ก้มหน้าก้มตาทำงานจนเกือบจะสิ้นปี เผลอหน่อยเดียวก็เข้าเดือนธันวาคม อันไม่ได้จะเป็นแค่จุดสิ้นสุดของปี 2019 แต่มันยังเป็นเดือนปิดท้ายทศวรรษนี้ด้วย
และในช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมาเราคงพบเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตมากมายที่ด้านหนึ่งก็น่ายินดีแต่ด้านหนึ่งก็ชวนตระหนกไม่น้อย เพราะกลายเป็นว่า ความเร็วของทุกอย่างทำให้ทักษะการทำงานที่เรามีติดตัวมาตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงสมัยเริ่มทำงานใหม่ ‘ไม่เพียงพอ’ กับการใช้ชีวิตเสียแล้ว
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนทำงานแต่ก่อน นิยมฝึกฝนทักษะเคล็ดลับจนเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ในโลกสมัยใหม่ ผู้คนถูกเรียกร้องให้เป็น ‘เป็ด’ มากขึ้น นั่นคือไม่ต้องเก่งสุดขีดในแขนงใดแขนงหนึ่ง แต่ต้องมีองค์ความรู้กว้างขวางเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายที่จะถาโถมมาสู่ชีวิตเราในภายภาคหน้าให้ได้
เมื่อก่อนเราอาจมองว่า หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ชีวิตการเรียนรู้ของพวกเราหยุดชะงักที่ตรงนั้น และเมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน สิ่งที่จำเป็นคือประสบการณ์ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการสะสม กว่าจะได้ครบหลักไมล์หนึ่งก็อาจกินเวลาร่วมสิบปี… แล้วถึงตอนนั้น ประสบการณ์และความรู้ที่เรามีมันจะยังไปด้วยกันได้กับโลกอันเลื่อนไหลเช่นนี้อยู่ไหม แล้วถ้าหากมันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วล่ะ เราจะทำอย่างไร
นั่นจึงเป็นที่มาของการสนทนากันถึงทิศทางและทักษะที่คนทำงานต้องหามาเพิ่มกับ คุณนิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล หรือ พิ้งค์ Executive Director of SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน-ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาคนมาโดยตลอด และเธอยังเป็นหนึ่งในหัวเรือสำคัญของโปรเจกต์ YourNextU โปรเจกต์ของ SEAC ที่นำเอาหลักสูตรระดับโลกมากมาย มาเปิดให้ผู้คนได้เรียน ศึกษาหาความรู้และเพิ่มเติมทักษะเพื่อจะได้ยังเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมการทำงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากนี้
ฟังดูน่าเหนื่อย… แต่จริงหรือ สำหรับบางคน นี่อาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเมื่อชีวิตหยิบยื่นความท้าทายให้เรา และเป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้เราได้ไขกุญแจไปสู่การพัฒนาตัวเองแบบไร้ขีดจำกัดในโลกยุคใหม่
โปรเจกต์ YourNextU เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เกริ่นถอยหลังไปคือ SEAC ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องคนมาตลอด เน้นเรื่องการพัฒนาคนโดยที่งานหลักก็จะเน้นเรื่องการทำ training กลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นระดับผู้บริหารและองค์กรขนาดใหญ่ชั้นนำในเมืองไทย
แต่เรารู้สึกว่าช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ เทรนด์เรื่องของการเรียนรู้มันเปลี่ยนไป โจทย์จากลูกค้าเดิมคือ ลูกค้าสมัยก่อนจะมาหาเราแล้วบอกว่า ‘อยากพัฒนาทักษะควรทำอะไรดี หรืออยากจะเตรียมผู้สืบทอดตำแหน่ง (Succession Planning) ควรทำอะไรดี’ แต่ช่วงสองสามปีหลัง เราพบว่าคนไม่ถามแบบนี้แล้วแต่จะมาคุยกับเราว่า ‘เรากำลังจะต้องปรับ (Transform) การทำงานขององค์กรทั้งหมดเลย’ นั่นคือคนต้องทำงานเร็วขึ้น ต้องการเข้าใจลูกค้ามากกว่านี้ แต่การปรับนี้มันไม่ใช่แค่ผู้บริหารคนเดียว แต่คือคนทั้งองค์กร พูดถึง Mindset พูดถึงวัฒนธรรมการทำงานด้วย นี่คือกระแสหนึ่งส่วนที่เราได้เห็น
