ยังไม่มีใครนึกออกว่าห้องเรียน ‘ฟินแลนด์’ หน้าตาเป็นยังไง พอๆ กับ ‘ครูฟินแลนด์’ ที่ได้ยินแต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากทั่วสารทิศว่า พวกเขาถูกสร้างมาเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของเด็กและการเรียนรู้โดยเฉพาะ
เพราะการเรียนฟินแลนด์ คือ การเตรียมความพร้อมให้เด็กรู้จักใช้ชีวิต
ครูฟินแลนด์ทำให้การศึกษาฟินแลนด์ไต่ระดับการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA เป็นอันดับต้นๆของโลก และเปลี่ยนให้ประเทศฟินแลนด์ที่นอกจากนักท่องเที่ยวจะมาชม ‘แสงเหนือ’ แล้ว ยังมาเที่ยวเพื่อถอดบทเรียนการศึกษาฟินแลนด์แบบ Educational tourism อย่างที่ไม่มีชาติไหนทำได้มาก่อน
ระบบการผลิตครูคุณภาพสูงของฟินแลนด์ ทำให้ครูแต่ละคนสามารถมองเห็นห้องเรียนในเชิงกายภาพ และมองเห็นความเป็นธรรมชาติของเด็กแต่ละคน โดยที่พวกเขาสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะหน้าและความพร้อมของผู้เรียน แบบที่ไม่มีความตายตัว
มันจึงต้องใช้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาหลายแขนงที่ตกผลึกมาอย่างยอดเยี่ยมแล้วเท่านั้น ถึงจะสร้างบรรยากาศเรียนรู้ที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่ยากที่จะไขว่คว้าให้เป็นความจริงได้
แต่ตอนนี้กำลังมีเด็กร้องไห้… ก่อนเริ่มห้องเรียนฟินแลนด์ด้วยซ้ำ
มันจะไปรอดเหรอ?
เด็กร้องไห้ กับใครๆ ที่ไม่รู้จัก
The MATTER ไปสังเกตการณ์ ‘ห้องเรียนฟินแลนด์จำลอง’ ในงาน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประเมินจากสายตาไอ้ห้องเรียนฟินแลนด์ ก็ไม่ได้ต่างจากห้องเรียนเด็กเล็กทั่วไปในเมืองไทยเท่าไหร่นัก อุปกรณ์การเรียนรู้ก็หน้าตาเหมือนบ้านเรา กระดานสีขาว กระดาษสี ดินสอ เพียงแต่ไม่มีเก้าอี้ให้นั่งเป็นแถวเท่านั้น
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘ห้องเรียนจำลอง’ แถมจัดในห้องประชุม Meeting Room 2 ขนาดเบ้อเริ่มเทิ่ม มีคนไม่ต่ำกว่า 50 ชีวิตมานั่งสังเกตการณ์อยู่รอบๆ เหมือนลานประลองกลาดิเอเตอร์ก็ไม่ปาน จะบอกว่าเหมือนห้องเรียนจริงๆ ของชาวฟินแลนด์ก็พิลึกกึกกือเกินไป
พ่อแม่ที่ลงทะเบียนพร้อมผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ ทยอยมานั่งเต็มห้อง โดยมีกฎว่าห้ามส่งเสียง เพราะการเรียนนี้จะไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงใดๆ อันเป็นตัวขัดขวางการสื่อสารระหว่างครูกับเด็ก และห้ามเข้าไปรบกวนการเรียนการสอนในคลาสจำลองนี้เด็ดขาด พ่อแม่ต้องคอยอยู่รอบนอกเท่านั้น แต่หากลูกๆ วิ่งร้องไห้จ้าโผเข้าไปกอดระหว่างกิจกรรมก็ไม่ว่ากัน แต่อะไรที่เกิดในคลาสฟินแลนด์ ต้องอยู่ในอาณาเขตฟินแลนด์! เข้าใจ๋?
