ไม่มีใครเก่งทุกเรื่องมาแต่กำเนิด ไม่ว่าใครต่างก็ต้องมี ‘ครู’ เป็นของตนเองกันทั้งนั้น เพราะถึงระบบการศึกษาจะดีอย่างไร ถ้าขาดครูที่ดีแล้วล่ะก็ ยากที่เด็กจะเรียนรู้และเติบโตมาอย่างมีศักยภาพได้
ในขณะที่สมัยนี้ทุกอย่างสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ไม่เว้นแม้กระทั่งการเรียนการสอนที่คลิปวิดีโอกลายเป็นครูสำหรับใครหลายคน ทำให้คนที่ทำอาชีพครูตัวเป็นๆ ถูกลดความสำคัญลงไปอย่างน่าใจหาย
แต่จริงๆ แล้ว ฟังก์ชันของความเป็นครูไม่ใช่แค่การให้ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว ยังหมายถึงความเป็นมนุษย์ที่ประกอบอาชีพครู ผู้ที่คอยผลักดันและค้นหาศักยภาพของลูกศิษย์ให้แสดงออกมาอย่างที่ควรจะเป็น เพราะสิ่งที่ครูมองเห็นคืออนาคตของลูกศิษย์ มาลองสำรวจฟังก์ชันของความเป็นครูที่แท้จริงว่าควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ยอมรับในความแตกต่าง
เพราะครูไม่ใช่เครื่องจักรที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ครูคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้และยังมีความรู้สึกเช่นเดียวกับลูกศิษย์ ด้วยพื้นเพของเด็กแต่ละคนที่ล้วนแตกต่างกัน แน่นอนว่าศักยภาพในการเรียนรู้ย่อมมีไม่เท่ากัน บางคนเก่งวิชานี้มาก แต่อีกคนทำคะแนนได้น้อยอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่ครูควรทำจึงไม่ใช่การทำโทษเด็กที่ได้คะแนนน้อย แต่เป็นการทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีทักษะและความสามารถไม่เหมือนกัน ยอมรับในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน แล้วสังเกตว่าวิชาหรือทักษะไหนที่เขาทำได้ดีที่สุด แล้วจึงค่อยๆ ดึงจุดเด่นเหล่านั้นออกมาให้ปรากฏ
อย่างเช่นแนวคิดของการสอนในประเทศฟินแลนด์ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ครูทุกคนเลือกที่จะไม่บอกว่าเด็กนักเรียนทุกคนจะต้องได้ 100 คะแนนเต็มเสมอไป เพราะเด็กบางคนอาจจะทำคะแนนได้สูงสุดเพียงแค่ 80 คะแนน ก็ถือว่าเด็กคนนั้นทำได้ดีที่สุดแล้ว เพราะปรัชญาการศึกษาฟินแลนด์เข้าใจเป็นอย่างดีว่า คนเรามีจุดที่ดีที่สุดไม่เท่ากัน เรียกว่าเป็นการสอนอย่างเข้าใจและยอมรับในตัวเด็กจริงๆ
เปิดโอกาสให้ลงมือทำ
เชื่อหรือไม่ว่า ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการสอนที่ได้ยินจากเด็กมหา’ลัยส่วนใหญ่ คือการที่ครูสอนเนื้อหาตามหนังสือเรียนแบบเป๊ะๆ หรือบรรยายตามสไลด์ราวกับท่องมาสอน สิ่งที่นักศึกษาจะได้ก็เป็นเพียงชุดความรู้ที่สามารถหาอ่านเองได้ ไม่จำเป็นต้องมาเรียนกับครูแต่อย่างใด เกิดเป็นคำถามว่าถ้าหากรูปแบบการสอนเป็นแบบนี้จะมีครูไว้ทำไม แน่นอนอยู่แล้วว่าครูคือผู้ที่มีความรู้มากกว่าลูกศิษย์ ผ่านการใช้ชีวิตมามากกว่า เจออุปสรรคอะไรมามากกว่า สิ่งที่ครูสามารถมอบให้ได้ก็คือประสบการณ์อันล้ำค่าที่ลูกศิษย์ไม่สามารถออกไปค้นหาได้ด้วยตัวเองแน่ๆ บางทีความรู้นอกตำราที่ชอบพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ก็คือประสบการณ์แน่นๆ ที่มาจากครูนี่เอง
