เมื่อเอ่ยถึง ‘ความบกพร่อง’ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับร่างกายหรือจิตใจ หลายคนอาจมองว่าคืออุปสรรคที่ทำให้ชีวิตไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้
ทว่าในขณะเดียวกัน หากใครได้รับชมการถ่ายทอดกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ซึ่งทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ อาจจะต้องลองคิดใหม่
วรวุฒิ แสงอำภา คือนักกีฬาบอคเซียทีมชาติไทย ที่เพิ่งคว้าเหรียญทองบอคเซีย ประเภทชายเดี่ยว พาราลิมปิกเกมส์ 2024 ได้เป็นครั้งแรก และ ชัยวัฒน์ รัตนะ นักกีฬาวีลแชร์เรสซิ่งทีมชาติไทย ที่เพิ่งคว้า 2 เหรียญ ทั้งเหรียญทอง ประเภท 100 เมตรชาย แถมยังทำลายสถิติโลกได้ รวมถึงได้เหรียญเงินประเภท 800 เมตรชาย พาราลิมปิกเกมส์ 2024 เป็นครั้งแรก เรียกว่าผลงานของทั้งสอง ทำให้เปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า ‘ความบกพร่อง’ ไปอย่างสิ้นเชิง
มาลองสำรวจเบื้องหลังความพยายาม ที่เปลี่ยนมุมมองต่อความบกพร่องกลายเป็นแรงผลักดัน รวมถึงโอกาสและแรงสนับสนุนเบื้องหลัง ที่ทำให้นักกีฬาทีมชาติไทยทั้งสองคนไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ
วรวุฒิ แสงอำภา
เหรียญทองบอคเซีย ชายเดี่ยว พาราลิมปิกเกมส์ 2024
เจมส์ – วรวุฒิ แสงอำภา เกิดมาปกติเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป แต่กว่าจะรู้ว่าร่างกายของตัวเองไม่ปกติก็ช่วงที่เข้าเรียนในโรงเรียนแล้ว “ตอนเกิดมา พ่อแม่ก็ยังไม่รู้ครับว่าเป็นพิการตั้งแต่กําเนิด คือเกิดมาก็เหมือนปกติทุกอย่าง เริ่มที่จะมารู้ว่าพิการคือพัฒนาการเริ่มผิดปกติ เริ่มไม่ตั้งไข่ แต่แม่ไม่ได้มองว่าเราพิการ ไม่ได้ทำเหมือนว่าลูกไม่ปกติ พยายามสอนทุกอย่างเหมือนคนปกติหมดเลย ไปเที่ยวไหนเขาก็พาไปหมด ทําให้ผมมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่ต้นเลย” เจมส์เริ่มต้นเล่าถึงการดูแลของแม่ที่ทำให้เขาไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองพิการ
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เจมส์ได้สัมผัสกับการเล่นกีฬาบอคเซีย เกิดจากการชักชวนของครูที่โรงเรียนที่กำลังหานักกีฬาไปแข่งขันกีฬาเยาวชน “ตอนนั้นคิดแค่ว่า อยากทําอะไรก็ได้ที่ยังไม่ต้องเข้าหอ เลิกเรียนมาแค่ไปเปลี่ยนชุด แล้วก็ขึ้นโรงยิม คิดแค่นั้นเลย ยังไม่คิดว่าเราจะต้องได้เหรียญหรือต้องประสบความสําเร็จเลย” จากจุดเริ่มต้นง่ายๆ ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ “จากที่ตอนเด็กๆ เล่นแบบไม่กดดันเลย พอระดับมันเริ่มใหญ่ขึ้น จากกีฬานักเรียนมาเป็นระดับจังหวัด กีฬาแห่งชาติ ความคิดเราก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว เป้าหมายตอนนั้น คือต้องไปพาราลิมปิกให้ได้”
แต่เส้นทางที่จะไปสู่การแข่งขันกีฬาคนพิการที่ใหญ่ที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เจมส์ต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ในหลายรายการ และที่สำคัญคือต้องปรับตัวกับการซ้อมอย่างหนัก “พอเข้ามาระบบทีมชาติชุดใหญ่ ต้องเปลี่ยนทุกอย่างเลย ต้องปรับท่าทาง ปรับวีลแชร์ จากที่เราแต่ก่อนเราเล่น เพราะว่าเรารู้แค่ว่าต้องทําอย่างนี้ๆ แต่คราวนี้เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่เลย ต้องแยกซ้อมอยู่ประมาณ 3 เดือน คือเจ็บไปหมดเลย เพราะช่วงท่าโยนผมจะไม่เหมือนคนอื่น ซ้อมแยกไม่เท่าไหร่ แต่เจ็บน่ะสิ ถึงเจ็บแต่คิดว่ามันสนุก ทําให้เราอยากเราอยากไปถึงจุดที่วางไว้ เรามีหน้าที่ซ้อม เพื่อที่จะไม่เป็นภาระของทีม”
ด้วยความตั้งใจของเจมส์ที่สูงเกินไป กลับกลายเป็นความกดดันที่กลับมาทำร้ายตัวเอง “พอจบจากพาราลิมปิกที่ริโอ อันดับโลกผมขึ้นไปมือหนึ่งของโลก ทำให้มาตรฐานของผมค่อนข้างสูง พอถึงเวลาที่ไปพาราลิมปิกที่โตเกียว ความกดดันมันก็ค่อนข้างเยอะตาม ความคิดตอนนั้นคือต้องได้ ทําให้เล่นออกมาแล้วมันไม่เหมือนที่เราคิดไว้ เล่นไม่ออกเลย สุดท้ายก็แพ้” เขาเล่าถึงความรู้สึก ณ เวลานั้น ที่กลายเป็นบทเรียนให้เขาได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง “ตอนแรกผมคิดว่าไม่เป็นไรหรอกกีฬาก็มีแพ้มีชนะ ไม่ได้เสียใจ แต่มันเสียดาย ผมร้องไห้ตั้งแต่แข่งเสร็จ ยันเขาแข่งเสร็จทั้งหมดกลับห้องก็ยังร้องอยู่ มันเลยทําให้ผมเปลี่ยนความคิดใหม่หมดเลย คืออย่าไปกดดันตัวเองเกินไป ถึงเราจะอยู่จุดสูงสุด ก็ไม่จําเป็นจะต้องชนะ ทําให้ระยะเวลาหลังจากโตเกียว 4 ปี จนถึงปารีส ผมซ้อมแบบสบายเลย ซ้อมมายังไงเราจะเล่นแบบนั้น”
หลังจากที่ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นและคลายความกดดัน ในแมตช์นัดชิงชนะเลิศ พาราลิมปิกที่ปารีส เจมส์ต้องโคจรมาพบกับนักกีฬาเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย “ผมเคยแข่งกับเขาหลายรอบแล้ว เคยแพ้เขาครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นมาก็ไม่แพ้เขาอีกเลย คือเรารู้แล้วว่าแบบไหนที่เขาไม่สามารถเล่นได้ เราพยายามเล่นให้มันเข้าทางเรา” แน่นอนว่าเขาได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการมาตลอด นั่นคือการได้เหรียญทองพาราลิมปิกมาคล้องคอเป็นครั้งแรก “คือมันโล่งหมดเลย ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทําให้ผมมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และมีความคิดที่แตกต่างจากเดิม”