เด็กเสื้อฟ้านั่งร้องไห้ท่ามกลางความงงงวยกลางห้อง เด็กซนอีกคนวิ่งไปมาไร้แก่นสาร ไม่มีเด็กคนไหนเลยที่รู้จักกันมาก่อน แต่ละคนคงสับสนไม่น้อย และบ่นอุบอิบอยู่ในใจที่จู่ๆ พ่อแม่ก็พามาร่วมกิจกรรมสุดแสนพิกล แถมต้องอยู่ท่ามกลางสายตาของผู้คนที่พวกเขาไม่รู้จัก
“พังแน่ๆ” ผมนึกในใจ
“คลาสฟินแลนด์ พังตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม”
แต่ท่ามกลางความปั่นป่วน มีสาวใหญ่ฝรั่งคนหนึ่ง นั่งบนพื้นกลางวง เธอจ้องมองความเป็นไปต่างๆ ด้วยสายตาที่นิ่งงัน และกวาดสายตาไปรอบๆ อย่างพินิจพิเคราะห์เหมือนกำลังประมวลผลอะไรสักอย่าง เหลือเวลาอีก 5 นาทีก่อนคลาสจะเริ่ม ยังพอมีเวลาที่ให้เธอจะสำรวจทุกอย่าง
เด็ก 20 คนจะติดชื่อเล่นภาษาอังกฤษให้เธอเรียกได้สะดวก แต่ชื่อเล่นเด็กไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนต่างชาติจะออกเสียงได้คุ้นลิ้น กำแพงภาษาอาจเป็นอุปสรรคหลักที่อาจทำให้สาวฝรั่งหนักใจ อย่างน้อยเด็กที่ร่วมคลาสก็เรียน 2 ภาษามาบ้าง คงไม่ถึงกับสื่อสารกันไม่ได้เลย
หญิงใบหน้ายิ้มแย้ม มีชื่อว่า ‘ตีน่า’ (Tiina Malste) ครูฟินแลนด์ขนานแท้ ที่จะมาสาธิตการสอนขนบห้องเรียนฟินแลนด์ จาก EduCluster Finland (ECF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในการพัฒนาระบบการเรียนของฟินแลนด์ ที่สามารถนำไปปรับใช้การเรียนการสอนกับประเทศอื่นๆ ได้ แม้จะมีความต่างของวัฒนธรรมก็ตาม
ตีน่าเริ่มห้องเรียนอย่างง่ายๆ โดยการให้เด็กๆ มาล้อมวง แต่เด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างฉะฉาน เธอจึงทำให้คลาสมีความเป็น ‘เกม’ มากกว่าการยัดเยียดวิชาการ เธอจึงพาเด็กๆ ไปทำความรู้จักกับ รุ้งกินน้ำ และสีของรุ้งกินน้ำ จากนั้นก็ร้องเป็นเพลง อ่านหนังสือนิทานผ่านหุ่นมือกระต่ายน้อย เด็กๆ ค่อยๆ ปรับตัวอย่างคุ้นเคย สังเกตได้ชัดเจนว่า แถววงกลมค่อยๆ ขยับหดเล็กลงเรื่อยๆ จากที่เคยนั่งห่างครูฝรั่ง กลับแคบลงจนครูตีน่าต้องบอกให้ขยับออกไปหน่อย มันแคบเกินไปแล้ว
ในห้องเรียนจะไม่มีการใช้หนังสือเรียนเลยและไม่มีใบงานใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการเรียนแบบ Play based คือ การเล่นเพื่อการเรียนรู้ ดังนั้นคุณครูจะไม่พยายามบอกเด็กว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด แต่จะการพยายามสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียนขึ้นมา โดยที่จะช่วยกันถามคำถาม แล้วก็ช่วยกันคิดว่ามันควรจะเป็นแบบไหน
จากนั้นเสียงหัวเราะจึงเริ่มดังขึ้น เด็กๆ พยายามยกมือตอบคำถามอย่างมีส่วนร่วม ไม่มีใครยอมใคร เด็กๆที่ขี้อายเริ่มเป็นตัวของตัวเอง จนบางคนก็เป็นตัวของตัวเองมากไป
เด็กคนหนึ่งเดินไปหยิบกระต่ายที่อยู่กลางวงมาเล่นคนเดียวส่วนตัวระหว่างการสอน ตีน่าจึงหยุดพฤติกรรมดังกล่าว โดยพูดเพียงว่า “ฉันว่ากระต่ายควรจะอยู่ตรงกลางวงของพวกเรานะจ๊ะ” เป็นการห้ามปรามที่ละมุนละม่อมที่สุด โดยไม่เอ่ย คำว่า “ฉันห้าม” หรือ “ไม่” ออกมา และเด็กคนดังกล่าวก็ไม่ได้ขัดขืนเลย
ตีน่าทำให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เด็กที่นั่งเงียบล้วนได้โอกาสที่จะตอบ เด็กที่นั่งห่างเขยิบเข้ามาใกล้ เด็กที่ตอบผิดก็ไม่มีการทำให้อับอาย “เธอเก่งมากเลยที่สะกดว่า Pupple (สีม่วง) แต่มีบางคนได้ตัดสินใจไว้ว่า “Purple” มันเขียนแบบนี้ พวกเราเลยทำอะไรไม่ได้”
ผิดถูกไม่ใช่สาระสำคัญ (ซึ่งตีน่าจะมาเฉลยให้ถูกภายหลัง) เด็กน้อยคนนั้นก็ยังจะกล้าตอบในสิ่งที่เธอคิด กำแพงน้ำแข็งแห่งการเรียนรู้ค่อยๆ ละลายลงจากใจของเด็กๆ มันไม่เหมือนการเรียน มันคือการเล่นสนุก ที่ช่วยให้เด็กๆ กล้าที่จะแสดงออกอย่างหลากหลาย แต่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกันร่วมกับผู้อื่น
กว่าจะเป็นครูฟินแลนด์
การจะเป็นครูฟินแลนด์ต้องผ่านหลักสูตรที่เข้มงวด ครูทุกคนต้องผ่านการศึกษาในระดับปริญญาโทเป็นอย่างน้อย และจะมีอิสระมากในการออกแบบการสอนของตัวเอง โดยมิได้มาจากส่วนกลาง อย่างไรก็ตามรายได้ครูฟินแลนด์ถือว่าสูงมากอยู่ และได้รับความไว้วางใจทางอาชีพเทียบเท่ากับหมอหรือทนายความ ซึ่งครอบครัวฟินแลนด์จะถือว่าโรงเรียนใกล้บ้าน เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องไปสอบแย่งชิงกับคนอื่นๆ เพื่อเข้าโรงเรียนยอดนิยมของประเทศ
ภายในเวลาไม่นาน เราได้เห็นอุปนิสัยคร่าวๆ ของเด็กแต่ละคนได้ค่อนข้างชัดเจน เด็กบางคนมีพลังสูง กล้าแสดงออก เด็กบางคนเข้ากับเพื่อนง่ายคอยหาเรื่องพูดคุยตลอด เด็กหญิงที่มีความเป็นพี่สาวคอยแปลคำพูดของตีน่าให้น้องๆ ฟังอย่างชัดเจนขึ้น ส่วนเด็กที่ขี้แยร้องไห้ตอนเริ่มคลาส ขณะนี้มีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าเขาแล้ว
สำหรับเรามันไม่เหมือนห้องเรียน แต่มันเหมือนครูตีน่าได้ร่ายเวทมนตร์สะกดใส่ทุกคนให้เห็นความงดงามของการเรียนรู้อีกครั้ง ที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็หลงลืมไปแล้ว มันควรสนุก สร้างสรรค์ และเตรียมความพร้อมให้เราอยู่ร่วมกับสังคมส่วนรวมได้
เคยมีคนสบประมาทว่า ครูฟินแลนด์ ขนบฟินแลนด์ ก็มีแต่เด็กฟินแลนด์เท่านั้นที่เรียนรู้เรื่อง
แต่ห้องเรียนจำลองนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า เด็กไทยก็เรียนได้ และเรียนดี โดยไม่มีกำแพงภาษาใดๆ มาขวางกั้นเลย ครูที่เข้าใจธรรมชาติของเด็กเท่านั้นที่จะบรรเลงการเรียนที่กลมกลืนแบบนี้ได้
เมื่อคลาสจบลง ดูเหมือนเด็กๆ จะยังติดลมอยู่ แต่สิ่งสุดท้ายที่คุณครูจะให้นักเรียนทำนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับห้องเรียนฟินแลนด์ (ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่คุ้นชินนักสำหรับห้องเรียนไทย) นั่นก็คือการให้นักเรียนประเมินตัวเอง
แต่การประเมินตัวเองของเด็กวัย 8 – 10 ขวบจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะถ้านักเรียนไม่เคยประเมินตัวเองมาก่อนหรือว่าไม่คุ้นชิน ครูก็จะทำออกมาในรูปแบบที่ง่ายที่สุด โดยการใช้การวาดรูป ซึ่งจะมี 3 แบบ คือการให้วาดรูปหน้า
- หน้ายิ้ม
- หน้ากลางๆ เบื่อๆ
- และหน้าบูดที่แสดงว่า ฉันกำลังแย่แล้ว
ความรู้สึกต่างๆ เป็นสิ่งที่แสดงออกอย่างง่ายเพื่อให้น้องๆ ได้คิดว่า ตัวเองทำได้ดีขนาดไหนในห้องเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนและประเมินตัวเอง
“ในฟินแลนด์ไม่จำเป็นที่เราต้องบอกนักเรียนทุกคนว่าจะต้องได้คะแนน 100 เต็มเท่ากันทุกคน ปรัชญาการศึกษาฟินแลนด์เข้าใจเป็นอย่างดีว่า คนเรามีจุดที่ดีที่สุดไม่เท่ากัน ดังนั้นเด็กบางคนอาจจะดีที่สุดแล้วใน 80 เปอร์เซ็นต์ หรือบางคนอาจจะน้อยกว่านั้น แต่ฟินแลนด์ถือว่าเด็กได้ทำดีที่สุดแล้ว”
“จริงๆ แล้วการเรียนรู้มันไม่ได้เป็นประสบการณ์ที่มีเฉพาะนักเรียนหรือครูเท่านั้น ลองนึกถึงภาพสามเหลี่ยม จะเห็นว่าทั้งสามส่วน เป็นส่วนที่สำคัญเท่าๆ กัน ซึ่งประกอบไปด้วย นักเรียน คุณครู และส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือครอบครัว”