กับอีกส่วนคือ เมื่อสองปีที่แล้วทาง SEAC ร่วมงานกับทางมหาวิทยาลัย Stanford ทำโครงการพาผู้บริหารระดับสูงไปเรียนพร้อมดูงานที่ซิลลิคอน วัลเล่ย์ (Silicon valley) แล้วก็ไปดูกระแสว่า Digital Disruption แปลว่าอะไร ธุรกิจข้างหน้าหน้าตาเป็นแบบไหน มันก็ยิ่งคอนเฟิร์มสิ่งที่เราได้ยินจากลูกค้ามา
คำว่า ‘Digital Disruption’ มันไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีมาใส่ในธุรกิจ แต่มันเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อทุกด้าน รวมถึงทำให้พฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer behavior) เปลี่ยน
ทีนี้เราก็เลยรู้สึกว่ากลับมามองสิ่งที่เราทำเรื่องการศึกษา ทำเรื่องการพัฒนาคน ความรู้ที่คนทำงานในปัจจุบันเขามีกับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตมันไม่สัมพันธ์กันแล้ว การเคยทำอะไรได้ในอดีต หรือการมีประสบการณ์ที่สั่งสมมานานมันเป็นตัวบอกไม่ได้อีกแล้วว่าลูกค้าจะเป็นแบบนี้ ต้องทำการตลาดแบบนี้ ต้องทำธุรกิจแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนต้องหาคำตอบแบบใหม่
เราก็พบว่า โอเคคนต้องพัฒนาทักษะเยอะขึ้นแน่ๆ และองค์ความรู้แบบนั้นมันมีอยู่นะ แต่ส่วนใหญ่อยู่เมืองนอก พออยู่เมืองนอกมันเป็นภาษาต่างประเทศ มันก็เข้าถึงได้ยากและมันก็แพงด้วย เลยทำให้คนไทยไม่ได้เข้าถึงได้กันทุกคน ฉะนั้น โจทย์ข้อแรกของเราที่ทำ YourNextU คือทำยังไงให้องค์ความรู้มีคุณภาพดีๆ ระดับโลกแบบนั้น ซึ่งคนไทยจำเป็นต้องรู้แต่มันอยู่ต่างประเทศ มันเข้าถึงได้ มันจับต้องได้ มันไม่ได้เกินเอื้อมนะ อันนี้คือโจทย์แรกที่เราตั้งไว้ใน YourNextU
ฟังดูแล้วความเปลี่ยนแปลงมันเยอะและรวดเร็วมากเลย คนยุคใหม่ๆ ต้องปรับตัวกันเยอะมาก
มันไม่ใช่เกมระยะสั้น แปลว่า เราไม่ได้เอาแค่ความรู้มาให้ (service) หรือขายอย่างเดียว เรากำลังมองว่าถ้าจะทำให้คนไทยมี Competitive factor ระยะยาว ต้องทำให้คนเปลี่ยนวิธีคิดกับเรื่องการเรียน เหมือนกับว่าจากเดิมคนส่วนมากเคยคุ้นชินกับการเทรนนิ่ง และมักมองการเทรนนิ่งเป็นการพัฒนาแบบช็อตๆ แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงนี้ต้องเปลี่ยน อยากให้คนมี lifelong learning mindset หมายความว่า เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอด คุณต้องเข้าใจถึงความสำคัญของรีสกิลและอัปสกิล ต้องเรียนรู้ต่อยอดอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ ช่วงอายุ ในช่วงชีวิตเลยแหละ มันจะมีความท้าทาย (challenge) ใหม่ๆ มีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มันงอกเกิดขึ้นสิบปีข้างหน้าและเราต้องปรับตัวกันใหม่ มันจะไม่เหมือนคนในยุคอดีตที่เขาอยู่ได้เพราะสปีดเขาเป็นแบบนั้น แต่คนยุคนี้มันคนละสปีดกัน ถ้าทำแบบนั้นคือรอให้มหาวิทยาลัยสร้างคนก็ไม่ทัน รอให้องค์กรจัดเทรนนิ่งให้เราก็คงไม่ทัน เราต้องมีปรับเรื่อง Mindset ตรงนี้ ซึ่งนี่เป็นอีกโจทย์ของทั้ง SEAC และเป็นที่มาของการสร้างโมเดล YourNextU
พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ถ้าลองยกตัวอย่าง เราจะเห็นยุคเปลี่ยนผ่านแบบหน้ากระดาษมันเริ่มลดน้อยลงแล้วคนหันไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น แต่ประเด็นคือจะทำยังไง ให้คนที่เคยทำงานเขียนบนหน้ากระดาษแบบเดิมๆ เห็นว่าต้องปรับตัว หมายความว่าทำยังไงให้รู้ว่ารูปแบบการเขียนแต่ละแพลตฟอร์ม มันไม่เหมือนกันเลย แบบนี้มีวิธีแก้ไขปัญหาหรือเปล่า ทำยังไงให้เขาปรับตัวได้เร็วขึ้น ?
