สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ รวมทั้ง ‘ข้าราชการ’ ซึ่งเป็นบุคลากรของรัฐที่ปฏิบัติงานอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ก็สมควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
แต่ทว่าในปัจจุบัน ‘ข้าราชการ’ ต้องเผชิญกับความท้าทายจากข้อจำกัดในสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรคมะเร็ง รวมถึงการถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงยาบางรายการ โดยเฉพาะยานวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย การถูกจำกัดสิทธิอันเนื่องมาจากการตัดงบประมาณบางส่วน หรือการตีกรอบงบประมาณ ทำให้ทั้งข้าราชการปัจจุบันและข้าราชการบำนาญไม่สามารถเข้าถึงยานวัตกรรมได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการทบทวนการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในทุกสิทธิการรักษาพยาบาล รวมทั้งความคุ้มค่าต่อคุณภาพชีวิตและความสมดุลของการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐในระยะยาว
พลตรีหญิง พูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ จึงได้เสนอแนวทางการจัดการที่ต้องเปลี่ยนแปลงและเรียกร้องให้ข้าราชการทุกคนได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล และเข้าถึงยานวัตกรรมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน
สถานการณ์ของสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นอย่างไรในปัจจุบัน
“เมื่อเริ่มเข้ามารับราชการ เราได้รับทราบเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าตอบแทน และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลต่างๆ ตามสัญญาของหน่วยงานต้นสังกัดของเราตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา มีการปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการของข้าราชการ จากที่ครอบคลุมการดูแลการเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยรัฐบาลจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ยกเว้นค่าห้องและค่าอาหาร ซึ่งจะเป็นไปตามสิทธิของระดับขั้นตำแหน่งหรือชั้นยศ ซึ่งเรื่องนี้เรารับได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่มีมาแต่เดิม
แต่ต่อมาเมื่อข้าราชการเจ็บป่วยเข้ารับการรับการรักษาที่โรงพยาบาล จึงพบว่ามียาบางรายการที่ไม่ได้รับอนุมัติให้เบิกจ่ายเพื่อใช้ในการรักษาโรค ซึ่งบางครั้งไม่สามารถตอบโจทย์การรักษาตามที่แพทย์ตั้งใจได้ ทำให้ผู้ป่วยในสิทธิข้าราชการต้องตัดสินใจว่าจะใช้ยาและอุปกรณ์การรักษาเหล่านั้นหรือไม่ หากต้องการก็ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งแน่นอนย่อมสร้างภาระให้กับครอบครัวของข้าราชการ ตัวข้าราชการเองก็ขาดขวัญกำลังใจเพราะต้องวิตกกังวลกับเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุมเหมือนเดิม โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง” พลตรีหญิงพูลศรี เล่าถึงสิทธิฯ ของข้าราชการที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อพิจารณาความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนการให้สวัสดิการด้านสาธารณสุขกับข้าราชการ พบว่า “การปรับเปลี่ยนสิทธิในการเข้าถึงการรักษาไม่ได้สร้างผลกระทบต่อข้าราชการเองเท่านั้น แต่ยังได้สร้างผลกระทบต่อครอบครัวข้าราชการด้วย ถ้าลูกๆ ต้องมาพะวงเรื่องค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ เขาก็จะไม่มีกำลังใจทำงาน ดังนั้น การเพิ่มงบประมาณในด้านสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ การจำกัดหรือตัดสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการเพียงเพื่อต้องการประหยัดงบประมาณจึงไม่น่าจะเป็นการเหมาะสม รัฐบาลควรพิจารณาถึงประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย การกำหนดให้ยาตัวหนึ่งตัวใดอยู่ในบัญชีเบิกจ่ายได้นั้น ควรกำหนดให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษา
โดยแพทย์ผู้เป็นเจ้าของไข้ตามมาตรฐานการรักษา มากกว่างบประมาณ ปัจจุบันข้าราชการมีความกังวลมากขึ้น เมื่อพบว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการถูกจำกัดสิทธิในการเบิกจ่ายยานวัตกรรมที่ให้ผลการรักษาที่ดีกว่าแบบเดิม เนื่องจากยานวัตกรรมเหล่านั้นไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาที่อนุมัติ ” พลตรีหญิงพูลศรี กล่าวถึงผลกระทบในภาพรวม
โอกาสและความคุ้มค่าในการได้รับยานวัตกรรมเพื่อรักษาโรคร้ายแรง ที่จะทำให้คุณภาพ
ชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
จากผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น พลตรีหญิงพูลศรี ในฐานะนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ จึงได้พยายามผลักดันให้ข้าราชการได้รับสิทธิรักษาพยาบาลและเข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรมมากขึ้น ตามมาตรฐานการแพทย์ระดับสากล (International Clinical Guideline Protocols) โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยานวัตกรรมที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยย่อมเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานได้ ไม่ต้องขาดงานหรือได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาในรูปแบบเดิม
พลตรีหญิงพูลศรี กล่าวถึงความคุ้มค่าในการให้สิทธิเข้าถึงยานวัตกรรมไว้ว่า “ความคุ้มค่าต้องมองกันในหลายมิติ ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษา ค่าใช้จ่าย และด้านจิตวิทยา ถ้าคนไข้รู้ว่ายาตัวนี้ดีกว่าย่อมส่งผลดีต่อเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าคนไข้ไม่พร้อมจ่าย ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกยานวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงได้ มันก็ส่งผลต่อทั้งการรักษาและต่อจิตใจของเขา ดิฉันเห็นว่า หากความเห็นของแพทย์มองว่ายานวัตกรรมมีความจำเป็นสำหรับการรักษาโรคร้ายแรง การให้สิทธิเพื่อเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดก็เป็นการสร้างผลเชิงบวกต่อตัวข้าราชการและครอบครัว เป็นขวัญกำลังใจให้กับการทำงานหนักเสมอมา และทำให้ไม่รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง”
ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น หากได้รับการรักษาที่ดีและต่อเนื่อง เพราะการได้รับยาที่ดี และมีการรักษาที่ต่อเนื่องในระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่ เขาก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ เช่น เป็นอาจารย์สอนนักเรียนได้หลายรุ่น ดังนั้น ถามว่าคุ้มค่าไหม ก็คุ้ม เพราะแต่ละคนเมื่อมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวมได้ต่อไป ทางสมาคมฯ อยากจะเห็นข้าราชการทุกคนได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อจะได้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถประกอบอาชีพ และทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถ” พลตรีหญิงพูลศรี ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการรักษาด้วยยานวัตกรรม
แนวทางปฏิบัติและทางออกของการเรียกร้องสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
ทางออกสำคัญในการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการในการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่พลตรีหญิงพูลศรี นำเสนอ คือ
1) การจัดตั้งกองทุนสำหรับการรักษาโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในการรักษา โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยการร่วมจ่าย หรือ Co-payment ระหว่างรัฐโดยใช้เงินในกองทุนร่วมกับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ ยินดีให้ความร่วมมือและช่วยเหลือภาครัฐแบ่งเบาค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว นอกจากนี้การนำภาษีบางประเภทมาสนับสนุนกองทุน และการหาภาคีเครือข่ายสนับสนุนจากภาคประชาชน ก็เป็นแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำมาพิจารณาในการจัดตั้งกองทุน
2) การจัดสรรงบประมาณของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณด้านป้องกันและรักษาสุขภาพของประชาชน ให้อยู่ในลำดับต้นๆ เพราะประชาชนของประเทศใดมีสุขภาพที่ดี และเมื่อเจ็บป่วยมีระบบการรักษาและสาธารณสุขที่ดี ย่อมทำให้ประชาชนสามารถขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้แข็งแกร่งได้ ในทางตรงกันข้ามหากประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่ไม่ดี และไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดี หรือมีระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอ เพราะมีงบประมาณไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลให้ทั้งเศรษฐกิจและสังคมอ่อนแอเช่นกัน
3) ความชัดเจนในการกำกับดูแลการจัดทำบัญชีว่ายาและอุปกรณ์การแพทย์ใดควรจะเบิกได้หรือไม่ได้ โดยมีราชวิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาร่วมพิจารณาจัดทำอย่างเป็นระบบ และควรให้ราชวิทยาลัยแพทย์ที่รับผิดชอบเฉพาะทางพิจารณาข้อมูลทางการแพทย์ใหม่ๆ ร่วมกับการพิจารณาความคุ้มค่าให้กับผู้ป่วยแบบองค์รวมในทุกมิติ เพื่อเพิ่มเติมรายการในบัญชีเบิกจ่ายทำให้ผู้ป่วยเข้าถึง และเพื่อเป็นไปตามพันธสัญญาที่ได้ให้ไว้กับข้าราชการ โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษามากกว่าการพิจารณาจากงบประมาณที่ถูกจำกัดในการรักษา เพื่อให้แพทย์มีตัวเลือกในการรักษาว่าจะใช้ยาเก่าหรือใช้ยานวัตกรรมที่จำเป็นต่อการรักษาโรคร้ายแรงเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด
พลตรีหญิงพูลศรี ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หน่วยงานหลักที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้ คือกระทรวงสาธารณสุข และสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเห็นชอบ ว่าควรจะปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไรให้เป็นธรรมกับข้าราชการและประชาชน ทั้งนี้ทางสมาคมฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลาง แพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โรงพยาบาลรัฐ และภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิตวิจัยยา และผู้จำหน่าย รวมถึงผู้กระจายจัดส่งยา เพื่อร่วมกันรณรงค์และหาทางออกที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการสิทธิและสวัสดิการเพื่อการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
“หากทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะสามารถหาทางออกที่เหมาะสมและคุ้มค่าในทุกมิติ ที่สำคัญต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า คุณภาพชีวิตคนสำคัญไม่แพ้การเติบโตด้านเศรษฐกิจ เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน”