พลังงานของร่างกายถูกขับเคลื่อนด้วยข้าว อาหารจานหลักคู่บ้านคนไทยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
จากข้าวที่ให้พลังงานกับร่างกายสู่ข้าวที่ให้พลังงานหัวใจ จากแรงกายและสองมือของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวออร์แกนิคกับความตั้งใจอันดีที่อยากแบ่งปันส่งต่อสุขภาพที่ดีผ่านข้าวทุกจานที่ปลูกด้วยใจ
นับจากตรงนี้ข้าวจะเป็นพระเอกสำคัญที่พาเราย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นบนผืนดินที่ไร้สารเคมีกับการปลูกข้าวในวิถีเกษตรกรรมสมัยใหม่ร่วมกับความรู้ด้านนวัตกรรมธุรกิจและการตลาด จนกลายเป็นองค์ความรู้ด้านออร์แกนิคทั้งหมดที่ถูกรวบรวมกลายเป็นคัมภีร์เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย แบ่งปันผ่านปากของคนทำงานวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติจากความปรารถนาดีที่อยากเห็นคนไทยกินข้าวอร่อยอย่างเข้าอกเข้าใจ
คุณป๊อป–ณรงค์ กลิ่นถือศีล
ชาวนาผู้ใส่ยีนส์ปลดหนี้และเปลี่ยนผืนนาให้ปลอดเคมีแบบไม่เลอะโคลน
ชายหนุ่มผู้เดินทางกลับบ้านพร้อมหัวใจที่ต้องการใช้การเกษตรพลิกผืนแผ่นดินให้กลายเป็นสินทรัพย์เพื่อปลดภาระหนี้สินของครอบครัว แต่สิ่งที่เขาพบระหว่างการทำการเกษตรคือหัวใจออร์แกนิค ซึ่งต่อมากลายมาเป็นแก่นแท้ที่ทำให้การเกษตรกลายเป็นอาชีพที่ยั่งยืนกับทั้งตัวเขาผู้เป็นต้นทางและผู้บริโภคผ่านข้าวออร์แกนิคทุกจานที่หุงด้วยหัวใจ
จุดเริ่มต้นการทำการเกษตร
การทำเกษตรของผมไม่ได้เริ่มต้นมาจากการอยากเป็นเกษตรกรโดยตรงนะครับ แต่จุดพลิกผันคือที่บ้านมีหนี้สิน เลยต้องผันตัวจากอาชีพส่วนตัวกลับมาทำเกษตรโดยตรง เพราะคิดว่าการทำเกษตรมันสามารถสร้างรายได้ให้ได้ ตอนเริ่มต้นก็เป็นเกษตรเคมีทั่วไปทำเคมี 100% จุดเปลี่ยนคือเราได้เริ่มรู้จักเกษตรอินทรีย์และนำองค์ความรู้จากตรงนั้นมาพัฒนาและปรับปรุงใช้ภายในพื้นที่ของเราเอง
ย้อนกลับไปตอนทำเกษตรเคมีเหตุการณ์ไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าการทำเกษตรแบบเคมีมันกระทบกับชีวิตของเราหรือกับคนที่กินข้าวของเรา
การทำเกษตรเคมีมันมีผลกระทบโดยตรงกับเราเองนี่แหละ เพราะเราเป็นคนใช้สารเคมีสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงจากการฉีดพ่นมันก็เกิดผลข้างเคียง ที่จะเวียนหัว ง่วงซึม น้ำตาไหล แสบตา อ่อนเพลีย มันเลยเป็นจุดที่เราเริ่มคิดแล้วว่า การทำเกษตรเคมีมันคงไม่เหมาะกับการทำเกษตรของเราแล้ว เพราะถ้าเราไม่มีร่างกายที่แข็งแรงเราก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้
ต่อมาเป็นเรื่องของระบบสิ่งแวดล้อมห่วงโซ่หรือความสมดุลของธรรมชาติถูกทำลายลง เพราะเราคิดว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ เลยต้องกลับมาช่วยโลกใบนี้ด้วย และสุดท้ายผลกระทบโดยตรงของสารเคมีถูกส่งต่อถึงผู้บริโภคที่อาจรับสารปนเปื้อน หรือสารตกค้างจากสารเคมีที่เกษตรกรใช้อย่างไม่มีทิศทางไม่มีจุดมุ่งหมาย ทั้งหมดเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ครับ
การเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลาปรับตัวนานไหม เรียนรู้วิธีการเหล่านี้มาได้อย่างไร
