เชฟลัท – รภัสสรณ์ จิรจุรีย์ชัย เชฟสาวดีกรีรองแชมป์รายการแข่งขันทำอาหารและเจ้าของร้านขนม Lamelo Bake Studio
ฉากหน้าที่เราเห็นเธอแสนจะคล่องแคล่วกับงานครัว แต่เบื้องหลังกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เธอต้องผ่านจุดหักเหของชีวิต และการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่ต้องก้าวข้ามผ่านมาสู่ทางที่เธอเลือกเอง
สองมือที่เคยกดแป้นคีย์บอร์ดและจับเมาส์ปากกา มาสู่สองมือที่ต้องเปลี่ยนมาจับเครื่องครัวทำงานขนม และสองมือที่ต้องฝึกหัดทักษะใหม่ทั้งหมดหลังจากวันที่ตัดสินใจเปลี่ยนสายอาชีพ ต้องขอบคุณความแกร่งและความกล้า ที่ทำให้เราได้เห็นเชฟลัทอย่างในทุกวันนี้ และเราจะพาคุณย้อนกลับไปเดินทางข้ามผ่านอุปสรรคพร้อมกับ ‘เชฟลัท’ ไปด้วยกัน
กว่าจะมาเป็นเชฟลัทในทุกวันนี้
แบ็คกราวด์ของเชฟลัทเคยเรียนหรือทำงานด้านไหนมาก่อน ก่อนจะมาเป็นเชฟจริงจัง
ถ้าตั้งแต่แรกคือไม่ได้เรียนเกี่ยวกับอาหารมาเลย เรียนแอนิเมชันมา หลังจากเราเรียนจบ ก็ยังคงทำงานในสายแอนิเมชันอยู่ แต่พอทำไปได้สักปีนึง เราเริ่มรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่ชีวิตเราแล้ว มันเป็นการทำงานที่วนลูปแบบเช้าตื่นมาแล้วเข้าไปนั่งหน้าคอมพ์ฯ ตลอดเวลา แล้ว 6 โมงเย็นกลับบ้าน โดยที่แทบจะไม่ได้ขยับเลย ขยับแค่ข้อมือ เพราะว่าใช้เมาส์อย่างเดียว
มันเริ่มทำให้ร่างกายเราแย่ค่ะ เราเริ่มป่วยบ่อย อ้วนขึ้นด้วย เลยเริ่มกลับมานั่งคิดทบทวนกับตัวเองว่า อะไรมันคือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่เราจะทำจนวันที่เราตาย มานั่งทบทวนแล้วก็ลิสต์ออกมาประมาณ 5 ข้อค่ะ ว่าอยากทำอะไรบ้าง แล้วข้อหนึ่งที่มันเด่นชัดออกมาเลยคือการทำขนม เพราะมันเป็นสิ่งที่จริงๆ แล้วมันอยู่กับเรามาตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่เคยรู้สึกเลย เราไม่เคยรู้ตัวเลยว่า จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราหลงใหลมาตลอด
พอเรามั่นใจขนาดนี้ว่าจะเปลี่ยนสายงาน เราพิสูจน์อย่างไรให้ครอบครัวเห็นว่า เส้นทางนี้เป็นทางที่ถูก เส้นทางที่เราจะทำมันให้สำเร็จให้ตลอดรอดฝั่งได้
ตอนแรกที่บอกกับครอบครัวว่าจะลาออกจากงานแอนิเมชันแล้วมาทำขนมอย่างจริงจัง พ่อกับแม่ไม่ได้ค้านอะไร ค่อนข้างที่จะส่งเสริมด้วยซ้ำ แต่พอเราบอกว่าเราอยากจะไปเรียนแบบจริงจังแล้วนะ ตอนนั้นกลายเป็นว่าเขาเพิ่งจะรู้ตัวว่าลูกเราจะเอาจริงแล้วเหรอ ซึ่งมันมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ ในความคิดของคุณพ่อคือ ถ้าอย่างนั้น พ่อไปเปิดธุรกิจอีกสาขาของที่บ้านให้ลัทดีกว่า เพราะเขารู้ว่าจะช่วยเราได้อย่างไรในจุดนั้น ดีกว่าไปเริ่มทำในสิ่งที่เขาไม่รู้เลย แล้วเขาไม่สามารถจะช่วยอะไรเราได้ ในตอนแรกมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าไม่มีใครเชื่อเราเลยว่าเราทำได้ แต่เสียงในหัวเรามันบอกว่าเราทำได้ แล้วเราจะทำมันให้สำเร็จด้วย
