คุณอาจจะเคยคิดเล่นๆว่า ถ้าเงินในบัญชีอาจอยู่ไม่ถึงสิ้นเดือน เราสามารถ “ขายไต” ได้ไหมนะ? แม้จะไม่มีใครยอมรับซื้อไตคุณอย่างถูกกฎหมาย (ยกเว้นจะให้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย) แต่เคยสำรวจหรือไม่ว่า “ไต” ของคุณยังสุขภาพดีอยู่รึเปล่า?
ไต (Kidney) เป็นอวัยวะมีหน้าที่สำคัญในร่างกาย ถ้าไตสูญเสียการทำงาน มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้อย่างปกติสุข แต่ดูเหมือนพวกเราจะโยนภาระทุกอย่างไว้กับไตเสมอจากวิถีชีวิตอันเร่งด่วนและไม่มีคุณภาพ ทุกคนทราบกันดีว่า ไตช่วยขับของเสียจากร่างกาย กำกับอิเล็กโทรไลต์ รักษาสมดุลภาวะกรด–เบส ควบคุมความดันเลือด ทำหน้าที่เป็นตัวกรองเลือดตามธรรมชาติ ไตรับหน้าที่สำคัญมากมายที่คุณอาจละเลย แต่น้อยคนจะห่วงใยไต จนกระทั่งโรคภัยถามหาในที่สุด
สถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคนไทยมีอัตราป่วยเป็นโรคไตติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน
“โรคไตเป็นโรคที่ใครๆ ก็กลัว แต่เรามักคิดว่า คงไม่เป็นหรอก พอคิดแบบนั้นเราไม่เคยตรวจเช็คร่างกาย ทำให้กว่าจะมาเจอหมอ ก็ระยะสุดท้ายแล้วทั้งนั้น ทำให้ยากต่อการรักษา”
พญ.ผ่องพรรณ ทานาค หรือ “หมอดาว” แพทย์สาวด้านอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต จากโรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ทำการเปลี่ยนไตมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558 – 2561) มีอัตราการผ่าตัดเปลี่ยนไตเพิ่มสูงขึ้นถึง 200% และมีอัตราความสำเร็จในการเปลี่ยนไตสูงถึง 85-90% ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานสากลระดับโลก จะมาช่วยไขวิกฤตโรคไตในคนไทย และเผยถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการรักษาโรคไตและการเปลี่ยนไตที่มีความพร้อมทางด้านบุคลากรและทีมงาน
ความแม่นยำในการรักษาของการแพทย์ไทย จะเปลี่ยนโรคไตที่น่าวิตกกังวลกลายมาเป็นโอกาสใหม่ของชีวิตอย่างไร
เกิดอะไรขึ้นจากสถิติล่าสุด คนไทยเป็นโรคไตมากติดอันดับที่ 3 ของอาเซียน
ถูกต้องค่ะ หมอคิดว่าด้วยความที่ไลฟ์สไตล์ทำให้เราเสี่ยงต่อโรคไตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารที่มีไขมันสูง รสหวานจัด เค็มจัด ทำให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แล้วท้ายที่สุดมักจะมาจบด้วยโรคไตเสมอ ทำให้สถิติคนไทยเป็นโรคไตในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น ด้วยความที่คนเราอายุยืนยาวมากขึ้น ยิ่งอายุเยอะ โรคก็ตามมาเยอะ โรคไตเหมือนสิ่งที่รองรับโรคทุกอย่าง ไม่ว่าจะป่วยตรงไหนของร่างกาย ก็มาเป็นโรคไตได้
รสนิยมของอาหารด้วยหรือไม่ ทราบว่าอาหารญี่ปุ่นและเกาหลีค่อนข้างเค็มกว่าอาหารบ้านเราถึง 50%
ใช่ค่ะ อาหารญี่ปุ่นและเกาหลีมีความเค็มสูง นอกจากนั้นเรายังนิยมอาหารแช่แข็ง หรืออาหารที่ผ่านการถนอมอาหารทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง เรียกว่าอาหารโซเดียมสูง ทำให้คนไข้มีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ไตวายตามมา ซึ่งความจริงแล้ว สาเหตุของไตวายในประเทศไทยประมาณ 70% มาจากเบาหวานร่วมกับความดันโลหิตสูง
