เราอาจจะเห็นผ่านตาอยู่บ้างเวลามีคนตั้งคำถามว่า “ถ้าไม่พูดถึงเรื่องเงินคุณอยากทำงานอะไร?” คำตอบของหลายคนมักออกมาตรงกันข้ามกับงานประจำที่ทำอยู่
และมีหลายคนที่เรียนจบมาทำงานไม่ตรงสายเพราะตอนที่เลือกคณะเรียนอาจจะยังไม่รู้เป้าหมายของตัวเอง แต่จำเป็นต้องเลือกเรียนเพราะค่านิยมของสังคม จนเจ็บปวดจากการเรียน และมีหลายคนตัดสินใจซิ่วหลังจากเรียนไปแล้วสักพัก คงจะดีถ้าเราสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เราสนใจจริงๆ ได้
เมื่อความถนัดของแต่ละคนแตกต่างกันไป
เด็กคนหนึ่งอาจไม่ได้เก่งในหลักสูตรส่วนกลาง แต่ในสิ่งที่เขาชอบ เขาทำได้ดี แต่ระบบการศึกษาไม่ทำให้เขาหาตัวตนเจอ และการมี gap year ให้เด็กได้เรียนรู้และหาตัวเองว่าชอบยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย รวมถึงสังคมที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กอายุ 18 ปี มีความคิดที่แตกต่างไปและยังไม่มีความสามารถพอที่จะดูแลตัวเอง
จะดีกว่าไหมถ้าการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งได้ค้นหาความชอบของตัวเอง และเลือกเรียนในวิชาที่ใช่ และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในอนาคต
iFIT (Individual Future Innovative Learning of Thailand)
โมเดลการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ผู้เรียนได้ออกแบบหลักสูตรของตัวเอง เน้นทักษะที่จะนำไปใช้ได้จริงในอนาคต ที่สามารถเรียนข้ามคณะ ข้ามสาขา วิชาเรียนมาจากความสนใจและความถนัดของผู้เรียนภายใต้คำแนะนำจากโค้ชที่จะมาช่วยให้ผู้เรียนออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ
แต่ถ้ายังไม่มีความฝันหรือไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ในโครงการนี้ปีการศึกษาแรกจะให้เรียนวิชาพื้นฐานทั้งหมดก่อนจะตัดสินใจว่าจะออกแบบหลักสูตรตัวเองอย่างไร พูดง่ายๆ คือ ปีแรกยังมีเวลาค้นหาตัวเองร่วมกับโค้ชว่าจะเรียนอะไร
ที่สำคัญโครงการนี้ไม่จำกัดว่าคุณจะจบสายสามัญ สายอาชีพ เรียน กศน. ก็เรียนต่อได้ทั้งหมด
ความฝันของลูกร้านรถเข็นขายน้ำเต้าหู้
สมมติที่บ้านขายน้ำเต้าหู้และมีความฝันอยากจะพัฒนาธุรกิจของครอบครัวให้เจริญและทันสมัยยิ่งขึ้น คือเปิดคาเฟ่ร้านน้ำเต้าหู้ ให้ดูทันสมัยไม่ใช่ร้านรถเข็นแต่อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการให้น้ำเต้าหู้ไม่ได้เป็นแค่ของถูก แต่คือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงความฝันที่จะได้เปิดร้านอยู่ที่บ้านเป็นความจริง
ผู้เรียนสามารถออกแบบหลักสูตรการเรียนร่วมกับโค้ช โดยการผสมผสานวิชาความรู้ เช่น เรียนกับเชฟตัวจริงในวงการ จากคณะมนุษยศาสตร์ฯ – เรียนการสร้างเจ้าของธุรกิจกับนักธุรกิจตัวจริง จากคณะ BUSEM – เรียนการโปรโมทร้านด้วยการตลาดดิจิทัล จากคณะบริหารธุรกิจ – เรียนการสร้างแบรนด์ จากคณะนิเทศศาสตร์ เป็นต้น ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การทำธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเลือกเฉพาะวิชาที่ได้ใช้จริงในการทำงาน
คนที่ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน แต่คิดว่าชีวิตนี้อยากเดินทางไปรอบโลก
ถ้าเป็นสมัยก่อนเราอาจคิดว่าจะต้องรวยขนาดไหนถึงจะทำได้ แต่ในยุคดิจิทัลที่พรมแดนจางลง และการทำงานก็ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ในออฟฟิศตลอดเวลา ความฝันการเดินทางรอบโลกกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นและพร้อมที่จะกลายเป็นดิจิทัลโนเมด
ชนเผ่าเร่ร่อนยุคใหม่ที่ทำงานผ่านโลกออนไลน์ และออฟฟิศคือทุกที่บนโลก แต่สิ่งที่สำคัญคือภาษา ทักษะการถ่ายภาพ ถ่ายคลิปวิดีโอ ตัดต่อและเล่าเรื่อง คุณอาจหาเงินผ่านการขายรูปใน Photostock รับงานแปลภาษาจากช่องทางออนไลน์ หรือทำรายการในช่อง YouTube รวมถึงเขียนหนังสือให้เป็นที่มาของรายได้
โดยหลักสูตรที่ร่วมกันออกแบบ อาจเริ่มต้นจากภาษาและการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ เพื่อให้ผู้เรียนหาเงินได้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ แล้วพัฒนาทักษะของตนเองให้ดีขึ้น เล่าเรื่องผ่านการพูด การตัดต่อได้เก่งขึ้น สร้างแชนแนลใน YouTube ขึ้นมาจากการท่องเที่ยวในชีวิตประจำวัน เขียนบทความท่องเที่ยวใน blog ส่วนตัว แล้วต่อยอดทักษะให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนตลอดหลักสูตรการศึกษาอาจมีเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง และเริ่มพร้อมที่จะเดินทางได้ในทันที
อย่าให้กรอบหลักสูตรเดิมมาบีบให้คุณเป็นไปตามระบบที่มหาวิทยาลัยต้องการ
การเรียนรู้มีอยู่ทุกที่ในโลก การได้ออกแบบหลักสูตรที่ FIT กับผู้เรียนคงเป็นหลักสูตรในฝันของหลายๆ คน เกรดเฉลี่ยไม่อาจวัดความสามารถคนได้ทุกคน การได้ลงมือทำในสิ่งนั้นจริงน่าสนใจกว่าเรียนรู้ในตำรา และความฝันอาจไม่ถูกค้นพบตั้งแต่เด็กเมื่อหลักสูตรการศึกษารูปแบบเก่าอาจยับยั้งความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน
โครงการ iFIT ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับใครหลายคนที่พร้อมจะเรียนรู้และไปให้ถึงเป้าหมายของตัวเอง
สนใจหลักสูตร iFIT สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ifit.bu.ac.th