การทำเกษตรอินทรีย์จะค่อนข้างยาก ตรงเรื่องของการทำจิตใจตัว กระบวนการมันไม่ยาก เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาใช้ธรรมชาติ แต่เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความคิดมันจะยาก เพราะคนเรายังยึดติดในเรื่องสารเคมีที่ให้ผลผลิตสูง แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ฉับพลัน ผลผลิตจะต่ำลง การทำใจของเกษตรกรค่อนข้างจะรับยากเลยกลายเป็นสิ่งยากสำหรับเกษตรกรบางคนที่ไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเรื่องของมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบของหน่วยงานที่ถึงจะแตกต่างกันแต่ไปในทิศทางเดียวกันหมด คือเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่การบริหารจัดการแปลงฟาร์ม การจัดผังฟาร์ม พื้นที่ปลูกจะต้องมีแนวกันชนมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง น้ำเข้าทางไหน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ปลอด GMOs การทำนาโยน นาดำ การควบคุมวัชพืชด้วยการถอนหรือใช้เป็ดช่วย หลายเรื่องที่ยิบย่อยมากจนทำให้เกษตรกรบางรายไม่สามารถทำได้ แต่เราก็ต้องทำให้ได้เพราะตั้งใจอยากจะทำเพื่อปรับเปลี่ยนเพื่อการผลิตอาหารที่ปลอดภัย จุดนี้เป็นจุดของเกษตรกรที่ต้องเปลี่ยนเองด้วยว่าเราจะทำเพื่ออะไรเพื่อใคร
การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ มีเรื่องไหนที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกนอกเหนือจากความรู้เรื่องการทำเกษตร
Smart Farmer รุ่นใหม่ เราสามารถพัฒนาตัวเองได้โดยการปลูกจิตสำนึกของความเป็นเกษตรกรที่ต้องการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผมได้ทำความรู้จักกับศาลานาเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ศาลานาเป็นองค์กรที่ช่วยให้คนหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น โดยจะเข้าไปคุยกับเกษตรกรก่อนว่าพร้อมไหม ถ้าพร้อมแล้วศาลานาก็จะช่วยสนับสนุนทั้งเรื่ององค์ความรู้เทคโนโลยี ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแปลงฟาร์มให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการบริหารจัดการผลผลิตที่จะเกิดขึ้นเพื่อการวางแผนจัดสรรผลิตภัณฑ์ของเราให้เหมาะสมกับตลาดรวมทั้งการสนับสนุนดูงาน อย่างที่ผ่านมาก็ได้ไปศึกษาดูงานการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเกษตรกรเองก็จะต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ สำหรับผมคิดว่ามันเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ได้เรียนรู้ เพราะเมล็ดพันธุ์คุณภาพจะช่วยส่งต่อข้าวที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องการขายที่ทางศาลานามีตลาดบ้านรังนก พื้นที่ให้เกษตรกรได้เข้ามาลองขายของเอง ทำให้เราได้คุย แนะนำกับผู้บริโภคของเราโดยตรง เรียนรู้เรื่องการตลาดผ่านการลงมือทำจริงด้วยตัวเอง
ในมุมของการเป็นผู้ผลิตข้าวออร์แกนิคเราส่งต่อความหวังดีให้กับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง
ตัวผมเองในนามผู้ผลิต อยากส่งต่อความรู้สึกดี อาหารปลอดภัยที่เราผลิตด้วยองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา และใช้กระบวนการที่ปลอดภัยส่งต่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยแน่นอน
