พลังงานไฟฟ้าคือพลังงานหลักในการขับเคลื่อนให้ทุกสิ่งทุกอย่างเดินหน้าได้ ทั้งการใช้ชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ
ซึ่งการเติบโตของเมืองมหานคร ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ รวมถึงการขยายตัวของประชากร ทำให้ต้องมีการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการ และแน่นอนว่าทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นนั่นเอง
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการใช้พลังงานของคนยุคใหม่ ก็คำนึงถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างเห็นคุณค่ามากกว่าที่เคย อย่างเช่นการเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานทดแทนอย่างการใช้ Solar Cell เป็นต้น
MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่เมืองมหานคร ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองมหานคร ได้รับการตอบสนองที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี Smart Metro Grid มาปรับใช้ในการบริหารจัดการด้านพลังงาน รวมถึงการนำ Smart Meter มาใช้งานเพื่อเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลด้านไฟฟ้า และลดระยะเวลาแก้ไขไฟฟ้าขัดข้อง
หากอธิบายอย่างง่ายๆ Smart Grid คือระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเก็บข้อมูลและสั่งการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้า โดยเป็นการทำงานร่วมกันทั้งสองทางระหว่างผู้ให้บริการอย่าง MEA และผู้ใช้บริการอย่างประชาชนทั่วไป เพื่อให้การบริหารจัดการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น MEA จึงริเริ่มโครงการ Smart Grid for Metropolis หรือ Smart Metro Grid โดยมีหัวใจสำคัญคือการพัฒนาด้านมิเตอร์ให้ล้ำหน้ากว่าเดิมด้วย Smart Meter ซึ่งประกอบไปด้วย 5 โครงการย่อย ต่อไปนี้
1. Advanced Metering Infrastructure
เดิมทีระบบมิเตอร์ไฟฟ้าตามบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นมิเตอร์แบบจานหมุน การคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าจะใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปจดบันทึกหน่วย แล้วจึงคำนวณออกมาเป็นค่าใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนตามรอบการจดหน่วย แต่สำหรับ Smart Meter ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ จะเป็นมิเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่สามารถรับส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้รู้ตัวเลขของพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา และเก็บข้อมูลพร้อมบันทึกการใช้ไฟฟ้าทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบค่าบริการได้ทุกเวลา โดยตามแผนงานในช่วงแรก MEA ตั้งเป้าติดตั้ง Smart Meter จำนวน 31,539 ชุด ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้านำร่องบริเวณถนนพระราม 4 พญาไท เพชรบุรี และรัชดาภิเษก สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3, 4 และ 5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นและเริ่มทดลองใช้ได้ภายในปี พ.ศ. 2565 จากนั้นจึงจะขยายการติดตั้งให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการในพื้นที่ทั้งหมดในอนาคต
2. Transformer Load Monitoring
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นอกจาก Smart Meter ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้งานได้แบบเรียลไทม์ MEA จึงได้ติดตั้ง Smart Meter จำนวน 1,675 ชุด ที่หม้อแปลงจำหน่ายในพื้นที่การไฟฟ้านครหลวงเขตคลองเตย เพื่อตรวจสอบสาเหตุของปัญหา เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง ผ่านระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรวจจับความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่หม้อแปลงจำหน่าย และแจ้งเตือนทันทีเมื่อหม้อแปลงเริ่มจ่ายไฟเกินพิกัด รวมถึงการจัดโหลดในแต่ละเฟส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายไฟของหม้อแปลงได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับการวัดความสูญเสียในระบบไฟฟ้า จึงได้ติดตั้ง Smart Meter ที่สายไฟฟ้าแรงสูง (สายป้อน) จำนวน 51 ชุด เพื่อนำข้อมูลจาก Smart Meter ที่ติดตั้งในสายป้อนเดียวกันมาคำนวณเพื่อเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการความสูญเสียในระบบไฟฟ้า
3. Outage Management System
โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง ประชาชนต้องแจ้งปัญหา เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์และเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และทำให้ผู้ใช้บริการต้องรอคอยเป็นเวลานาน แต่เมื่อมีระบบจัดการไฟฟ้าขัดข้องหรือ Outage Management System จะมีการวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบจ่ายไฟทั้งในสถานีไฟฟ้าและข้อมูลนอกสถานีไฟฟ้าจาก Smart Meter และสายไฟฟ้าแรงสูง ที่สามารถส่งข้อมูลกลับมาศูนย์ข้อมูลได้ทันที ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ช่วยร่นระยะเวลาการเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องให้สั้นลงได้ และยังสามารถระบุบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ทันที
4.Load Aggregator Management System
ตามกลไกการบริหารจัดการพลังงานมีเป้าหมายเพื่อลดความต้องการการใช้พลังงานสูงสุด Demand Response ของภาครัฐ อย่างเช่น กรณีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทำให้มีข้อจำกัดด้านการผลิตไฟฟ้า ระบบบริหารจัดการด้านผู้รวมรวบโหลด (ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละราย) จึงช่วยให้จัดการทั้งการใช้พลังงานและกลไกราคาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความยืดหยุ่นด้านการใช้พลังงานในระบบไฟฟ้าได้
5. ICT Integration
จาก 4 โครงการย่อยดังกล่าว จึงต้องมีการบูรณาการข้อมูลที่ครอบคลุมการทำงานทั้งหมด เปรียบเหมือนระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อการทำงาน ด้วยการใช้ Middleware Service เพื่อลดงบประมาณในการรับส่งข้อมูลและสื่อสารภายใน รวมทั้งรองรับระบบงานใหม่ในอนาคตที่จะช่วยให้การทำงานของ MEA ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ Smart Metro Grid ยังเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด Green Energy ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงานจากแสงอาทิตย์ อาทิ โซลาร์เซลล์ หรือ โซลาร์รูปท็อปอีกด้วย
โครงการ Smart Metro Grid จึงเป็นนวัตกรรมที่ MEA ได้นำเข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงบริการ ด้วยการวางโครงสร้างแบบบูรณาการ โดยมีผู้ใช้บริการหรือประชาชนทั่วไปเป็นศูนย์กลาง สู่เป้าหมายในการรองรับความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของทุกคนให้ได้รับบริการที่สะดวกสบายและง่ายขึ้นกว่าเดิมตามวิสัยทัศน์ “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร”