อยากขยับเข้าไปใกล้เธอ แต่ไกลได้แค่ไหนถึงจะเรียกว่าใกล้? หรือสถานการณ์ที่ต้องประจันหน้ากันตรงๆ อย่างงานไฮทัชหรือจับมือไอดอล ทางฝั่งเราก็ไม่เซลฟ์ กลัวมีกลิ่นปากหรือบางอย่างที่น้องไม่ประทับใจ แล้วระยะแค่ไหนถึงจะกำลังดี?
ไม่ต้องมัวคิดหรือกังวลไปก่อนเพราะคนที่สงสัยไม่ได้มีแค่คุณ งานวิจัยศึกษาถึงระยะห่างระหว่างบุคคลจึงเกิดขึ้นจนเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า Proxemics หรือการศึกษาระยะห่างส่วนบุคคล โดย Edward T. Hall นักมานุษยวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดนิยามนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1963 และยังคงมีประโยชน์มากมายทั้งในทางมานุษยวิทยาและการยศาสตร์เพื่องานออกแบบยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพอพูดถึงคำว่าระยะแล้ว แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ก็เป็นตัวแปรที่มีผลต่อความรู้สึกและการตอบสนอง ว่าจะรู้สึกดีสุดๆ จนอยากจะได้อยู่ใกล้กันอีกครั้ง หรือจะพังแล้วลองห่างกันสักพักดู
ระยะใกล้ชิดสนิทสนม ; Intimate Space
ใกล้ชิดติดตัวที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็นภาษากายและการสัมผัส หากวัดเป็นระยะก็อยู่ที่ระหว่าง 0-45 เซนติเมตร จนถึงระยะของการพูดแบบสนิทสนมต่อหน้าต่อตา ซึ่งการใกล้ชิดในระยะแบบนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างอุ่นใจเฉพาะสำหรับคนที่เราอนุญาตให้เข้ามาในอาณาเขตที่เรารู้สึกเป็นส่วนตัวได้ อย่างความอบอุ่นจากคนในครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก หรือจะมีบางเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องแตะเนื้อต้องตัวกันจริงๆ อย่างการเล่นกีฬา ตรวจร่างกาย งานไฮทัชหรืองานจับมือ ซึ่งมักเกิดขึ้นจากความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายก่อนตั้งแต่แรก
ระยะส่วนตัว ; Personal Space
ห่างออกมาอีกนิดแต่ก็เป็นระยะที่เรามักได้สัมผัสในชีวิตประจำวันกับคนรู้จักรอบตัวเป็นอย่างมาก นั่นก็คือระยะส่วนตัว หรือ Personal Space ซึ่งอยู่ที่ 45 เซนติเมตรถึง 1.2 เมตร หรือกะเอาง่ายๆ ก็คือระยะหนึ่งช่วงแขนเอื้อมถึง ระยะนี้นับเป็นอาณาเขตที่รู้สึกถึงความใกล้ชิด แต่ก็ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้ นั่นคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายยังสามารถตอบโต้ พูดคุยมองหน้า เอื้อมแตะกันได้อยู่ เทียบง่ายๆ ก็งานแฟนมีตที่ทำได้แค่มองตาแล้วยิ้มให้ ถึงจะเป็นแค่คนเกือบใกล้ แต่ก็ทำให้ใจสั่นได้เหมือนกัน
ถ้าอย่างนั้นแล้ว การดูแลรักษาตัวเองให้อยู่ในความประทับใจของคนรอบข้างอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเพื่อรักษาสัมพันธภาพเหล่านี้ให้ยาวนานต่อไปอีก และสร้างความมั่นใจให้กับตัวเราเองในการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมที่ต้องทำการพบปะแบบซึ่งๆ หน้า โดยเฉพาะในเรื่องทางกายภาพอย่างการรักษากลิ่นปากให้สะอาดอยู่เสมอ แต่งตัวแต่งหน้าให้ดูดี หรือฉีดน้ำหอมเพิ่มความประทับใจขึ้นมาอีกสเต็ป
ระยะสังคม ; Social Space
ลองคิดภาพเวลาเราเดินถนน เดินห้างท่ามกลางคนแปลกหน้า หรือซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ระยะเหล่านี้ที่ประมาณ 1.2-3.6 เมตร เป็นระยะใกล้สุดที่เรามอบให้กับเขาเหล่านี้ได้ ซี่งระยะของความสัมพันธ์นี้ยังส่งผลต่อการแสดงออกทางสังคมที่มักเป็นทางการขึ้นกว่าระยะส่วนตัว เพราะอยู่ภายใต้กรอบเงื่อนไขทางจิตวิทยาและมารยาททางสังคม
สำหรับคนรู้จักกันอย่างในห้องประชุมไซส์เล็ก ห้องเรียน หรือฮอลล์คอนเสิร์ต ก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวทางการแสดงออกที่มากกว่าในระยะส่วนตัวสักหน่อย อย่างการเปล่งเสียงให้ดังขึ้น หรือร้องเพลงก็ต้องใช้ไมค์ รวมทั้งภาษาคำพูดคำจาก็จะสุภาพขึ้นอีกระดับ แต่หากไม่รู้จักกัน ระยะเท่านี้ก็กำลังดีที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันได้ ถ้าเข้ามาใกล้มากกว่านี้แล้ว ก็จะเริ่มมีปฏิกิริยาการตอบสนองที่แตกต่างกันไป ง่ายๆ ก็ขยับตัวออกห่างอีกสักนิดให้พอสบายใจ
ระยะสาธารณะ ; Public Space
ห่างตั้งแต่ 3.6 เมตรขึ้นไปจัดเป็นระยะสาธารณะ คือเราอาจไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับฝั่งตรงข้ามเลยก็เป็นได้ คนที่ผ่านไปมาก็เป็นแค่คนที่เดินผ่าน ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจหรือมีธุระอะไรด้วย และในอีกกรณีคือมีความสัมพันธ์กับคนไกลบนพื้นที่สาธารณะ อย่างในห้องประชุมขนาดใหญ่ที่คนฟังมีหน้าที่แค่ฟังอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องโต้ตอบกับคนบนเวที หรือถ้าเป็นคอนเสิร์ต นี่ก็คือบัตรดอยที่แท้จริง ใช้ส่งหัวใจผ่านทางเสียงกรี๊ดและแท่งไฟก็พอ
สร้างความมั่นใจให้ตัวเองกับคนรอบข้างไว้คือเรื่องดีที่สุด
ไม่ว่าจะต้องพบเจอผู้คนหรือมีปฏิสัมพันธ์ในระยะไหน จะเป็นคนรู้ใจที่อยู่ตรงหน้า หรือเป็นอปป้าที่อยู่บนเวที สิ่งที่ทุกคนทำได้ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองเพื่อให้คนรอบข้างที่ต้องพบเจอหรือพานพบกันโดยบังเอิญรู้สึกอึดอัดใจ ง่ายที่สุดก็เริ่มจากกลิ่นปากของเรานี่แหละ โดยเฉพาะกับระยะส่วนตัว 45 เซนติเมตร สำหรับบางคนแล้ว ถึงจะเป็นคนสนิทกันก็ตาม การเอ่ยปากเตือนก็เป็นเรื่องยากเสมอ เพราะใจหนึ่งก็ไม่อยากหักหน้าเพื่อน แต่อีกใจก็ไม่อยากให้เพื่อนรักต้องไปสร้างความอึดอัดใจให้คนอื่นต่อ
ดังนั้นแล้ว การเริ่มต้นที่ตัวเราจึงเป็นเรื่องดีที่สุด ตัวเราเองก็มั่นใจแม้ในระยะ 45 เซนติเมตร คนรอบข้างก็คุยต่อได้ไม่ต้องมีเรื่องให้พะวง