การมาถึงของหน้าแล้งในช่วงเดือนเมษายน ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝน คือช่วงเวลาที่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ต่างต้องกังวลถึงการใช้น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคมากเป็นพิเศษ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ปี
หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำที่ทางกรมชลประทานวางแผนไว้ล่วงหน้า ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของปริมาณน้ำฝน การกักเก็บน้ำในอ่าง และปริมาณการใช้น้ำ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องวางแผนล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตสำนักงานชลประทานที่ 8 ทั้งนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ โดยจากรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 รายงานว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำทั้งหมด 429 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 367 ล้าน ลบ.ม.
จากปริมาณน้ำดังกล่าว เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ตลอดฤดู แม้ว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้น้อยกว่าปีที่แล้ว เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อย่าง อ่างฯ ลำพระเพลิง อ่างฯ มูลบน และอ่างฯ ลำแชะ ยังมีปริมาณน้ำเฉลี่ยเทียบใกล้เคียงเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่อีสานตอนล่างทั้งหมด
สำนักงานชลประทานที่ 8 ยืนยัน แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้ในชีวิตประจำวันตลอดหน้าแล้งนี้ แต่สำหรับการทำนาปรัง หรือการทำนานอกฤดูที่ใช้น้ำมาก อาจไม่เพียงพอต่อการใช้ จะเพียงพอต่อการปลูกพืชฤดูแล้งเท่านั้น จึงขอความร่วมมือให้ชาวนางดทำนาปรังในหน้าแล้งปีนี้
ทั้งนี้ หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอหรือขาดแคลน ทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ก็ได้วางมาตรการสำรองไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว กรณีเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ เช่น การรับปริมาณน้ำจากอ.สีคิ้วเพิ่มมากขึ้น การขอซื้อน้ำดิบจากเทศบาลนครราชสีมา การซื้อน้ำจากบ่อทรายเอกชน รวมไปถึงการขอความอนุเคราะห์จากเขื่อนลำแชะและเขื่อนมูลบน ในการจัดสรรน้ำเพิ่มเติมอีกด้วย