กว่าที่เจมส์จะก้าวมาสู่ความสำเร็จสูงสุดในชีวิตนักกีฬาได้ เบื้องหลังคือทุกคนที่อยู่รอบตัว ครอบครัวที่สนับสนุน โดยเฉพาะโค้ชที่คอยกระตุ้นให้เขากลับมาสู้ ไม่ว่าจะแพ้อีกสักกี่ครั้งก็ตาม “ตอนที่ผมแพ้ที่โตเกียว ตั้งแต่ผมเล่นมาสิบกว่าปี ผมไม่เคยร้องไห้เลย แต่มีวันนั้น ผมร้องไห้ โค้ชก็บอกว่า ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ กูก็จะอยู่กับมึง” และอีกหนึ่งผู้ที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังคือองค์กรอย่าง โออาร์ ที่ให้โอกาสเขามาตั้งแต่แรกๆ
“ถ้าพูดถึง โออาร์ ผมอยากขอบคุณเขามากๆ ที่ให้ทุนสนับสนุน เพราะว่าการไปพาราลิมปิก ไม่ใช่ว่าใครจะไปก็ได้ ในแต่ละแมตช์ที่ไปใช้ทุนค่อนข้างสูง ต้องขอบคุณที่ทาง โออาร์ มาสนับสนุนผมและทางสมาคมฯ รวมถึงเงินอัดฉีดที่ทำให้ผมมีทุนไว้ใช้ชีวิตต่อในวันข้างหน้า แม้ในวันที่ผมเลิกเล่นกีฬาไปแล้ว ผมก็ไม่รู้จะขอบคุณยังไง นอกจากผลงานที่ผมทํา” เจมส์กล่าวด้วยรอยยิ้ม
และสุดท้าย แรงผลักดันและแรงสนับสนุนที่ทำให้เจมส์เดินทางมาจนถึงวันนี้ได้ จะเป็นใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง “ต้องขอบคุณตัวเองมากที่สู้ ที่ไม่ท้อ ไม่มองว่าตัวเองพิการ ไม่มองว่าตัวเองมีปมด้อย ผมอยากบอกให้คนพิการท่านอื่น อย่าอยู่แต่ในบ้าน คนพิการทุกคนมีความสามารถ ไม่อยากให้คิดว่าตัวเองเป็นคนพิการ ไม่อยากให้คิดว่าตัวเองเป็นภาระของสังคม อยากให้มองว่าตัวเองก็เป็นคนเหมือนกัน พยายามออกมาสู้ ออกมาใช้ชีวิตให้ได้มากที่สุด คุณอาจจะสนุกกับการใช้ชีวิตก็ได้”
“คนพิการทุกคนมีความสามารถ ไม่อยากให้คิดว่าตัวเองเป็นภาระของสังคม อยากให้มองว่าตัวเองก็เป็นคนเหมือนกัน พยายามออกมาสู้ ออกมาใช้ชีวิตให้ได้มากที่สุด”
วรวุฒิ แสงอำภา
ชัยวัฒน์ รัตนะ
เหรียญทองกรีฑา วีลแชร์เรสซิ่ง 100 เมตร และเหรียญเงินกรีฑา วีลแชร์เรสซิ่ง 800 เมตรชาย พาราลิมปิกเกมส์ 2024
บีม – ชัยวัฒน์ รัตนะ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก พ่อทำอาชีพเป็นช่างเชื่อมรับจ้าง ส่วนแม่ก็รับจ้างทำไม้กวาด และมีน้องสาวอีกหนึ่งคน “ทุกวันที่ไปโรงเรียน ก็จะมีสามล้อโยกคนพิการโยกไปโรงเรียน กลับมาบ้านตอนเย็นๆ ก็มาช่วยแม่ทำไม้กวาด พ่อแม่ก็เลี้ยงเหมือนเด็กทั่วไป แกก็ไม่ได้มองว่าผมพิการ ให้ทำงานบ้านเหมือนคนปกติเลย ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร ซนมาก เห็นเขาวิ่ง ก็วิ่งตามเขา ก็มีล้มบ้าง” บีมเริ่มต้นเล่าถึงความหลัง
“ตอนเด็กๆ ผมไม่ชอบกีฬาเลย ผมกลัวมาก ทางโรงเรียนจะผลักดันให้ผมไปตีวอลเลย์อยู่พักหนึ่ง เป็นวอลเลย์ยืน เราก็พิการ เวลาไปยืนตีกับเขา ก็ยืนไม่ไหว ก็เลยไม่เอาดีกว่า” บีมเล่าถึงความรู้สึกแรกๆ ที่ได้สัมผัสกับกีฬา ก่อนจะค้นพบกับจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาก้าวสู่วงการวีลแชร์เรสซิ่งแบบเต็มตัว “ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ากีฬาคนพิการมีกีฬาอะไรบ้าง พอได้มาเรียนที่โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ก็ได้เห็นกีฬาหลายๆ ชนิด แล้วผมก็ไปเจอกีฬาวีลแชร์เรสซิ่งอยู่ในโรงเรียน ผมก็เลยคิดว่า นี่ไงกีฬาที่เคยดูในทีวี ก็เลยลองเข้าไปศึกษา ลองไปเล่นดู ตอนแรกๆ ก็ฝึกอยู่นาน เพราะมันเป็นกีฬาเฉพาะบุคคล การตัดรถวีลแชร์เรสซิ่ง ต้องตัดให้พอดีกับสรีระของตัวนักกีฬาคนนั้นๆ ตอนนั้นก็เอารถของรุ่นพี่เก่าๆ ที่เขาไม่ได้ใช้แล้ว มาลองนั่งปั่นดู”
แม้ว่าบีมจะค้นพบกีฬาที่ชอบแล้ว แต่ปัญหาคือเรื่องของอุปกรณ์ รวมไปถึงค่าใช้จ่าย และภาระหน้าที่ที่เขาต้องช่วยที่บ้านทำงานอยู่ “พอจริงจังกับมันมากขึ้น ก็เริ่มรู้สึกเหนื่อย ก็มีบาดเจ็บบ้าง โดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์ที่เราไม่มี ต้องขอรุ่นพี่มาซ้อม แล้วก็มีโอกาสได้ไปเก็บตัวกับรุ่นพี่ที่โคราชเพื่อไปแข่งขัน จนได้เหรียญทองแดงแรก ทีนี้ก็มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเราไม่มีเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงเหมือนพี่ๆ เขา ทำให้ผมต้องเลิกเล่นไปพักหนึ่งประมาณ 2-3 ปี เพื่อที่จะไปช่วยพ่อทํางานที่บ้าน” บีมเผยถึงความรู้สึกเสียดาย
แต่แล้ว โอกาสก็เดินทางมาหาบีมอีกครั้ง เมื่อสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย ติดต่อให้เขาไปร่วมเก็บตัวทีมชาติ “ตอนนั้นคิดว่าเป็นโอกาสของผมแล้ว แต่ก็คิดอยู่นาน เพราะทางบ้านก็มีปัญหาทางการเงิน ก็ถ้าจะคิดจะออกมาเลย พ่อก็ต้องลำบากทํางานคนเดียว คิดอยู่เป็นปีก่อนที่จะตัดสินใจมาเก็บตัว” ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นของเขา ได้เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความสำเร็จในเวลาต่อมา แม้ว่าจะต้องพบเจออุปสรรคมากมายก็ตาม “ตอนปี 2019 มีการเก็บแรงค์เก็บคะแนนที่จะเข้าร่วมพาราลิมปิก ผมก็เก็บมาเรื่อยๆ จนได้ไปพาราลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ตอนนั้นซ้อมทุกวัน มีอาการบาดเจ็บตามสะบัก ตามแขน เหมือนเจ็บอยู่แล้ว ก็ยังต้องซ้อมอีก เราก็รู้สึกท้อ ผลงานพาราลิมปิกครั้งแรก ระยะ 100 เมตรอยู่ที่อันดับ 6 ส่วนระยะ 800 เมตร ก็อยู่อันดับที่ 10 ก็เสียใจ ไม่คุยกับใครวันหนึ่งเลย เก็บตัวเงียบ ผมคิดว่าครั้งนี้มันอาจจะไม่ใช่วันของเรา พูดกับตัวเองว่าอย่าไปท้อ เราต้องกลับไปทําให้ดีที่สุด ซ้อมให้หนักกว่านี้”
