“ป่วยเมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ”
อาจเป็นวิธีคิดที่หลายคนคุ้นเคย แต่ด้วยเทรนด์สุขภาพของผู้คนในยุคนี้ที่เปลี่ยนไป ทำให้การเดินทางไปโรงพยาบาลอาจไม่ใช่ไปเพื่อทำการรักษาอาการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียวแล้ว
นั่นจึงทำให้ภาพรวมของตลาดธุรกิจโรงพยาบาลทุกวันนี้มุ่งเน้นเรื่องของ Preventive หรือการป้องกันก่อนการเกิดโรคมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวแน่นอนว่าทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพถูกกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วยอย่างเทียบกันไม่ติด
The MATTER ได้พูดคุยกับ นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า ถึงแนวคิด ‘Professional Healthcare Community ใส่ใจสุขภาพ ดูแลด้วยมืออาชีพ’ ที่เปลี่ยนให้เรื่องของสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีได้ พร้อมทั้งเป็นตัวกลางในการส่งเสริมสุขภาพ โดยที่ไม่ต้องป่วยก็มาโรงพยาบาลได้
มองภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลทุกวันนี้เป็นอย่างไร
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมในประเทศไทยภาพรวมจะเกิดการชะลอตัว แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งผมมองว่าดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก มีการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้ในการให้บริการและรักษาผู้ป่วย ถ้าย้อนไปสมัยก่อน รุ่นผมคนอายุ 50 นี่ถือว่าแก่แล้ว เดี๋ยวนี้อายุ 70-80 ยังแข็งแรงอยู่ เพราะเทรนด์เรื่องการดูแลตัวเอง และมีวิทยาการใหม่ๆ ในการดูแล แต่ก็จะมีโรคที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ โรคไลฟ์สไตล์ต่างๆ ซึ่งยังมี demand ในเรื่องนี้เยอะ
ในแง่ของคนไข้มีความต้องการบริการเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนจากอดีตถึงปัจจุบัน
มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จะเห็นได้ว่าจากเดิมผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล จะมาด้วยอาการเจ็บป่วย โดยเราแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ยังไม่ป่วย ป่วย ป่วยหนัก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว ผมว่าคนทั่วไปเดี๋ยวนี้ก็มีความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น อยากจะทำให้ตัวเองอายุยืนขึ้น อยู่นานขึ้น แข็งแรงขึ้น ซึ่งการที่คนอายุยืนขึ้นโอกาสที่เขาจะเป็นโรคหรือไม่สบายก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยจะมากขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ ผมว่ายังไงเรื่องของ Healthcare ก็ยังมีความต้องการอยู่ เราจึงอยากเป็นตัวกลางในการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ป่วยก็มาโรงพยาบาลได้ เพราะอยากมาหาความรู้ มาตรวจหาความเสี่ยงและลดโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลพระรามเก้า ถือว่าตอบสนองสิ่งที่คนไข้ยุคใหม่ต้องการได้อย่างไร
รูปแบบเราคงไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปจาก core value ของเราที่มีมาแต่เดิม คือการรักษาโรคซับซ้อน โรคหนักๆ ทั้งหลายโดยแพทย์ที่มีชื่อเสียง นอกจากนั้นการที่ยุคนี้คนทั่วไปเริ่มมีความใส่ใจในเรื่อง Healthcare มากขึ้น เราก็ทำให้คนเข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่เป็นโรค แต่ต้องการป้องกันโรค หรือฟื้นฟูให้เขากลับไปสู่สภาพเดิมก่อนที่จะเป็นโรค อย่างเช่นคนที่นั่งทำงาน ปวดหลัง ปวดไหล่ เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มนักกีฬา มีการทำให้สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น เราก็มีความเชี่ยวชาญ
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการรุกตลาด Preventive ว่าสำคัญต่อธุรกิจโรงพยาบาลอย่างไร
เพราะเราไม่ต้องการอยากเห็นแค่คนที่ป่วยแล้วมาโรงพยาบาล แต่เราต้องการให้คนที่ไม่ป่วยก็สามารถมาโรงพยาบาลได้ ทุกคนสามารถมาหาความเสี่ยงของตัวเราได้ เพื่อป้องกัน ควบคุมโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพในชีวิตประจำวันของผู้รับบริการในทุกช่วงอายุให้ดียิ่งขึ้น ตาม keyword ที่โรงพยาบาลมุ่งเน้น คือ ตรวจหา รักษา และการป้องกัน ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของคนไข้นั้นถูกลง คือเราป้องกันก่อนที่จะเป็นโรค หรือพอเราเป็นโรคเราก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายหนักมาก คือเป็นเทรนด์ที่คนไข้ต้องการมาก
อยากให้อธิบายถึงแนวคิด ‘Professional Healthcare Community ใส่ใจสุขภาพ ดูแลด้วยมืออาชีพ’
สิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารออกไปก็คือคอมมูนิตี้ของคนที่เป็นโรคต่างๆ เช่น คนที่เป็นโรคหัวใจ คนที่เป็นโรคไต คนที่เป็นโรคไขข้อ หรือคอมมูนิตี้ของคนที่ท้อง คือโรคแต่ละโรคก็จะมีคอมมูนิตี้ของตัวเอง แม้กระทั่งคนที่ยังไม่เป็นโรค เราก็สามารถดูแลทุกคอมมูนิตี้ทั้งหมดนี้ได้ ที่โดยใช้บุคลากรมืออาชีพ มีความ professional บุคลากรนี้ไม่ใช่หมอเก่งอย่างเดียว พยาบาลก็เก่งด้วย คนเจาะเลือดต้องเก่ง คนสั่งยาต้องเก่ง ทุกอย่างต้องไปด้วยกันหมด คอมพิวเตอร์ต้องถูกต้อง คือเรามี professional ทุกด้านเพื่อดูแล เราต้องการเป็นศูนย์รวมเพื่อสุขภาพและการใช้ชีวิต ที่พร้อมมอบบริการบำรุงรักษาสุขภาพในแบบมืออาชีพแก่คนทุกวัย ทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจของโรงพยาบาล
อาคารใหม่ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Co-Healthy Space ไม่ต้องป่วยก็มาได้’ มีที่มาอย่างไร
เพราะเราไม่ได้ต้องการให้โรงพยาบาลเป็นเพียงแค่สถานที่รองรับผู้ป่วยอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นสถานที่ที่ตอบสนองความต้องการทั้งในแง่การใช้ชีวิตและสุขภาพได้ ทำให้มีแนวคิด Co-Healthy Space ไม่ต้องป่วยก็มาได้ คนที่มาโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องเจ็บป่วย แต่สามารถมารับความรู้ได้ คือเรามีหน่วย checkup ที่เป็น one stop service มีฟิตเนสแบบ professional มี Ice Lab ที่นักกีฬาอาชีพใช้กัน เพื่อลดการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ ตอนนี้ในเมืองไทยก็มีแค่เครื่องสองเครื่องเท่านั้น
ส่วนศูนย์ Pain and wellness center รูปแบบบริการเป็นอย่างไร
เป็นการรวมสหวิชาชีพเพื่อรักษาอาการปวดทุกระดับอย่างครบวงจร โดยรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขาวิชามาอยู่รวมกัน อย่างเช่น นักกายภาพ จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาเข้าถึงคนไข้มากที่สุด ซึ่งการให้บริการเราแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. คนทำงาน (Work hard) คนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม 2. นักกีฬามืออาชีพ (Play hard) นักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุจากการแข่งขัน