คุณโอ๊ต – วุฒิพงศ์ ชาครัตพงศ์
ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายชุมชนโครงการศาลานา
องค์ความรู้ทางเกษตรอินทรีย์มีอยู่มากมาย แต่การรวบรวมทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ด้วยกันแล้วสร้างให้เกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นหน้าที่ของคนกลางอย่างโครงการศาลานาที่เข้ามาเชื่อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรอินทรีย์และผู้บริโภคในการสร้างสังคมแห่งการบริโภคอาหารปลอดภัยได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข
เกษตรอินทรีย์มีความสำคัญอย่างไร
สำคัญเพราะว่าทุกคนต้องกินข้าวนะครับ ฉะนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ที่ปลอดภัยกับทั้งตัวผู้ผลิต สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค เรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรขับเคลื่อน เพราะเชื่อว่าถ้าเกิดผู้ผลิตผลิตข้าวที่ปลอดภัย ผู้บริโภคได้บริโภคข้าวที่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมก็จะดี สุขภาพของผู้ปลูกก็จะดี สุขภาพของผู้กินก็จะดี นั่นหมายความว่าคุณภาพชีวิตของคนในสังคมก็จะดีขึ้นด้วย
ในหนึ่งจานของข้าวเกษตรอินทรีย์มีส่วนไหนที่ผู้บริโภคควรทราบบ้าง
ทุกวันนี้ ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่าสิ่งที่ผู้บริโภคจะทานเข้าไป เขาสามารถเลือกได้ว่าจะทานอะไร ในส่วนการเป็นผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวเรื่องนี้เช่นกัน ผู้บริโภคอยากรู้ว่าข้าวที่ทานมีแหล่งที่มาอย่างไร คุณค่าทางโภชนาการเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งสำคัญที่เกษตรกรจะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา ศาลานาจึงต้องลงไปส่งเสริมให้เกษตรกรมีชุดความรู้เหล่านี้ ในการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจแหล่งที่มาของข้าวที่ตัวเองบริโภค
ชุดความรู้เรื่องไหนบ้าง ที่เกษตรกรรุ่นใหม่ควรจะมี แล้วศาลานามีบทบาทในเข้าไปสนับสนุนตรงนี้อย่างไรบ้าง
ศาลานาเราเน้นในเรื่องการทำประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นธุรกิจเราไม่ได้หวังผลกำไรเป็นเรื่องสูงสุด แต่ผลกำไรจากธุรกิจ 100% เราจะเอามาผลักดันในเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการเกษตรให้เกษตรกรมีศักยภาพที่จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคตเพื่อเป็นโมเดลในการขยายต่อ พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจและตระหนักในความสำคัญของข้าวอินทรีย์ เพื่อเกิดกระแสการบริโภคข้าวอินทรีย์ขึ้นมา เกษตรกรก็จะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการสนับสนุนของผู้บริโภค การแบ่งปันนี้ทำให้ผู้บริโภคเองได้รับสุขภาพที่ดีด้วย อันนี้คือการแบ่งปันในส่วนของผู้บริโภคที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและตัวผู้บริโภคเอง
