ดอกไม้ประตูแจกันดินทรายต้นไม้ใหญ่ แก้วน้ำจานชามบันไดโคมไฟที่สวยงาม
ที่เกริ่นมาทั้งหมดนี้ ผู้อ่านส่วนมากน่าจะพอเห็นภาพความสวยงามของสรรพสิ่งที่มีอยู่บนโลกใบนี้ แล้วความสวยงามที่เล็กน้อยมหาศาลแบบนี้เนี่ย ได้พบได้เจอกันทั้งทีก็อยากจะแบ่งปันมันสู่โลกกว้างอย่างทั่วถึง แล้วมันก็ออกจะน่าเสียดายอยู่นิดๆ ที่เพื่อนของเราบางคนไม่อาจเห็นมันได้อย่างชัดเจนนัก มากไปกว่านั้น บางคนก็ไม่เคยเห็นสิ่งใดเลยจนจินตนาการไม่ออกว่า ดอกไม้ประตูแจกันนั่นมันมีรูปร่างสีสันอย่างไร
แต่ทุกอย่างที่ว่ามาทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวลอีกต่อไป โดราเอม่อนมีกระเป๋าวิเศษหยิบอุปกรณ์ทุกอย่างมาให้โนบิตะแก้ทุกอย่างในโลกฉันใด เทคโนโลยีหลากหลายในโลกก็พัฒนาจนผู้พิการทางการเห็นสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ฉันนั้น
อย่างกับว่าเราคือคนๆ เดียวกัน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าผู้พิการทางการเห็นอย่างธอมัส (Trevor Thomas) คือนักปีนเขามืออาชีพที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามการผจญภัยในทุกครั้งของเขาหลายพันคน! หลายคนคงนึกในใจ ขนาดคนตาดีแค่เดินบนทางเท้าเฉยๆ ยังต้องคอยระวังกับดักทางเท้ากันทุกขณะจิต แต่นี่ปีนเขานะเว้ย ปีนเขา! ทำได้ไง!
คำตอบคือนอกจากสุนัขนำทางที่แสนเก่งกาจแล้ว ฟังก์ชั่นในสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ที่เรียกว่า Accessibility Initiative นี่แหละ ที่ช่วยให้ผู้พิการทางการเห็นสามารถใช้ชีวิตได้ไม่แตกต่างจากคนตาดีทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นโลกออนไลน์สุดฮิตอย่างเฟซบุ๊กที่มีตัวช่วยให้คนตาบอดสามารถเล่นเฟซบุ๊กสตอรี่ แปลงเสียงพูดเป็นข้อความ หรือกระทั่งการ Live สดประสบการณ์ปีนเขาแบบเรียลไทม์ให้แฟนคลับรับชม ซึ่งนั่นทำให้นักปีนเขาอย่างธอมัสมีแรงกระตุ้นในการท่องโลกในแบบของเขา และทำให้เขารู้สึกมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เพราะว่าเจ้าเทคโนโลยีที่เอื้อให้ผู้พิการทางการเห็นต่างบอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้คนทั่วไปมองเห็นเนี่ยแหละ ที่ทำให้ธอมัสเห็นว่า โลกนี้เต็มไปด้วยกำลังใจและการซัพพอร์ตที่ดีต่อกันเสมอ
ไม่ใช่แค่นักปีนเขาอย่างธอมัส เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้ชีวิตแบบที่อยากทำอะไรก็ทำได้ด้วยตัวเองอย่างสบายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการหั่นผักที่คนตาดีบางทีก็หวาดเสียว เดินชอปปิ้งในห้าง ซื้อของตุนเข้าบ้าน ดูหนัง หรือเสพงานอาร์ตที่แกลอรี่สุดจ๊าบ! เอาเป็นว่าไลฟ์สไตล์ไหนๆ ก็ทำได้แบบแทบจะเหมือนคนทั่วไป ผ่านเครือข่ายผู้ช่วยคนตาบอดผ่านอินเทอร์เน็ต ประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ที่ฝึกฝนกันได้ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตทั้งในและนอกบ้านได้อย่างที่ใจปรารถนา
การงานพื้นฐานอาชีพ
แล้วไม่ใช่แค่ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตเท่านั้น เพราะด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังช่วยให้คนตาบอดสามารถประกอบอาชีพหลากหลายไม่แพ้คนตาดี ถึงตรงนี้จึงอยากชวนให้ทุกคนลบภาพการขายล็อตเตอรี่ทีต้องคู่กับคนตาบอดออกไป เพราะไม่ว่าจะเป็นคอลเซ็นเตอร์ ครู ครูสอนดนตรี นักเขียน ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ นักกีฬา นักวิชาการ หรือโปรแกรมเมอร์ล้ำๆ ไปเลยก็ทำได้หมด!
