‘รามเกียรติ์’ ในการรับรู้ของใครหลายคน อาจเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่อยู่ในหนังสือเรียน หรือในรูปแบบของโขนชั้นสูงที่หาชมได้เป็นวาระ เพราะฉะนั้นเรื่องราวในรามเกียรติ์ที่ได้ชื่อว่าดีงาม ทั้งด้านข้อคิดและคติธรรมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จึงไม่ได้รับการกล่าวถึงหรือปรากฏในสื่อเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น
ขณะเดียวกัน ผลงานจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่ปรากฏอยู่บนกำแพงรอบวัดพระแก้ว ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานอันทรงคุณค่าทั้งในเชิงศิลปะและเนื้อหา ที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้คงความสวยงามมาโดยตลอด
เมื่อปัจจัยทั้งสองอย่างผสานเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘รามาวตาร’ ที่ถอดจิตรกรรมฝาผนัง ให้ออกมาเคลื่อนไหวบนแผ่นฟิล์ม พร้อมทั้งพัฒนาเรื่องราวในบทให้มีชีวิตชีวาและสนุกสนานมากขึ้น สู่การเป็นรามเกียรติ์ในฐานะสื่อใหม่ ที่จะช่วยให้บทพระราชนิพนธ์ยังคงมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและสร้างความสนใจให้คนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
แก่นเรื่องที่ไม่มีวันล้าสมัย
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์มีเรื่องราวหลายช่วงหลายตอนที่ค่อนข้างยาว ไอเดียตั้งต้นแรกของภาพยนตร์รามาวตาร จึงจำเป็นต้องดูข้อจำกัดของความเป็นภาพยนตร์ที่จะสามารถเล่าเรื่องได้หมดภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โจทย์คือต้องเล่าเรื่องให้กระชับและเข้าใจง่ายที่สุด
รามเกียรติ์ คือการเล่าถึงเรื่องราวของเทพเจ้าที่อวตารลงมาเป็นมนุษย์ นั่นคือพระรามที่เป็นร่างอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ที่แบ่งภาคเป็นมนุษย์เพื่อลงมาปราบมาร แต่ไม่ว่าจะเป็นลิง ยักษ์ หรือเทวดา ต่างก็มีความรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนมนุษย์ทั่วไป ทีมงานผู้สร้างจึงได้มองเห็นตรงกันว่า แก่นของเรื่องคือ ‘ความลุ่มหลงมัวเมา ย่อมเป็นเหตุแห่งหายนะ ทั้งต่อตนเองและหมู่คณะ’ ซึ่งเป็นคติธรรมที่ไม่มีวันล้าสมัย
บทภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยอรรถรส
โดยในขั้นตอนของการแปลงบทพระราชนิพนธ์มาสู่บทภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ที่ปรึกษาของโปรเจกต์นี้ได้กล่าวไว้ว่า บทไม่ได้อ้างอิงจากบทพระราชนิพนธ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีการดัดแปลงโดยใส่มุมมองของความเป็นคนเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้เรื่องราวสามารถสื่อสารและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดูรุ่นใหม่ๆ ได้ โดยเนื้อเรื่องหลักๆ จะเล่าถึงการเดินทางของพระรามเพื่อรับตัวสีดา ที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปกักขังยังกรุงลงกา
ทีมงานเขียนบทจึงต้องศึกษา รีเสิร์ชข้อมูลอย่างหนัก รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านบทพระราชนิพนธ์ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจินตนาการได้ว่าเบื้องหลังของการกระทำของแต่ละตัวละครมีที่มาที่ไปอย่างไร มีความนึกคิดอย่างไรในเหตุการณ์ตอนนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในบทพระราชนิพนธ์ดั้งเดิม นับเป็นความท้าทายใหม่ที่ทีมงานเขียนบทสามารถทำออกมาได้เป็นอย่างดี
เปลี่ยนจิตรกรรมฝาผนังให้มีชีวิต
เมื่อได้แก่นของเรื่องที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการขยายจากบทประโยคสั้นๆ ให้ออกมาเป็นภาพเหตุการณ์หรือสตอรี่บอร์ดเพื่อให้ทีมงานทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน แล้วต้นฉบับของภาพเคลื่อนไหวทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงพระอุโบสถในวัดพระแก้วที่มีถึง 178 ห้องภาพและมีความยาวกว่า 2,000 เมตร ได้ถูกบันทึกด้วยเทคโนโลยีความละเอียดระดับ gigapixel ที่มีความละเอียดสูงมากๆ โดยเก็บทั้งภาพใหญ่เต็มทั้งผนัง และถ่ายเจาะภาพของตัวละครหลักๆ ในอิริยาบทต่างๆ อีกว่าพันภาพ
ก่อนจะนำภาพทั้งหมดมาไดคัทและรีทัชอย่างละเอียด แล้วนำมาใส่ซีจีและทำแอนิเมชันที่ใช้เทคนิค 2&half Dimensional เพิ่มมิติเรื่องแสงเงา การจัดวางองค์ประกอบภาพ การเคลื่อนกล้องที่ทำให้ภาพดูมีมิติ ความพิเศษคือการทำให้ภาพจิตรกรรมมีชีวิต โดยการถอดท่าทางการเคลื่อนไหวมาจากการแสดงโขนจริงๆ รวมถึงกิริยาบนใบหน้าของตัวละครที่สามารถสื่อสารอารมณ์ได้อย่างหมดจด หัวใจคือการคงเสน่ห์และความขลังที่จิตรกรรมฝาผนังให้อยู่อย่างครบถ้วน
ลองไปสัมผัส ‘รามาวตาร’ ที่เปลี่ยนให้รามเกียรติ์เกิดใหม่บนโลกของแอนิเมชั่นได้ในโรงภาพยนตร์ ติดตามรอบฉายได้ที่ https://facebook.com/ramaavatar.animation/