จริงๆ ต้องบอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกวงการ และถ้าจะให้ตอบคงต้องพูดไปในลักษณะที่ว่าจะทำยังไงให้เขาเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลง การเข้ามาของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับทุกขั้นตอนของการใช้ชีวิต ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะปรับตัวอย่างไรมากกว่าเพื่อให้ยังอยู่ในโลกนี้ได้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของทักษะใหม่ๆ ที่ต้องมี
แน่นอนว่าทักษะที่จำเป็นเรื่องแรกคือทักษะที่จะช่วยให้ทำงานกับเทคโนโลยีได้ รวมถึงการมีทักษะที่จะเอาเครื่องมือ digital มาใช้งาน เพื่อให้การทำงานของเราง่ายขึ้น ดีขึ้น
แต่นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญมากในยุคนี้อีกมุมคือการมี Human Skill (Soft Skill) เช่น เราต้องทำความเข้าลูกค้าในโลกใหม่นี้ให้ได้ ถ้าเป็นตามโจทย์ที่ให้มานี้ อันดับแรกต้องรู้ว่าตอนนี้คนกำลังเสพข้อมูลแบบไหน ช่องทาง (channel) หรือ แพลตฟอร์มไหน ซึ่งก็ต้องรู้ลึกลงไปอีกว่าพฤติกรรมคนที่ใช้แต่ละแพลตฟอร์มก็ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คนเล่นอินสตาแกรมไม่ได้มาอ่านอะไรยาวๆ คือคนก็อยากจะดูภาพสวยๆ เพื่อผ่อนคลาย แปลว่าคนคาดหวังข้อมูลแต่ละแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการรู้เทคโนโลยีจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือมันเป็นทักษะเฉพาะของมนุษย์ สมมติมีคนสองคนที่รู้ทุกอย่างเท่ากัน คือรู้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง มีทักษะเรื่องพื้นฐานต่างๆ เท่ากันแต่จะทำงานออกมาได้ผลลัพธ์ต่างกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเข้าอกเข้าใจลูกค้า (Customer Empathy) ซึ่งต่างจากการศึกษาการตลาด (Market Research) สมัยก่อนที่เราศึกษาแค่คุณอยากได้สินค้าอะไร จากชาแนลไหน
แต่โลกของทุกวันนี้จริงๆ แล้วลูกค้าเขาบอกไม่ได้หรอกว่าเขาอยากได้อะไร ถ้าเฮนรี่ ฟอร์ด (ผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง) ถามคนตอนนั้นว่าอยากได้อะไร เขาอาจจะบอกว่าอยากได้ม้าวิ่งเร็วกว่าเดิม เพราะตอนนั้นคนใช้ม้าเป็นพาหนะหลัก แต่คงไม่บอกอยากได้รถยนต์ เพราะมันยังไม่มีอยู่จริง ฉะนั้น คนเราตอบไม่ได้ว่าอยากได้อะไร เหตุนี้ทักษะในส่วนเรื่องการทำความเข้าใจลูกค้านั้นมาจากการสังเกต จากการตั้งคำถาม จากการคุยเพื่อให้เข้าใจความต้องการซ่อน (unmet need) ของเขา แล้วมันจะทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาว่า ถ้าจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราต้องตอบสิ่งที่มันเป็นความต้องการจริงๆ ของเขา อย่าทำแค่ตอบสิ่งที่เรากำลังต้องการขาย
ยิ่งไปกว่านั้น เราคิดว่า คนในยุคนี้ต้องมีกลุ่มทักษะเรื่อง Agility หรือการยืดหยุ่น คล่องตัว สมัยก่อนนั้น เวลานักธุรกิจทำงานกันเขาก็จะวางแผน ทำแผนกลยุทธ์ทั้งปี วางแผนการทำงานทั้งปี ซึ่งเมื่อก่อน การเปลี่ยนแปลงมันไม่เกิดขึ้นเยอะมากเท่าเดี๋ยวนี้ แต่เดี๋ยวนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ คนทำงานต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เราไม่อาจรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตฉัน อยู่ดีๆ ก็ถูกกดดัน บริษัทเปลี่ยนนโยบายบ่อยจัง แล้วนี่เป็นเรื่องที่เจอเหมือนกันหมด เพราะอย่างที่บอกว่าเทคโนโลยีทำมันให้ทุกอย่างสปีดตัวเร็วไปหมด ลูกค้าก็เปลี่ยนเร็ว คู่แข่งก็เปลี่ยนเร็ว ธุรกิจถ้าไม่เร็วอยู่ไม่ได้