เรามีความเชี่ยวชาญ สามารถดูแลรักษาให้สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ดีเหมือนเดิม 3. ผู้สูงอายุ (Live hard) กลุ่มนี้อาจมีปัญหากระดูกเสื่อม กระดูกทับเส้น เราสามารถดูแล ให้คำแนะนำ จนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 4. ผู้ป่วยหนัก เช่น Cancer (Die hard) ซึ่งเป็นหนึ่งโรคที่มีอาการเจ็บปวด และทรมานจากอาการเจ็บป่วย แต่โรงพยาบาลของเรามีการบริการที่ตอบโจทย์ ทำให้คนไข้อยู่กับมะเร็งได้ เราต้องการให้กลุ่มนี้สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ปกติ เช่น ออกไปเที่ยวได้ นอกจากนี้หากคนไข้ต้องมีการผ่าตัด ทำ MRI หรือ เป็นโรคซับซ้อน เช่น ไต หัวใจ เบาหวาน เราสามารถส่งต่อคนไข้ไปยังศูนย์การแพทย์เฉพาะทางแบบไม่มีรอยต่อหรือความยุ่งยากเลย เพราะทุกอย่างอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน
การขยายเครือข่ายพันธมิตรของโรงพยาบาล จะช่วยส่งเสริมการบริการได้ในรูปแบบไหน
การที่เราเป็น stand alone ข้อดีคือเราสามารถควบคุมคุณภาพการรักษาทั้งหมดได้ เราสามารถเปลี่ยนไตได้ แต่ข้อเสียคือเราไม่สามารถจะครอบคลุมพื้นที่ได้ไกล ฉะนั้นพันธมิตรที่เราจะมองก็คือมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือโรงพยาบาลพันธมิตรที่อยู่ทั่วประเทศไทย เหนือ ใต้ ออก ตก ที่เขาไม่มีบริการเหล่านี้ แต่เราทำได้ มีการร่วมมือกันส่งคนไข้มา เรารักษาเสร็จแล้วก็ส่งกลับไปให้เขารักษาต่อ แทนที่จะต้องไปเปิดโรงพยาบาลใหม่ เป็นการ win-win ทั้งคู่ ส่วนที่สอง คือการทำ Remote Healthcare ที่เรากำลังเริ่ม เราศึกษาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ รวมทั้งปัญหาที่ทำแล้วคนไข้จะได้ประโยชน์สูงสุดไหม ไม่ว่าคนไข้เก่าหรือคนไข้ใหม่ที่อยู่ต่างจังหวัดหรืออยู่ไกลๆ ก็สามารถจะคุยกับหมอได้ เรามี Command Center เป็นศูนย์กลางที่ช่วยให้คนไข้ไม่ได้แค่คุยกับหมออย่างเดียว แต่ถ้ามีปัญหาอะไร เช่น เจ็บแผล คนไข้ก็สามารถจะส่งข้อมูลผ่าน cloud มาที่เราได้ เราก็สามารถติดต่อหมอที่เกี่ยวข้องให้คำปรึกษา สั่งยา หรือทำการรักษาได้
มองว่าความเป็น Digital Hospital สำคัญอย่างไรต่อการบริการของโรงพยาบาลทุกวันนี้
ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามา จะทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการได้ง่ายและสะดวกขึ้น ถือเป็นการเพิ่ม productivity ในการดำเนินงานและบริการ ซึ่งความผิดพลาดจะน้อยกว่า เพราะว่าการรักษาพยาบาล ไม่ว่าการสั่งยา การสั่งเลือด ต้องไม่มีความผิดพลาด แม้จะเกิดขึ้นน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นมันก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นดิจิทัลก็จะมาแทนที่ความผิดพลาดจาก manual ได้ อีกประเด็นคือสามารถทำให้เกิด Remote Healthcare อยู่ที่ไหนก็สามารถรักษาได้เหมือนกับอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งขั้นตอนในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ต้องให้ได้ประโยชน์จริงๆ กับคนไข้ และไม่มีผลทางด้านกฎหมายด้วย อย่างเช่นการสั่งยาโดยหมอไม่ได้จับคนไข้ ทางแพทยสภาก็ไม่ยอม เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง อย่างเช่น คนไข้ได้เจอหมอและเคยตรวจกันแล้ว ครั้งต่อไปคนไข้ก็วัดความดันเอง จับชีพจรเอง แล้วส่งให้หมอดูทาง cloud ฉะนั้นก็เหมือนกับคนไข้ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่บ้าน คือเราพยายามจะดูแลการทำ Remote Healthcare ให้ปลอดภัยที่สุด