มีสาเหตุของโรคไตที่นอกเหนือจากการทานอาหารด้วยหรือไม่
การพักผ่อนไม่พอ ไม่ออกกำลังกาย ความเครียดจากการใช้ชีวิต ที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องของยา โดยเฉพาะยาหม้อ ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน หรือแม้แต่อาหารเสริม สิ่งเหล่านี้มากับสื่อค่อนข้างเยอะ บางตัวมี อย. แต่ก็ยังต้องเช็คอีกว่า เป็น อย.ปลอมหรือไม่ พอทานไปแล้วจะกระทบกับไตและตับ
สำหรับคุณหมอคิดว่า ไตเป็นอวัยวะที่ถูกมองข้ามไหม
น่าน้อยใจอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่า “ถูกมองข้าม” ดีกว่าค่ะ ไตเป็นอวัยวะที่มักถูกกระทบจากอย่างอื่น โรคไตจริงๆ ที่เป็นตั้งต้นมาจากไตพบค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ถึง 70% มาจากเบาหวาน เป็นความดันมาก่อน โรคไตบางคนเรียกว่าเป็น “ภัยเงียบ” เพราะไตเป็นอวัยวะที่ค่อนข้างอดทน ถ้าไม่แย่จริงๆจะไม่ค่อยแสดงอาการออกมา จนถึงระยะท้ายๆ ถึงจะมีอาการบวมหรือซีด มีอาการของเสียค้าง รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน คนไข้มักมาหาเราในระยะท้ายๆแล้ว ถ้าไม่เคยตรวจร่างกายมาก่อนเลย
โรคไตทุกชนิดสามารถหายเป็นปกติจากการเปลี่ยนไตหรือไม่
ต้องขออธิบายก่อนว่าโรคไตแบ่งเป็น 2 กรณี คือ โรคไตชนิดเฉียบพลัน และโรคไตชนิดเรื้อรัง
ไตชนิดเฉียบพลันต้องรักษาที่ต้นเหตุ สามารถรักษาให้หายได้ คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่กรณีคือ ไตเรื้อรัง ที่เรารู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างที่หมอบอกว่า มาจากเบาหวาน ความดัน แล้วค่อยๆทำให้ไตเสื่อมมาเรื่อยๆ สุดท้ายไตฝ่อ ทำงานไม่ได้ จนถึงไตวายที่เรียกว่า ไตวายระยะสุดท้ายหรือระยะที่ 5 ในระยะนี้เราต้องหาอะไรมาทำงานทดแทนไต
โดยวิธีในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ คือ การฟอกไตทางเส้นเลือด การฟอกไตทางหน้าท้อง และสุดท้ายเป็นวิธีการปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) การปลูกถ่ายไตในปัจจุบันยังคงเป็นวิธีการรักษาคนไข้โรคไตที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 วิธีทั้งหมด เพราะว่าการฟอกไตไม่ว่าจะทางเส้นเลือดหรือทางหน้าท้อง มันคือการเอาอย่างอื่นมาทำงานทดแทนไต ซึ่งไม่สามารถทำงานทดแทนไตได้จริงทั้งหมด ของเสียบางชนิดอาจจะคั่งค้าง ทำให้คนไข้ในกลุ่มนี้มีภาวะโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีการปลูกถ่ายไตจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ได้
มีการศึกษาพบว่า การปลูกถ่ายไตช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ และทำให้คนไข้มีชีวิตยืนยาวได้มากกว่าวิธีอื่นๆ ซึ่งการปลูกถ่ายไตสามารถรักษาโรคไตวายระยะสุดท้ายได้แทบทุกชนิด
ถ้าผู้ป่วยต้องการที่จะเปลี่ยนไต อยากทราบว่าไตใหม่มีที่มาอย่างไร
