เรื่องลงทุนกับวัยรุ่นที่เพิ่งเข้าสู่โลกการทำงานมาหมาดๆ หรือ First Jobber ดูเป็นสิ่งที่ดูห่างไกล เพราะนอกจากประสบการณ์จะน้อยแล้ว ที่สำคัญคือเพิ่งจะหาเงินได้ด้วยตัวเองทั้งที ขอได้ใช้จ่ายแบบสบายใจก่อนจะเป็นไรไป พอใจเมื่อไรค่อยเริ่มเก็บเงินสร้างเนื้อสร้างตัวก็ยังไม่สาย
แต่หารู้ไม่ว่า การที่จะหันมาเก็บออมเงินหรือลงทุนอย่างจริงจังในภายหลังอย่างที่ตั้งใจไว้เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะด้วยอำนาจการใช้จ่ายที่เกินลิมิตจนหลายคนเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อยๆ จึงทำให้เหมือนเป็นการตัดโอกาสลงทุนไปโดยปริยาย เพราะต้องชำระหนี้ให้หมดก่อนนั่นเอง แถมยังต้องกลัวเสี่ยงกับการขาดทุนอีกด้วย แต่ถึงแม้โอกาสเรื่องการออมเงินและการลงทุนจะน้อยเพียงใด บรรดานายจ้างก็ยังช่วยเหลือพนักงานด้วยสวัสดิการดีๆ อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident Fund โดยการหักเงินสบทบเข้ากองทุนแบบอัตโนมัติ และยังมีการสบทบจากนายจ้างอีกด้วย เรียกว่ามีแต่ได้กับได้
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับ aomMONEY.com ได้ทำโพลสำรวจการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามพฤติกรรมและการออมเงิน พบว่า First Jobber หันมาเริ่มลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันเร็วขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า นี่แหละคือหนทางสร้างเงินล้านและสร้างความมั่นคงหลังวัยเกษียณได้อย่างเห็นผล แถมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ลองไปดูทริคง่ายๆ ในการใช้ Provident Fund เพื่อการลงทุนกันดีกว่า
ลุยก่อน ได้เปรียบ ยิ่งเริ่มต้นลงทุนไว ก็ยิ่งเห็นผลไว
ความเร็วในยุคนี้คือปัจจัยหลักของแทบทุกสิ่ง สำนวน ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ดูจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นลงทุนใน Provident Fund ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรก็ยิ่งสร้างผลตอบแทนได้ไวขึ้นเท่านั้น เพราะตัววัดผลของการสร้างผลลัพธ์จะสูงหรือต่ำอยู่ที่ระยะเวลาในการลงทุน ยิ่งเริ่มต้นช้าก็ยิ่งหมายความว่า เราได้ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไปแบบไม่ได้ประโยชน์อะไร ซึ่งการจะไปสู่เงินล้าน การลงทุนให้ยาวขึ้นทำให้เราสามารถออมเงินเพื่อลงทุนต่อเดือนน้อยลง หรือมีค่าเฉลี่ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับการเริ่มต้นช้า ยิ่งเริ่มต้นไวก็ยิ่งเห็นผลไว ของแบบนี้รอกันได้ที่ไหน
สมมติเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ อายุ 23 ปี เงินเดือนสตาร์ทที่ 15,000 บาท คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 6% มีการสะสมเงินในอัตราที่ 15% บวกกับนายจ้างให้อีก 5% และหากเราตั้งใจทำงานจนได้เงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้นปีละประมาณ 5% เราจะมีเงินล้านได้ในตอนที่อายุ 37 ปี และหากเรายังเก็บลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงวันเกษียณในวัย 60 ปี จะมีเงินเก็บถึง 8.6 ล้าน! ซึ่งการผลัดระยะเวลาเริ่มต้นช้าลงก็หมายถึงการร่นระยะเวลาในวันที่เราจับเงินล้านออกไปอีกนั่นเอง และหากยิ่งมีเงินเหลือไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อย่างกองทุนรวม LTF/RMF ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสไปสู่เงินล้านได้เร็วขึ้น