แม้ว่าตำแหน่งคอลเซ็นเตอร์จะดูเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิสูงมากกับการจดจ่อและตอบโต้กับบทสนทนาต่างๆ แต่โปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอ (Screen Reader) ที่ติดตั้งลงไปบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป ก็จะสามารถช่วยให้ผู้พิการทางการเห็นสามารถอ่านหรือพิมพ์ข้อมูลต่างๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอนี่ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการอ่านอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการพิมพ์ต้นฉบับลงคอมพิวเตอร์ จนเกิดเป็นงานเขียน หรืองานวิชาการ หรือว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์เจ๋งๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน ส่วนอาชีพการเป็นครูสอนหนังสือก็ไม่ได้อยากขนาดนั้น เพราะว่าคนตาบอดสามารถใช้หนังสือที่เป็นอักษรเบรลล์หรือไฟล์คอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมการสอน ส่วนเวลาสอนก็ล้ำไปอีกด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณจากสมาร์ทโฟนของผู้สอน ไปยังจอคอมพิวเตอร์ของห้องเรียน การสอนดนตรีนี่ง่ายกว่าเดิมอีก เพราะว่าผู้พิการทางการเห็นแค่ต้องขยันฝึกทักษะการจดจำระดับเสียงและการท่องโน้ตแทนการอ่านโน้ตขณะเล่นเครื่องดนตรีเท่านั้น ส่วนความพริ้วและลีลาการเล่นดนตรีนี่ สู้กันได้สบายๆ
แล้วงานที่ต้องใช้ทักษะและความปราณีตอย่างสูงอย่างงานช่างเฟอร์นิเจอร์ล่ะ บอกเลยว่าคนตาบอดก็ใช้อุปกรณ์ทำงานเหมือนช่างสายตาปกติทั่วไป เพียงแต่พวกเขาจะต้องฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน ฝึกการสัมผัสแบบจำลองหรือตัวอย่างงานจริง แล้วจากนั้นก็ถอดแบบออกมาประกอบปิ๊ง เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่คุณภาพงานดีไม่แพ้กัน นอกจากนั้น ไม่ต้องห่วงว่ากลุ่มคนพิการทางการเห็นจะเดินทางไปไหนลำบาก เพราะแค่มี Google Map อยู่กับตัว พวกเขาก็มีอิสระในทุกการเดินทางอย่างใจปรารถนา นั่นจึงเท่ากับว่า ผู้พิการทางการเห็นสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แบบสบายมากๆ ทั้งยังทำงานได้หลากหลายไม่ต่างจากคนทั่วไป
ขอมือเธอหน่อย ไว้คอยกระชับให้ชื่นใจ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คีย์เวิร์ดสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างโลดแล่นของคนตาบอดนั้นมาจากสองปัจจัยหลัก นั่นคือ เพื่อนซึ่งจะคอยทำหน้าที่เป็นตาที่สองที่ช่วยมองให้คนตาบอดเห็น และเทคโนโลยีที่พัฒนาด้วยความใส่ใจในชีวิตอันเต็มไปด้วยรายละเอียดของผู้พิการทางการเห็น
นั่นจึงทำให้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตนอกบ้านหรือในบ้าน กิน เที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ปีนเขา พายเรือ ล่องแก่ง หรือการทำงานที่ต้องการทักษะความสามารถ อย่างการเขียนโค้ด โปรแกรมเมอร์ ช่างเฟอร์นิเจอร์ วิชาการ นักกฎหมาย ครูสอนดนตรี งานปักผ้า จัดรายการวิทยุ หรือกระทั่งรับดูดวงผ่านเน็ต ก็เป็นงานที่คนตาบอดมีความสามารถและพร้อมที่จะทำงานทั้งหมดและอีกหลายๆ อย่างที่ว่ามา เพียงแต่พวกเขาต้องการได้รับ ‘โอกาส’ ในการเรียนรู้ทักษะและฝึกฝนสกิลในการทำงานนั้นๆ นั่นเอง
ว่ากันว่าในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดได้แล้ว ก็เห็นจะมีการงานนี่แหละที่ช่วยเติมเต็มและสร้างความหมายใหม่ๆ ให้กับชีวิตเราทุกคน แต่กิจกรรมสนุกๆ และการงานพื้นฐานอาชีพต่างๆ อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้พิการทางการเห็นไม่ได้รับ ‘โอกาส’ และการซัพพอร์ตในชีวิตผ่านนวัตกรรมต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงอยากขอแรงใจและการซัพพอร์ตจากทุกๆ คน เพื่อส่งต่อมือมากระชับกันให้อุ่นใจ และมอบโอกาสให้ผู้พิการทางการเห็นให้ได้ฝึกทักษะและทำงานที่จะช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต ผ่านการบริจาคเงินสนับสนุนภายใต้โครงการ ‘More Than Eyes can See 80 ปี มากกว่าที่ตาเห็น’ ได้ที่ ชื่อบัญชี มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เลขที่บัญชี 884-8-88488-0 เพื่อส่งเสริมด้านการศึกษาและฝึกอาชีพแก่ผู้พิการทางการเห็นที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
“เพราะการงานจะปกป้องเราจากทุกสิ่ง”
อุรุดา โควินท์ นักเขียนหญิงผู้ทำงานหนักท่านหนึ่ง กล่าวไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Fast Company – https://www.fastcompany.com/3052194/how-facebook-is-using-ai-to-help-bring-photos-to-life-for-the-blind?cid=search
Fast Company – https://www.fastcompany.com/3041054/the-app-that-lets-users-lend-their-eyes-and-blind-people-see-things-in-a-new-way?cid=search
Insider – https://www.insider.com/how-blind-people-do-everyday-tasks-2017-2