ผลงานศิลปะทุกชิ้นล้วนแล้วแต่มีนัยยะหรือประเด็นบางอย่างสอดแทรกอยู่เบื้องหลัง ลายเส้นสวยๆ รูปทรงแปลกตา หรือกระทั่งผิวสัมผัสจากวัสดุหลากหลาย ต่างถูกนำมาใช้เป็นสื่อสะท้อนความหมายบางอย่างอยู่เสมอ
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความยั่งยืน คือหนึ่งในประเด็นที่ศิลปินรุ่นใหม่พยายามสื่อสารผ่านผลงานศิลปะ ด้วยการเลือกใช้วัสดุจากขยะหรือสิ่งเหลือใช้ ซึ่งเป็นหัวใจของการ Reuse หรือ Upcycling เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นกระบวนการทำงานที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักว่าการสร้างความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ความร่วมมือเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละคนสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่เพื่อช่วยโลกของเราได้
แต่การที่ผลงานสักชิ้น จะสามารถทำหน้าที่สื่อสารประเด็นที่ต้องการได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ลองไปสำรวจเรื่องราวเบื้องหลังของศิลปินไทยที่สอดแทรกนัยยะเกี่ยวกับความยั่งยืน ให้ผู้คนได้ตระหนัก
เบื้องหลังนัยยะที่ต้องอาศัยหลายปัจจัย
การที่ผลงานศิลปะสักชิ้นจะสามารถทำหน้าที่สื่อสารประเด็นที่ต้องการได้ จุดเริ่มต้นต้องมาจากตัวศิลปิน ที่ต้องใช้ความอินเข้าถึงประเด็นที่อยากนำเสนอ เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้น เรียกว่าถ้าศิลปินไม่สามารถเข้าถึงประเด็นได้ในเชิงลึก ก็ยากที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีนัยยะลึกซึ้งได้ ความน่าสนใจคือกระบวนการในการถ่ายทอดออกมาผ่านผลงาน ที่ต้องใช้ทั้งประสบการณ์บวกกับทักษะเฉพาะตัว โดยศิลปินต้องอาศัยความเข้าใจในปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น มีการเก็บข้อมูล กลั่นกรองออกมา ตั้งแต่วัสดุที่เลือก เทคนิคที่ใช้ ไปจนถึงการนำเสนอ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ตรงตามจุดประสงค์ให้ผู้เสพได้เข้าถึงประเด็นที่ต้องการได้ เรียกว่าต้องครบทุกองค์ประกอบเลยทีเดียว
จุดประกายปัญหาไมโครพลาสติกให้โลกได้รับรู้
หากจะเอ่ยถึงชื่อของศิลปินไทยสักคน ที่เข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง ชื่อของ ผึ้ง – ปรัชญา เจริญสุข ศิลปินรางวัลชนะเลิศ UOB Southeast Asian Painting of the Year 2023 และรางวัลชนะเลิศ UOB Painting of the Year ประจำปี 2566 (ประเทศไทย) ต้องปรากฏเป็นชื่อแรกๆ อย่างแน่นอน หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ภาพของกองขยะที่กำลังเกลื่อนชายหาดในจังหวัดชุมพร บ้านเกิดของเธอ ทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจ และยิ่งลงลึกเข้าไปในต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจมากเท่านั้น จนทำให้ศิลปินสาวตัดสินใจใช้ผลงานศิลปะบอกเล่าปัญหาขยะไมโครพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
จุดเด่นของผลงาน ผึ้งได้เก็บเศษขยะพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเพียง 5 x 5 มิลลิเมตร จากริมชายหาด มาสร้างสรรค์เป็นผลงานบนเฟรมผ้าใบ เพื่อที่จะสื่อสารให้ผู้ชมเกิดความตระหนักว่า มีขยะไมโครพลาสติกอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามากขนาดไหน เธอยังมีการเก็บภาพเบื้องหลังกระบวนการทำงานเป็นคลิปวิดีโอ เพื่อให้ผู้เสพได้เห็นภาพจุดเริ่มต้นของปัญหาจริงๆ รวมไปถึงการต่อยอดให้คนทั่วไปสามารถสัมผัสและเข้าใจถึงปัญหาผ่านกิจกรรมเวิร์กชอป สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากไมโครพลาสติก ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะตกใจกับปริมาณขยะไมโครพลาสติกที่อยู่รอบตัว และเกิดความตระหนักในการบริหารจัดการขยะในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทุกการเริ่มต้นมักมาพร้อมโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นต่อไปได้ผ่านผลงานของเธอ
ค้นหาคุณค่าที่แท้จริงของวัสดุไร้ค่า
ปุ๊ก – จารุพัชร อาชวะสมิต คือศิลปินที่เชี่ยวชาญในการนำวัสดุเดิมๆ มาดัดแปลงให้เกิดเป็นวัสดุหรือผลงานชิ้นใหม่ โดยเฉพาะผลงานสิ่งทอ ที่เธอพัฒนานวัตกรรมในการใช้โลหะมาทอเป็นผ้าในชื่อแบรนด์ Ausara Surface ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ประเด็นสิ่งแวดล้อมคือหนึ่งในความตั้งใจของเธอ โดยอยากจะขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้สังคมได้ตระหนักผ่านผลงานที่นำเอาวัสดุเหลือใช้มาดัดแปลงให้เห็นมูลค่าที่แท้จริงของมัน ไม่เพียงทำให้ผู้เสพได้เห็นถึงความสวยงาม แต่ยังได้รับรู้ถึงนัยยะความยั่งยืนที่สอดแทรกเข้าไปด้วย
ตัวอย่างผลงานล่าสุดของปุ๊ก คือนิทรรศการ Sanctuary Within ที่เธอทำงานร่วมกับโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ด้วยการรวบรวมของเหลือใช้ในโรงแรม โดยทำงานร่วมกับแม่บ้านและพนักงาน ในการรวบรวมกระดาษใช้แล้วจากสำนักงาน ผ้าปูที่นอนที่ชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน รวมถึงชุดของใช้ในห้องพัก เช่น หลอดแชมพู ครีมนวด และบอดี้มิลค์ของโรงแรม มาผ่านกระบวนการ Upcycling ใหม่ โดยมีการทำงานกับทั้งศิลปินผู้เชี่ยวชาญและช่างฝีมือท้องถิ่นในการดัดแปลงวัสดุชิ้นเดิมให้มีมูลค่ามากขึ้น จนออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีความสวยงาม สอดแทรกนัยยะเรื่องของความยั่งยืนผ่านวัสดุที่ใช้ และกระบวนการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ตั้งแต่แม่บ้านไปจนถึงศิลปิน ยังสะท้อนให้เห็นว่าทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืน และสามารถทำตามหน้าที่ของตนเพื่อสอดประสานให้เกิดความสำเร็จในภาพรวมได้
UOB Painting of the Year ขับเคลื่อนการสื่อสารประเด็นสังคมผ่านผลงานศิลปะ
โครงการประกวดศิลปะอย่างการประกวดจิตรกรรมยูโอบี หรือ UOB Painting of the Year ที่จัดขึ้นกว่า 15 ปีในประเทศไทย ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนศิลปินไทยให้มีโอกาสสะท้อนประเด็นสังคมในด้านต่างๆ ผ่านผลงานจิตรกรรม โดยศิลปินที่เข้าร่วมการประกวดต่างนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ชีวิต ความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน รวมถึงปัญหาสากลต่างๆ ทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านผลงานหลากหลายรูปแบบ เพื่อสื่อสารออกไปในวงกว้าง มุ่งหวังที่จะจุดประกายความคิดของผู้ชม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและโลกใบนี้
ชมผลงานจาก UOB Painting of the Year ตั้งแต่ปี 2010-2024 แบบออนไลน์ ได้ที่ https://www.uob.co.th/uobandart/winners-showcase/index.page