เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกันไปกันมาได้ยาก แต่พอพูดถึงคำว่า ‘การเปรียบเทียบ’ ขึ้นมา ใช่ว่าทุกอย่างจะมีแต่ด้านลบเสมอไป
เพราะหลายครั้งการเปรียบเทียบก็กลายเป็นพลังที่ผลักให้เรายิ่งพัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่หลายครั้ง การเปรียบเทียบก็กลับทำให้เราตั้งเป้าหมายที่ไปเบียดคนอื่นให้ร่วงหล่นเพราะคำพูดด้วยความไม่ได้ตั้งใจไปซะอย่างนั้น
เอาล่ะ อยากให้คูลดาวน์อารมณ์กันตรงนี้ ไม่ได้จะชวนทะเลาะเบาะแว้งใดๆ ทั้งสิ้น แต่กำลังชวนให้ทุกคนมอง ‘คนทุกคน’ ในฐานะมนุษย์ ที่เราไม่มีใครเก่งไปกว่าใคร เพราะศักยภาพต่างๆ นั้นพัฒนาได้ สำคัญคือโอกาสและเวลาที่ได้รับต่างหาก
เขาทำได้ แล้วทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้?
เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างอย่างง่ายคือประโยคคุ้นหูที่เราคงเคยได้ยินกันมาบ้าง
“ดูสิ เขายังทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้”
พูดอย่างนี้ขึ้นมา ฟังผ่านๆ หลายคนอาจจะฮึบ เอาวะ สู้ต่อ แต่บางครั้ง คนที่เป็นตัวอย่างให้เปรียบเทียบอาจจะไม่คิดอย่างนั้น เพราะมันอาจนำไปสู่ความคิดที่ว่า เฮ้ย ทำไมล่ะ ‘คนอย่างฉัน’ นี่มันเป็นยังไง ทำไม ‘คนอย่างฉันยังทำได้’ ที่พูดมานี่หมายความว่าฉันด้อยขนาดนี้แล้วยังทำได้ อย่างนั้นเหรอ? หลายครั้งเมื่อเห็นข่าวการประสบความสำเร็จของใครสักคน โดยเฉพาะเด็กยากจน คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือแม้แต่คนพิการ เรามักจะได้อ่านแคปชั่นประกอบการแชร์ข่าวสารหรือบทความนั้นๆ ประมาณว่า
“ขนาดตาบอดอย่างนั้นยังเรียนจบปริญญาได้เลย”
พูดอย่างนี้ขึ้นมาปุ๊บ ก็อยากชวนมาตั้งลมหายใจเข้าลมหายใจออกดั่งดอกไม้บานกันสักแป๊บ เพราะโดยไม่รู้ตัว เรากำลังใช้ ‘คนตาบอด’ ที่ว่า มาเป็นเครื่องเปรียบเทียบที่จะสื่อสารประมาณว่า ขนาดคนที่ “ตาบอด” / ยังสามารถ / เรียนจบปริญญา / ได้
แยกเป็นคำๆ แบบนี้แล้วเห็นภาพชัดขึ้นมาไหม? นั่นคือเรากำลังบอกว่า ผู้พิการทางการเห็นมีศักยภาพที่ด้อยกว่าเรา แต่ว่าเขาก็ยังอุตส่าห์และสามารถพากเพียรจนเรียนจบได้เลยนะเว้ย คิดอีกทีก็คือ เรากำลังบอกว่า คนที่ด้อยกว่าเรา (ซึ่งก็คือคนตาบอด) เขายังเรียนจบได้ แล้วทำไมคนปกติๆ อย่างเราจะเรียนจบไม่ได้แบบเขาล่ะ
ชื่นชมจากสิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็น และสิ่งที่เขาฝัน
จะคิดอย่างที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่ผิดอะไร เพราะถ้าหากพูดในมิติเชิงร่างกาย คนตาบอดกับคนที่ตามองเห็นดีก็มีความแตกต่างกันทางการมองเห็นจริงๆ อยู่ดี แต่ที่อยากชวนให้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วนคือ การชื่นชมหรือผลักดันใครสักคนนั้น ไม่ควรมาจากการกดผู้อื่นให้ดูด้อยกว่า แล้วยกตัวเองกลายๆ ว่าอภิสิทธิ์บางอย่างที่เรามีนั้นมันต้องทำให้เราเข้าถึงความสำเร็จได้ง่ายกว่าคนที่ด้อยกว่าสิ
ที่สำคัญคือ การชื่นชมใครสักคน ไม่ว่าจะผู้พิการทางการเห็นหรือว่าคนทั่วไปนั้น ไม่มากก็น้อยควรมาจากการมองเห็นศักยภาพและความสำเร็จในฐานะที่ ‘มนุษย์คนนั้นๆ’ ทำได้ ไม่ใช่ว่าเพราะเขาเค้นเอาความด้อยกว่ามาเป็นจุดผลักดันในการไปให้ถึงความสำเร็จนั้น เพราะมันเท่ากับการมองว่าเขาเป็นคนตาบอดที่ทำสำเร็จนะ แต่ไม่ได้มองว่าเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ไล่ตามฝันได้ไม่ต่างจากใครๆ
เธอ เขา เรา ฉัน เท่ากันทั้งหมดนี่แหละ
ใช่หรือไม่ว่า การใช้มาตรฐานที่ต่างกันในการตัดสิน ชื่นชม ยกย่อง หรือว่าเอามาถอดบทเรียนเป็นพลังในการดำเนินชีวิตของผู้คนหลายครั้งก็มาจากการเปรียบเทียบศักยภาพทางร่างกายที่ทำให้เราเปรียบอีกฝ่ายให้ด้อยกว่าโดยที่ไม่รู้ตัว
กับคนตาบอดก็เหมือนกัน พวกเขาไม่ได้ต้องการคำชมประเภทที่ว่า “ดูสิ คนตาบอดยังทำได้เลย” เพราะมันคือการบอกว่า คนตาบอดกับคนชมนั้นมันคนละชั้นกันชัดๆ นอกจากนั้นสิ่งที่คนตาบอดต้องการจริงๆ ก็ไม่ใช่ความชื่นชมที่เขาตาบอดแล้วมีลูกฮึดจนสามารถทำนู่นนั่นนี่สำเร็จได้ เพราะนั่นคือคำชมที่เคลือบไปด้วยความสงสาร แต่สิ่งที่คนตาบอดต้องการจริงๆ แล้วคือ ‘โอกาส’ และพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ และการได้ทำงานเหมือนอย่างคนทั่วไปก็เป็นหนึ่งในโอกาสของชีวิตแบบที่ว่ามานั้น
เพื่อให้ผู้พิการทางการเห็นได้ฝึกทักษะทางอาชีพ และได้เผยศักยภาพที่แท้จริงผ่านการทำงานออกมา มูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมบริจาค เพื่อสมทบทุนในการส่งเสริมอาชีพและทักษะแก่ผู้พิการทางการเห็น ภายใต้โครงการ ‘More Than Eyes can See 80 ปี มากกว่าที่เห็น’ ผ่านชื่อบัญชี มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เลขที่บัญชี 844-8-88488-0
เพราะหากไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาอาชีพ เราก็อาจจะต้องวนเวียนกับการเปรียบเทียบว่าคนตาบอดนั้นต้องใช้พลังมากกว่าคนธรรมดาแค่ไหนในการทำอะไรให้สำเร็จสักอย่าง
ทั้งที่จริงๆ แล้วเราทุกคนต่างทำได้ หากได้รับโอกาสที่จะเผยพลังนั้นออกมา