ครูจุ๊ย‘–กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้เป็นเสมือนแม่งานครั้งนี้ ในฐานะนักวิชาการผู้ศึกษาเปรียบเทียบระบบการศึกษาไทยและฟินแลนด์ กล่าวเพิ่มเติม
“แล้วใครที่เป็นเจ้าของการเรียนรู้จริงๆ? ถึงแม้ว่าทั้ง 3 ส่วนจะมีความสำคัญเท่ากันหมด แต่ในฟินแลนด์ถือว่านักเรียนจะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง แล้วก็จะต้องรับผิดชอบกระบวนการทั้งหมดนี้มากที่สุด ผู้ที่เป็นเจ้าของการเรียนรู้จะต้องบอกได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกนึกคิดยังไง ต้องสะท้อนความคิดออกมาให้ได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกยังไงกับสิ่งที่เรียน ดังนั้นในฐานะที่สมมติเราเป็นผู้เรียน เราก็จะต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า เรารู้สึกอย่างไรกับกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ ในฐานะที่เป็นคุณครูเอง ก็คิดว่าตัวเองได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นในการสอนแต่ละครั้งก็สะท้อนแล้วก็ให้ feedback ตัวเองเสมอ แล้วก็จะปรึกษากับ teacher trainer หรือครูฝึกสอนด้วย”
พ่อแม่ต้องอยู่ในวงโคจรเดียวกัน
การเปลี่ยนระบบการศึกษาแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที แม้การศึกษาของฟินแลนด์จะงดงามอยู่มากๆ ก็ตาม แต่ต้องเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราไม่สามารถ Copy & Paste ขนบฟินแลนด์มาใช้ได้เลยทั้งโครงสร้าง
พัฒนาการของเด็กทั้งในเชิงวิชาการและเชิงคุณภาพ เด็กนักเรียนต้องมีสุขภาพกายกับสุขภาพใจพร้อม โดยที่เราจะไปพึ่งกับโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และที่บ้านในการทำงานร่วมกันกับโรงเรียน
“ดังนั้นสิ่งแรกที่ พ่อ-แม่จะต้องเข้าใจก่อนเลยก็คือ การศึกษาหรือการเรียน ไม่ได้หมายความว่าเอาลูกไปไว้ที่โรงเรียนแล้วจบ แต่ในฐานะพ่อ-แม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานั้นด้วย มันเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ทุกฝ่ายในสามเหลี่ยมนั้นจะต้องมีบทบาทอย่างใกล้ชิดและเต็มที่เพื่อที่จะให้ประโยชน์ตกไปอยู่กับผู้เรียนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ครูจุ๊ย ย้ำเตือนอีกครั้ง ว่าพ่อแม่เองต้องเป็นตัวเริ่มจุดประกายก่อนเนิ่นๆ
เพียงไม่กี่ชั่วโมงเราได้เห็นความหลากหลายของเด็กๆ เห็นธรรมชาติที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน และเห็นหัวใจของการเรียนการสอนที่เราได้หลงลืมไปแล้ว ว่ามันควรสนุก พอๆ กับทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดห้องเรียนจำลองครั้งนี้ ก็คือ คำตอบของลูก รองลงมาก็เป็นคำตอบของพ่อ-แม่ ส่วนคำตอบของครูก็จะเป็นแค่ส่วนสำคัญเล็กๆ เท่านั้นเอง”
“ก่อนที่จะส่งลูกไปเรียนที่ฟินแลนด์ พ่อ-แม่ต้องถามตัวเองดูก่อนว่า สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่” ครูตีน่าท้าทายได้ดีทีเดียว
เราว่าเวทมนตร์บทสุดท้ายที่ต้องร่ายเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา คือมนต์สะกดที่อยู่ในหัวใจของพ่อแม่เอง ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราพร้อมจะเปล่งเสียงมันออกมาตอนไหน
ขอขอบคุณ
Ms. Tiina Malste Lead Expert : EduCluster Finland
‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