หากจะเอ่ยถึงครูที่ได้ชื่อว่านอกคอก คงหนีไม่พ้นครู John Keating จากภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society ที่กล้าแหวกขนบของการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เข้มงวดสุดๆ ด้วยการให้นักเรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เพียงเพื่อจะให้พวกเขาได้เข้าใจความหมายของวลีจากภาษาละตินที่ว่า “Carpe diem” ที่แปลว่า “Seize the Day” หรือจงฉกฉวยวันเวลาเอาไว้ โดยให้เด็กนักเรียนได้ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริงๆ จากภายนอก และทิ้งห้องเรียนไว้เบื้องหลังชั่วคราว เรียนรู้ชีวิตจากความเป็นหนุ่มสาวให้เต็มที่ เพราะถ้าไม่รู้จักเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อถึงวันหนึ่งก็อาจจะสายเกินไป วิธีคิดแบบนี้คงมีแต่ครูที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วเท่านั้น ที่จะสามารถปลุกเร้าให้ลูกศิษย์กล้าที่จะออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
เข้าใจในความหลากหลาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูก็เป็นคนคนหนึ่งที่มีอารมณ์และมีความรู้สึกไม่ต่างจากคนที่ทำอาชีพอื่นๆ ทั่วไป แต่ความยากของครูคือการต้องจัดการกับความหลากหลายของลูกศิษย์ทุกคน อย่างที่บอกไปว่ายอมรับในตัวลูกศิษย์คือคุณสมบัติสำคัญที่ครูทุกคนต้องมี และสิ่งที่รองลงมาจากการยอมรับก็คือความเข้าใจ เพราะในการปฏิสัมพันธ์กับลูกศิษย์แต่ละคนก็ต้องใช้หลักจิตวิทยาที่แตกต่างกันออกไป ก็ต้องปรับรูปแบบวิธีการสอนให้เข้ากับลูกศิษย์นั้นเป็นคนๆ ไป ไม่สามารถใช้การสอนที่เป็นแพทเทิร์นเดียวกันได้ทั้งหมด ความเข้าใจจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ครูที่ดีควรมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คุณสมบัติของครูด้านความเข้าใจนั้น ได้สะท้อนผ่านตัวละคร ครูป๋อง ในหนังสั้นเรื่อง ‘Believe’ จาก โครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดย มูลนิธิเอสซีจี บอกเล่าเรื่องราวอันน่าประทับใจของครูอาชีวะที่ได้ชื่อว่าเป็นครูที่ต้องทำหน้าที่อย่างหนักและโหดหินที่สุด เพราะด้วยภาพจำของเด็กนักเรียนอาชีวะที่สังคมมองว่าเป็นเด็กเกเร จึงทำให้การเรียนการสอนน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยคุณสมบัติของครูป๋องที่รู้จักบุคลิกของเด็กนักเรียนทุกคนเป็นอย่างดี พยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละคนด้วยความเชื่อมั่น อดทนกับการสอนที่ยากลำบาก และเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำในสิ่งที่ชอบ ทำให้ครูป๋องสามารถดึงศักยภาพของนักเรียนทุกคนออกมาได้อย่างหมดจด
เพราะสิ่งที่ครูป๋องเชื่อมั่นและมองเห็นคืออนาคตของลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จ หน้าที่ของเขาในตอนนี้คือทำให้เด็กคนนั้นเติบโตอย่างที่คาดหวังให้ได้ สะท้อนให้คนในสังคมเห็นว่าจริงๆ แล้วในโรงเรียนอาชีวะทุกแห่ง ล้วนมีครูที่พร้อมจะผลักดันและคอยสนับสนุนเด็กนักเรียนอาชีวะเหล่านี้อีกมากมาย
อนาคตที่มองหา เริ่มจากครูที่มองเห็น
สามารถรับชมหนังสั้นเรื่อง “Believe” ได้ทาง Youtube: scgfoundation และ Facebook page อาชีวะฝีมือชนคนสร้างชาติ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://thematter.co/byte/magic-from-world-class-education-frim-finland/21610
https://en.wikipedia.org/wiki/Dead_Poets_Society