การเดินทางและการใช้ชีวิตประจำวันด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิทธิ์ของพวกเราทุกคน อย่างเช่นในหลายประเทศที่เจริญแล้ว การออกแบบพื้นที่สาธารณะและทางสัญจรคือสิ่งที่ทางภาครัฐให้ความสำคัญและคิดถึงการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นลำดับแรก
สังเกตง่ายๆ อย่างทางเดินเท้า ที่มีความกว้างพอดีให้สามารถเดินสวนกันได้สบาย ทางลาดกับความชันที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานวีลแชร์ สัญลักษณ์บนพื้นสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ใช้งานไม้เท้า หรือสัญญาณไฟสำหรับข้ามถนน ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันของเพื่อนร่วมทางพวกเราทุกคน
ยิ่งเรื่องเดินทางไกลยิ่งไม่ต้องพูดถึง ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ทุพพลภาพ กลายเป็นข้อจำกัดจนพาลทำให้พวกเขาไม่อยากออกไปไหนไกล ทั้งที่จริงแล้วน่าจะเป็นบทบาทของงานออกแบบสาธารณะมากกว่าที่ควรถูกจัดสรรเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระและมีความสุขอย่างทั่วถึงจากรายละเอียดแม้เพียงจุดเล็กน้อยเช่นนี้
ทั้งหมดนี้ คือไอเดียหลักของแนวความคิด ‘Friendly Design’ หรืออารยสถาปัตย์ งานออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรกับผู้คน ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อต้องการเติมเต็มความสุข ความห่วงใยให้กับทุกคนในสังคม
นิยามของ Friendly Design ที่สัมพันธ์กับทุกคน
‘Friendly Design’ หรืออารยสถาปัตย์ คือแนวคิดงานออกแบบพื้นที่ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมของผู้คนในสังคมเป็นหลัก ซึ่งทุกรายละเอียดจะถูกคิดและสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้คนทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ทุกรูปแบบการใช้ชีวิต สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และช่วยเหลือตัวเองได้ จนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน
สิ่งที่ดีไซน์จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกัน นั่นคือความงามที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง ซึ่งมาตรฐานในงานออกแบบจำเป็นจะต้องถูกคิดและคำนวณในรายละเอียดออกมาเป็นคู่มือมาตรฐานกลางที่สามารถใช้งานได้จริง ตั้งแต่ระยะก้าวเดิน ระยะเอื้อมจับ ระยะหมุนรถเข็น รวมไปถึงวัสดุที่เลือกใช้เพื่อรองรับความปลอดภัย การกำหนดอย่างเป็นมาตรฐานเช่นนี้ นอกจากจะส่งผลโดยตรงในเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานแล้ว ยังสร้างทัศนียภาพโดยรวมให้กับผู้คนในสังคมได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความเป็นสากล และสามารถสื่อสารว่าพื้นที่เป็นของทุกคนได้อย่างทั่วถึง
หัวใจหลักของงานออกแบบภายใต้แนวคิด Friendly Design
องค์ประกอบหลักของงานออกแบบ Friendly Design มีอยู่ทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่ ความเท่าเทียม ความยืดหยุ่น ความเรียบง่าย การรับรู้แบบเข้าใจง่าย ลดความเสี่ยงข้อผิดพลาด ใช้แรงน้อย รวมทั้งขนาดและพื้นที่เหมาะสม
จากข้อกำหนดทั้งหมดนี้ ถูกแปลความออกมาผ่านกระบวนการ Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของงานออกแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความต้องการใช้งานในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด ทั้งในเชิงฟังก์ชั่นการใช้งานที่คำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก และเชิงงานออกแบบที่จำเป็นต้องเลือกใช้งานวัสดุและสีสันที่สอดคล้องไปกับฟังก์ชั่นที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบันนวัตกรรมวัสดุสำหรับพื้นที่สาธารณะก็มีให้เลือกมากมายเพื่อตอบความต้องการงานออกแบบสำหรับสาธารณชน
ความงามในมุมมองของทัศนียภาพเมืองและฟังก์ชั่นสำหรับใช้งานของ Friendly Design จึงเรียกว่าเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่ผิดนัก
ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับ Friendly Design ทั้งส่วนผู้สร้างสรรค์และผู้ใช้งาน
ในส่วนของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับงาน Friendly Design เริ่มต้นจากที่โจทย์การใช้งานสำหรับสาธารณะ นักออกแบบจำเป็นต้องคิดถึงผู้ใช้งานเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้คนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ รวมถึงประชาชนทั่วไปทุกวัย ต้องสามารถใช้งานพื้นที่สาธารณะได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และสมบูรณ์แบบ