อยู่ให้นาน ใจให้นิ่ง อยู่ในกองทุนให้นานต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนได้ตามหวัง
อย่างที่บอกไปในหัวข้อที่แล้ว ว่าการยิ่งเริ่มต้นไวก็ยิ่งเห็นผลไว ซึ่งเริ่มไวอย่างเดียวไม่พอ ต้องรักษาระยะเวลาให้นานที่สุดด้วย เพราะการลงทุนระยะยาวแบบนี้จะช่วยลดความผันผวนลง ไม่ต่างอะไรกับการถือหุ้นไว้นานๆ ยิ่งลงทุนนานเท่าไร โอกาสขาดทุนก็ยิ่งลดลงตามไปด้วย ลดความเสี่ยงจากการขาดทุนในการลงทุนระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน การลงทุนระยะยาวจะช่วยเฉลี่ยผลตอบแทนให้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ยิ่งนานก็ยิ่งดี
การอยู่ในกองทุนให้นานต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยในเรื่องของภาษีแล้ว ยังช่วยให้ปลายทางของการมีเงินล้านมาถึงไวขึ้น อดเปรี้ยวไว้กินหวานน่าจะดีกว่า เรียกได้ว่าจะเป็นวัยรุ่นใจร้อนกับการลงทุนใน Provident Fund ไม่ได้เลย สำหรับใครที่เป็นชาวเจนวายชอบเปลี่ยนงานบ่อย รู้หรือไม่ว่า เราสามารถย้ายเงินจากกองทุนที่ทำงานเดิมไปที่ทำงานใหม่ได้ด้วย เพื่อให้เราได้ออมและลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ขาด รู้แล้วก็อย่าเหยียบไว้ บอกเพื่อนด้วย
มีเท่าไร ใส่อย่ายั้ง เพิ่มอัตราสะสมให้มากขึ้น สบายใจยันเกษียณ
จากผลของผลสำรวจของผู้ที่ร่วมการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,210 คน ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่จะเก็บสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ประมาณ 3-5% เท่านั้น ทั้งๆ ที่สามารถเลือกอัตราได้สูงสุดถึง 15% อาจเป็นเพราะนโยบายของบริษัทส่วนหนึ่งที่กำหนดขั้นต่ำไว้เท่านั้น แต่เชื่อว่าอีกส่วนหนึ่งกลัวว่าเงินเดือนอันน้อยนิดจะถูกหักไปจนหมด ขอแนะนำไว้เลยว่าถ้ามีโอกาสเลือกอัตราได้เต็มแม็กซ์แล้วล่ะก็ อย่าพลาดโอกาสนั้นเชียว เพราะยิ่งสะสมเงินใน Provident Fund สูงมากขึ้น ก็ยิ่งช่วยให้เรามีเงินเก็บออมมากขึ้น เหมือนเป็นการบังคับตัวเองไปในตัว
เมื่อเพิ่มอัตราให้สูงแล้ว ก็อย่าลืมว่านายจ้างเองก็สมทบเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งด้วย ยิ่งบริษัทไหนใจปล้ำสมทบให้สูง ก็ยิ่งเหมือนเป็นแรงจูงใจให้เราอยากอยู่ในกองทุนไปนานๆ ซึ่งส่วนใหญ่เงินสมทบจะเพิ่มขึ้นตามอายุการทำงาน ลองดูตัวเลขเล่นๆ สมมติเงินเดือน 15,000 บาท บริษัทสมทบให้ 10% หรือ 1,500 บาท พอครบปีก็จะได้เงินจากสมทบอยู่ 18,000 บาท บวกกับจำนวนเงินที่เราเพิ่มอัตราจนสูงสุด ผลตอบแทนระหว่างทางที่ได้ ปัดเป็นเลขกลมๆ ก็ทำให้เราใจชื้นไม่น้อย เกษียณไปก็ไม่น่าลำบากแน่นอน
เลือกดี ก็มีเฮ ปรับพอร์ตให้เหมาะสม สร้างอนาคตให้ลงตัว
คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า Provident Fund ที่เก็บออมอยู่ทุกเดือนนั้นสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้ หรือที่เรียกว่า Employee’s Choice โดยสามารถเลือกแผนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แบ่งสัดส่วนตามที่ต้องการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่รับได้ เช่นหากรับความเสี่ยงได้น้อยก็เลือกแผนลงทุนในหุ้น 20% อีก 80% จะลงทุนในตราสารหนี้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือคนรุ่นใหม่ที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีส่วนใหญ่มีการเลือกแผนลงทุนในหุ้นน้อย จากผลสำรวจในกลุ่มคนอายุ 20-29 ปีพบว่า มีการเลือกแผนลงทุนโดยแบ่งสัดส่วนหุ้นไม่เกิน 30% จำนวน 30.1% สัดส่วนหุ้น 30-60% จำนวน 32.4% และสัดส่วนหุ้นแบบเต็ม 60-100% จำนวนน้อยเพียงแค่ 13.3% ที่สำคัญคือไม่เลือกแบ่งสัดส่วนในหุ้นเลยจำนวนสูงถึง 24.3% ทั้งๆ ที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า เนื่องจากภาระยังน้อยอยู่
สิ่งที่ควรทำอย่างแรกเมื่อต้องการปรับพอร์ตคือการประเมินความเสี่ยงที่เรารับไหว พร้อมกันนั้นลองวางแผนเพื่อไปสู่ปลายทางหลังเกษียณในอนาคต ว่าต้องใช้เวลาเท่าไร ต้องเพิ่มเงินสะสมมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้ายังไม่มั่นใจในการประเมินของตัวเอง ทางบลจ. ที่เป็นผู้ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เขาจะมีแบบประเมินความเสี่ยงให้ได้ลองทำ คราวนี้ก็รู้กันไปเลย ว่าเราเหมาะกับพอร์ตสัดส่วนแบบไหน
รักไม่รัก ก็ต้องเสี่ยง รู้เท่าทันความเสี่ยง ลงทุนยังไงก็ไม่ต้องกลัว
ขึ้นชื่อว่าการลงทุนยังไงก็เสี่ยง โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น จึงควรศึกษาอย่างรู้เท่าทันเสียก่อน เมื่อเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วก็อย่าไปกลัว เพราะ Provident Fund เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งการลงทุนในหุ้นเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาวเช่นกัน จึงควรลองแบ่งสัดส่วนการลงทุนไปที่หุ้นบ้าง จากตัวอย่างผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ 2006 – 2015 ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย ผลตอบแทนที่รวมกำไรและเงินปันผลจากหุ้นจะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 10 – 12% ต่อปีเลยทีเดียว
วัยรุ่นอย่างเราๆ จึงควรพร้อมรับมือกับความเสี่ยง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะขาดทุน ยิ่งถ้าได้อยู่ในกองทุนแบบยาวๆ มาตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ ความเสี่ยงขาดทุนก็ยิ่งลดลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมติว่า เราต้องการเก็บเงิน 5 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุน 10,000 บาททุกเดือน หากได้ผลตอบแทนแค่ 3% จะต้องใช้เวลาถึง 324 เดือน หรือ 27 ปี แต่หากเราปรับสัดส่วนให้มีหุ้นในแผนการลงทุนมากขึ้น จนได้ผลตอบแทนที่ 5% จะใช้เวลาเพียงแค่ 270 เดือน หรือ 22 ปี เร็วกว่า 5 ปีเลยทีเดียว
แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งตาโตกับตัวเลขสูงๆ เพราะก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน การศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุนอย่างที่เขาย้ำๆ กัน จึงเป็นสิ่งที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาด