แม้สถานการณ์โควิดตอนนี้ จะเป็นวิกฤตที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า และทำให้เราต้องดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และปากท้องเพื่อความอยู่รอด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป คือปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะ ที่มาพร้อมกับปัญหาขาดแคลนทรัพยากรและกำลังก่อตัวเป็นคลื่นลูกใหญ่ แค่เรายังมองไม่เห็นชัดๆ ในวันนี้
การสื่อสารเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ทุกคนมองเห็นภาพตรงกัน เพื่อนำไปสู่ทางออกร่วมกัน ชื่อของเพจ Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ด้วยเป้าหมายที่อยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ หวาย – ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผู้ก่อตั้งเพจ Environman ถึงเบื้องหลังในการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนโลก ทั้งอุปสรรคและความสำเร็จที่เกิดขึ้น รวมถึงบทบาทการเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในแคมเปญ Trashless Society โดย SCG ที่รณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม
จุดเริ่มต้นของ Environman
“สมัยเรียนปริญญาตรี ปี 1 ผมมีวิชาเรียนตัวหนึ่งคือวิชาพลเมือง ซึ่งจะพาไปดูปัญหาต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยและพื้นที่รอบๆ แล้วก็ให้คิดวิธีการแก้ไข ผมก็ได้ไปดูโรงคัดแยกขยะที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจอะไร พอไปเจอที่นั่นค่อนข้างช็อก เพราะขยะมันมหาศาลมาก มีทั้งขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่บางส่วนก็ต้องถูกทิ้งในหลุมฝังกลบเพราะไม่สามารถคัดแยกได้ เราก็ย้อนมาคิดกับตัวเองว่า ขยะมหาศาลที่อยู่ตรงนี้ส่วนหนึ่งมันก็มาจากเรานะ”
“หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจปัญหาขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เลยคิดว่าเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจากอะไรดีที่สุด ซึ่งคำตอบก็คือ ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน ช่วงแรกผมก็พยายามลดการสร้างขยะ ลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ประกอบกับการที่ผมทำงานอาสา ทำให้ผมได้เจอกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ มาตั้งเป็นเพจ Environman จุดประสงค์คือเราอยากจะสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมไปสู่สังคม จากปัญหาที่เราได้เห็น ให้เขาได้เห็นด้วยว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ และอยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในประเทศไทย”
“ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้เราใช้ชีวิตปกติโดยไม่รู้ว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้อย่างไร เราอาจจะไม่เห็นปัญหา แต่จริงๆ ตอนนี้ปัญหามันชัดขึ้น เราเห็นสัตว์ตาย เห็นขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม เผชิญกับมลพิษในอากาศทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่แทบทั้งหมดก็มาจากกิจกรรมของเราที่ทำร่วมกัน ผมลองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว ก็อยากส่งต่อให้สังคมด้วย เพราะเชื่อว่าความรู้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้”
ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป
“ช่วงที่ผมทำเพจแรกๆ อยู่ในช่วงกำลังพีค คนกำลังเห็นว่าปัญหามันหนักมาก เพราะช่วงนั้นมีทั้งฝุ่น PM2.5 หรือเห็นพะยูนมาเรียมตายเพราะขยะจำนวนมากในทะเล สถานการณ์สิ่งแวดล้อมค่อนข้างได้รับความสนใจ ไม่ใช่แค่จากภาคประชาชน แต่ภาคเอกชนและภาครัฐเองก็สนใจ จนมีมาตรการด้านการลดขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการผลักดันการใช้รถ EV มากขึ้น”
“พอเกิดสถานการณ์โควิด ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่นอนทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมในชีวิตของมนุษย์เราส่งผลต่อโลกมากแค่ไหน เราจะเห็นว่าช่วงล็อกดาวน์ใหม่ๆ พอกิจกรรมต่างๆ ลดลง ก็ทำให้มลพิษลดลงมากที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติก็ได้รับการฟื้นฟูมากขึ้น”
“แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ได้เห็นว่า ขยะต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นเหมือนกัน ทั้งขยะจากเดลิเวอรี หรือขยะหน้ากากอนามัยต่างๆ ที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เกิดคำถามว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไร ขณะเดียวกันเรื่องของ Climate Change ก็เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบแบบที่เราไม่สามารถตั้งตัวได้เหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องภัยแล้ง หรือคลื่นความร้อนที่ตอนนี้อเมริกาเผชิญอย่างหนัก หรือระดับน้ำทะเลที่กำลังจะสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อคนอย่างมาก”
“ผมว่าหลังสถานการณ์หลังโควิดคงต้องมองว่าเราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจในรูปแบบไหน จะนำไปสู่การฟื้นฟูแบบสีเขียว (Green Recovery) ได้อย่างไร หรือถ้ากลับไปแบบเดิม ปัญหาจะซ้ำเดิมหรือเปล่า มุมมองที่สำคัญอยู่ที่เราจะดำเนินการอย่างไร เพราะไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามต้องมีส่วนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ผิดที่เราจำเป็นต้องใช้พลาสติก ต้องใช้หน้ากากอนามัยอย่างมาก แต่สิ่งที่เราต้องมองคือเราจะจัดการกับมันอย่างไร จะทำให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับกับขยะเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นได้ไหม ผู้คนยังควรต้องสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม แต่เรื่องความจำเป็นก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
คนรุ่นใหม่กับปัญหาสิ่งแวดล้อม
“ผมมองว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ เราอาจจะได้รับข้อมูลที่กว้างกว่าและรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมันกำลังเกิดขึ้นตอนนี้และส่งผลต่ออนาคต และอาจจะมองว่าที่ผ่านมา ทำไมปัญหาถูกหมักหมมมากขนาดนี้ ทำไมเราปล่อยให้โลกร้อนขึ้น ปล่อยให้ขยะตกค้างในทะเลจนไทยติดอันดับ 6 ของโลก หรือปล่อยให้มลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น พอมันกระทบกับตัวเองและสุขภาพโดยตรง ทำให้คนรุ่นใหม่อยากออกมาผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น”
“เป็นเรื่องน่าเศร้าของปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องให้วิกฤตจริงๆ คนถึงจะสนใจและ Take Action มากขึ้น การที่สัตว์ตายอีกแล้ว ร้อนทุบสถิติอีกแล้ว เป็นเรื่องที่เรียกว่า ‘ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา’ ซึ่งความยากของ Environman ในการสื่อสารประเด็นเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ คือการทำให้เขาเข้าใจมันให้มากขึ้น และพยายามทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของทุกๆ คน ไม่โทษใครคนใดคนหนึ่ง แล้วเราเองก็มีส่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยกัน”
“คนรุ่นใหม่ถึงจะเชื่อมั่นและออกมาผลักดันเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องฉุกเฉิน เกี่ยวข้องกับสุขภาพและชีวิตที่จะต้องเผชิญในอนาคต เราเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้มากในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อย่าง Fridays for Future ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ออกมาประท้วงเรื่องโลกร้อน หรือ เกรตา ธันเบิร์ก ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวทั่วโลก รวมถึงองค์กร Trash Hero ที่ทำเรื่องการเก็บขยะ และกลุ่มคนอีกมากมายที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นผมเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ว่าเรามีความตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้อนาคตวันข้างหน้าของเราดีขึ้น”
Trashless Society กับการไม่ด่วนตัดสินให้อะไรเป็นขยะเร็วไป
