อัจฉริยะ คือคำพูดติดปากของคนยุคนี้ ที่ไม่ว่าจะหยิบจับข้าวของอะไรก็เป็นอัจฉริยะไปหมด
ลองหันกลับมาที่มนุษย์ผู้ใช้งานข้าวของอัจฉริยะเหล่านี้ดูบ้าง รู้ตัวอีกทีก็ต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับข้าวของอัจฉริยะเหล่านี้เสียแล้ว นั่นเท่ากับว่า คำว่า Disruption ที่เคยถูกพูดถึงมากในช่วงหลายปีให้หลัง กลายเป็นคำที่หลอมรวมเข้ากับชีวิตประจำวันของพวกเราไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
นอกจากตัวเราในฐานะผู้ใช้งานที่จะต้องเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ หากแต่ในภาคนโยบายขององค์กรต่างก็มีวิสัยทัศน์ที่มองรุดหน้าไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นยุคแห่งความร่วมมือเพื่อพร้อมรับอนาคตที่ไหลบ่ามาถึงอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะพานโยบายไปสู่ปลายทางที่เป็นมากกว่าเรื่องขององค์กร แต่ยังส่งผลต่อถึงสังคมและระดับประเทศ
GIV Megatrends
เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีเป็นเรื่องสามัญ
จากรายงานการคาดการณ์วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมโลกหรือ GIV ได้มีการพูดถึงหัวข้อเกี่ยวกับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมอัจฉริยะเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการทำงานร่วมกับนวัตกรรมในสเกลที่ใหญ่ขึ้น
อย่างที่ทราบกันว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และไปไกลกว่าที่เราคิดไปถึง การพัฒนาศักยภาพของตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักที่ทำงานร่วมกับนวัตกรรมเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การลงแรงทำงานทุกวันเกิดประสิทธิผลสูงสุด
ทางฟากฝั่งองค์กรเอง ก็เล็งเห็นว่าการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์กลายเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของบริษัท โดยจุดประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนให้ตัวบุคลากรเองก้าวทันเทคโนโลยี เกิดการพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับการพัฒนาหน่วยงาน และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้มีความรักในองค์กร สอดคล้องกับผลวิจัยจาก LinkedIn ที่พบว่า 94% ของพนักงานอยากอยู่กับองค์กรที่ลงทุนกับการพัฒนาในสายอาชีพ และคนรุ่นใหม่อีก 87% ก็พูดว่าการพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการทำงาน
Lifelong Learning
กุญแจสำคัญของการพัฒนาศักยภาพ
เมื่อมองมุมกว้างในระดับโลกไปแล้ว ก็หันกลับมามองที่ใกล้ตัวอีกนิดอย่างประเทศไทยดูบ้าง การพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในตลาดแรงงานเป็นโจทย์ข้อสำคัญที่หน่วยงานทั้งระดับประเทศ และระดับองค์กรจำเป็นต้องสร้างเสริมบ่มเพาะ เพื่อรับมือกับการเติบโตของการทำงานในยุคที่เทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนโลกทั้งใบให้กลายเป็นโลกแห่งนวัตกรรม
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาจึงอยู่ที่ว่า แรงงานไทยพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้?
กุญแจสำคัญที่จะช่วยแรงงานไทยในการพัฒนาศักยภาพระดับบุคคลได้ก็คือ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งนั่นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งทางจากตัวบุคลากรเองและหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเน้นการสร้างทักษะอาชีพที่ตรงกับสายงาน และต่อยอดต่อการพัฒนาขีดความสามารถตามความต้องการด้านนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นที่มาของการ Reskill และ Upskill ที่หลายๆ คนให้ความสนใจอยู่ตอนนี้ กลไกเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลดีโดยตรงในระดับบุคคลและองค์กรแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการพัฒนาคุณภาพประชากรในประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
The Stanford Thailand Research Consortium
ยกระดับศักยภาพคนไทย ผ่านการทำวิจัยระดับโลก
การระดมสมองเพื่อค้นหากลวิธีเพื่อยกระดับศักยภาพของชาวไทยจึงเกิดขึ้นผ่าน The Stanford Thailand Research Consortium หรือการรวมกลุ่มทำวิจัยระดับโลก ที่เจาะลึกเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย จากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ โดยได้รับความสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน หรือ SEAC เข้ามาเป็นศูนย์กลางในการประสานเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละหน่วยงานองค์กรของประเทศไทย
โครงการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือครั้งสำคัญจากหน่วยงานระดับประเทศที่มองเห็นถึงอนาคตของประเทศไทยและบุคลากรในประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยเป้าหมายเดียวกันเพื่อต้องการสร้างรากฐานทางด้านบุคคล เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยยกระดับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวและยั่งยืน
Doing Good, Doing Well
งานวิจัยเริ่มจากการดำเนินการศึกษาระบบต่างๆ อย่างครอบคลุมในทุกมิติและลงลึกในรายละเอียด ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา เป็นต้น โดยอาศัยการรวมตัวกันของหน่วยงานและองค์กรชั้นนำของประเทศที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ในการสร้างงานวิจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อประชากร เศรษฐกิจ และอนาคตของประเทศอย่างมีกลยุทธ์ และเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการลงทุนในงานวิจัยต่างๆ ต่อไป
ภายใต้เป้าหมายระยะยาวของงานวิจัยในครั้งนี้ แบ่งได้เป็น Doing Good ที่หมายถึงเป้าหมายที่เน้นศักยภาพความก้าวหน้าของประเทศ และ Doing Well ที่เน้นด้านความสนใจของสมาชิกเพื่อพัฒนาความสามารถของบริษัท เพื่อนำข้อสรุปและผลสำเร็จของงานวิจัย มาสู่การค้นหาวิธีการและผลักดันศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบ