ท่ามกลางสถานการณ์ทั้งในบ้านเราและสังคมโลกทุกวันนี้ คงไม่ต้องบอกว่ากำลังเผชิญกับวิกฤตร้ายแรงในทุกๆ ด้านขนาดไหน จึงไม่แปลกที่ศาสนา จะถูกยกมาเป็นอีกทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านจิตใจของผู้คนอยู่เสมอ
แต่โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนไป กระแสของโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพล ทำให้ทุกอย่างถูกบิดเบือนไปจากความจริง กระทั่งหลักธรรมในศาสนาพุทธเองยังถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ แก่นของศาสนาที่แท้จริงจึงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนเข้าถึงได้ยากขึ้น
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ อุ๋ย บุดดาเบลส หรือ นที เอกวิจิตร ศิลปินหนุ่มที่มีบทบาทในการสร้างความเข้าใจให้กับสังคม ถึงแก่นของหลักธรรมในศาสนาพุทธผ่านบทเพลง และการแสดงความคิดเห็นประเด็นเรื่องศาสนาอย่างตรงไปตรงมา ถึงประเด็นเรื่องแก่นของศาสนาพุทธ ที่ต้องอาศัยการทดลองและศึกษาเพื่อค้นหาความจริง รวมไปถึงความสำคัญของงาน ‘เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา’ ซึ่งเป็นธรรมบรรยายประวัติและปฏิปทาพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา เพื่อดึงประชาชนและคนรุ่นใหม่ให้ใกล้ชิดศาสนาเพิ่มมากขึ้น และเป็นการสร้างสุขภาวะทางปัญญาให้เกิดขึ้นจริง
ส่วนตัวมองศาสนาพุทธบ้านเราทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
เท่าที่ผมมอง ก็จะโดนความคิดที่ผิดครอบอยู่ระดับหนึ่ง เพราะว่าเฟซบุ๊กมันก็จะจำกัดการมองเห็นเรา ให้เห็นเฉพาะเท่าที่เขาต้องการให้เรามองเห็น ทำให้ยังมีคนเข้าใจอะไรผิดๆ อยู่เยอะมาก อย่างเช่นการเอาเรื่องการเมืองการปกครองเข้ามาผสมเยอะ แต่เข้าใจได้เพราะว่าศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทำให้ศาสนาถูกบิดเบือนไปเยอะ
แล้วความเข้าใจผิดต่างๆ สาเหตุสำคัญเกิดจากอะไร
เกิดจากโซเชียลมีเดียที่เห็นได้ชัดที่สุด ต่างจากยุคก่อน เพราะยุคก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย เราจะไม่เคยเห็นเลยว่า Fake News ปั่นหัวคน ปั่นโลกได้ ทั้งเรื่องการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ อย่างมากเวลามีสงครามก็โยนใบปลิวมาจากเครื่องบิน ทุกวันนี้แค่ใช้ปลายนิ้ว ก็ปั่นหัวคนเปลี่ยนความคิดคนให้เชื่อในสิ่งนั้นเชื่อในสิ่งนี้ รุมเกลียดคนนั้นรุมเกลียดคนนี้ รุมด่าคนนั้นรุมด่าคนนี้ โซเชียลมีเดียผลักคนไปได้ทุกทิศทาง ซึ่งมันก็สร้างความโกลาหลให้กับสังคมได้อยู่เสมอ
เหมือนในยุคนี้ศาสนาจะมีประโยชน์ต่อเมื่อคนเป็นทุกข์หรือเปล่า
ผมเคยเจอคนทั้ง 2 ประเภท คือคนที่สนใจศาสนาโดยที่ยังไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่ามีคำถามขึ้นมาในชีวิตว่าเกิดมาทำไม ความหมายของชีวิตคืออะไร คนพวกนี้เขาไม่ได้มีความทุกข์ แต่เขาก็มาสนใจ กับคนที่ไม่มีคำถามลึกซึ้งอะไรแบบนั้น เขาก็จะรอวันที่มีความทุกข์ แล้วก็ไปแก้ทุกข์ด้วยการดูหนัง ฟังเพลง ทำอะไรก็แล้วแต่ทางโลก สุดท้ายแล้วธรรมะก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเขา
เหมือนเขามองศาสนาเป็นทางเลือกสุดท้ายใช่ไหม
ใช่ครับ ก็มีคนที่เป็นอย่างนั้น ผมก็ว่าเยอะเหมือนกัน สำหรับคนที่ไปลองทางอื่นแล้วรู้สึกว่าไม่ยั่งยืน หาทางออกไม่ได้ หรือบางคนที่ยังไม่ได้ไปทางนั้นเต็มตัว แต่ก็รู้สึกว่ามันก็มีทางนี้นะ ก็ลองดู อาจจะโดยบังเอิญไปอ่านข้อความในเฟซบุ๊ก หนังสือ หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วทำให้เขารู้สึกว่า เขาสบายใจขึ้น ทำให้เขาหันมาสู่ศาสนาก็มี แต่ถ้าถามผม คือมันเป็นอย่างนี้มาเป็นพันปีแล้ว เหมือนกับเรื่องขายประกัน คนไม่ป่วยไม่มีใครอยากซื้อครับ ถ้าไม่ใช่เพราะหักภาษีได้ เรื่องธรรมะเหมือนกัน คนที่มาสนใจเรื่องนี้คือคนที่ตอนนี้ยังไม่มีความทุกข์นะ คือเขาอยากหาเกราะป้องกัน อยากหาห่วงยางไว้เกาะในวันหนึ่งที่เขาจะจมน้ำ รู้สึกว่ามีอะไรที่เกาะได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เป็นไร รอวันจะจมก่อนค่อยหันมาหาห่วงยางเอาก็ได้ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลก
พอเป็นอย่างนั้นแล้ว ทำให้ธรรมะไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ หรือเปล่า คนจะเข้าถึงต่อเมื่อมีความทุกข์เท่านั้น
คือจริงๆ แล้ว ต่อให้มีธรรมะในชีวิตประจำวันทุกวัน ก็ยังมีทุกข์อยู่ดีนั่นแหละ แต่จะมากหรือน้อย ยาวหรือสั้นแค่นั้น มันช่วยได้ แต่ว่าถ้าเขาเห็นว่าเป็นที่พึ่งสุดท้าย ผมก็เชื่อว่า มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดนะ มนุษย์ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด ตัวเองก็ต้องไปลองทุกข์ เพื่อรู้ชีวิตเขาก่อน นั่นก็เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง จนวันหนึ่งเขามาเรียนรู้ธรรมะ แต่หลังจากเขาเรียนรู้ไปแล้ว เขาเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ ได้อย่างถูกต้อง ต่อไปเขาก็จะทุกข์สั้นลง ทุกข์น้อยลง ผมว่ากว่าที่เขาจะมาสนใจ เขาต้องทุกข์มาก่อน ก็จะเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน คือมันไม่ได้เลวร้ายครับ
คิดเห็นยังไง ที่คนรุ่นใหม่ๆ สนใจศาสนาน้อยมาก หรือเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย
มองว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ คือถ้าเรายังไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ เรายังไม่ต้องเชื่อก็ได้ แปลว่าคุณก็เป็นคนมีเหตุมีผล แต่ว่าถ้าบ้าเหตุบ้าผลจนเกินไป คืออย่างที่พุทธจะบอกว่าปัญญาคุณเสมอกับศรัทธา ถ้าคุณบ้าเหตุและผล เหมือนกับคนที่นั่งถกเถียงกันแต่ทฤษฎี แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติเลย คุณก็ได้แต่นั่งถกเถียงกันเรื่องทฤษฎีจนแก่ตายไป โดยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัติในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงต้องไปนั่งหลับตาหรือไปเดินจงกรมนะครับ หมายถึงการพิจารณาร่างกายและจิตใจตัวเองในวันที่คุณมีความทุกข์ หรือวันที่ไม่มีความทุกข์ก็แล้วแต่ คุณพิจารณาตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ คุณก็จะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนาพุทธได้เหมือนกัน
แต่ทุกวันนี้การไม่นับถือ นำไปสู่การตั้งคำถามเชิงลบหลู่ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไปอีกหรือเปล่า
ถ้าพวกคุณยังไม่นับถือเป็นเรื่องที่ดี หรือการตั้งคำถามก็เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่การตั้งคำถามมี 2 แบบ คือตั้งด้วยความอยากรู้จริงๆ กับการตั้งด้วยอารมณ์ที่ลบหลู่ คือถ้าไม่นับถือแล้วลบหลู่ แล้วต่อว่าเลย คุณก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาด้วย ถ้าเกิดคนที่เขามีศรัทธา เหมือนมีคนที่เขารักพ่อแม่ แล้วคุณไปด่าพ่อแม่เขา มันก็เป็นปกติที่จะต้องเกิดความขัดแย้งกัน จะมีคนไม่พอใจคุณ เพราะฉะนั้นต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่การค้นหาปัญญาที่แท้จริง เรียกว่ามีอัตตามากกว่า เหมือนพยายามเถียงเพื่อเอาชนะ คืออยากได้คำตอบที่ถูกกิเลส ไม่ได้อยากได้คำตอบที่มันเป็นความจริง จะเป็นอย่างนั้นเสียมากกว่า
ในการรับรู้ของคนทั่วโลกที่มองศาสนาพุทธ คือเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล มีหลักการรองรับ และเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในบ้านเราทำไมกลับไม่สามารถพิสูจน์ได้ขนาดนั้น
ผมเคยเจอพระต่างชาติและศิลปินชาวต่างชาติที่สนใจศาสนาพุทธมากๆ เพราะเขาหิว เขาจึงวิ่งเข้ามาหาถึงแก่นเลย เขามีความทุกข์ในชีวิต เลยอยากหาว่าจะทำยังไงให้ทุกข์น้อยลง แต่คนไทยเราถูกหล่อหลอมมากับพิธีกรรม ทำให้เราอยู่กับเปลือกมากกว่าแก่น แต่ก่อนผมเป็นพวกแอนตี้เปลือกมากๆ เลยนะ แต่ทุกวันนี้ผมไม่แอนตี้แล้ว เพราะผมอยู่อย่างเข้าใจ ในช่วงวัยเด็กผมโดนพ่อแม่ขัดเกลาเลี้ยงดูอยู่กับเปลือกของศาสนาพุทธ แต่วันหนึ่งผมก็เข้าไปถึงแก่นได้ ผมก็รู้สึกว่าเปลือกก็ทำหน้าที่ของเปลือก คนที่เขาอยู่กับเปลือกวันนี้ วันหน้าก็อาจจะเข้าไปถึงแก่นได้เหมือนกัน เวลาเห็นใครอยู่กับเปลือกก็จะบอกว่าจริงๆ มีแก่นอยู่ข้างในนะ ลองเข้าไปดูสิ
การบอกกล่าวหรือเตือน ควรจะเข้าไปด้วยท่าทีแบบไหน
ต้องดูว่าเราเตือนด้วยอารมณ์ หรือเตือนด้วยความเมตตา ท่าน ป. อ. ปยุตฺโต บอกว่า มันสำคัญอยู่ที่ว่าเราออกไปด้วยเจตนาแบบไหน ถ้าเจตนาไปเพื่อเอาชนะ มีอัตตาสูง เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องที่ดีที่ชาวพุทธควรจะทำ แต่ถ้าเราออกไปด้วยเจตนาดี อยากให้คนหมู่มากเข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง ว่าธรรมะสอนอะไร พระพุทธเจ้าสอนอะไร อันนั้นคือเรื่องที่ดี อยู่ที่ว่าเราออกไปในท่าทีแบบไหน ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องคาดหวังให้เขาเข้าใจสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่เราบังคับไม่ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านมองว่าบัวมีหลายเหล่า ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงทุกคนได้
