การเป็นหมอคือความฝันของใครหลายคน เด็กนักเรียนมากกมายพร้อมทุ่มเทตัวเองให้กับการอ่านหนังสือและติวข้อสอบเป็นปีๆ เพื่อที่จะได้ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเรียนในคณะแพทย์ที่ใฝ่ฝัน
ถึงอย่างนั้น ชีวิตการเรียนหมอก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เส้นทางระหว่างการเรียนจำเป็นต้องเจอกับบททดสอบมากมาย ที่เข้ามาท้าทายสภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งหลักสูตรการเรียนอันเข้มข้น ตลอดจนภารกิจที่ต้องรับผิดชอบภายในโรงพยาบาล
ด้วยความสงสัยอยากรู้ ว่าชีวิตการเรียนหมอนั้นเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจแบบไหน และชีวิตการเรียนต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง The MATTER จึงพูดคุยกับ หมอเจี๊ยบ—ลลนา ก้องธรนินทร์ แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถึงแพชชั่นในการเรียนหมอตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความฝัน จนถึงวันที่ได้ทำหน้าที่รักษาและช่วยเหลือคนไข้จริงๆ
คำตอบที่ได้จากหมอเจี๊ยบ ไม่ได้มีเพียงแค่แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง หากยังรวมไปข้อเสนอถึงแวดวงการศึกษา ที่ต้องช่วยเสริมสร้างทักษะในการคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามให้กับนักเรียน
อะไรคือแรงบันดาลใจในการเป็นหมอ
สมัยก่อนเราเป็นเด็กเกเรมาก ไม่ค่อยตั้งใจเรียน แต่ก็รู้เสมอว่าใจเราต้องการอะไร เป้าหมายคืออะไร พอรู้ว่าเราอยากเป็นอะไรก็เริ่มปรับตัวและหันกลับมาตั้งใจเรียนมากขึ้น วันหนึ่งเราอยากลองทำข้อสอบ ช่วงนั้นเป็นปีแรกที่มี A-Net และ O-Net ซึ่งได้ลองทำข้อสอบเข้าคณะแพทย์ศิริราช แต่ทางโรงพยาบาลมีเงื่อนไขว่า ถ้าเราจะสอบตรง เราจะต้องไปฝึกงานก่อนที่โรงพยาบาลให้ครบ 10 ชั่วโมงก่อน
ตอนนั้นเราไปฝึกที่โรงพยาบาลแถวบ้าน มันเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นคนไข้ที่เยอะมาก เราอยากเข้าไปช่วย อยากไปรักษาเขา แต่เราทำอะไรไม่ได้ ก็เลยกลับบ้านแล้วบอกแม่ว่า เราอยากเป็นหมอเพื่อไปช่วยคน อันนั้นคือแรงบันดาลใจแรกจริงๆ ที่อยากเป็นหมอ
มันคือความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดเพราะมีใครมาบอกให้เราต้องเป็นหมอ แต่เกิดขึ้นเพราะเราได้เข้าไปเห็นคนไข้และการทำงานต่างๆ ในโรงพยาบาลจริงๆ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกอยากเข้าไปเป็นตรงนั้น เลยอยากทำอาชีพที่ช่วยรักษาคนได้
ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะได้เข้าไปเห็นบรรยากาศจริงๆ รึเปล่า
มันอาจจะเป็นเพราะว่าตอนนั้น เราไม่เคยเห็นบรรยากาศที่โกลาหลหรือน่าตกใจขนาดนั้นมาก่อน ตอนเห็นคนเลือดออกก็ตกใจแล้วนะ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ป่วยที่รอการรักษาอยู่เต็มไปหมด เราอยู่ตรงนั้นแต่ทำอะไรไม่ได้เลย
เราเลยเกิดแพชชั่นขึ้นมาว่า เราอยากทำอะไร แล้วเราก็ทำตามเป้าหมายที่เราวางเอาไว้ ไม่ว่าจะต้องเจออุปสรรคแค่ไหน ขอแค่เดินตามความฝันของเราแค่นั้นเอง
เมื่อได้เข้ามาเป็นหมอ ช่วงระหว่างเรียน เจอเรื่องยากๆ หรืออุปสรรคในการเรียนอย่างไรบ้าง
เจออุปสรรคเยอะมาก เราเชื่อว่าทุกอย่างมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น โดยเฉพาะที่เราเคยเป็นเด็กเกเร ไม่ได้เรียนเก่ง ตอนที่เราเรียนไปก็ทำงานในวงการบันเทิงด้วย อีกทั้งยังเป็นนางงาม คนภายนอกเขาก็อาจจะคิดว่าเราเป็นคนบอบบาง อ่อนแอ ไม่สู้งาน บางคนก็คิดว่าเราอาจจะเป็นหมอไม่ได้หรอก
ตอนที่เราเลือกเรียนแพทย์ฉุกเฉินก็ถูกตั้งคำถามว่า จะเรียนไหวหรอ มันหนักมากเลยนะ แต่เราก็ไม่เคยเอาคำพูดพวกนั้นมาบั่นทอนตัวเองให้รู้สึกว่าเราทำไม่ได้ หรือต้องเอาชนะคำพูดคนๆ นี้ เราแค่รู้สึกว่า ต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และทำเป้าหมายให้สำเร็จก็พอ
มักมีคนบอกว่าเรียนหมอหนักมาก จริงๆ แล้วมันหนักแค่ไหน
เรียนหมอก็หนักแต่ไม่หนักเท่ากับความรับผิดชอบ มันหนักมากในความรับผิดชอบที่เราต้องแบกรับเอาไว้ ตอนเด็กอ่านหนังสือเรียนมันก็หนัก แต่มันไม่หนักเท่ากับที่เราจะสอบเข้า สิ่งที่มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลยก็คือการใช้ชีวิตในแบบสมัยก่อน อย่างเช่น ตอนเด็กเราเรียนมาก็จะมีปิดเทอม มีหยุดวันเสาร์อาทิตย์ มีวันให้นอนตื่นสายได้ แต่ช่วงที่เราเรียนหมอเราต้องมีช่วงที่เข้าไปดูคนไข้ทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงอาทิตย์ทำอย่างนั้นติดต่อกัน 2 เดือนแบบไม่มีหยุดเลย มันเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้ความรับผิดชอบสูงมาก
เมื่อต้องเจอกับช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ แล้วอะไรคือเหตุผลที่เรายังอยากเดินหน้าต่อไปในวิชาชีพนี้
ถามว่าหลายครั้งมีท้อไหม ก็ท้อนะ แต่สุดท้ายแล้ว เราจะไปทำอย่างอื่นหรอ เพราะสิ่งนี้มันคือความฝันที่เราอยากเป็น ถ้าเราไม่ทำตามนี้แล้วเป้าหมายแล้วชีวิตเรามันจะคืออะไร เป้าหมายหมายของเราคือการอยากเป็นหมอ อยากช่วยคน เพราะฉะนั้น ถ้าได้ทำตามความฝัน เราก็มีความสุข
แม้ระหว่างทางมันจะมีอุปสรรค แต่ถ้าวันไหนเราไปถึงเป้าหมายได้แล้ว เราก็จะมีความสุขเอง แม้จะมีอุปสรรคอะไรเข้ามา เราแค่ท้อนะ แต่ไม่เคยถอย และอยากจะเดินหน้าสู้ต่อไป
คิดว่าการคิดวิเคราะห์ หรือ การหาความรู้จากแขนงวิชาอื่นๆ ที่อยู่นอกห้องเรียนมันสำคัญต่อการเรียนหมออย่างไรบ้าง
ถ้ามาเป็นสายที่ต้องเรียนหมอ มันสำคัญสุดๆ เลย เพราะมันเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนจริงๆ มันไม่ใช่เหมือนการเรียนสมัยก่อนที่อ่านหนังสือมาสอบ พอเราเป็นหมอสิ่งที่เราเจอคือเคสคนไข้เราไม่สามารถที่จะมาเปิดหนังสือแล้วมันตรงกับสิ่งที่เราเจอตรงหน้าได้ มันคือการเรียนรู้
การเรียนรู้ของหมอมันกว้างใหญ่ไพศาลมาก มันไม่ใช่แค่ว่าอ่านหนังสือจบแล้วฉันจะเป็นทุกอย่างได้ มันเกิดจากการที่เราเห็นแล้วตั้งคำถาม ก่อนที่จะออกไปหาคำตอบ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องรู้จักวิธีการเรียนรู้ที่จะหาคำตอบ
แต่สมัยก่อนโรงเรียนไม่เคยหาคำตอบให้กับเรามาก่อน แล้วเราจะหายังไง ซึ่งใน 6 ปีของการเรียนหมอ จะมีการฝึกตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเมื่อพอเราได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติ ได้นำไปใช้ประโยชน์จริง เราก็จะจำได้มากขึ้นเพราะได้ลงมือทำจริงๆ มันไม่ใช่แค่อ่านหนังสือท่องจำแล้วก็ลืม
แปลว่าการท่องจำอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่เพียงพออีกแล้ว
มันเป็นทักษะเพื่อทำข้อสอบอย่างเดียว แต่ถ้าจะไปทำอาชีพจริงๆ มันใช้ไม่ได้ เอาจริงๆ ตอนที่เราจบหมอมาใหม่ๆ เรารู้สึกเลยว่าต่อให้ทำข้อสอบผ่านได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นหมอที่ดีเสมอไป เพราะตอนที่เราได้เจอกับชีวิตจริง และคนไข้มากมายที่เราหาคำตอบไม่ได้ ยังมีเคสที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะ ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปหาคำตอบใหม่ๆ เพื่อให้คนไข้หายได้