อาจจะเคยได้ยินคนพูดกันขำๆ ว่าอยากได้กระเป๋าชาแนลให้ไปขายไตสักข้างดีไหม ต้องบอกว่าจริงๆ ไม่สามารถทำได้ ด้วยกฎหมายไทยไม่สามารถซื้อขายไตได้ ดังนั้น วิธีการที่จะได้รับไตของประเทศไทยนั้นมี 2 วิธี คือ ไตจากญาติ (Living related donor) โดยจะเป็นญาติสายตรง หรือญาติที่ยืนยันว่ามีความสัมพันธ์ได้ เป็นลูกพี่ลูกน้อง สามี-ภรรยาก็จะให้กันได้ เพราะถ้าเป็นไตญาติก็ไม่ต้องรอนาน หากเตรียมตัวทุกอย่างเรียบร้อย ประมาณหนึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนครึ่งก็ได้รับการผ่าตัดแล้ว
ตัวเลือกที่สองก็คือการปลูกถ่ายไตจาก “ผู้บริจาคที่เสียชีวิต” (Deceased Donor) เป็นไตจากผู้บริจาคสมองตาย ผ่านทางสภากาชาด ต้องย้ำว่าทางสภากาชาดทางเดียวเท่านั้น ไม่สามารถบริจาคแบบระบุจำเพาะโรงพยาบาลได้โดยตรง สภากาชาดจะเป็นคนจัดสรร แล้วส่งไปโรงพยาบาลทั่วประเทศตามคิว
ในกรณีผู้ป่วยที่ฟอกไตมาเป็นเวลานานถึง 20 ปี สามารถเข้ารับการเปลี่ยนไตได้ไหม
ทำได้ไม่มีปัญหา ระยะเวลาการฟอกไตนานๆ ไม่ได้เป็นข้อจำกัด ในต่างประเทศมีสถิติโลกเคยมีผู้ที่ฟอกไตนานสุด 38 ปี ก็สามารถปลูกถ่ายไตได้สำเร็จ เรามีเคสผู้ป่วยฟอกไตมานาน 20 กว่าปี เพียงแต่ว่า ถ้าฟอกไตนานๆ เทียบกับการเปลี่ยนไตตั้งแต่เริ่มแรกอันไหนดีกว่ากัน หมอคงต้องบอกว่า การเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มแรกดีกว่าอยู่แล้ว
เพราะถ้าเราฟอกไตไปนานๆ ร่างกายทุกอย่างจะเสื่อม เส้นเลือดแข็งตัว เจาะเลือดทีเส้นเลือดเปราะแตกง่าย หรือบางคนเอ็กซ์เรย์เจอแคลเซียมเกาะตามเส้นเลือด ซึ่งพวกนี้ยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งแย่ลง ภาวะโรคแทรกซ้อนจะเพิ่มมากขึ้น
พอพูดถึงโรคแทรกซ้อน มีกรณีที่คนไข้มีความวิตกกังวลต่อการปลูกถ่ายไตหรือไม่
การทำให้คนไข้เชื่อมั่น ต้องขึ้นอยู่กับว่าโรคแทรกซ้อนที่เขาเป็นอยู่คืออะไร ส่วนใหญ่คนไข้ที่นี่ค่อนข้างจะอายุเยอะ เกิน 60 ปีประมาณ 25% คนไข้มักมีภาวะแทรกซ้อนมากันก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน ร้ายกว่านั้นบางคนเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบมาก่อน หรือแม้แต่โรคหัวใจ เส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งโรคพวกนี้เราต้องมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาร่วมดูแล เราจะไม่ดูแลเองไว้คนเดียว จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การทำงานของเราราบรื่นและประสบความสำเร็จ เพราะถ้าเราปลูกถ่ายไตโดยที่ไม่ดูปัญหาพวกนี้เลย หากเกิดหัวใจวาย (heart attack) มีปัญหาเรื่องหัวใจขึ้นมาระหว่างผ่าตัด จะทำให้คนไข้แย่ลง การผ่าตัดไตจะไม่สำเร็จ
สิ่งที่ทำให้สำเร็จคือ มีทีมที่พร้อม มีทีมแพทย์เฉพาะทาง ถ้ามีโรคหัวใจอยู่ก่อนหรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีโรคหัวใจจะมีคุณหมอหัวใจเข้ามาประเมินก่อนว่า เสี่ยงในการผ่าตัดอย่างไรบ้าง มีการตรวจอย่างละเอียดก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตทุกครั้งเสมอ ดังนั้นจึงมั่นใจได้
หากผู้ที่มีอายุมากป่วยเป็นโรคไต สามารถผ่าตัดเปลี่ยนไตได้หรือไม่
