“กินไม่คิด ถ้าคิดได้คงไม่กิน”
คือ Key Message ของซีรีส์เรื่องใหม่ที่ชื่อว่า Open Mind ว่าด้วยโทษจาก ‘อาหารการกิน’ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะมีซีรีส์สัญชาติไทยที่กล้าพูดประเด็นนี้อย่างจริงจัง แถมยังมาพร้อมคอนเซปต์การเล่าเรื่องแบบจัดๆ ด้วยการเป็นมินิซีรีส์ 4 เรื่อง 24 ตอน ความยาวตอนละ 3 นาที!
โดยเรื่องแรกมาในชื่อ LOST กำกับโดย ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์ ผู้กำกับสาวที่เคยผ่านงานโฆษณามาแล้วมากมาย และได้นักแสดงนำอย่าง แจนจัง – เจตสุภา เครือแตง ที่มารับบทเน็ตไอดอลนักรีวิวอาหาร แต่จู่ๆ ก็หายตัวไปอย่างลึกลับ ในมู้ดแบบหนังทริลเลอร์ เพื่อตั้งคำถามกับอาหารที่ทุกคนกินเข้าไปทุกวัน ว่าเป็นสิ่งที่อันตรายต่อชีวิตอย่างไร
The MATTER ได้พูดคุยกับทั้งสองคนถึงมุมมองเรื่องอาหารการกิน ตั้งแต่เรื่องราวในซีรีส์และรวมไปถึงชีวิตจริงที่การกินอาหารเป็นความสุข แต่กลับต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง
ทุกวันนี้มุมมองเกี่ยวกับการกินยังไงบ้าง ใส่ใจกับเรื่องอาหารมากน้อยแค่ไหน
ณัฐพร: เราค่อนข้างซีเรียสเรื่องการกินมาก จริงๆ ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำโปรเจกต์นี้แล้ว เพราะว่าด้วยความที่มี passion ส่วนตัวคือคุณแม่และคุณน้าเป็นมะเร็ง แล้วตัวเองก็มีภาวะเสี่ยงเป็นมะเร็งด้วย ก็เลยค่อนข้างจะซีเรียสเรื่องของกินมาก เคยไปถึงขนาดที่เราสงสัยว่าน้ำตาลที่กินเข้าไปมีปัญหา เลยไปดูการผลิตน้ำตาลเพื่อจะเอามาใช้ที่บ้าน คือขึ้นตาลเลย ไม่ใช่แค่ไปโรงงานน้ำตาล ไปศึกษาวิธีการให้ได้มาซึ่งน้ำตาลที่เป็นออร์แกนิก นี่เป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์เลย
แจน: เหมือนเราจะเป็นขั้วตรงข้ามยังไงก็ไม่รู้ เหมือนหนูกินทุกอย่างที่อยากกิน เพราะว่าอาจจะเป็นด้วยเรายังไม่มีประสบการณ์ อย่างแรกเลยคือยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ยังไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไรมากมาย คนในครอบครัวก็เคยเป็นมะเร็งนะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเหตุผลหรือว่าการกระทำนี้มันส่งผลอะไรบ้าง เราก็เลยเป็นแบบกินอะไรก็ได้ ด้วยความที่เราผอมด้วย กินอะไรก็ไม่อ้วน จึงกินแบบจัดเต็มมาก บุฟเฟ่ต์ ชาบู หมูกระทะ ที่เขาบอกไปนั่งเป็นกลุ่มๆ หนูนั่งกินคนเดียวได้สบายๆ หรือชานมไข่มุกที่กำลังมาแรงมาก หนูสามารถรีวิวได้ทุกร้านเลยว่าร้านนี้มันอร่อยๆ มากแค่ไหน
