้นกระบวนการทำงานตอนนั้นยังไม่มีรูปแบบตายตัว โดยว่าเวลานำเรื่องสากลมาขับเคลื่อน ในประเทศ ต้องเรียนรู้จากของจริง ต้องปรับ เริ่มทำ จนเกิดเป็น Working Model ของเราขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านคิดไว้ ก็คือใช้พลังนโยบาย พลังความรู้ และพลังสังคม ผสานกัน นั่นก็หมายความว่า การจะเคลื่อนอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องยากๆ อย่างภูเขาสักลูกหนึ่ง ต้องใช้ 3 พลังเข้าร่วมกัน ทำให้เราเริ่มหาภาคีหรือคนที่มาร่วมทำงานได้ ทำให้ สสส. เริ่มมีวิธีการทำงานที่ชัดเจนขึ้น”
ต้นแบบขององค์กรอิสระที่ดูแลเรื่องสุขภาพ
“มีหลายหน่วยงานและหลายประเทศที่คล้ายๆ กับ สสส. ทำหน้าที่ที่เรียกว่า Health Promotion Agency ที่เป็นลักษณะของการที่ทำงานนอกเหนือจากระบบสุขภาพที่ทางกระทรวงสาธารณสุขทำอยู่แล้ว เป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วน ในการทำกิจกรรมหรือการออกกฎหมายที่ทำให้คนในประเทศมีสุขภาพดี อย่างในเอเชียที่เราทำงานใกล้ชิดหน่อย ก็มีสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ถ้าไกลออกไปหน่อยก็จะมีออสเตรเลีย และเครือข่ายรวมระดับโลกก็มีเรียกว่า เครือข่าย สสส.โลก (International Network of Health Promotion Foundations) ซึ่งความแตกต่างก็คือรูปแบบในประเทศเหล่านี้ มีตั้งแต่หน่วยงานที่สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข หรือเป็นหน่วยงานอิสระและกึ่งอิสระคล้ายๆ สสส.ไทยเราก็มี
“ถ้าพูดในกรณีของ สสส. ก็จะพิเศษกว่าประเทศอื่น เพราะว่า สสส. ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของโลก ซึ่งเราไม่ได้พูดเอง แต่เกิดจากการที่มีหลายๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือหน่วยงานจากประเทศอื่นๆ ที่มาดูงาน แล้วบอกว่า สสส. เป็น Thailand Model ที่สามารถขยายเป็น Global Model ได้ คือ สสส.เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ เป็นลักษณะพิเศษของหน่วยงานที่เรียกว่า Semi-autonomous Agency ภาษาเทคนิคก็หมายความว่า กึ่งอิสระ มีการจัดการตัวเอง มีบอร์ดตัวเอง และสามารถที่จะกำหนดโจทย์ในการสร้างเสริมสุขภาพได้เอง และความพิเศษที่สองคือการมีกลไกการเงินการคลังเพื่อสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างยั่งยืน ที่ต่างประเทศเรียกเราว่า Innovative Financing ซึ่งก็คือกระบวนการได้มาซึ่งงบประมาณในการทำงานจาก Earmarked Tax หรือ ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่จัดเก็บเพิ่มอีก 2 เปอร์เซ็นต์จากภาษีเหล้าและบุหรี่ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีผลลบต่อสุขภาพ มาใช้ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งประเทศอื่นไม่เหมือนเรา และเขาอยากเป็นเหมือนเรา เราจึงค่อนข้างโดดเด่นตรงนี้พอสมควร”
ผสานพลังภาคีในระดับนานาชาติ
“ภาคีของ สสส. ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนไทยเท่านั้น เราก็มองว่าการทำงานแบบนี้ในระดับเมืองไทยใครทำบ้าง ในระดับอาเซียนมีใครบ้าง ในระดับเอเชียมีใครบ้าง แล้วระดับโลกมีอะไรบ้าง แต่ก่อนที่จะไปผ่านตรงนั้นได้ ก็ต้องทำงานในประเทศไทยก่อน การจะไปคุยกับหน่วยงานระดับโลกก็ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีภาคส่วนต่างๆ เพื่อไปขับเคลื่อนต่อในองค์การอนามัยโลก หรือการทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อไปถึงระดับสหประชาชาติ (UN) เพราะฉะนั้นการทำงานระดับประเทศ ความสำเร็จจะอยู่ที่ภาคียุทธศาสตร์ในประเทศเป็นหลัก แล้วจึงขยายออกไป