มองว่าเป็นเรื่องของศรัทธาที่มากเกินไปหรือเปล่า ทำให้คนมองที่เปลือกมากกว่าแก่น
ผมรู้สึกว่าศรัทธาแรงกล้า เปรียบเป็นเหมือนรถที่เครื่องยนต์แรง แต่หันผิดทิศ ขาดปัญญาควบคุม เพราะฉะนั้นก็อาจพาไปผิดทางอย่างรุนแรงได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเขามีปัญญาประกอบ หันพวงมาลัยกลับมาถูกทิศ เขาอาจจะไปแรงถึงจุดหมายได้เร็วก็ได้ เพราะเขามีศรัทธาแรงกล้า เขาแค่ขาดปัญญาในการควบคุม ซึ่งปัญญาในที่นี้อาจจะเกิดขึ้นกับเขาวันไหนก็ได้ วันนี้เขาอาจจะไม่เชื่อ ไม่เข้าใจ แต่วันข้างหน้าเขาอาจจะเปลี่ยนความคิดได้ เพราะความคิดมนุษย์เราเปลี่ยนได้ทุกวัน
ระยะเวลาในการพิสูจน์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง
คิดว่าช่วงวัยมีผลตรงต่อการเรียนรู้ ต้องมีประสบการณ์ชีวิตกว่าจะเข้าใจ แล้วก็คำตอบที่ได้ ส่วนตัวผมก่อนหน้านี้ไม่เคยได้คำตอบแบบสมเหตุสมผลสำหรับผม อย่างที่บอกด้วยกิเลสด้วยในช่วงวัยรุ่นด้วย แต่พอโตมาเริ่มได้ฟังคำตอบหลากหลายมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าอย่างไหน make sense อันไหนตอบแบบที่เราเถียงไม่ได้ ซึ่งมันมีและก็สมเหตุสมผล ส่วนหนึ่งก็ไม่แน่ บางคนแค่โดนสะกิดด้วยบางอย่าง เขาก็เข้าใจได้ ตื่นได้ทันที ไม่เกี่ยวกับว่าสั่งสมมานานแล้วต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาได้ อย่างที่บอกคนเราในแต่ละวันมันมีเหตุการณ์ให้คิดได้หลายอย่าง บางคนเจอเหตุการณ์เดียวกัน มองเป็นลบ บางคนมองเป็นบทเรียน เป็นประโยชน์ในชีวิต ฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าใจของแต่ละคน มันบอกไม่ได้จริงๆ ว่าจะเข้าใจได้วันไหนหรือเมื่อไร
คิดว่าเรื่องของ ‘เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา’ สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตคนเราอย่างไร
ผมมองว่าเป็นการมองข้อดีของคน มนุษย์ส่วนใหญ่ชอบจับผิดคนอื่น แต่นี่คือการจับถูก มองข้อดีสุดๆ ของเขาแล้วนำมาศึกษา อย่างในมนุษย์เองก็จะมีนิสัยหลากหลาย ทุกคนมีข้อดีข้อเสีย บางคนที่เราเกลียดมากๆ เขาก็จะมีข้อดีบางอย่างที่เราไม่มี ซึ่งถ้าคนเรามองกันอย่างนั้นได้ ความทุกข์ในใจเราน้อยลงแน่นอน เกลียดเขาเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรามองข้อดีของเขาได้ แล้วเราเอามาเป็นแบบอย่างในชีวิต อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องมาทุกข์ใจ และยังนำมาปรับปรุงชีวิตเราได้ด้วย
อะไรเป็นข้อดีของการนำเอตทัคคะมาใช้อธิบายหลักธรรมในศาสนาพุทธ
มนุษย์ส่วนใหญ่ชอบฟังเรื่องเล่า ถ้าเราสอนเขาตรงๆ อาจต้องใช้ความตั้งใจมาก แต่พอเป็นเรื่องเล่าเหมือนนิทานที่เป็นการอุปมาอุปไมย มีการเปรียบเทียบ ก็ทำให้ฟังเพลิน ย่อยง่าย เรียกว่าเป็นสีสันในการปลูกศรัทธาหรือเพิ่มศรัทธาได้ เหมือนเวลาบางคนอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรืออ่านหนังสือบางเรื่องแล้วให้แรงบันดาลใจ ให้ข้อคิดอะไรกับชีวิตเขา ผมว่าเรื่องเหล่านี้ก็คล้ายๆ กัน บางเรื่องก็นำมาปรับปรุงมาใช้กับชีวิตเราได้ เหมือนเวลาคุณซื้อสินค้า