แต่การทำงานในวงการจะต้องมีการควบคุมรูปร่าง ควบคุมอาหารหรือเปล่า
ณัฐพร: ไม่เคยควบคุมได้ ไม่มีทาง แจนอยู่ในกอง ไม่ว่าจะหันซ้ายหรือหันขวา จะมีขนมอยู่ในมือตลอด
แจน: ทีมงานมีป๊อบคอร์น หนูก็หยิบกลับบ้านไปด้วย หรืออยู่ดีๆ ป๊อบคอร์นอยู่ในมือได้ยังไงไม่รู้ (หัวเราะ)
มองว่าการกินทำให้เรามีความสุข แต่หลังจากนั้นอาจจะเป็นทุกข์ที่ต้องมาอ้วนไหม
ณัฐพร: เรื่องอ้วนไม่เท่าไร คือมีอยู่วันหนึ่ง กินชาไข่มุกเข้าไป ยี่ห้อดังในสยามที่คนต่อแถวกันเยอะๆ นั่นแหละ กินเสร็จ ตอนกลางคืนกำลังทำงาน จู่ๆ ก็ปวดท้องมาก สรุปคืนนั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ผ่าไส้ติ่งคืนนั้นเลย
แจน: แค่กินชาไข่มุก ทำให้เป็นขนาดนั้นเลยเหรอ
ณัฐพร: อาจจะไม่ใช่ขนาดนั้น แต่มันอาจจะเป็นภาวะที่สะสมมา แล้วพอเจอชานมไข่มุกมันคงหลุดเข้าไปพอดิบพอดี หลังจากนั้นทุกครั้งที่เวลาจะกินอะไร แล้วเรารู้สึกว่ามันอร่อยปาก จะนึกถึงเหตุการณ์นี้ พยายาม remind ในสมองตัวเองว่าให้ไม่ลืมความเจ็บปวดนั้นเลย เพราะมีบทเรียนแล้ว
แต่ทุกวันนี้ก็มีสื่อที่ออกมาพูดเรื่องโทษของอาหารพวกนี้อยู่ตลอด คิดว่ามันช่วยให้เราตระหนักมากขึ้นไหม
แจน: คือหนูเป็นคนที่ติดชา เหมือนคนที่ติดกาแฟก็จะกินกาแฟทุกวัน แล้วทีนี้เราก็เหมือนหลอกตัวเองว่า เวลาสั่งชาไข่มุกเราก็สั่งไม่หวาน คือหลอกตัวเองว่าฉันไม่ได้กินหวาน ฉันแค่อยากกินชา ซึ่งตอนนี้ก็ยังหลอกตัวเองต่อไป เพราะว่ามันอร่อย ก็ถือว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตให้กับร่างกาย (หัวเราะ)
ณัฐพร: เราเข้าใจเด็กวัยรุ่นจากการกินของแจน คือมันหยุดไม่ได้จริงๆ คืออย่างตอนไปถ่ายที่ตลาด ทุกครั้งที่หันกลับมาแล้ว เดี๋ยวจะต้องมีขนมในมือตลอด หรือเข้าปากตลอดเวลา ต้องเติมลิปสติกใหม่กันวันละหลายรอบมาก คืออันนี้ไม่ใช่กินเพราะว่าหิว แต่เราเข้าใจเลยว่า มันเป็นภาวะของเด็กวัยรุ่นที่ยังเอ็นจอยกับการกิน ซึ่งเราเมื่อ 15 – 20 ปีที่แล้วก็เป็นเหมือนกัน
แจน: เพราะว่าเราต้องใช้ energy เยอะ มันต้องเติมของหวาน ถ้าไม่เติมมันไม่มีแรง (หัวเราะ) แต่จริงๆ เราไม่ชอบของหวานสักเท่าไร แต่ติดขนมมากกว่า ยังไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองได้แบบผู้ใหญ่ ที่เขามีประสบการณ์ที่แบบเลวร้ายเกี่ยวกับอาหารมาก่อนแล้ว
เหมือนทุกวันนี้ ในสังคมมีความ conflict กันอย่างรุนแรง คือกระแส healthy มาแรงมาก แต่ในขณะเดียวกันกระแสของกินใหม่ๆ ก็มาแรงมากเหมือนกัน มองตรงนี้อย่างไร