คนเก่งสมัยก่อนจะคุ้นชินว่า มี KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน) คิด KPI บอกว่าฉันสำเร็จ ฉันเป็นคนเก่ง แต่ยุคนี้ คำอธิบายการเป็นคนเก่งมันจะต่างออกไป คนเก่งคือคนที่มันไม่ต้องเพอร์เฟกต์ แต่ต้องยืดหยุ่นปรับตัวได้เร็ว ซึ่งมันมาจากการมี Growth mindset นั่นคือการที่มีอุปสรรคใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ท้าทายตลอดทุกวัน เรารู้สึกสนุกกับมันไหม ถ้าเป็นคนเก่งสมัยก่อนจะมีลักษณะเช่น สมมติโปรเจกต์นี้ไม่มั่นใจเลย เดี๋ยว KPI ไม่ถึง ไม่เสี่ยงดีกว่า แต่ยุคนี้มันไม่ใช่ คือมันไม่เป็นอะไรหรอก มันลองดูได้ และถ้าลองแล้วผิดก็ไม่เป็นไร แปลว่าต้องมี Experimental Mindset ด้วย คือกล้าลองไม่กลัวผิด
ยิ่งตอนนี้มีข่าวคนตกงานเยอะมาก โรงงานปิดเยอะ คนโดน lay off เยอะ ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลง และการเข้ามาของเทคโนโลยี เราต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึก (manage emotions) ตัวเองได้ด้วยเพราะมันจะเครียดมาก จากกระแสที่มากระทบเรา การที่เรามีความฉลาดทางอารมณ์ จะทำให้ควบคุมเรื่องของอารมณ์ จัดการสถานการณ์ได้
ถ้ามองว่าทักษะที่คนยุคนี้ควรมีเพื่อการอยู่รอดมันมากมาย หลากหลาย สำหรับเราที่ต้องทำโมเดลเรื่องการพัฒนาคนถือว่าเป็นเรื่องยากไหม เพราะดูองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมันเยอะมาก
มันก็ยากขึ้นถ้าอันที่ทำอยู่มันไม่ตอบโจทย์ คือถ้ามองในมุมขององค์กร มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คิดมาว่าปีนี้จะเทรนสองเรื่องนี้ แล้วจับทุกคนเทรนหมด มันไม่ใช่แบบนั้น ฉะนั้นโจทย์ขององค์กรก็คือถ้าเรายังทำวิธีการอบรมแบบเดิมๆ มันไม่ตอบโจทย์แน่ๆ
เรากลับมองว่าตอนนี้เป็นยุคเรื่อง Speed รวมถึงเรื่อง personalized learning ให้คนไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับเรียน แต่ว่า เราต้องทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของคนให้ได้ โดยคนต้องรู้สึกว่า ฉันเป็นคนควบคุมนะ take control เหมือนเราอยากลดน้ำหนัก ฉันก็จะ take control ฉันจะออกกำลังกายตอนไหน เวลาไหน เลือกออกกำลังกายแบบไหน แล้วโจทย์การออกกำลังกายฉันในช่วงนี้ ฉันจะเน้นสร้างกล้ามเนื้อแล้วอีกสักพักจะเพิ่มคาร์ดิโอ ก็เหมือนกันคือมันต้องเริ่มจากตัวเขา เราก็เลยคิดว่าเราอยากให้คนสามารถควบคุม take control การเรียนของตัวเองได้ ดังนั้นโมเดล YourNextU เราจึงเสนอว่า เรามีหัวข้อที่คัดสรรมาแล้วว่าจำเป็นจากทั่วทุกมุมโลก คนสามารถเข้าไปเลือกเอาได้เลย มีโจทย์การเรียนรู้แบบนี้จะเรียนแบบไหนดี ควรจะสำรวจและศึกษาอะไรดี หรือช่วงนี้เราอยากจะเน้นเรื่องการเปิดธุรกิจใหม่ เราอยากทำธุรกิจของตัวเอง ควรเริ่มต้นยังไง ควรต้องรู้อะไรบ้าง คือคนสามารถเลือกหัวข้อการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ในแต่ละช่วงของแต่ละคนได้ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละช่วงโจทย์มันก็จะไม่เหมือนกัน