อีกหนึ่งบทบาทของศาลานาก็จะเป็นโมเดลในเรื่องของการแปรรูป โดยทุกครั้งที่เกษตรกรมาส่งข้าว เราจะให้เกษตรกรได้เรียนรู้ในเรื่องของระบบการตรวจสอบคุณภาพข้าว เช่น การวัดความชื้น การเช็กสิ่งเจือปน การเช็กอัตราข้าวเต็มเมล็ด หรือแม้แต่กระบวนการเก็บรักษาข้าวและกระบวนการแปรรูปจนออกมาเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพข้าวกับกลุ่มของตัวเองได้
เกษตรกรเองหลังจากได้รับความรู้จากศาลานาแล้วมีแนวความคิดที่เปลี่ยนไปหรือเพิ่มเติมในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์อย่างไรบ้าง
สิ่งที่เกษตรกรได้ประโยชน์แรกๆ เลยก็คือเรื่องของการซื้อขายล่วงหน้า บนหลักการความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งเรื่องราคาและคุณภาพ นั่นหมายความว่าสิ่งที่เกษตรกรได้รับประโยชน์คือเป็นเรื่องของการรู้ล่วงหน้าว่าจะขายข้าวพันธุ์อะไร จำนวนเท่าไหร่ ขายให้เมื่อไหร่ ขายให้กับใคร ทำให้เกษตรกรสามารถกลับไปวางแผนการผลิตได้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเกิดความคล่องตัวมากขึ้นในการที่จะพัฒนาระบบตลาดของตัวเอง
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของการสนับสนุนในส่วนอื่นๆ ที่เกษตรกรมีความจำเป็นเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนกลุ่ม บางกลุ่มขาดในเรื่องของตัวกองทุนในการรับซื้อข้าวจากสมาชิก เราก็มีการสนับสนุนกองทุนรับซื้อข้าว ส่วนนี้ก็เป็นส่วนสำคัญเพราะว่าจะทำให้กลุ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นซึ่งจากเดิมสมาชิกอาจจะไม่กล้าขายข้าวให้กับกลุ่มเพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินจากกลุ่มในการซื้อข้าวเปลือกหรือไม่ ตรงนี้ก็จะเข้าไปปิดช่องว่างทำให้สมาชิกมีความมั่นใจในการขายข้าวให้กับกลุ่มมากขึ้น ทางกลุ่มเองก็มีข้าวอยู่ในมือสามารถแปรรูปส่งให้กับผู้บริโภคได้หรือแม้กระทั่งเรื่องของการปรับตัวเครื่องไม้เครื่องมือเป็นส่วนสำคัญในการที่จะพัฒนาการแปรรูปของเกษตรกรให้มีคุณภาพตอบสนองความต้องการหรือสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค
ส่วนเรื่องความรู้ เราจะดูความต้องการหรือความจำเป็นของเกษตรกรเป็นหลัก แล้วนำเกษตรกรไปพัฒนาองค์ความรู้กับเครือเครือข่ายที่มีความรู้ในด้านนั้นๆ เพื่อกลับมาพัฒนาระบบกลุ่มของตัวเอง รวมถึงการสนับสนุนเรื่องมาตรฐานด้วยเช่นกันเกษตรกรจำเป็นต้องมี ไม่ว่าจะเป็น PGS หรือมาตรฐานที่สูงกว่า เราเลือกที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรมีมาตรฐานตามความจำเป็นในการทำตลาด และสุดท้ายคือเรื่องตลาด เรามองว่าแม้เกษตรกรจะรับซื้อข้าวได้หรือสามารถแปรรูปที่ดีได้แต่ว่าถ้าไม่สามารถเชื่อมโยงระบบตลาด กลุ่มก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้เช่นกัน ถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดการขายไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรงแน่นอนว่าเกษตรกรจะมีกำไรมากขึ้นนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต เรามีการส่งเสริมในเรื่องของตลาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การออกแบบเรื่องการทำตลาดให้กับผู้บริโภคหรือการเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคที่ต้องการข้าวอินทรีย์ครับ
ในส่วนผู้บริโภคการที่เขาได้รู้ที่มาที่ไปของข้าวมันช่วยสร้างแนวความคิดอย่างไรให้กับผู้บริโภคยุคใหม่บ้าง
ทั้งเราและเกษตรกรที่อยู่ในฐานะผู้ผลิตต่างก็มีหน้าที่ที่เหมือนกัน คือเรื่องการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์ดีต่อตัวผู้บริโภค ดีต่อผู้ผลิต ดีต่อสังคมอย่างไร รวมถึงการ ปลูกข้าว หรือสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวให้หลากหลายทั้งในด้านการกิน และในด้านของคุณประโยชน์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจที่จะขยับไปสู่การสร้างประสบการณ์การกิน และนำไปสู่ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของข้าวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งต่อให้กับผู้บริโภคเพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในการบริโภค
คุณนิว–ธรรมรัตน์ นิรินธนชาติ
เจ้าของร้านสุขกินได้คาเฟ่รักสุขภาพที่อยากปลูกผักไร้สารพิษให้คนอื่นได้กินบ้าง
จากคนทำงานในเมืองเหมือนวัยรุ่นสร้างตัวทั่วไป เขาพาตัวเองกลับบ้านเกิดใกล้เมืองเพื่อทำงานที่รักไปพร้อมกับการทำงานกับคนที่รัก แม่ของเขาเองเปลี่ยนสวนกล้วยไม้ของครอบครัวมาเป็นสวนผักที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทั้งคนในครอบครัวและผู้บริโภคผักออร์แกนิคปลอดภัยจากฟาร์มหลังร้านของร้าน “สุขกินได้” คาเฟ่รักสุขภาพที่ลูกค้าทุกคนคือครอบครัวของเขา
เหตุผลอะไรที่ทำให้เปลี่ยนจากการทำเกษตรเดิมของครอบครัวมาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์
ตอนแรกจริงๆ ที่บ้านทำสวนกล้วยไม้ครับ แล้วแม่ผมต้องดูแลสวนฉีดปุ๋ยฉีดยาที่เป็นสารเคมี พอไปตรวจสุขภาพแล้วก็พบเคมีที่เป็นสารพิษในเลือด ตอนแรกก็ปรับเป็นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เพราะยังไม่มีความรู้เรื่องอินทรีย์แต่ผมมองว่าถ้าเราจะหนีจากเคมีแล้วเราก็น่าจะทำอะไรที่ไม่ได้ใช้เคมีเลย จึงเปลี่ยนมาเป็นการปลูกผักอินทรีย์ถึงผลผลิตอาจจะไม่ได้คงที่หรือได้ 100% แต่ก็ประหยัดต้นทุนไปได้เกินครึ่ง ต่างจากตอนปลูกผักแบบเดิมที่มีต้นทุนสูงเรื่องค่าปุ๋ยค่าน้ำครับ
จากจุดที่เปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรอินทรีย์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเสาะหาความรู้เยอะไหมกว่าจะได้แปลงผักอินทรีย์แบบทุกวันนี้
พอผมทำร้านมาได้เกือบสองปี ก็มีพี่ทีมงานศาลานามาเป็นลูกค้าเจ้าแรกๆ คุยกันจนสนิทเป็นลูกค้าเจ้าประจำ เขาเลยลองชักชวนให้เปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ดู ซึ่งส่วนตัวผมก็ชอบอินทรีย์อยู่แล้วผมเลยลองเข้าไปเวิร์กช็อปอบรม จุดเริ่มต้นก็มาจากที่ทีมงานมาทานอาหารที่ร้านนี่แหละครับ
ระหว่างการเวิร์กช็อปอบรมได้เรียนรู้อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ลองเล่าประสบการณ์ให้ฟังหน่อย
ยกตัวอย่างพี่ชูเกียรติที่มาสอนอบรม เขาจะไม่ได้เข้มงวดว่าเราจะต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ล้วนในตอนแรก แต่เขาพยายามสอนให้คนเอาไปประยุกต์ใช้ได้ บางทีผมว่าคนอยากทำอินทรีย์บางคนเขาไม่อยากเริ่มเพราะขั้นตอนมันเยอะยุ่งยาก มีกฎอะไรมากมายแต่อย่างที่พี่ชูเกียรติสอนคือผลไม้ที่เราซื้อมามันอาจจะเป็นผลไม้เคมีแต่เราทานเสร็จเหลือก็สามารถเอามาทำเป็นปุ๋ยได้ โดยไม่ต้องไปเสาะหาผลไม้อินทรีย์มาทำปุ๋ยอินทรีย์ พอเขาถูกย่อยสลายสารเคมีที่เคยอยู่บนพื้นผิวมันก็หายไปแล้ว ก็มีสอนการใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วยดูแลสร้างระบบนิเวศให้แมลงหรือให้ตัวห้ำตัวเบียนมาช่วยกันดูแลเป็ดที่ช่วยย่ำนาหาหอยทำลายศัตรูพืช ก็มีหลายเรื่องที่ไม่เคยได้รู้แล้วมาเรียนรู้จากที่นี่ครับ
หลังจากร่วมโครงการแล้วมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างทั้งในเรื่องรูปแบบการใช้ชีวิตหรือมุมมองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
อย่างการทำงานปลูกผัก ผมก็เปลี่ยนมาเป็นอินทรีย์หมดเลย พยายามใช้ธรรมชาติลองปรับระบบนิเวศดูให้แมลงตัวดีจัดการศัตรูพืชให้เราให้เขาอยู่ร่วมกันได้หรือแนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรเกษตรอินทรีย์ก็ทำให้เราเรียนรู้ที่จะจัดการทรัพยากรใช้งานให้มันคุ้มค่าที่สุดครับ
อย่างร้านผมเราอาศัยการอธิบายลูกค้าและการพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความรู้ แล้วก็บอกวิธีขั้นตอนการผลิต สำหรับผมเองคือเราจริงใจต่อผู้บริโภคครับ อย่างลูกค้ามีเด็กมาด้วยผมก็พยายามบอกให้เขาเข้ามาดูในฟาร์มได้นะ มาช่วยอธิบายว่าปลูกอย่างไรเขาเองก็จะได้เห็นว่าผักที่เขาได้ทานมีที่มาอย่างไรเหมือนให้ความรู้ตั้งแต่ยังเด็ก เลยเหมือนเราได้เป็นต้นทางในการส่งต่อความรู้ผ่านทางลูกค้าในร้านครับ
ถ้ามีคนอยากเริ่มทำเกษตรอินทรีย์อยากแนะนำอย่างไรบ้าง
อย่างที่บอกไปตอนแรก เหมือนส่วนใหญ่บางท่านมองว่าอินทรีย์มันยุ่งยากอาจจะเริ่มจากหาวิธีการทำปุ๋ยเองก็ได้ครับ ลองทำง่ายๆจากสิ่งรอบตัวก่อน ต่อมาเรื่องดินหรือแปลงที่เรามีอยู่ถ้าไม่มั่นใจว่าดินใช้ได้ไหมก็ค่อยๆ ปลูกค่อยปรับสภาพไป เคมีที่มันอยู่ในรอบแรกๆ พอเราปลูกไปหลายๆ รอบ มันก็หายไปไม่ต้องไปซีเรียสว่าอันนี้ที่เราได้มาเป็นอินทรีย์ 100% หรือเปล่า พอเราเริ่มชินก็จะต่อยอดไปได้ในอนาคต
พอมาทำเกษตรอินทรีย์แล้วเรารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองอย่างไรบ้าง
ความภูมิใจก็คือผมสามารถเด็ดผักกินเองจากต้นได้เลย หรือเวลามีลูกค้าเด็กๆ เข้ามาที่ร้าน เราก็เด็ดผักให้เขาทาน ซึ่งเราก็ต้องทานให้เขาดูด้วยเพื่อให้เขามั่นใจว่าผักของเราปลอดภัยแค่ล้างน้ำทีเดียว เพื่อเอาฝุ่นออกก็ทานได้เลย เพราะมันไม่มียาฆ่าแมลงหรือชีวภัณฑ์อะไรที่ฉีดไป มันเป็นความรู้สึกภูมิใจที่เราได้ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับผู้บริโภคครับ
ผมเองก็เป็นผู้บริโภคด้วย ข้าวผมก็ปลูกเองไม่ได้ศาลานาก็เข้ามาช่วยสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคส่งต่อความรู้ให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคว่าเราสามารถมีข้าวดีๆ ให้เลือกรับประทานได้ เป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้ทำอินทรีย์ต่อเพื่อส่งต่อวัตถุดิบดีๆ ถึงมือผู้บริโภคครับ เพราะทั้งสองอย่างต้องไปควบคู่กันทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรครับ ถ้าไม่มีผู้บริโภคเกษตรกรก็ไม่สามารถอยู่ได้