ต้องยอมรับว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนกำลังตระหนักและใส่ใจกันมากขึ้นทุกวันนี้ เป็นผลมาจากโซเชียลมีเดียที่มีผลต่อการรับรู้ และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือแคมเปญรณรงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย
‘ท้าไม่ทิ้งกับกาแฟเขาช่อง’ คือแคมเปญรณรงค์จากกาแฟเขาช่อง ที่ให้ผู้บริโภคส่งซองกาแฟที่ทิ้งแล้ว เพื่อนำมา Upcycling ให้กลายเป็นอิฐบล็อกพลาสติกสำหรับปูถนนที่ใช้งานได้จริง พร้อมทั้งนำเสนอผ่านรายการเรียลลิตี้ออนไลน์ที่ใช้เหล่าเซเลบมาปฏิบัติภารกิจได้อย่างน่าสนใจ ถือเป็นไอเดียที่แก้ปัญหาเรื่องขยะบรรจุภัณฑ์ได้อย่างตรงจุด
The MATTER ได้พูดคุยกับ ดร. อริยา จิระเลิศพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เขาช่องอุตสาหกรรม 1979 จำกัด ถึงที่มาของแคมเปญนี้ ในฐานะของผู้ประกอบการที่ต้องการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
มองสถานการณ์เรื่องสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้เป็นอย่างไร
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มีการรณรงค์กันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเราเด็กๆ ก็จะมีเรื่องตาวิเศษ การชวนรีไซเคิลตามสื่อต่างๆ ซึ่งตอนนั้นเหมือนเป็นการรณรงค์ที่เป็นคอนเซปต์ แต่ว่าการเอามาปฏิบัติจริง อาจจะไม่ค่อยมีใครลงมือทำสักเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่าผลกระทบในสมัยก่อนไม่ชัดเจนเท่าตอนนี้ ที่มีผลกระทบที่เราเห็นชัดมากๆ อย่างเช่นเรื่อง PM 2.5 เรื่องโลกร้อนที่ทำให้ฤดูกาลต่างๆ แปรปรวน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สัตว์ตายเพราะกินขยะ สัตว์พวกนั้นน่าสงสารมาก สิ่งพวกนี้ทำให้เราเห็นผลกระทบจากการไม่แคร์สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่ชัดเจนมากขึ้นทุกวันๆ
ด้วยสื่อโซเชียลฯ หรือเปล่า ที่ทำให้ภาพผลกระทบเหล่านี้ชัดเจนขึ้น
ใช่ คือเมื่อก่อน การรณรงค์ก็มีเยอะ แต่ว่าการปฏิบัติไม่ค่อยเยอะ อาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนสื่อมีข้อจำกัด กว่าจะลงอะไรต้องผ่านการกลั่นกรอง บางอย่างอาจจะโดนบล็อก โดนสกรีนออกไป ทำให้เรามองไม่เห็น แต่สมัยนี้โลกโซเชียลฯ มันเปิดกว้าง ภาพที่เราเห็นมันเป็นภาพที่เรียลมากขึ้น ทุกวันนี้ใครก็สามารถโพสต์ได้ ทำให้เราเห็นความจริงมากขึ้น ซึ่งก็เป็นข้อดีตรงที่ทำให้เราตระหนักกันว่า ความจริงตอนนี้โลกมันเป็นแบบนี้ ร้ายแรงระดับนี้ ทำให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรจริงจังมากขึ้น
ในมุมมองความเป็นผู้ประกอบการ คิดว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มองปัญหานี้อย่างไร
ผู้ประกอบการหลายกลุ่มก็หันมาสร้างทางเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราเห็นในประเทศตะวันตกเขาค่อนข้างจริงจังกับเรื่องนี้กันมานานแล้ว ส่วนในเอเชีย ก็เห็นญี่ปุ่นที่จริงจังกว่าเพื่อน ผู้บริโภคเองก็เช่นกัน ผู้บริโภคบางกลุ่มที่อินมากๆ ถึงขั้นต้องพลิกดูเลยว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ถ้าไม่ เขาไม่ซื้อเลย แต่ต้องยอมรับว่า บรรจุภัณฑ์ที่เป็นแบบที่รักษ์โลก ราคาก็มักจะสูงกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป ซึ่งเมืองไทยยังถือว่ายังมีส่วนน้อยที่ยอมจ่ายส่วนต่างที่แพงขึ้นเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เขาอาจจะรู้สึกว่าทำไมต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อได้สินค้าที่เหมือนๆ กัน
แล้วเขาช่องเอง มีวิธีแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ที่เป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่กระทบต่อผู้บริโภค
เรามีนโยบายสนับสนุนด้านการลดใช้พลาสติกเสมอมาอยู่แล้ว คือไม่ใช่ว่าเราไม่อยากที่จะหาทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ก็จะมีข้อจำกัด ในแง่การป้องกันผลิตภัณฑ์ อย่างกาแฟของเราเป็นสิ่งที่เซนส์ซิทีฟต่อออกซิเจนและความชื้น ถ้าเราใช้แต่กระดาษที่ย่อยสลายได้เป็นบรรจุภัณฑ์ จะไม่สามารถป้องกันผลิตภัณฑ์ข้างในให้คงคุณภาพอยู่ได้จนครบอายุการเก็บรักษา ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งที่สามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของเราไว้ให้ได้เป็นหลัก ซึ่งก็เป็นอลูมิเนียมฟอยล์ ลามิเนตพลาสติก ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เราให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก ในโรงงานของเรามีการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยระบบที่ได้มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำที่เรามีบ่อบำบัดระบบ Sequencing Batch Reactor ที่บำบัดน้ำออกมาได้ใสกิ๊ก กากกาแฟที่ได้จากการชง เรานำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานหมุนเวียนใช้ในโรงงาน ผลพลอยได้ (by-product) จากกระบวนการต่างๆเราจัดการให้หมุนเวียนใช้ในโรงงานให้ได้มากที่สุด เราได้การรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว Green Industry ระดับ 3 จากกระทรวงอุตสาหกรรมและยังได้การรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ซึ่งเป็นระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะระดับสากลอีกด้วย
แต่ทีนี้เรายังติดเรื่องซองบรรจุภัณฑ์ที่เราจำหน่ายสู่ผู้บริโภคอยู่ทุกวันว่าเราจะจัดการอย่างไรดี เนื่องจากซองเรา Reuse ไม่ได้ Recycle ก็ยากเพราะเป็นฟอยล์ลามิเนตพลาสติก ปริมาณกาแฟที่เราจำหน่ายประมาณกว่า 20 ล้านซองต่อเดือนนี้ จะกลายเป็นขยะที่ไหนถ้าไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม สิ่งที่ออกจากโรงงานไปแล้ว เราจะควบคุมอย่างไร การควบคุมไม่ให้คนทิ้งซองคงเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้ผู้บริโภคฉีกซองกาแฟ เท ดื่ม สุดท้ายซองนั้นก็ตกไปอยู่ในขยะ เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น เราลุกขึ้นมาทำให้ดูเลยดีกว่า จึงเป็นที่มาของแคมเปญ ‘ท้าไม่ทิ้งกับกาแฟเขาช่อง’ เราอยากให้แคมเปญนี้เป็นตัวอย่างให้คนทางบ้านเห็นว่า ถ้าไม่ต้องทิ้งซองกาแฟ เก็บไว้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่าง อย่างน้อยก็มีอะไรมาจุดประกายให้คิดก่อนทิ้ง
ทำไมถึงใช้คำว่า ‘ท้า’ เพราะปกติแคมเปญส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะเชิญชวนมากกว่า
เพราะการที่เราจะมาใช้คำว่าขอเชิญชวน ขอความร่วมมือ ก็อาจจะไม่ดูน่าสนใจเท่าไหร่นักสำหรับคนรุ่นใหม่
เราเลยคิดว่างั้นเราลองท้าดูดีกว่า เราอยากจะท้าให้คุณอย่าทิ้ง คุณลองไม่ทิ้งดูไหม เพราะการที่คุณไม่ทิ้งมันก็เป็นประโยชน์กับสังคมแล้ว คุณแค่เก็บรวบรวมมา คุณจะได้เห็นว่าคุณสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นอะไรได้บ้าง และเป็นประโยชน์ให้กับชุมชนให้กับสังคมได้แค่ไหน นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากแคมเปญนี้เป็นรายการเรียลลิตี้ออนไลน์ แล้วโลกออนไลน์สมัยนี้ การ Challenge หรือการท้า ต่างๆ มันก็เป็นสิ่งที่อยู่ในกระแส เราเลยคิดว่าคำว่า “ท้า” นี่แหละ สั้น ตรงประเด็น เข้าใจได้ง่าย
ทำไมถึงใช้รูปแบบรายการเรียลลิตี้ออนไลน์ที่มีเซเลบ