หรือเวลาสะสมของคุณยังสนใจเลยว่าเขาผลิตมาได้ยังไง กาแฟที่ชอบดื่มกัน ปลูกมาจากที่นั่นที่นี่ อย่างตอนที่ผมไปอินเดีย พระก็บอกว่าการมาอินเดียไม่ได้ช่วยให้บรรลุ แต่แค่เป็นการมาปลูกศรัทธาเพิ่ม หรือเพื่อนผมที่บ้ารถ Ferrari มากๆ แล้วมันอยากไปดูโรงงานที่อิตาลีว่าเขาผลิตยังไง ก็ทำให้ยิ่งอิน ยิ่งมี passion ในการกลับมาหาเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการปลูกศรัทธาให้เราแนบแน่นกับสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น
คือเหมือนเป็นการมองในแง่ประโยชน์ของหลักธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ มากกว่าการถกเถียงหาความจริงใช่ไหม
จะมองว่าเป็นเรื่องความบันเทิงอย่างหนึ่งก็ได้ สมัยก่อนผมมองคนดูมวยปล้ำแล้วรู้สึกเป็นการแสดงมากเลย จะดูทำไม เพื่อนผมที่บ้ามวยปล้ำมากๆ มันก็บอกว่า แล้วผมไปโรงหนังทำไม ในเมื่อก็รู้ว่าทุกอย่างเป็นการสมมติเหมือนกัน ทำไมดูหนังบางเรื่องยังร้องไห้เลย ทำไมยังตื่นเต้น กลับมีอารมณ์ร่วม ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องสมมติเป็นการถ่ายทำ ถ้าคุณจะมองเรื่องพุทธประวัติหรือไบเบิล อยู่ที่ว่าจุดประสงค์เพื่ออะไร ถ้าจุดประสงค์เพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ อันนี้เถียงกันตายเลยว่าจริงไม่จริง แต่ถ้ามองว่ามันให้อะไร เรื่องนี้สอนอะไรเราได้บ้าง อย่างนิทานอีสปก็เป็นเรื่องแต่ง แต่มันก็ให้ข้อคิดอะไรกับคนได้เยอะแยะมากมาย ผมว่ามันก็เป็นเรื่องเดียวกัน หนึ่งคือเป็นเรื่องเล่า สื่อสารถึงคนได้ง่าย สองคือมันให้แรงบันดาลใจ ให้ข้อคิดอะไรกับคนได้บ้าง มันเป็นกระบวนการหนึ่งเท่านั้นเองในการสอนเราเท่านั้นเอง
มองว่าสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ คนยังกลับไปหาศาสนากันอยู่ไหม
ก็มีทั้งไปและไม่ไป ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติ สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ก็ไม่ได้ขนาดนั้น อยู่ที่ว่าเราอยู่ในประเทศไหน ถ้าเราอยู่เยเมน อยู่ปาเลสไตน์ จะยิ่งกว่านี้อีก มีคนเสียชีวิตทุกวัน แต่เราอยู่ในประเทศนี้เราก็รู้สึกว่ามกราคมปีนี้แย่มากเลย คือมีอีกหลายประเทศในโลกนี้ที่มันแย่ยิ่งกว่านี้มาไม่รู้กี่ปีติดกันแล้ว แล้วก็มีทั้งคนที่เจอแบบนั้นเลยหันมาสนใจศาสนา และอยากจะยิงฝั่งตรงข้ามไปเลย ซึ่งจะให้ทุกคนหันมาสนใจศาสนามันก็เป็นไปไม่ได้ เป็นธรรมดาโลกที่มันต้องมีคนสองประเภทในทุกเหตุการณ์เสมอ
สุดท้ายแล้ว ความเข้าใจผิดทั้งเรื่องศาสนาและเรื่องอื่นๆ ควรจะเตือนสติอย่างไร
ผมรู้สึกว่าถ้าคนที่ไม่อยากฟัง ก็คงไม่อยากฟัง ต้องบอกแค่ว่าลองใช้เหตุผลดู ลองพิสูจน์ด้วยตัวเองดู เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่คำว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ ใช่หรือไม่ใช่ มันอยู่ระหว่างการหาคำตอบ อยู่ระหว่างการพิสูจน์ ถ้าคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ บ้าเหตุบ้าผลจริงๆ คุณก็ต้องตั้งสมมติฐานเอาไว้ แล้วก็ทดลองจนกว่าจะได้คำตอบ ซึ่งคำตอบทางพุทธเรียกว่า ‘ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ’ คือรู้ได้เฉพาะตน เหมือนอาหารจานนี้มีคนบอกว่าอร่อย แต่ถ้าคุณไม่เคยกินคุณก็ได้แต่นั่งถกเถียงว่ามันเปรี้ยว มันเค็ม หรือมันดีต่อสุขภาพยังไง เพราะคุณไม่ได้ลองด้วยตัวเอง แต่คนที่เขาลองชิมด้วยตัวเองแล้ว ก็เป็นความจริงของเขาเท่านั้นที่เขาจะตอบได้ ถึงเขาชิมแล้วเขามาบอกคนอื่น มันก็เป็นแค่ความเห็น ไม่ใช่ความจริงของเรา แต่จะเป็นความจริงของเราก็ต่อเมื่อเราได้เจอ ได้ประสบกับตัวเราเอง เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า คุณไม่เชื่อ คุณไม่นับถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคุณยังไม่ได้ชิม ไม่ได้ศึกษาจริงๆ แต่ถ้าคุณศึกษาอย่างถ่องแท้ว่าจริงๆ แล้วว่าเขาสอนอะไร ทั้งศาสนาทุกศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม ถ้าคุณศึกษาอย่างถ่องแท้ แล้วคุณได้พิสูจน์ด้วยจิตใจด้วยร่างกาย ถ้ายังไม่รู้สึกว่ามันจริง ทดลองทำต่อไป ไปให้สุดทาง ถึงเวลานั้นคุณจะมีคำตอบที่เป็นคำตอบของคุณเอง
การบรรยายธรรม ‘เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา’
จัดขึ้น 9 ครั้ง ตลอดปี 2563 ณ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ซอยเพชรเกษม 54
กำหนดการทั้งหมด 9 ครั้ง
ครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563
‘พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ’
แสดงธรรมโดย พระมหาประนอม ธัมมาลังกาโร
ครั้งที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2563
‘พระสารีบุตร’
แสดงธรรมโดย อาจารย์อุรุปัติ จรณธมฺโม และ พระสมทบ ปรกฺกโม
ครั้งที่ 3 วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2563
‘นางวิสาขา’
แสดงธรรมโดย พระครูวินัยธรกิตฺติศักดิ์ โคตมสิสฺโส และ พระสมทบ ปรกฺกโม
ครั้งที่ 4 วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2563
‘พระอนุรุทธเถระ’
แสดงธรรมโดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563
‘พระโสณาเถรี/พระนางเขมาเถรี’
แสดงธรรมโดย พระไพศาล วิสาโล, พระครูบวรวีรวงศ์ (ครรชิต อกิญฺจโน), พระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ
ครั้งที่ 6 วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2563
‘พระมหากัจจายนะเถระ’
แสดงธรรมโดย ดร.สุภีร์ ทุมทอง
ครั้งที่ 7 วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน 2563
‘พระโมฆราชเถระ’
แสดงธรรมโดย พระมานพ อุปสโม
ครั้งที่ 8 วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2563
‘พระราหุล’
แสดงธรรมโดย พระครูวินัยธรกิตฺติศักดิ์ โคตมสฺิสโส, พระครูวรวงศ์ (วีรภัทร ถิรญาโณ)
ครั้งที่ 9 วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2563
‘พระมหากัสสปะเถระ’
แสดงธรรมโดย อาจารย์อุรุปัติ จรณธมฺโม
เปิดให้เข้าร่วมฟังฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ybatpage, www.ybat.org, www.thaihealth.or.th หรือโทร. 02-455-2525