ณัฐพร: มันคือการต่อสู้ทาง commercial อย่างหนึ่งเหมือนกัน คือสุดท้ายเราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในยุคของ product พวกนี้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้เลวร้าย การกินมันเป็นการบริโภคในแง่ของความสุข ถูกไหม กินเพราะว่ารู้สึกว่าเอ็นจอย ส่วนตัวเราจะไม่ bias อาหารพวกนี้นะ จะไม่โทษคนขายชาไข่มุก เพราะถ้าคุณบาลานซ์ได้ก็จบ มีสติว่าอาทิตย์นี้กินชานมไข่มุกไป 2 ครั้งแล้ว ก็พอหน่อย คือเราไปเจอเคสหนึ่ง เป็นคนที่กินคลีนจนเครียด เพราะแบบกินอะไรก็ไม่ได้ ชีวิตมันจะเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า ตอนที่เราทำโปรเจกต์นี้ ลองทำรีเสิร์ชทั้ง 2 ฝั่งแล้ว สุดท้ายเราค้นพบทางเดียวเลยนะว่าต้องแบบพอดีๆ สุขแบบไหนก็ทำ สุขกับการกินชาไข่มุก แต่วันหนึ่งที่ร่างกายเริ่มจะไม่สุขแล้ว ก็ต้องกลับมาบาลานซ์ฝั่งนี้ ต้องเลือกบนพื้นฐานของสติตัวเองแค่นั้นเลย
อยากให้เล่าที่มาของคาแรคเตอร์ในซีรีส์ตอน LOST ว่ามาจาก insight ที่เป็นคนจริงๆ ไหม
ณัฐพร: มันไม่มีตัวตนจริงๆ แต่ว่าตัวบทของแจน หรือ ‘แองจี้’ ในเรื่องเราเขียนจากแจนจริงๆ คือมองว่าเขาเป็นตัวแทนของคนยุคนี้ที่กินกระหน่ำและเอ็นจอยกับการกิน เอ็นจอยกับการทำคอนเทนต์ คือเราวางโครงสร้างตัวละครนี้ให้เป็นเน็ตไอดอล เพราะเน็ตไอดอลมีมิติที่เจ๋งมาก คือสามารถเอาเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ ทำให้มันเป็น public ได้ มีทั้งเรื่องส่วนตัว พฤติกรรมการกิน และงาน ที่มันกลายเป็นชิ้นเดียวกัน เมื่อเวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลางาน เขาก็เลยไม่มีเวลาทบทวนว่ากินอะไรไปบ้าง ในขณะที่ตัวละครที่สอง คือ ‘เบาหวิว’ เป็นตัวแทนผู้จัดการ ซึ่งมีความแบบอวยน้องอีก รับงานให้ตลอด คือมันได้พาร์ทเนอร์ที่อวยกันเอง ไม่ช่วยดึงกัน ก็ยิ่งพากันไปลงเหว ในขณะที่ตัวละครอีกตัวหนึ่งคือ ‘นัท’ เป็นช่างภาพที่เนี๊ยบมาก จะถ่ายรูปทุกอย่างต้องวางเฟรม จะมาถ่ายกะโหลกกะลาไม่ได้ เลยไม่ได้คิดว่าของที่ถ่ายนี้ เดี๋ยวเพื่อนมันต้องกินนะ นี่คือตัวแทนชีวิตคนยุคนี้จริงๆ
แจนอ่านบทของแองจี้ครั้งแรก แล้วรู้สึกยังไงบ้าง คล้ายกับตัวเองไหม
แจน: อ่านบทตอนที่เป็นช่วงแรกๆ รู้สึกหิวมาก นี่แหละคือตัวตนของหนู แต่ว่าสิ่งที่ต้องทำการบ้านก็คือต้องจำบทให้ได้ แต่พอจำได้ปุ๊บ เรียกได้ว่ามันง่ายมาก เพราะว่าเราสัมผัสหรือว่าคุ้นชินอะไรกับแบบนี้มาแล้ว อย่างไลฟ์ 3 ชั่วโมงติดกันก็ทำมาแล้ว
