ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าชาติใด พูดภาษาใดก็ล้วนแต่ใฝ่ฝันถึงไม่ต่างกัน เป็นขั้นสูงสุดของความต้องการของมนุษย์ นั่นคือศักยภาพที่เรามีอยู่ และตัวตนที่เราเป็น ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคม
แต่หนทางไปสู่ความสำเร็จนั้นไม่ง่าย เพราะไม่มีสูตรมาตรฐานตายตัว ไม่มีลายแทงให้แกะรอย มีแต่จะต้องลงมือทำด้วยตัวเองเท่านั้นจึงจะรู้ว่าทางที่เดินผ่านมานั้นทอดยาวไปสู่ความสำเร็จจริงหรือไม่
ไม่ใช่เพียงความสามารถเท่านั้นที่จะทำให้ทุกคนไปถึงฝันได้ เพราะปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตนั้นล้วนเป็นตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงินของครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมา โครงสร้างทางสังคม และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความพร้อมของร่างกายสำหรับการเรียนรู้หรือการทำงาน หรือพูดอีกอย่างให้เห็นภาพว่า อาจจะเป็นร่างกายของเราเองนี่แหละที่เป็นข้อจำกัดที่ท้าทายที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่แม้จะยากก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้พิการทางการเห็นทั้ง 4 คนนี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้ว ว่าทุกความสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะด้วยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย
ปวินท์ เปี่ยมไทย เป็นคนหนึ่งที่ได้โอกาสในการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ “สมัยเด็กๆ ผมพอมองเห็นเลือนลาง จนเมื่อมองไม่เห็นก็คิดว่าชีวิตอาจจะทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว แต่เมื่อได้มาเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ บรรยากาศตอนเรียน เราอยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง ทุกคนรู้จักกันหมด ช่วยเหลือกันและกัน เข้าใจกันและกัน มีปัญหาก็จะช่วยกัน ทำการบ้านด้วยกัน การที่ผมก็ได้กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง ทำให้ได้พัฒนาความสามารถของตัวเอง ได้ไปศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาภายใต้โครงการเรียนร่วมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
ครูไอซ์-ดำเกิง มุ่งธัญญา เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยได้ราว 2 ปีแล้ว เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ในช่วงปี พ.ศ. 2548 และได้โอกาสไปเรียนร่วมที่โรงเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อด้วยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกภาษาอังกฤษ “การเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอด จะค่อนข้างสะดวกสบาย มีเอกสาร หนังสือ ทุกอย่างมีอักษรเบรลล์พร้อม เมื่อออกไปเรียนร่วมก็จะต่างออกไป สมัยเรียนชั้นมัธยมฯ เริ่มมี mp3 เข้ามาแล้ว แล้วก็สมัยนั้นจะใช้การอัดเสียงในห้องส่วนหนึ่ง แล้วก็จะมีครู resource คอยช่วยทำเอกสารต่างๆ เป็นอักษรเบรลล์ให้เรา พอมาเรียนระดับมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น จึงใช้วิธีการขอไฟล์ PowerPoint มาอ่านด้วยโปรแกรมอ่านจอภาพแทน”
พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพรุ่นเดียวกันกับครูไอซ์ แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
“นอกจากที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ จะมีหนังสือเบรลล์ที่เตรียมให้ครบทุกวิชาแล้วยังมีหลักสูตรที่ออกแบบมาให้โดยเฉพาะทั้งศิลปะ ดนตรี การร้องเพลงประสานเสียง กีฬา ทั้งด้านวิชาการ ร่างกาย จิตใจ ทางมูลนิธิฯ จะสนับสนุนอย่างครบถ้วน ช่วงมัธยมฯ ครู resource ซึ่งทางมูลนิธิฯ ส่งมาช่วยเหลือเด็กที่มาเรียนร่วมในแต่ละโรงเรียนนอกจากคอยดูแลเรื่องเอกสาร แล้วยังมาอ่านข้อสอบให้เราฟังด้วย”
พลอยสอบเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทจิตวิทยา ปัจจุบันมีผลงานหนังสือ 2 เล่มจัดพิมพ์กับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ชื่อ ‘จนกว่าเด็กปิดตาจะโต’ และ ‘ก. ไก่เดินทาง นิทานระบายสี’ หลังจากเรียนจบก็ได้เข้าทำงานที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อในตำแหน่งบรรณาธิการฝึกหัด ตอนนี้พลอยกำลังเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
“สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือความเข้าใจของคนที่มองเห็นและมองไม่เห็น เข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน หากไม่มีโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ไม่มีมูลนิธิฯ โอกาสในการเรียนของเราก็คงจะลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ตาบอดตั้งแต่กำเนิด จะได้รู้ว่าเราควรแต่งตัวยังไง กินข้าวยังไง ดูแลตัวเองยังไง ก็อาจจะต้องอาศัยเวลา พลอยกับเพื่อนๆ ก็จะใช้โอกาสของเรา มาส่งต่อโอกาสที่ได้รับมาให้รุ่นน้องต่อๆ ไป”
ป๊อป-พิสิฐ พฤกษ์สถาพร ทำงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลสำรวจสาธารณะอยู่ที่สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2539 และเรียนต่อในสาขาวิธีวิทยาการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ ระดับดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
“อุปสรรคในสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียน น่าจะเป็นเรื่องของสื่อการเรียน หนังสือ สมัยนั้นหนังสืออักษรเบรลล์ก็ยังไม่มี หลักๆ ที่เราใช้คือการอัดเทปในห้องเรียน ซึ่งสมัยนั้นเป็นเทปคาสเซตต์จริงๆ ไม่ใช่ไฟล์ mp3 อย่างทุกวันนี้ หนังสือปกติอาจจะต้องไปให้คุณครูช่วยทำอักษรเบรลล์ให้ หรือให้เพื่อนในห้องเรียนช่วยอ่านหนังสือเรียนอัดใส่เทปให้ ถ้าไม่มีโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ไม่มีมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ พวกผมคงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้”
มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นมูลนิธิฯ ที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2482 แนวทางการทำงานของมูลนิธิ คือการพัฒนาความรู้ความสามารถและประสบการณ์จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้พิการทางการเห็น รวมถึงสร้างความเข้าใจให้ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้พิการทางการเห็น ทั้งในแง่วิธีการปฏิบัติต่อกันไปจนถึงทัศนคติที่มีต่อผู้พิการทางการเห็น ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่ความเห็นใจ หรือความสงสาร แต่เป็นความเข้าใจในข้อจำกัดบางอย่าง และการสนับสนุนให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพในตัวเองออกมามากกว่า
เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงเกิดเป็นโครงการ Braille My Name ชวนให้คุณมาลองเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นอักษรเบรลล์ได้ง่ายๆ เพียงพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เพื่อส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ผ่านโซเชียลมีเดียที่เราต่างคุ้นเคยกันอยู่ทุกวัน แชร์ไปยังเพื่อนๆ คนรู้จัก เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจผู้พิการทางการเห็นมากขึ้น
หากสนใจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เพื่อนๆ ผู้พิการทางสายตาก้าวไปสู่ความสำเร็จในแบบของแต่ละคน สามารถร่วมสมทบความฝันให้แก่พวกเขาได้ที่ เลขที่บัญชี 884-8-88488-0 ชื่อบัญชี มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อโครงการ “MORE THAN EYES CAN SEE 80 ปี มากกว่าที่เห็น” บัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักพหลโยธิน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.morethaneyescansee.com/name.braille/play