อันที่สองคือเรื่องเวลา ต้องบอกก่อนว่าตัว YourNextU เรามีหลักสูตรทั้งที่เป็นออนไลน์และออฟไลน์ ข้อดีคือคนรู้สึกว่าออฟไลน์มัน engage ดีกว่า เรียนและเข้าใจมากกว่า ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่า แต่ปัญหาคือหลายๆ ครั้งจะรอจัดคนไม่ทัน เราจึงทำไอเดียที่ให้คนได้เลือก นึกถึงฟิตเนสที่คนใช้บนเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่เราเข้าไปดูได้ว่ามีคลาสอะไรเปิดเมื่อไหร่ อย่างไรบ้าง เราก็เลือกเอาเลยว่าเราอยากจะเรียนอะไร มันก็จะมีคลาส มีตัวเลือก มีเวลาที่เขาเลือกได้
นอกจากเลือกหัวข้อเอง เลือกเวลาได้เองแล้ว คนเรียนยังเลือกรูปแบบได้เองด้วย โดย YourNextU เรามองการเรียนรู้มี 4 รูปแบบ เพราะเรารู้สึกว่าคนมีจริตการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน เริ่มจาก Online เพราะบางคนไม่มีเวลา ชอบเรียนอะไรสั้นๆ ไม่ชอบการเจอผู้คน แต่บางคนเรียนออนไลน์แล้วหลับ เรียนไม่ได้ ต้องได้ปฏิสัมพันธ์กับคน มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในห้องด้วย ก็สามารถมาเข้า Classroom หรือบางคนเรียนกับอาจารย์ไม่ค่อยเข้าใจ ชอบเรียนอะไรที่มันเหมือนได้ฟังเรื่องราวของคนอื่นมากกว่า
อันที่สามของเราจึงมีรูปแบบ Social learning ซึ่งมาจากที่บอกว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียน แต่เราเรียนรู้จากคนอื่นได้ เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นได้ ซึ่ง Social learning ของเราก็จะหลากหลายมาก มีไปเชิญวิทยากรรับเชิญมาพูด หรือจะเล่นเกมก็มี คือเอาบอร์ดเกมมาเล่นแล้วก็มาคุยกันจนเกิดการเรียนรู้ ดังนั้น Social learning ก็จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่เหมือนเป็นสีสัน เหมือนการออกกำลังกายที่เราก็ไม่ได้อยากออกกำลังกายเหมือนกันตลอดทุกวัน การเรียนรู้ที่มันหลากหลายและให้คนสามารถ ประยุกต์สิ่งนี้ไปเป็นไลฟ์สไตล์ได้
และสุดท้ายอันที่สี่ เราเรียกว่า library เป็นแหล่งข้อมูล คือบางคนตอนที่เรียนนี่อินอยู่นะ แต่พอจะเอาไปใช้งานอะไรนี่ไม่ได้เลย ดังนั้นอันที่ 4 เรียกว่าเป็นคลังความรู้ คือให้คนมาดาวน์โหลดพวกแบบฟอร์ม พวกไกด์ไลน์เพื่อเอาไปทดลองทำเอง
ลูกค้าที่มาเรียน YourNextU ทุกครั้งก็จะได้มารีเฟรชมุมมองใหม่ เราได้เจอคนที่ไม่เหมือนเรา เราได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ทำให้คิดว่าเราน่าจะลองอะไรแบบนี้บ้าง และได้แรงกลับไปทำงาน ซึ่งมีคนมาบอกเราแบบนี้อยู่ตลอด เราจึงคิดว่า ถ้าเราทำทุกสิ่งได้ดี เราจะช่วยให้ไม่ใช่แค่องค์กรแต่ว่าคนไทยมีโอกาสในเรื่องของการปรับตัวให้ไปกับกระแสที่มันกำลังจะเข้ามาหาเขามากขึ้น
เห็นพูดถึงการ take control ในการเรียนรู้ แปลว่าจริงๆ แล้วเราสามารถกำหนดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแบบนั้นใช่ไหม