“สำหรับการทำงานร่วมกับภาคีนานาชาติของเรา ในระดับภูมิภาคคือ WHO South-East Asia Regional Office (WHO-SEARO) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อินเดีย เป็นพาร์ทเนอร์ทำเรื่องสนับสนุน Health Promotion ในประเทศใกล้เคียงที่อยู่ในบริบทคล้ายๆ กับเรา นอกจากนี้ก็มีการสร้างเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยในอาเซียนประมาณ 30 แห่ง ในการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธานและเลขาธิการเครือข่ายอยู่ หรือถ้าย้อนกลับมาในเมืองไทย พาร์ทเนอร์หลักๆ คือ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ เราเรียกว่าเป็น Team Thailand เพราะเวลาออกไปนอกประเทศจะเป็นคณะทำงานร่วมกัน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของกลไกและการทำงานระยะยาว คือการทำ MOU กับองค์การอนามัยโลก ทั้ง 3 ระดับ ทั้งระดับโลกที่นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ระดับภูมิภาค กับ WHO-SEARO และระดับของประเทศกับ WHO-Thailand ซึ่งทำให้เราสามารถสานงานได้ใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
สร้างประเด็นขับเคลื่อนสุขภาพดีในระดับโลก
“ประเด็นที่เราขับเคลื่อนและมีความ Active เยอะ คือยุทธศาสตร์โลกด้าน PA หรือ Physical Activity พวกการวิ่ง การเดิน การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs หลายๆ โรค เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ซึ่ง สสส. ร่วมขับเคลื่อนกับภาคีได้ดีพอสมควร อย่างเช่น เราพยายามขับเคลื่อนในเรื่องการทำ Healthy Meeting เพราะประชุมเป็นชั่วโมงมันเหนื่อยแล้ว เราจึงนำพวกท่าเต้นออกกำลังกายต่างๆ ของไทยไปใช้ในการประชุมระดับอินเตอร์ มาลุกออกกำลังกายกันหน่อย เริ่มเป็นวัฒนธรรมในการประชุมต่างๆ ตรงนี้ถือว่าเป็น Movement ของ Team Thailand ที่ช่วยขับเคลื่อนให้เด่นขึ้นมา
“ส่วนประเด็นระยะยาว คือการสนับสนุนให้เกิดกฎหมายและนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับสากล ซึ่งเป็นการทำร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ ซึ่งที่ สสส. พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้เพราะว่าเรื่องกฏหมายแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยมาก ต้องรวมคนที่ทำงานด้านนี้ในระดับโลก ทั้งด้านวิชาการองค์ความรู้ รวมถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อทำให้เกิด Policy ขึ้นมาระดับโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ตรงนี้ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เราพยายามที่จะสานภาคีทั้งไทยและต่างประเทศ มาทำงานร่วมกันให้เกิดเป็นระเบียบหรือข้อตกลงสากลให้สำเร็จ
“นอกจากนั้นก็เป็นเชิงประเด็นอื่นๆ อย่างระบบ Innovative Financing Health Promotion ที่ สสส. พยายามขับเคลื่อน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย เราเป็นเหมือนผู้ให้คำแนะนำเพื่อให้เขาออกระเบียบหรือวิธีการทำงานแบบนี้ได้ เพื่อนำงบประมาณมาใช้ประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน หรืออย่างความร่วมมือระดับทวิภาคีกับสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เด่นเรื่องของเทคโนโลยี เราก็พยายามเรียนรู้เรื่องการนำระบบดิจิทัลต่างๆ มาช่วยในการทำให้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เขาก็อยากเรียนรู้ในเรื่องของการทำแคมเปญ Social Marketing ของ สสส. ที่ทำได้ดี เป็นการแลกเปลี่ยนกัน และอีกประเด็นหนึ่งก็คือการทำงานแบบ Multi-Sectoral หรือการทำงานทุกภาคส่วน เพราะสุขภาพเป็นโจทย์ร่วมระหว่างชาวบ้าน หน่วยงานภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดย สสส. จะมีความเด่นในการเชื่อมภาคีเหล่านี้มาทำงานด้วยกัน ซึ่งหลายประเทศก็มาดูงานเราเป็นต้นแบบ”
หัวใจการทำงานของสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์