อะไรคือจุดเด่นด้านการแพทย์และบริการของโรงพยาบาลพระรามเก้าที่แตกต่างจากแห่งอื่น
ตั้งแต่เราเปิดโรงพยาบาลมา 27 ปี เราก็พยายามสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วงเวลานั้นเข้ามาใช้เสมอ ซึ่งไม่ใช่แค่ของใหม่ แต่ต้องเป็นของที่พิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์จริงๆ ยกตัวอย่างสมัยก่อนการอัลตร้าซาวด์ 3 มิติ เป็นรูปภาพกว้าง ยาว สูง ลึก 3 มิติ เราก็นำเอาอัลตร้าซาวด์ 4 มิติเข้ามาใช้ ก็คือจับเคลื่อนไหวได้ด้วยมาใช้ ซึ่งถ้าพูดเรื่องความต่าง ต้องบอกว่าทุกวันนี้ทุกโรงพยาบาลพัฒนาการบริการ เทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ทันสมัยแทบไม่ต่างกัน ความแตกต่างของเราคือความใส่ใจทุกในทุกรายละเอียดของคนไข้ เราใส่ใจชีวิตคนไข้อย่างสูงสุด มีความสามารถในการรักษาพยาบาลในทุกมิติ ด้วยบุคลากรและหมอมืออาชีพ และจุดเด่นอีกอย่างคือเรามีความเป็นธรรมในการคิดราคากับคนไข้ เพราะเราจะคิดเฉพาะที่จำเป็น เลือกที่จำเป็นต่อคนไข้จริงๆ นี่คือจุดแข็งของเราที่แตกต่าง
เทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กทุกวันนี้เป็นอย่างไร และโรงพยาบาลพระรามเก้าพัฒนาไปมากกว่าแค่ไหน
สมัยก่อน การผ่าตัดทั่วไปต้องตัดผ่านกล้ามเนื้อ ผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง พอเสร็จแล้วก็ต้องเย็บปิด ทำให้คนไข้เจ็บมาก แต่เทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กของเรา คือการผ่าตัดส่องกล้อง หรือการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ช่วยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง เพราะไม่ต้องผ่ากล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บแผล ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย แผลผ่าตัดเล็ก ลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อได้มากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยเซฟคนไข้ให้กลับไปทำงานได้เร็วขึ้นและไม่มีแผลเป็น ซึ่งเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการผ่าตัดแทบทุกจุดในการให้บริการ
ในอนาคตแผนการพัฒนาบริการของโรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นอย่างไร
ในระยะสั้น เรากำลังจะเปิดตึกใหม่ในเดือนมีนาคมนี้ ภายใต้แนวคิด Co-Healthy Space รองรับการขยายบริการและจำนวนผู้ใช้บริการ เหมือนกับเรามีอีกโรงพยาบาลหนึ่งเลย โดยจะเป็นศูนย์รวมทางการแพทย์ที่มีเครื่องมือทันสมัย ให้บริการทั้งด้านการดูแลสุขภาพ รักษาพยาบาล และบริการด้านไลฟ์สไตล์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เช่น ร้านค้าเพื่อสุขภาพและความงาม รวมทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ ส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ ตึกเก่าของเราจะมีการรีโนเวท ขยาย ICU และ CCU ให้รองรับการรักษามากขึ้น โดยเฉพาะโรคซับซ้อน เช่น ไต หัวใจ เบาหวาน และการผ่าตัดแผลเล็ก ส่วนในระยะยาว เรากำลังมุ่งพัฒนาการจัดเก็บข้อมูล (data management) รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการใช้งานที่รวดเร็ว ตอบรับการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ศึกษาแผนการบริการผ่าตัดแผลเล็ก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
จากโรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ที่ http://bit.ly/34KF7Pt