“ผมดีใจที่ได้เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมสื่อสารแคมเปญ Trashless Society ของ SCG เพราะมันสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ทุกคนเดินไปด้วยกัน ทำให้การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งไม่มีใครทำคนเดียวได้ เช่น ผู้บริโภคก็ต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และทำให้ทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด ด้วยการแยกให้เป็น คือการแยกขยะเปียกออกจากขยะที่รีไซเคิลได้ ให้สิ่งเหล่านั้นไม่กลายเป็นขยะที่กองอยู่ในหลุมฝังหรือนำไปเผากำจัดแบบผิดวิธี ในหน่วยงานภาครัฐเองก็ต้องทำให้ระบบ Trashless Society เกิดขึ้นได้จริง เช่นการมีมาตรการหรือขอความร่วมมือในการลดขยะจากภาคส่วนต่างๆ หรือการพัฒนาระบบการจัดการขยะให้ดีขึ้น”
“อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญคือเอกชนหรือผู้ผลิต ที่จะทำให้มีผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่าง SCG ที่นำหลัก Circular Economy มาปรับใช้ทั้งระบบ เช่น การพัฒนา SCG Green Choice หรือฉลากสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของ SCG ทำให้เป็นทางเลือกกับผู้บริโภค หรือนวัตกรรม High Quality Post-Consumer Recycled Resin ที่นำพลาสติกใช้แล้วชนิด HDPE ที่เราช่วยคัดแยกที่บ้านไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ที่สามารถนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง รวมถึงโครงการ SCGP reXycle ซึ่งเราสามารถนำกล่องกระดาษหรือขวดพลาสติกที่แยกไว้ไปทิ้งตามจุดรับที่โครงการต่างๆ และยังมีแอปฯ คุ้มค่า (KoomKah) ที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลการซื้อ-ขายขยะของธนาคารขยะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
“การไม่ด่วนตัดสินให้อะไรเป็นขยะคือหัวใจสำคัญ เราอาจจะมองได้ด้วยซ้ำว่าทุกอย่างไม่ใช่ขยะ แต่คือทรัพยากรที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้ อย่าด่วนตัดสินว่าอะไรคือขยะแล้วเราทิ้งเลย ผมมองว่าวัสดุต่างๆ มีข้อดีของมันทั้งหมด เช่น พลาสติกไม่ได้เป็นตัวร้าย เพราะถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย และคำนึงถึงการใช้งาน วัสดุต่างๆ ที่เราใช้อยู่ถ้าเรามองว่ามันเป็นขยะเราก็ทิ้งรวมไปกับสิ่งอื่นๆ มันก็จะกลายเป็นขยะไปจริงๆ แต่ถ้าเรามองว่ามันมีประโยชน์ มันสามารถนำไปใช้ต่อ รีไซเคิล หรือขายได้ หมุนเวียนกลับมาเป็นทรัพยากรให้เราใช้ใหม่ได้อยู่เสมอ”
อนาคตของ Environman อนาคตของโลก
“ในบทบาทของสื่อ เรามีส่วนสร้าง Impact ให้สังคมได้ แต่มันอาจจะขับเคลื่อนช้า ต้องเห็นปัญหาอีกเท่าไร เราต้องเสนออีกเท่าไร กว่าจะเกิดการลงมือขึ้นจริง แต่ผมก็ยังเชื่อว่าการให้ความรู้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ความคาดหวังของเราคือวันหนึ่งสังคมหรือโลกของเราจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศ มีน้ำที่สะอาด มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไม่มีขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ยุติการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต อยากให้คนรุ่นใหม่ในอนาคตกลับมาบอกว่ารุ่นเราเป็นหนึ่งในรุ่นที่พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้โลกดีขึ้น เพราะฉะนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมมันควรเป็นเรื่องของทุกคน”
“ตอนนี้ Environman สนใจประเด็นที่จะทำให้เกิด Action มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันธุรกิจของเราเองให้ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันในเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริง”
“ความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด และเป็นสิ่งที่เราต้องทำ อยากให้มองว่าการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ เพื่อทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อโลกและสังคมของเราในระยะยาวต่อไป”
ใครที่ฟังหวายพูดแล้วอยากร่วมสร้าง Trashless Society ด้วยกัน คลิกไปดูวิธีการเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2WsXKZz