ในช่วงที่โซเชียลมีเดียยังไม่ได้พัฒนาเหมือนทุกวันนี้ ได้หาความรู้นอกห้องเรียนจากวิธีไหนบ้าง
ถ้าเป็นช่วงมัธยมจะเริ่มมีอินเทอร์เน็ตมาแล้ว แต่เรายังไม่ได้รับการเผยแพร่ขนาดนั้นในการใช้ เพราะว่าต่อให้ที่โรงเรียนก็ไม่ได้มีเครื่องมือที่ช่วยเข้าถึงความรู้มากนัก
ตอนเด็กเราชอบวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีอุปกรณ์อะไรให้ทดลอง คือก็เรียนเท่าที่มี ทดลองอะไรได้แค่นิดๆ หน่อยๆ ทุกครั้งที่มีวิชาวิทยาศาสตร์เราจะตื่นเต้นมาก แต่ก็ได้ทำแค่ตามหนังสือเรียน ขณะที่ในความรู้สึกจริงๆ แล้วนั้นเราอยากเรียนรู้เพิ่มเติมอีก สิ่งที่เราทำได้ก็คือไปร้านหนังสือแล้วก็ซื้อหนังสือมาดูเอง หรือถ้าอยากทำการทดลองก็ต้องไปซื้อคู่มือจากร้านหนังสือมาทำที่บ้านเอง เพราะมันคือความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง
เทียบกับเด็กในยุคนี้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีในการหาความรู้มากกว่าไหม
เด็กยุคนี้โชคดีมาก เคยคิดว่าถ้าเราเกิดในยุคสมัยนี้ เราก็อาจเกิดแรงบันดาลใจอะไรอีกมากมาย เขามีเทคโนโลยีที่ช่วยการเรียนรู้ให้สนุกมากขึ้น เปิดโลกทัศน์อะไรหลายอย่าง การที่เราเห็นอะไรมากขึ้น ได้รู้อะไรมากขึ้น มันอาจจะสร้างแรงบันดาลใจมากขึ้นด้วย
มันเป็นเรื่องดีที่เด็กสมัยนี้มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การเรียนรู้สนุกขึ้น ได้เห็นภาพจริง เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ค้นหาคำตอบ และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองหมดทุกอย่าง มันก็ยิ่งทำให้พวกเขาสามารถเป็นคนที่มีคุณภาพมากๆ ได้ในอนาคต ถ้าเกิดเขาใช้ในทางที่ถูกต้อง
เทคโนโลยีมันช่วยทำให้เราคิดวิเคราะห์อะไรได้มากกว่าในหนังสือไหม
ช่วยได้เยอะขึ้นเลย ยกตัวอย่างการเรียนหมอ บางทีสิ่งที่เราเรียนรู้มาผ่านหนังสือ แต่ไม่เคยเจอเคสนั้นจริงๆ แม้จะรู้ว่าควรรักษาตามที่หนังสือบอกไว้ แต่การดูแค่ภาพอย่างเดียวก็ไม่สามารถบอกอะไรได้มาก มาวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยนำพาเราให้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น วิดีโอที่ช่วยบอกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ควรใช้งานอย่างไร เผื่อถ้าเกิดมีเหตุฉุกเฉินในอนาคตขึ้นมา เราก็พอจะมีไอเดียในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้
จริงอยู่ เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียนรู้ก็จริง แต่ถ้ามองในภาพรวมๆ คิดว่าการศึกษายังต้องเพิ่มอะไรให้นักเรียนอีกบ้างไหม
สิ่งหนึ่งที่การเรียนสมัยนี้ขาดไปคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียน ขาดการตั้งคำถาม ขาดการลงมือทำ เพราะได้แต่เรียนผ่านบทเรียนในหนังสือ จำเนื้อหาแล้วก็เอาไปสอบ สุดท้ายเมื่อสอบเสร็จก็ลืม เวลาเราเป็นเด็กๆ เราจะถามตลอดเลยว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น มันคือการเรียนเพื่อให้แค่สอบผ่านรึเปล่า
พอเป็นเช่นนี้ แรงจูงใจในการเรียนก็ไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร การเรียนมันกลายเป็นเหมือนยาขมที่ไม่สนุกเอาเสียเลย แต่ถ้าเราเรียนแบบเข้าใจและได้นำไปใช้ได้จริง มันก็จะช่วยให้เด็กๆ อยากเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
คิดว่าในปัจจุบันนี้ ทักษะที่จำเป็นที่สุดที่นักเรียนควรมีคืออะไร
สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เราต้องรู้จักการตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบ มีการเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยให้การเรียนรู้สนุกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เขาต่อยอดในอนาคตได้มากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากเรื่องความรู้แล้ว คิดว่าการศึกษาควรมอบความรู้สึกแบบไหนให้กับนักเรียน
การศึกษาควรมอบแรงบันดาลใจให้นักเรียน คนเราจะดำรงชีวิตไปได้ควรจะมีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าเราไม่รู้ว่าในชีวิตเราต้องการอะไร เพราะเราไม่ได้เกิดแรงบันดาลใจในสิ่งนั้น ชีวิตก็จะดูเหมือนว่าล่องลอย ไม่เกิดแรงผลักดันที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายนั้น เราก็อาจเสียโอกาสดีๆ ในชีวิตไปก็ได้ อย่างเช่น เด็กหนึ่งคนตื่นเช้ามา ยังไม่รู้ว่าอนาคตอยากเป็นหรืออยากทำอะไร การที่เขาสอบวิชาคณิตศาสตร์แล้วได้คะแนนไม่ดี ก็จะปล่อยเลยตามเลย แต่ถ้าเด็กคนเดียวกันตื่นขึ้นมาโดยรู้เป้าหมายตัวเองแล้ว เขาก็จะมีพลังในการเรียนมากขึ้น วิชาไหนทำแล้วได้คะแนนไม่ดี เขาก็จะอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเดินไปสู่จุดหมายที่ฝันเอาไว้ให้ได้
หลังจากที่ได้เข้าไปร่วมสัมผัสกับโครงการ Samsung Learning Center มาแล้วคิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนที่ได้เข้าไปคุยกับน้องๆ นักเรียนที่เขาได้ทดลองเรียนรู้กับ Samsung smart learing center จริงๆ คือไปเจอน้องนักเรียนแล้วรู้สึกว่า น้องเขาทำไมแตกต่างกับเราในช่วงวัยเดียวกับเขาขนาดนั้น คือกระบวนการคิด และความสามารถของเขาเทียบเท่ากับตอนที่เราเข้าเรียนหมอเลยก็ได้ เห็นได้จากเวลาที่เขาได้พรีเซนต์เรื่องที่เรียนมาออกมาให้เราฟัง
เราได้คุยกับน้องๆ หลายคนก็รู้เลยว่า นี่ไม่ใช่เด็กที่อ่านหนังสือเพื่อเอาความรู้ไปสอบแต่เพียงอย่างเดียว เขาเป็นเด็กที่มีเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เราได้คุยกับน้องคนหนึ่งที่เขาสนใจเรื่องกบ เวลาถามอะไรเกี่ยวกับกบไปแล้ว เขาจะตอบได้เกือบทุกอย่างเลย เขาตอบได้ด้วยความมั่นใจ เขาบอกถึงกระบวนการทดลองต่างๆ เพื่อให้ได้คำตอบมาด้วย ฟังแล้วรู้สึกเลยว่า เขาได้รับการเรียนรู้แบบยั่งยืนจริงๆ เขาตั้งคำถามเป็นในสิ่งที่อยากรู้ เขาค้นหาคำตอบเป็น อีกทั้งยังสามารถลงมือทำการวิจัยด้วยตัวเอง
เด็กที่รู้คำตอบมาจากสิ่งที่ตัวเองทำ เขาจะตอบและแสดงออกด้วยความมั่นใจอย่างชัดเจนเลย แต่ถ้าเป็นคนที่ท่องจำมาจากหนังสือก็จะต่างกัน ถ้าย้อนกลับไปในตอนที่เรายังอยู่วัยเดียวกับเขา เราก็ยังคงตอบอะไรไม่ได้ขนาดนั้น
สิ่งที่พวกเขาได้รับมันคือทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนเลยนะ เพราะในทุกวันเราก็ย่อมเจอกับคำถามและปัญหาที่เข้ามาอยู่เสมอ แต่การศึกษาแบบเดิมๆ มันไม่ได้ช่วยสอนให้เราแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
โครงการ Samsung smart learning center เลยเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเหมาะกับการเรียนรู้ในสมัยนี้ เพราะเป็นการเรียนรู้อย่างยั่งยืน สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสามารถตั้งคำถาม รู้จักกระบวนการในการตอบคำถามเหล่านั้น และได้ลงมือทำจริงๆ จนเขาได้คำตอบออกมา แถมยังมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยให้การเรียนรู้สนุกมากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนได้เปิดโลกทัศน์และต่อยอดในอนาคตได้ด้วย
https://www.samsungslc.orghttps://www.facebook.com/samsungslc/