“เรามักจะเรียกการทำงานของเราว่าเป็น Intelligent Strategic Broker เหมือนเป็นนักเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนงานต่างประเทศ เพราะว่าถ้าพูดถึงโดยบทบาทของวิเทศสัมพันธ์ ความเข้าใจทั่วไปคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จริงๆ การดำเนินงานของ สสส. จะต้องทำงานร่วมกับภาคีทุกระดับในทุกประเด็น จึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี และต้องมาพร้อมกับ strategy คือต้องรู้จังหวะในการเล่น ตอนนี้โลกสนใจประเด็นอะไร หรือมีอะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นต้องรู้สถานการณ์ ต้องรู้ว่าใครต้องการแก้ปัญหาเมื่อไร หรือใครต้องการพาร์ทเนอร์แบบไหน บทบาทของเราคือเชื่อมให้เขาเจอกัน เหมือนเป็นคนจับคู่ปัญหากับทางออกเข้าด้วยกัน ซึ่งการจะจับมือกับใคร ทำเรื่องอะไร ต้องคิดมาอย่างดี จะต้องรู้ว่าตอนนี้ใครที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด หรือว่าช่วยเราได้ดีที่สุดในเวลานี้
“อีก 3 ปีจากนี้ เราจะมุ่งไปสู่เป้าหมายชัดๆ ว่าเป็น Global Knowledge Hub for Health Promotion ของประเทศในกลุ่ม Low and Middle Income ซึ่งเรามองว่าประเทศที่มีบริบทคล้ายๆ กับเมืองไทย เช่น เพื่อนบ้านในอาเซียน ที่สามารถเรียนรู้จากเราได้ และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแล้วนำเอาความรู้ไปใช้ และยังมองถึงอะไรที่เป็นระดับนโยบายสากล ที่จะขับเคลื่อนร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองว่า Knowledge Hub ไม่ได้หมายความว่าเรานำประสบการณ์ของเราไปบอกเล่าให้เขารับรู้เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการการเรียนรู้จากเขาเพื่อนำเอา know how ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกันด้วย”
สู่เป้าหมายในการสร้าง Health Literacy ระดับโลก
“คำว่าสร้างเสริมสุขภาพ ผู้รับประโยชน์สุดท้ายคือประชาชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ สสส. ทำทั้งหมด ก็เพื่อให้ผลลัพธ์ในการดำเนินงานทุกอย่างกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับคนไทย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะฉะนั้นงานที่สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์ฯ ของ สสส. ทำก็เพื่อหา solution ดีๆ หรือมาตรการต่างๆ มาใช้ในประเทศของเรา เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี แต่ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องสุขภาพมันเป็น Global Issue แล้ว คือทั้งโลกเผชิญคล้ายๆ กัน สถานการณ์แทบไม่ต่างกัน เราจึงนำเอาต้นแบบหรือประสบการณ์ที่ดีของเราไปนำเสนอในระดับโลก เพื่อไปขยายผลที่อื่นอีกด้วย ทั้งหมดก็เรียกว่าเป็น Global Immunity คือทำให้โลกมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเรามองว่าเป็นงานเล็กๆ แต่พยายามจะสร้าง Impact ที่ยิ่งใหญ่
“และช่วงหลังหลายฝ่ายมีเป้าหมายเรื่องการสร้าง Health Promotion ของโลก เพื่อสร้าง Health Literacy หรือการสร้างให้คนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพตัวเอง เพราะบทเรียนในระดับโลกบอกแล้วว่า การที่จะสร้างเสริมสุขภาพให้ประสบความสำเร็จได้ ทั้งคนไทยหรือว่าพลเมืองโลกทุกคนต้องมองว่าการสร้างเสริมสุขภาพต้องเริ่มจากตัวเขาเอง คือต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จะรอให้คนอื่นมาทำไม่ได้ เมื่อไรก็ตามที่ตัวเองเริ่มเปลี่ยน จะมีหน่วยงานที่มีวิธีการดีๆ ช่วยอยู่เสมอ เพราะโลกพิสูจน์มาเยอะแล้วว่า การทำงาน Health Promotion ที่สำเร็จที่สุดในทุกภาคส่วนจริงๆ”
ทุกคนต้องลุกขึ้นมาทำเอง ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเอง จึงอยากชวนทุกคนสร้างเสริมสุขภาพด้วยตัวเองกัน หรือที่พูดแบบสั้นๆว่า “ชีวิตดีเริ่มที่เรา”