จากความผิดหวังในพาราลิมปิกครั้งแรก ทำให้บีมเก็บเป็นประสบการณ์หล่อหลอมให้ตัวเองแข็งแกร่งกว่าเดิม “จากตอนที่ผิดหวังที่โตเกียว ก็ขอทางสมาคมฯ ไปเก็บตัวกับรุ่นพี่ที่โคราช หลังจากนั้นก็ไปตระเวนแข่งที่อาเซียน อินโดนีเซีย ก็ได้เหรียญทอง 200 เมตร แล้วก็ปี 2023 ชิงแชมป์โลกที่ปารีส ก็ทําลายสถิติโลกระยะ 400 เมตร ก็ได้มา 2 เหรียญทอง ทำให้ได้ตั๋วมาพาราลิมปิก 2024 ที่ปารีส” บีมเล่าถึงเส้นทางก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเป็นครั้งแรกในชีวิต “ตอนแข่งก็คิดว่าต้องทําให้เหมือนตอนซ้อม ความรู้สึกก่อนที่จะออกตัว คือหัวใจจะเต้นเร็วมาก เราต้องคุมตรงนั้นให้ได้ ตาต้องมองล้อคู่ต่อสู้ แล้วก็เร่งให้ทันถึงล้อหน้าเขา พอเข้าเส้นชัยได้ก็โล่งอกมาก พูดอะไรไม่ออก ดีใจมาก”
ความสำเร็จจากการคว้าเหรียญทอง พร้อมกับทำลายสถิติโลกได้ ในระยะ 100 เมตร ยังไม่เท่ากับการที่บีมสามารถคว้าเหรียญเงินในระยะ 800 เมตรได้สำเร็จเป็นครั้งแรก “เหรียญเงิน 800 เมตร เป็นเหรียญที่ผมดีใจมากที่สุด ก็คือตั้งแต่เล่นมา ผมไม่เคยได้เหรียญ 800 เมตรเลย เพราะเป็นระยะที่ผมไม่ถนัด ถึงไม่ได้เหรียญทองแต่ก็ดีใจมากๆ เหมือนมันปลดล็อกตัวเองได้”
เบื้องหลังกว่าที่บีมจะก้าวมาสู่จุดนี้ได้ คือครอบครัวที่ตัดสินใจให้เขามาเก็บตัวฝึกซ้อมในครั้งนั้น จนประสบความสำเร็จในวันนี้ “พ่อแม่ให้กําลังใจมาตลอด เวลาเจ็บป่วย พ่อแม่ก็มาหา คําที่ได้ยินบ่อยๆ คือ สู้ๆ นะลูก อย่าไปเสียใจ วันไหนที่เหนื่อยท้อก็โทรไปหาพ่อกับแม่ขอกําลังใจได้” และอีกหนึ่งผู้สนับสนุนเบื้องหลังที่คอยผลักดันและมอบโอกาสคือ โออาร์ “ขอขอบคุณทาง โออาร์ ที่สนับสนุนสมาคมฯ สนับสนุนคนพิการ ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์การแข่งขันและการฝึกซ้อมที่มีราคาที่สูงมาก รวมถึงค่าอัดฉีดเงินรางวัล ทําให้หายเหนื่อย ทำให้ผมไม่ต้องกังวลกับครอบครัวมาก มีเงินส่งทางบ้าน ให้น้องได้เล่าเรียน” บีมกล่าวพร้อมกับรอยยิ้ม
การไม่ดูถูกตัวเอง คือสิ่งที่บีมยึดมั่นอยู่ในใจมาตลอด และเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เขาเดินทางไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬาอาชีพ “อยากบอกตัวเองว่า ลบคําสบประมาทได้แล้ว ที่เขาว่าเล่นกีฬาไม่ได้หรอก ครั้งนี้เราสามารถทําให้เขารู้ได้แล้วว่า แขนสั้นตัวเล็กอย่างผมก็ทําได้ อยากบอกคนพิการทุกคนว่า คนเรามีศักยภาพไม่เหมือนกัน คนพิการแบบเราก็มีศักยภาพ ผมว่าถ้าคุณลองออกมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ตั้งใจทําอะไรสักอย่าง เชื่อว่าจะประสบความสําเร็จได้เหมือนกัน”
“คนเรามีศักยภาพไม่เหมือนกัน คนพิการแบบเราก็มีศักยภาพ ถ้าลองออกมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ตั้งใจทําอะไรสักอย่าง เชื่อว่าจะประสบความสําเร็จได้เหมือนกัน”
ชัยวัฒน์ รัตนะ