ผู้มีบทบาทสำคัญในงานออกแบบเพื่อตอบความต้องการใช้งานมากที่สุดนั่นก็คือ นักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร ที่จะใช้ทักษะและความรู้ในการออกแบบวางแผน รวมทั้งการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้พื้นที่สาธารณะตอบความต้องการสำหรับทุกคนในวงกว้างให้ได้มากที่สุด และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนงานให้เกิดขึ้นได้จริงและสนับสนุนให้มีการจัดสร้าง นั่นก็คือ ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องเห็นความสำคัญของความเท่าเทียมของผู้คน และเห็นความสำคัญของงานดีไซน์ เพื่อสนับสนุนให้นักออกแบบได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง
สังคมเดินหน้าได้ด้วย Friendly Design
มีวลีที่ว่า ‘งานดีไซน์เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า’ และนี่คือใจความสำคัญของงานออกแบบที่จำเป็นต้องรับใช้ผู้คนเพื่อสร้างความเสมอภาคในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและคุณภาพ แล้วประเทศก็จะสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยคุณภาพของผู้คนที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
เมื่อรวมองค์ประกอบในเรื่องงาน Friendly Design เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งทำให้เห็นว่าแนวคิดนี้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบจัดทำ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นเท่าเทียมกันทุกคน จึงเป็นหน้าที่สำคัญในเชิงนโยบายของประเทศ เพื่อกำหนดกรอบ แผนงาน และคู่มือมาตรฐานเพื่อให้สามารถจัดสร้างได้ทั่วประเทศได้ทั่วถึงเท่าเทียม ตอบกับแนวคิดงานออกแบบที่เกิดขึ้นสำหรับทุกคน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย โดยเฉพาะกับผู้พิการและผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ประเทศไทย กับงาน Friendly Design
เราเริ่มเห็นพื้นที่สาธารณะของเมืองไทยใช้ Friendly Design กับพื้นที่สัญจรและคมนาคม ยกตัวอย่างเช่น สถานีรถไฟฟ้าที่มีบริการลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ รวมทั้งการจัดสรรพื้นที่ภายในรถไฟสำหรับผู้ใช้งานวีลแชร์ ซึ่งประกอบด้วยราวจับ และบริเวณที่สามารถหมุนรถวีลแชร์ได้อย่างสะดวก หรือรถไฟไทยที่เปิดบริการตู้โดยสารพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ใช้วีลแชร์
และเมื่อคิดถึงการต้องออกเดินทางไกล “แวะปั๊มกัน!” คือคำพูดติดปากสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล พวกเราต่างก็มีปั๊มเป็นเพื่อนคู่ใจเสมอตลอดทริปการเดินทาง ทั้งทริปเพื่อนฝูง ทริปครอบครัว โดยเฉพาะที่มีผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีความต้องการพิเศษร่วมเดินทางด้วย นี่เองจึงเป็นนโยบายสำคัญของ พีทีที สเตชั่น สถานีบริการน้ำมัน ที่ต้องการให้ทุกพื้นที่ภายในสถานีตอบโจทย์ความต้องการใช้งานให้เกิดประโยชน์และคุณภาพสูงสุด ด้วยความใส่ใจและเข้าใจประชาชนทุกคน
ซึ่งหากเข้าไปใน พีทีที สเตชั่น ก็จะพบกับ “ที่จอดรถสำหรับสุภาพสตรีและที่จอดรถสำหรับผู้ทุพพลภาพ” ที่มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับวีลแชร์ และทางลาดสำหรับรถเข็นอยู่ตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางลาดจากที่จอดรถขึ้นทางเท้า หรือทางลาดเข้าร้านค้าต่างๆ รวมถึงมี “ทางเท้าให้เชื่อมโยงกันรอบปั๊ม” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคน ได้เข้าถึงจุดต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย
ลำดับถัดมาคือ ห้องน้ำ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคสำคัญลำดับแรกๆ ที่คนคิดถึงเมื่อต้องแวะที่ พีทีที สเตชั่น ซึ่งเขามี “ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และสตรีมีครรภ์” โดยให้พื้นที่ในห้องน้ำกว้างขวางเป็นพิเศษซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานวีลแชร์ พร้อมกับราวจับสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ และหากกังวลว่าคนที่เรารักต้องการความช่วยเหลือขณะใช้งานห้องน้ำ ใกล้มือก็จะมี “ปุ่มกดฉุกเฉิน” เพื่อความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่ง พร้อมกับ “กล้อง CCTV” ทั่วบริเวณปั๊มเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
แนวคิด Friendly Design จึงกลายมาเป็นคอนเซปต์หลักในการออกแบบ ตั้งแต่ป้ายสัญลักษณ์ที่บอกการใช้งานสำหรับทุกคนได้อย่างชัดเจน ไปจนถึงการออกแบบรายละเอียดจุดเล็กน้อยเพื่อตอบการใช้งานสูงสุดอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน
ซึ่งทาง พีทีที สเตชั่น ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน แต่ยังเป็นสถานีเติมเต็มความสุข ความห่วงใยให้ทุกคนตลอดทั้งวันและทุกวัน