ต้องบอกว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะไม่รับปลูกถ่ายไตกับคนไข้ที่อายุมากกว่า 60 ปี บางทีคนไข้มีโรคมาเป็นแพ็คเกจก่อนแล้ว ทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายในการปลูกถ่าย แต่ถ้าเราทำโดยทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีความพร้อมในการดูแล จึงไม่ใช่ข้อจำกัดของผู้ป่วยเลย
เราไม่อยากให้มองอายุเป็นข้อจำกัด ถ้าคนไข้แข็งแรงพอ เราก็สามารถทำการปลูกถ่ายไตได้ เขามีโอกาสที่จะกลับไปมีชีวิตที่ปกติแข็งแรง อยู่กับลูกหลาน แม้แต่ไปเที่ยวต่างประเทศหรือทำอะไรก็ตามที่อยากทำ ตัวเลขอายุ 60 มันยังไม่เยอะเลยนะในความคิดของหมอ เขายังมีโอกาสทำอะไรได้อีกเยอะ เห็นหลายๆ คนเป็นคนไข้ที่อายุ 70 ปีก็ยังทำงานได้ บางทีเขาเป็นบอร์ดบริหารหรือแม้แต่ทำงานดูแลลูกหลานก็ยังทำได้ ฉะนั้นหมอคิดว่าเลข 60 มันเร็วไปที่ไปตัดโอกาสให้เขาใช้ชีวิต แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของโรงพยาบาลด้วย ถ้าทีมไม่พร้อมจริงๆ มันอันตรายเหมือนกัน หรือถ้าเราทำไปโดยที่เราไม่มีประสบการณ์
มีเคสไหนที่คุณหมอทำแล้วประทับใจหรือท้าทายมาก
มีเคสเยอะมากที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เพราะ 1 ใน 4 ของเราคนไข้มีอายุเกิน 60 ปี กรณีที่ประทับใจมาก ทีมเราสามารถปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตมาแล้วรอบที่ 3 แล้วเราทำสำเร็จ
คนไข้รายนี้ ครั้งแรกได้ไตบริจาคจากพี่ ไตเขามีปัญหาเรื่องโรคเก่าแทรกซ้อนทำให้ต้องเสียไตแรกไป รอบที่ 2 เขาไปเปลี่ยนต่างประเทศแล้วกลับมาได้ประมาณ 10 กว่าปี ไตก็เสียอีกครั้ง พอมารอบที่ 3 เขาเองคิดว่าไม่สามารถจะทำการเปลี่ยนไตได้แล้ว จึงมาปรึกษาทีมแพทย์ เรายืนยันว่าทำได้ (จริงๆ การปลูกถ่ายไตในสถิติโลกทำได้ถึง 6 ครั้ง)
แต่เคสนี้ไม่ง่ายเลย เพราะว่าไตที่ปลูกถ่ายสองข้างนั้นมันเต็มแล้ว หน้าท้องเขาก็เต็ม เนื่องจากถูกวางไว้สองข้าง พื้นที่หรือจุดจะใส่ไตใหม่มันหาไม่ได้ ทางทีมคุยกันว่าจะทำยังไงดี จะเอาไตเก่าออก แล้วค่อยเอาไตใหม่ใส่เข้าไปดีไหม แต่ว่าพอตรวจดูแล้วไตเก่าพังผืดเยอะมาก เอาออกไปก็เอาไตใหม่วางไม่ได้อยู่ดี
มีตัวเลือกอีกหนึ่ง เป็นตัวเลือกที่เราไม่ได้ทำกันบ่อย คือวางไตที่ 3 ไว้ตรงกลางเหนือสะดือ เพราะสองข้างมีไตจองไว้หมดแล้ว แต่มีข้อจำกัดคือท่อไตจะต้องยาวเป็นพิเศษ เพราะมันอยู่ไกล เราสามารถทำได้สำเร็จ ตอนนี้ 1 ปีผ่านไปคนไข้ก็ยังแข็งแรงดี ไตยังทำงานได้ดีอยู่ค่ะ
คุณหมออยากเห็นอะไรหลังจากที่คนไข้มารักษากับเราแล้วเขาออกไปใช้ชีวิตข้างนอก
หมออยากเห็นแค่ว่าเขามีความสุข เห็นเขายิ้มแค่นั้นเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากทำ บางคนไปต่างประเทศถ่ายรูปกลับมาอวดว่าได้ไปมา ซึ่งมันเคยเป็นสิ่งที่เขามีข้อจำกัดมาตลอด
เมื่อเขาปลูกถ่ายไตแล้วมีโอกาสมีชีวิตใหม่อีกครั้ง จริงๆแล้วโรคไตมันไม่ใช่โรคที่สิ้นหวัง แต่บางคนจะคิดแบบนั้น เพราะไม่ได้รับข้อมูลมาก่อนว่าจริงๆ แล้วเขาสามารถปลูกถ่ายไตได้ สามารถหายกลับมาเป็นเหมือนคนปกติได้ ใช้ชีวิตปกติได้ บางคนฟอกไตไปเรื่อยๆ ก็ทรมานและเสียเวลา
สำหรับคนที่ไม่เป็นโรคไต ก็อยากให้ทราบว่า การบริจาคร่างกายหลังจากที่เราไม่มีโอกาสได้ใช้แล้ว อยากให้รณรงค์กันเยอะๆ ซึ่งตอนนี้กาชาดเขารณรงค์เพิ่มขึ้น ไตมียอดผู้บริจาคเพิ่มขึ้น แต่มันก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะคนไข้โรคไตมีเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างที่ทราบ และอัตราผู้บริจาคเพิ่มขึ้นก็มีอัตราที่ไม่ทันกัน ถ้ามีการบริจาคสม่ำเสมอ คนไข้ทั่วประเทศจะได้รับโอกาสดีๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
แล้วแบบนี้คนที่จะให้ไตกับญาติ ก็จะเหลือไตอยู่ข้างเดียว เขาก็สามารถมีชีวิตที่ดีได้หรือไม่
ใช่ค่ะ ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากยืนยัน ถ้าสมมติเราคิดจะบริจาคไตให้ญาติ ไตเรามีข้างเดียวจะเป็นอะไรไหม หมอจะให้ผู้บริจาคไตต้องเช็กร่างกายอย่างละเอียดก่อนว่ามีความพร้อม ไตสองข้างแข็งแรง เราจึงจะยินยอมให้เขาบริจาคได้ ถ้าเขามีโรคซ่อนอยู่ เช่น เบาหวานหรืออาจจะมีความดันโลหิตสูง มีลักษณะของเม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาจากปัสสาวะ เราจะแจ้งว่าเขาไม่ควรบริจาค เพราะคุณมีโอกาสที่จะมีไตวายในอนาคตหรือมีไตเสื่อมได้เช่นกัน
หากทุกอย่างเรียบร้อยดี เขาแข็งแรงดี ก็มีชีวิตปกติได้ไม่ต่างกับคนที่มี 2 ไต ในต่างประเทศมีการเก็บข้อมูลคนไข้เป็นหมื่นๆรายว่าไม่แตกต่างกัน หากผู้บริจาคไตมีไตดีตั้งแต่ต้น เขาจะไม่ได้รับปัญหาหลังจากบริจาคไตเลย เหมือนเราขับรถไม่มียางอะไหล่ หมอชอบบอกคนไข้แบบนี้ ถ้าเราไม่ไปเหยียบตะปู ไม่ไปขับบนถนนที่เสี่ยง ไตก็ทำงานของมันไปได้ต่อตลอดชีวิตเรา แต่ต้องระวังหน่อย
เมื่อถึงมือแพทย์จริงๆ แล้วการเปลี่ยนไตก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด
ไม่ได้น่ากลัวเลยหากอยู่ในมือทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ หากไปถามคนไข้ เขาจะบอกว่ามันไม่เจ็บเท่าที่คิด มันไม่น่ากลัวเท่าที่คิด คนไข้ส่วนใหญ่ออกจากห้องผ่าตัดสามารถจะพูดคุยกับเราได้เลย (เพียงแต่อาจจะง่วงจากยาสลบ) วันรุ่งขึ้นบางคนลุกขึ้นนั่งข้างเตียงได้ วันที่ 2 ลุกเดินกันได้สบายแล้ว เพียงแต่อาจจะมีตึงแผลนิดหน่อยเท่านั้นเอง
สำหรับคุณหมออยากจะฝากอะไรถึงคนทั่วไปที่ยังไม่ได้เป็นโรคไตอะไรบ้าง
การเริ่มต้นป้องกันดีกว่าตามมานั่งรักษา ฉะนั้นการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน อาหารหวาน มัน เค็มจัดให้หลีกเลี่ยง การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เครียด การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การตรวจสุขภาพประจำปี โรคไตเป็นเหมือนภัยเงียบ มันไม่ค่อยมีอาการ ฉะนั้นถ้าไม่มาตรวจบางคนไม่เจอ บางคนไม่รู้ อย่าไปกลัวว่ามาตรวจแล้วเจอโรค ไม่อยากหาหมอ สิ่งนี้มันอยู่ในร่างกายเราแล้ว ถ้าเราตรวจเจอตั้งแต่ตั้งต้น เราจะรักษาทัน สามารถชะลอความเสื่อมได้
ไตยังอยู่กับเราไปอีกนาน แต่ถ้าเราไม่รู้ แล้วปล่อยให้มันแย่ลงไปเรื่อยๆ ตอนนั้นเขาก็ถูกหามส่งโรงพยาบาลแล้ว เรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นเรื่องสำคัญ ต่อให้เราไม่มีโรคประจำตัวอะไรเลย ถ้าอายุเกิน 30-35 ปี หมอว่าควรไปตรวจได้แล้ว ปีละครั้ง
สถาบันเปลี่ยนไตโรงพยาบาลพระรามเก้า เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่เปลี่ยนไตมากที่สุดในประเทศไทย มีผลงานการเปลี่ยนไตมากกว่า 729 ราย ซึ่งอัตราความสำเร็จของการผ่าตัดเปลี่ยนไตของสถาบันฯ สูงถึง 85-90 % เทียบเท่ามาตรฐานสากล
อย่าทิ้งภาระชีวิตไว้ที่ “ไต” การแพทย์ยุคใหม่ทำให้การเปลี่ยนไตไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
“โรคไตเป็นโรคที่ใครๆ ก็กลัว แต่เรามักคิดว่า คงไม่เป็นหรอก พอคิดแบบนั้นเราไม่เคยตรวจเช็คร่างกาย ทำให้กว่าจะมาเจอหมอ ก็ระยะสุดท้ายแล้วทั้งนั้น ทำให้ยากต่อการรักษา”.คุณอาจจะเคยคิดเล่นๆว่า ถ้าเงินในบัญชีอาจอยู่ไม่ถึงสิ้นเดือน เราสามารถ “ขายไต” ได้ไหมนะ? แม้จะไม่มีใครยอมรับซื้อไตคุณอย่างถูกกฎหมาย (ยกเว้นจะให้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย) แต่เคยสำรวจหรือไม่ว่า “ไต” ของคุณยังสุขภาพดีอยู่รึเปล่า? .ไต (Kidney) เป็นอวัยวะมีหน้าที่สำคัญในร่างกาย ถ้าไตสูญเสียการทำงาน มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้อย่างปกติสุข แต่ดูเหมือนพวกเราจะโยนภาระทุกอย่างไว้กับไตเสมอจากวิถีชีวิตอันเร่งด่วนและไม่มีคุณภาพ ทุกคนทราบกันดีว่า ไตช่วยขับของเสียจากร่างกาย กำกับอิเล็กโทรไลต์ รักษาสมดุลภาวะกรด–เบส ควบคุมความดันเลือด ทำหน้าที่เป็นตัวกรองเลือดตามธรรมชาติ ไตรับหน้าที่สำคัญมากมายที่คุณอาจละเลย แต่น้อยคนจะห่วงใยไต จนกระทั่งโรคภัยถามหาในที่สุดสถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคนไทยมีอัตราป่วยเป็นโรคไตติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน .พญ.ผ่องพรรณ ทานาค หรือ “หมอดาว” แพทย์สาวด้านอายุรแพทย์โรคไต จากโรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ทำการเปลี่ยนไตมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558 – 2561) มีอัตราการผ่าตัดเปลี่ยนไตเพิ่มสูงขึ้นถึง 200% และมีอัตราความสำเร็จในการเปลี่ยนไตสูงถึง 85-90% ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานสากลระดับโลก จะมาช่วยไขวิกฤตโรคไตในคนไทย และเผยถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการรักษาโรคไตและการเปลี่ยนไตที่มีความพร้อมทางด้านบุคลากรและทีมงาน ความแม่นยำในการรักษาของการแพทย์ไทย จะเปลี่ยนโรคไตที่น่าวิตกกังวลกลายมาเป็นโอกาสใหม่ของชีวิตอย่างไร .อ่าบบทความต่อได้ที่ https://thematter.co/sponsor/praram9-hospital/52111.#TheMATTERxPraram9Hospital #Praram9Hospital #Kidney #Advertorial #ไตใหม่ชีวิตใหม่
Posted by The MATTER on Thursday, May 31, 2018
รู้จักสถาบันเปลี่ยนไตพระรามเก้า ให้มากขึ้นที่ http://bit.ly/kidney-praram9
ติดตามความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโรคไตได้ที่เพจ “ไตใหม่ ชีวิตใหม่” http://bit.ly/facebook-kidney-newlife
Content by Thanet Ratanakul
Illustration by Pantawan Siripatpuwado