ณัฐพร: พอดีคนเล่าเรื่องนี้เป็นแจนจัง ซึ่งเป็นคนที่ consumer อยากฟังน้องคนนี้พูดอยู่แล้ว แล้วน้องก็เล่าเรื่องนี้ได้ดีด้วยการไม่ยัดเยียด แจนเป็นคนที่เล่าจากความจริงของตัวเอง เขาจะไม่เล่าอะไรที่โอเวอร์จากสิ่งที่เขาเป็น และดูจากการตีความของตัวละครด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาเล่าให้เพื่อนเขาฟัง หรือคนรอบๆ ตัวเขาฟัง คนจะรู้สึกถึงแบ็กกราวน์นี้จริงๆ ซึ่งแจนจะไม่พยายามจะไปสิงร่างแองจี้นะ แต่พยายามจะดึงแองจี้เข้ามา ฉันกับแกจะต้องรวมร่างผนึกกำลังแล้วสร้างคอนเทนต์ใหม่ เราเปิดพื้นที่ให้เขาเป็น Director of acting แล้วเขาก็ทำได้ดีด้วย
หลังจากเล่นเสร็จแล้ว พอกลับมาบ้าน แจนเอาแองจี้ออกจากตัวเองได้ไหม
แจน: เอาออกไม่ได้ มันเป็นตัวตน มีเวลาถ่ายคลิปเราก็จะแบบเอาตัวละครแองจี้เข้ามา แฟนคลับบอกว่าเจอเมื่อไรจะเอาท่อแอร์ฟาด (หัวเราะ) คือส่วนตัวแล้วแจนมีหลายคาแรคเตอร์ อย่างเช่นเป็นพี่เจต ก็คือมีความเป็นเท่ๆ บอยๆ หน่อย พอตัวแจนจังเองก็จะเป็นแบบสาวใสๆ คาวาอี้ หรือว่าคาแรคเตอร์ของแองจี้ คือเป็นอีกคาแรคเตอร์หนึ่งที่แฟนคลับเขาจะสามารถเข้าใจได้ว่าแบบเป็นแบบนี้ ซึ่งมันก็กลายมาเป็นอีกตัวตนหนึ่งของแจนจังด้วยเหมือนกัน
อะไรคือความยากของการทำซีรีส์ที่พูดถึงเรื่องโทษของการกินอาหาร แล้วผู้สนับสนุนเป็นถึงกระทรวงเกษตรฯ
ณัฐพร: มีแค่ 2 ทาง คือทำกับไม่ทำ เมื่อไรก็ตามที่เราทำอะไรในทางเดิมๆ หรือยังไม่ออกนอกกล่องของความคิดเดิมๆ มันก็จะเป็นเหมือนที่เกษตรกรเคยพูดว่า เป็นการผลาญเงินภาษีประชาชน แต่สุดท้ายแล้วเราได้ลองพาลูกค้าออกไปนอกกล่องบ้าง แต่ธงยังเหมือนเดิมคือทำอย่างไรให้มันเกิด aware พร้อมกัน ไม่ใช่แค่เกษตรกร ต้องมองภาพที่เป็นภาพรวมทั้งหมด เขาก็เสี่ยงกับเราด้วยการออกนอกกล่อง เขาถามว่าใครจะแสดง เราก็บอกว่ารู้จักแจนจังไหม ปรากฏมีคนรู้จัก คนในกระทรวงเป็นแฟนคลับแจนจัง อันนี้ก็ฮาอีก ตัวละครของแจนจึงเป็นตัวละครแรกที่วางไว้
แล้วการเล่าเป็นหนังซีรีส์แบบทริลเลอร์ด้วย อะไรคือความท้าทายตรงนี้
ณัฐพร: ตรงบทเราใช้ความเป็นทริลเลอร์ แต่เราไม่อยากให้ไปใส่ใจกับความเป็นทริลเลอร์นัก เพราะว่าเรารู้สึกว่าทริลเลอร์มันคือกิมมิค แต่คอนเทนต์หลักของมันการเล่นกับความรู้สึกคนดู ที่เขาอยากจะรู้ว่าเราจะพาแองจี้ พาเบาหวิว หรือพานัทไปถึงจุดไหน แต่ที่ยากที่สุดกว่านั้นคือเรามีเวลาต่อตอนแค่ 3 นาที ทั้งหมด 8 ตอน มันเลยเหมือนเอาเทรลเลอร์มาต่อๆ กัน เพื่อให้คนต้องตามต่อ จริงๆ มันเหมือนโฆษณาเวอร์ชั่นยาว หรือซีรีส์เวอร์ชั่นสั้น
หลังจากที่ได้คลุกคลีกับซีรีส์เรื่องนี้ คิดว่ามีชุดความคิดใหม่ๆ ที่ Open mind ตัวเองไหม
ณัฐพร: ด้วยโลเกชันที่เราไปถ่าย มันหลากหลายมาก ทั้งบ้าน ตลาด โรงพยาบาล เราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ สถานที่พวกนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตคนหมดเลย อย่างการไปโรงพยาบาล เราแค่อยากให้ตัวละครนี้มันไปเล่าเรื่อง แต่ระหว่างทางที่อยู่ในโรงพยาบาลเรากลับได้อีกคอนเทนต์หนึ่งมา แล้วเราก็พบว่า โรงพยาบาลไม่เคยเพียงพอกับผู้ป่วยแบบนี้ ช่วงนี้ไปที่รามาฯ อาทิตย์ละ 3 วัน ไปนั่งเฉยๆ ตั้งแต่ตี 5 ให้เห็นบรรยากาศ ทำให้รู้ว่าวงการแพทย์มันเศร้าสลดมากกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง เราก็ได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันจะเป็นประโยชน์ต่อเขา เราคงช่วยเขาให้หายป่วยไม่ได้ เพียงแต่ทำให้เขารู้สึกว่ามันใกล้ตัวมากแค่นั้นเอง
อย่างแจนเล่าบ้าง พอหลังจากได้เล่นซีรีส์เรื่องนี้ ทำให้ Open mind เรื่องการกินมากขึ้นไหม
แจน: มีอย่างหนึ่งที่ทำให้เราคิดได้ ตอนที่พี่ผู้กำกับบอกว่าพี่เป็นมะเร็ง นี่เป็นซีรีส์เรื่องสุดท้ายของพี่แล้วนะ โอ้โห ตอนนั้นก็แบบจะเชื่อดีไหมนะ เราก็เชื่อดีกว่า เพราะถ้าเชื่อเราก็จะมีอินเนอร์มากขึ้น สุดท้ายเราก็เชื่อจริงๆ
ณัฐพร: แล้วพอรู้ทีหลังก็ความแตก (หัวเราะ) คือเขาต้องเล่นบทร้องไห้ เราก็เลยเป็นแอ็กติ้งโค้ชไปโดยปริยาย เราก็อยากให้เขาร้องไห้จากความรู้สึกที่มันมาจากเขาจริงๆ ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นแองจี้
แจน: มันเลยทำให้เราฉุกคิดว่าแบบพี่เขายังดูเด็กขนาดนี้ แต่ว่าเป็นมะเร็งแล้ว เราก็มีโอกาสเป็นได้หรือเปล่า เพราะว่าส่วนตัวแล้วเคยไปตรวจเลือดมา หมอบอกว่า คราบไขมันมาแล้วนะ ทำให้เราก็เริ่มฉุกคิด แล้วมาบวกกับเล่นซีรีส์นี้อีก เอาตรงๆ ก็ยังไม่ได้คิดได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แค่เริ่มคิดได้ เหมือนเรารู้ก่อนที่มันจะเป็นหนักขึ้น เราก็เริ่มแบบออกกำลังกายก็ได้