การต่อสู้ในฐานะเชฟผู้หญิง
อย่างที่เขาบอกว่า งานครัวเป็นงานหนัก สำหรับเราคิดว่าการเป็นเชฟผู้หญิงมันมีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่า
ลัทคิดว่าตอนนี้ โลกมันเป็นโลกที่เปิดกว้างแล้ว ไม่มีการแบ่งแยกเพศอีกแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเป็นเพศไหน เราก็สามารถแสดงศักยภาพของเราออกมาให้ได้เต็มที่ ถ้าเราแข็งแรงน้อยกว่า เราก็ออกกำลังกายสิ ทำให้เรามีกล้ามเนื้อ ทำให้เราสามารถที่จะแข็งแกร่งได้เหมือนกัน อย่างในการแข่งขันก็ต้องเจอกับคนทุกเพศ อายุก็ต่างกัน ถ้าถามว่าทำไมถึงเข้าไปในการแข่งขัน ต้องตอบว่าโดนบังคับไป ก่อนหน้านี้เราพยายามจะอยู่เซฟโซน แต่กลายเป็นว่าจุดนั้นเป็นจุดที่เราไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนา แล้วก็โดนบังคับให้ต้องไปอยู่ในความกดดันมากๆ พอไปเจอทุกคนที่เก่งมาก เราเริ่มรู้สึกว่าเราก็แค่ทำเต็มที่ในแบบของเราก็พอแล้ว ผลจะเป็นยังไง เราก็ยอมรับมัน
ลัทนิยามตัวเองว่าเป็นเชฟแบบไหน
ลัทนิยามตัวเองว่าเป็นเชฟนักทดลองค่ะ เพราะว่าพอเราเป็นนักทดลอง เราจะไม่เคยหยุด แล้วก็จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ กำลังทดลองทำขนมปังจากยีสต์กุหลาบ คือเอากุหลาบมาหมักเป็นยีสต์ แล้วก็เวลาทำก็เหมือนทำการทดลองจริงๆ เช่นว่า มีตัวแปร 3 ตัว แล้วก็จดบันทึก อบออกมาแล้วได้ความสูงเท่าไหร่ มีอุณหภูมิเท่าไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่ คือทุกอย่างเป็นการทดลองและการบันทึก แล้วก็เอาข้อมูลทุกอย่างมาวิเคราะห์พัฒนาสูตรต่อไป ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรามีแรงผลักดันอยากจะทำอะไรใหม่ๆ มันคือความสุขมั้ง เราก็รู้สึกว่าทำออกมาแล้วมันดี หรือว่ามันไม่ดี มันก็เป็นการเรียนรู้ แล้วมันก็ทำให้เรามีความสุข
ยิ่งทำงานในครัว ยิ่งต้องดูแลตัวเอง
ตอนนี้เชฟลัทเองก็มีร้านขนมเป็นของตัวเองแล้ว อยากให้เล่าเรื่องราวที่มาของร้านให้ฟังหน่อย
ร้านขนมของลัท ชื่อร้าน Lamelo ค่ะ La มาจากลัท และ Melo ที่แปลว่าอารมณ์ดี คอนเซปต์ของร้านมาจากลัทเอง ที่การทำขนมเป็นความสุขสำหรับลัท เพราะฉะนั้นลัทเลยอยากส่งต่อความสุขไปให้กับทุกคน ตอนนี้ยังเป็นเดลิเวอรี่อยู่ กำลังวางแผนจะเปิดหน้าร้านเร็วๆ นี้ค่ะ
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ขนมส่งต่อความสุขให้กับคนกิน ต้องใส่ใจกับเรื่องไหนบ้าง
เวลาทำขนม ลัทจะใส่ใจเป็นพิเศษกับ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ คุณภาพของวัตถุดิบ วัตถุดิบที่ใช้จะต้องเป็นวัตถุดิบคุณภาพ เพื่อให้ได้ขนมที่อร่อย ส่วนเรื่องที่สองคือ ความสะอาดและสุขอนามัย ทุกขั้นตอนเราจะใส่ใจในเรื่องความสะอาดมากๆ ตั้งแต่การลงมือทำไปจนถึงเรื่องของภาชนะ ลัทจะเลือกผลิตภัณฑ์ล้างจานที่มีสารทำความสะอาดมาจากธรรมชาติ ไม่แต่งสี มีกลิ่นจากธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ภาชนะที่เราใช้นั้น สะอาดและถูกสุขอนามัยจริงๆ เพราะว่าลูกค้าที่ทานขนมของ Lamelo ทุกๆ ครั้งจะต้องมั่นใจว่าขนม Lamelo สะอาดและปลอดภัย
ยิ่งเราเป็นเชฟผู้หญิง มีเรื่องไหนที่ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษบ้าง
พอเราทำงานในครัว มันต้องเดินตลอดเวลา อย่างแรกที่เกิดขึ้นเลยคือปวดขาปวดตัวไปหมด ลัทก็จะออกกำลังกาย โยคะ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลายที่สุด อีกอย่างหนึ่งที่ลัทต้องดูแลเป็นพิเศษก็คือมือคู่นี้เลยค่ะ เพราะด้วยความเป็นเชฟ เราต้องใช้มือเยอะ ต้องล้างมือบ่อยๆ ก็จะเกิดอาการมือแห้ง มือแพ้ ระคายเคืองได้ง่าย ลัทเลยคิดว่าการเลือกผลิตภัณฑ์ล้างจานที่มีสารทำความสะอาดมาจากธรรมชาติ แล้วยิ่งมี Moisturizer จากธรรมชาติเสริมด้วยก็ยิ่งดีมาก เพราะนอกจากภาชนะเครื่องครัวที่เราล้างจะสะอาดแล้ว มือของเราก็ยังลดการระคายเคืองด้วย
ภาพความสำเร็จ และภาพของ ‘เชฟลัท’ ในอนาคต
พอวันนี้เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ผ่านสนามแข่งขัน มีกิจการของตัวเอง มีคนรู้จัก มีสูตรที่เราค้นพบด้วยตัวเอง มองกลับไปในวันแรกที่เราเริ่มเข้ามาทางสายนี้ ทัศนคติแบบไหนที่ทำให้กลายมาเป็น ‘เชฟลัท’ ในแบบทุกวันนี้ได้
น่าจะเป็นความพยายาม ลัทคิดว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เราหยุด เราจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราไม่หยุดพยายาม มันจะก้าวไปถึงความฝันที่เราตั้งใจไว้แน่นอน คือเวลาที่เราทำอะไรยากมากๆ หรือเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะท้อ แต่พอท้อแล้ว หลายคนจะถามลัทว่า พอลัทท้อ ลัททำอย่างไร ลัทจะนั่งอยู่เฉยๆ ลัทจะทิ้งตัวไปเลย แล้วก็มามองว่า สิ่งที่เราทำ มันผิดตรงไหนนะ เราสามารถแก้ตรงไหนได้บ้าง แล้วก็ชาร์จพลังตัวเอง พอเรามีพลังแล้ว เรารู้แล้วว่าจะแก้ไขยังไง เราก็ลุยต่อเลย
ลัทคิดภาพของ ‘เชฟลัท’ ในอนาคตเป็นแบบไหน
ภาพในอนาคตตอนนี้ เรากำลังเดินอยู่ในสิ่งที่เราฝัน แล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในอนาคตลัทก็ยังจะทำสิ่งที่ลัทรักต่อไป ไม่ว่าจะเจอกี่อุปสรรค ลัทก็จะผ่านมันไปให้ได้ด้วยสองมือของลัทเอง