เขาช่องอยู่มา 60 กว่าปี กลุ่มลูกค้าเรามีทุกกลุ่ม การที่เราทำรายการเรียลลิตี้แบบนี้ เราไม่ได้ต้องการให้เป็นโชว์ที่ดูแล้วซีเรียส เราต้องการให้เหมือนกำลังดูเพื่อนไปทำภารกิจ กำลังดูคนที่เรารู้จักสนิทสนม ไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แล้วเนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มลูกค้าเราหลายๆ กลุ่ม อย่างคุณกาย-ฮารุ ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มครอบครัว คุณตุ๊กกี้-บูบู้ ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มคนวัยทำงาน คุณป๊อปปี้-ซัน ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มวัยรุ่น แล้ว 6 คนนี้ก็เป็นคนที่มีบุคลิกเป็นกันเอง สนุกสนาน น่ารัก คือเขาเป็นเซเลบที่ไม่ได้ดูเอื้อมไม่ถึง แต่เป็นเซเลบที่ดูเหมือนเป็นเพื่อน เราก็เลยคิดว่าเขาน่าจะเหมาะกับแคมเปญนี้ และเราต้องการให้ลูกค้าเราสามารถเปิดดูรายการเราเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เมื่อเขาสะดวก การเป็นออนไลน์เรียลลิตี้จึงตอบโจทย์
ปลายทางของแคมเปญนี้ ซองกาแฟจะถูกนำไปสู่กระบวนการ Upcycling อย่างไร
ซองสติ๊กของกาแฟ วัสดุหลักเป็นอลูมิเนียมฟอยล์ เคลือบด้วยพลาสติก ด้วยความที่มันไม่ใช่พลาสติกแท้ๆ หรืออลูมิเนียมแท้ๆ เหมือนขวดน้ำหรือกระป๋องที่สามารถนำไป Recycle หรือ Reuse ได้ง่ายๆ เราก็เลยมองว่าควรนำมา Upcycle เลยดีกว่า คือเพิ่มมูลค่าโดยนำมาทำเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ แต่ว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นอะไรได้บ้าง โจทย์ของเราคือไม่อยากจะเอามาทำอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้สั้นๆ เราอยากจะทำให้เป็นอะไรที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยากทำตาม จึงเกิดเป็นไอเดียให้ผู้บริโภคทางบ้านทั่วประเทศได้ส่งซองผลิตภัณฑ์กาแฟเขาช่อง มาร่วมโหวตทีมที่ชอบและลุ้นรับรางวัลทุกสัปดาห์ โดยซองกาแฟที่ส่งเข้ามา หลังจากที่เราทำการคัดเลือกผู้โชคดีแล้ว เราจะนำไปทำเป็นอิฐบล็อกพลาสติกสำหรับปูถนน Walk way ให้คนไปเดินหรือวิ่งออกกำลังกายกันได้ เพราะคนสมัยนี้ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากขึ้นด้วย สำหรับ Walk way เราจะทำที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เนื่องจากจุดตรงนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวของทั้งคนไทยและต่างชาติ น่าจะเหมาะกับการสร้าง Walk way ซองกาแฟต้นแบบของเขาช่อง เพื่อจุดประกายให้ทั้งคนท้องถิ่นและต่างชาติได้เห็นถึงประโยชน์ที่สร้างได้จากขยะซองกาแฟ และยังเป็นอนุสรณ์ให้กับเขาช่องเองที่ทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ตรงนั้นอีกด้วย
การเป็นผู้ประกอบการแบรนด์กาแฟไทยที่อยู่มานานอะไรเป็นหัวใจที่จะทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวต่อไป
จริงๆ เราให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมตลอดมา เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ค่อยได้ออกสื่อ เราคิดว่าที่เราอยู่มาได้นานขนาดนี้ไม่ใช่เพราะคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่เราดำเนินธุรกิจด้วยจริยธรรม ที่ผ่านมาเราจะทำอะไร เราคำนึงถึงทุกอย่าง คำนึงถึงผู้บริโภค คำนึงถึงคู่ค้า คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการคืนกำไรให้ผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสังคม เรารู้ว่าบรรจุภัณฑ์ของเราเป็นส่วนหนึ่งของขยะ ซึ่งเราไม่ได้อยากเป็นผู้ประกอบการกลุ่มเดียวที่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เราอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญ และร่วมมือร่วมใจ ลดการทิ้งขยะ หาทางจัดการกับขยะด้วยวิธีที่สร้างสรรค์และถูกต้อง วันนี้แคมเปญเราได้ดำเนินมาเกือบจะครึ่งทางแล้ว แต่ทุกคนก็ยังสามารถร่วมแคมเปญ ‘ท้าไม่ทิ้งกับกาแฟเขาช่อง’ ได้เหมือนเดิมไปจนถึงเดือนธันวาคม 2563 นี้เลย จะเห็นว่าที่โรงงานเรามีกองซองกาแฟเขาช่องที่ผู้บริโภคได้ส่งกลับเข้ามาร่วมในแคมเปญเป็นจำนวนมาก ถามว่าเราคาดหวังว่าผู้บริโภคจะมองเรายังไงกับการจัดทำแคมเปญนี้ เราไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่าขอให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับการลงมือทำจริงร่วมไปกับเราเท่านั้นเองค่ะ