ด้วยจุดมุ่งหมายสูงสุดของ SEAC คือเรื่อง Lifelong Learning และการสร้างให้คนเป็น Lifelong Learner ได้นั้น ต้องเริ่มจากการมี mindset เรื่องของ Self-directed learning นี่เองซึ่งคำว่า ‘Self-directed learning’ แปลว่าเราจะต้องเป็นคนคุม เป็นคน Take control การเรียนรู้ของตนเอง คำถามคือเราจะสร้างสิ่งนี้ด้วยตัวเองได้อย่างไร
Self-directed learning มันเริ่มจากรู้สึกถึงของการเป็นเจ้าของ (ownership) เราต้องเริ่มรู้สึกว่า คนที่เป็นคนกำหนดว่าต้องเรียนรู้อะไรคือเรา เราเป็นเจ้าของของการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น คนทำงานมักจะรู้สึกว่าฉัน Take control หรือควบคุมไม่ค่อยได้หรอก ก็นายสั่งมา ฉันได้โปรเจกต์นี้มาฉันต้องทำงานนี้ แต่ความเป็นจริง เรื่องของการเรียนรู้มันเกิดขึ้นได้ตลอด ถ้าเราตั้งคำถาม ตั้งโจทย์การเรียนรู้ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายงานอะไรมา แม้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราคุมไม่ได้ นายสั่งมา แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือ เราต้องคิดว่าจะเรียนรู้อะไรจากภารกิจนี้ ก็จะตั้งโจทย์ให้ตัวเอง ฉะนั้น เราเป็นผู้ตั้งโจทย์การเรียนรู้ของตัวเราเองได้ทุกสถานการณ์ นอกจากนั้นต้องรู้ว่าเราเองที่ต้องเป็นคนขับคลื่อนการเรียนรู้ของตัวเอง ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาทำให้ ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะทำให้เรามี lifelong learning mindset คืออยากเรียนรู้ตลอดเวลา
สำหรับตัวคุณพิ้งค์เองได้เรียนหลักสูตรไหนแล้วบ้าง แล้วได้ใช้อะไรกับงานกับตัวเองจริงๆ บ้าง อยากให้ช่วยแนะนำหลักสูตรให้กับทางผู้อ่าน ?
ถ้าเป็นช่วงตอนต้นปี ด้วยงานที่ทำเราจะอยากเข้าใจภาพรวมของลูกค้า ก็จะลงเรียนหลักสูตรที่เป็นออนไลน์เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการทำข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อการทำงาน
แต่ถ้าถามว่า ช่วงนี้เราเรียนอะไรและนำมาใช้ได้เยอะ ตอบได้เลยว่าคือเรื่อง design thinking เหตุผล คือเพราะช่วงนี้โปรเจกต์ที่ทำใน YourNextU เน้นการทำความรู้จักผู้บริโภค (customer insight) เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันใหม่มาก และกำลังอยากเรียนรู้ต่อเนื่องกับลูกค้าด้วยเหมือนกันว่า ทำยังไงให้เขาเข้าใจสิ่งนี้และหาความต้องการซ่อนเร้นที่ยังหาไม่พบได้ ซึ่งตัว design thinking มันมีเครื่องมือที่ทำให้เราทำสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น เป็นกระบวนการมากขึ้น ว่าจะฟังเสียงของลูกค้าแบบที่เขาไม่พูดออกมาตรงๆ ได้อย่างไร แล้วจะแปรสิ่งนี้ไปเป็นไอเดีย ไปเป็นโปรโตไทป์ (prototype) ที่เอาไปทดสอบได้ยังไง
ถ้าให้แนะนำผู้อ่าน The MATTER อย่างที่บอกว่าทักษะเดี๋ยวนี้มันมีเยอะมาก เพราะมันต้องอัปสกิล รีสกิลอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นจะเริ่มที่ไหนถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง ขอแนะนำ Growth mindset เพราะส่วนหนึ่งของเราแน่ๆ เราทุกคนกำลังถูกให้ออกนอก comfort zone เราทำงานแบบเดิมไม่ได้ แต่จะมองเห็นโอกาสในความท้าทายนี้ยังไง ซึ่ง Growth mindset เป็นหลักสูตรที่ทำให้เราอยากเรียนรู้ อยากลอง ไม่กลัวกับความท้าทาย