ณัฐพร: แค่นี้เราก็แฮปปี้มากแล้ว คือเราไม่ได้คาดหวังให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนมากินคลีนหรือกินออร์แกนิก เพราะมันยากมาก แต่ถ้าเขารู้ สติมา ปัญญาเกิด เราว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว เราเปลี่ยน mind set เขาไม่ได้หรอก เราดีใจที่วันนั้นแจนออกจากสตูฯ แล้วบอกว่า เดี๋ยวหนูจะไปว่ายน้ำ เขายังรู้สึกรับผิดชอบว่าเขาต้องออกกำลังกาย คือถึงแม้ว่ามันจะดูเป็นตรรกะที่ดูประหลาดก็ตาม หวังว่าโปรเจกต์นี้จะพาเขาไปถึงจุดนั้นได้ แค่นี้ 0.01 เปอร์เซ็นต์ เราก็โอเค ดีกว่ามันติดลบไปเรื่อยๆ
มีซีนไหนที่รู้สึกว่ามัน touch กับตัวเองเป็นพิเศษไหม
แจน: เรื่องที่ touch เรามากที่สุดคือวันสุดท้ายที่ไปถ่าย แล้วเราต้องแสดงเป็นคนป่วย คือวันนั้นไม่ได้แต่งหน้าเลย ต้องกลบปากให้แบบซีดๆ มันเหมือนจำลองตัวเองในอนาคตยังไงก็ไม่รู้ ส่วนตัวแล้วก็คือต้องไปโรงพยาบาลทุกอาทิตย์ เพื่อที่จะไปรักษาอาการที่เลือดเริ่มมีไขมันอย่างที่บอก หมอบอกว่าถ้าเลือดเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มันสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้นะ คือต้องไปนั่งเป็นผัก 3 ชั่วโมง ไปไหนก็ไม่ได้ ที่แขนจะมีแต่รอยเข็มเจาะ นี่คือเรายังไม่ได้เป็นถึงขั้นโรคมะเร็งหรือว่าโรคร้ายเลยนะ คือไม่อยากไปโรงพยาบาลอีกแล้ว จะร้องไห้ ไม่อยากไปแล้ว
สุดท้าย คาดหวังให้ซีรีส์เรื่องนี้ Open mind คนดูยังไงบ้าง
ณัฐพร: อยากให้คนที่ดูแล้วเขาได้ทบทวน เวลาเดินเข้าเซเว่นฯ เขาจะเลือกของกินอะไร ซึ่งของดีๆ ก็มี แค่ได้อ่านฉลากสักนิดหนึ่ง เราแค่หวังว่าสิ่งเหล่านี้มันจะกลายไปเป็นนิสัยของเขา เราไม่มีทางรู้หรอกว่าผู้ชมจะเอาส่วนไหนกลับไปใช้ ตัวเขาเองเท่านั้นแหละที่จะเป็นคนตอบเรื่องนี้ได้ แค่เราเห็นปริมาณผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยโรคพวกนี้ลดลง มีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น คือมีค่าทางใจกับทีมงานทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นี้แล้ว มีแค่เพียงหนึ่งคนที่ได้ message นี้จาก 75 ล้านคน ทีมงานทุกคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
แจน: พี่เขาสร้างซีรีส์เรื่องนี้มาให้ทุกคนคิดได้ หรือแม้กระทั่งตัวนักแสดงเองที่ก็เป็นคนปกติ ก็สามารถคิดได้ด้วยเหมือนกัน หวังว่าในแต่ละเรื่องในแต่ละตอน มันจะสามารถไป touch หรือว่าจับใจคนดูได้บ้าง แล้วทำให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ อย่างตอนนี้หนูบอกได้เลยว่า หนูเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว