ยุคสมัยใหม่ เสื้อผ้าไม่ใช่แค่สิ่งของสวมใส่ แต่มันหมายรวมถึงตัวตน และการใส่ใจถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
ในหลายปีมานี้ หลายแบรนด์เสื้อผ้าไม่ว่าจะระดับ Global หรือ Local จึงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อตอบทั้งโจทย์ลูกค้าให้มีความมั่นใจและรักในตัวเองเมื่อหยิบจับมาสวมใส่ รวมถึงตอบโจทย์สังคมในเรื่องกระบวนการผลิตที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม
แต่อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของ Shaka แบรนด์แฟชันไทยกลิ่นอายญี่ปุ่น ที่ก่อตั้งโดยคุณ ปลา – ลลิษณัลล์ ขะมาลา เพราะนอกจากจะทำด้วยใจรักแล้ว เธอเริ่มต้นทำแบรนด์ด้วยความคิดที่อยากจะสร้างความยั่งยืนกับเสื้อผ้าให้ Timeless ในทุกยุคทุกสมัย ยังไม่พอ เธอคิดไปไกลถึงความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตของคนที่ทำงานรายล้อมรอบตัวเธอด้วย
แว่วมาด้วยว่าในปี 2021 นี้ Shaka มีการนิยามตัวตนครั้งใหม่ ด้วย 3 เอกลักษณ์สำคัญ ได้แก่ Icon Tuck, Shaka S-Curve และ Sustainability Material
The MATTER จึงชวนเธอนั่งคุยตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Shaka ยาวไล่มาจนถึงตัวตนของแบรนด์ เทรนด์แฟชัน เป้าหมายของแบรนด์ที่โฟกัสในวันนี้ จนถึงเป้าหมายในอนาคต
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าอะไรทำให้คุณเข้ามาคลุกคลีในสายแฟชัน จนกระทั่งมาเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี
แบล็กกราวด์คือในช่วงเรียน เรียนโรงเรียนหญิงล้วน อยู่ในกลุ่มที่ค่อนข้างจะเฮ้วๆ เราก็จะแต่งตัวเป็นสไตล์ในยุคนั้น โดยโดม่อนเป็นแบรนด์ฮิตในช่วงนั้น (เสื้อผ้ามีปลอกแขน ปลอกขา) แล้วเรากับเพื่อนก็จะไปนั่งกันตรงบันไดที่สยามเซ็นเตอร์ พอเข้ามหาวิทยาลัยเรียนเอกภาษาญี่ปุ่น ที่ธรรมศาสตร์ ช่วงเรียนได้ลองไปทำงานเป็นล่าม ซึ่งตอนนั้นเป็นงานถ่ายโฆษณาของคนญี่ปุ่น ได้สนิทกับ Artist ที่เป็นเจ้าของบริษัทโฆษณา เขาได้แนะนำเพื่อนของเขา (มาริโกะ วาตานาเบ้) ซึ่งอยากที่จะมาตั้งฐานการผลิตเสื้อผ้าที่ไทย เริ่มต้นจากโรงงานเล็กๆ เย็บเสื้อผ้าแบรนด์ YACCOMARICARD ซึ่งเป็นแบรนด์ของคุณมาริโกะเอง
เรามีโอกาสได้เข้าไปช่วยต่อ เราจะต้องแปล แล้วพูดคุยกับคนผลิต ดูตัวสินค้า ดูตัวเสื้อผ้า ดูแพทเทิร์น มันไม่ใช่แค่งานล่ามแล้ว เราก็สนใจกับความประณีตในสิ่งที่เขาขาย เลยอินแล้วก็สนุกกับงานไปเรื่อยๆ จนมาตั้งบริษัทผลิตด้วยกัน
หลังจากนั้นได้มีการขยายแบรนด์ออกมาเป็น Shaka ซึ่งจะมีความวัยรุ่นขึ้นจาก YACCOMARICARD ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีลุคเป็นผู้ใหญ่
เราทำโรงงานซัพพลายผลิตให้ YACCOMARICARD ที่มีคำสั่ง หรือมีการ R&D มาจากทางญี่ปุ่น แต่นอกเหนือจากนั้นเราก็พยายามพัฒนาผ้าไทย ใช้ผ้าไหมไทย ใช้ผ้าฝ้ายทอมือทางเชียงใหม่ด้วย ทำให้เราได้ร่วมหุ้นกันกับทางญี่ปุ่น เพื่อสร้างแบรนด์ แล้วก็มาเป็น Shaka เสื้อผ้าแบรนด์ไทยที่คุณปลาเป็นคนดูแลเองทั้งหมด
ย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้วที่ Shaka เริ่มตั้งไข่ มองย้อนกลับไป Shaka เป็นแบรนด์แบบไหน เมื่อเทียบกับตัวตนในวันนี้
ด้วยความที่เราทำงานกับทางญี่ปุ่น (YaccoMaricard) มานานกว่า 10 ปี คอนเซปต์ในการทำงานที่เนี๊ยบ ปราณีต ดีไซน์ แบบ เป็นโครงหลวม งานการ์เมนต์ดาย (เสื้อผ้าย้อม) และใช้ผ้าธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมไทย ลินิน เรยอน เป็นต้น เราเลือกบางกลิ่นอายมาปรับพัฒนาต่อสร้างเป็นแบรนด์ชากะ ขึ้นมา
หลังจากนั้น 4-5 ปี เราเริ่มมีดีไซเนอร์คนไทย นอกเหนือจากดีไซเนอร์ญี่ปุ่น ก็เป็นการเบลนด์กันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น พอกาลเวลามันเปลี่ยนมา 20 ปี รูปแบบเสื้อผ้าเราค่อนข้างที่จะเรียบขึ้น แต่ในความเรียบ ความเนี๊ยบ เน้นความเป็นผู้หญิงทำงาน เราได้ซ่อนอะไรในแพทเทิร์นที่ไม่ได้แค่ใส่สบาย ซึ่งมันก็จะแสดงออกมาในคอลเลกชันใหม่นี้ชัดขึ้น เป็น 3 เอกลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ Shaka
ปี 2021 นี้เหมือนว่า Shaka จะมีการปรับตัวตนแบรนด์ครั้งใหม่ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม ว่านิยามมันด้วยอะไรบ้าง
Shaka เป็นแบรนด์ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงวัยทำงานที่มีความมั่นใจ Shaka จึงพยายามถ่ายทอด Brand DNA ผ่านการออกแบบเสื้อผ้า เพื่อผู้หญิงยุคใหม่ที่มีความ Smart & Intelligent (เฉลียวฉลาด), Contemporary (มีความร่วมสมัย), Sensual (มีเสน่ห์ น่าหลงไหล) จึงก่อให้เกิด 3 New Identity ขึ้นมาและ Shaka ได้นำเอาเอกลักษณ์งานฝีมือที่โดดเด่นมารังสรรค์เป็น 3 เทคนิคพิเศษ
อันแรก ‘Icon Tuck’ ที่โรงงานผลิตของเรา พนักงานในโรงงานมีความเชี่ยวชาญเรื่องของการตีเกล็ดพอสมควร เราก็เห็นว่าตัวตนของเราชำนาญตรงนั้น ก็ได้เบรนด์สตรอมกับทางดีไซเนอร์ คิดว่ามันน่าจะเป็น Signature ใหม่ ที่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยลงได้ เราได้พัฒนาหาผ้าที่สามารถที่จะตีเกล็ด แล้วลูกค้าดูแลต่อง่ายในการนำไปซักและไม่ต้องกังวลในการรีดเกล็ด จนค้นพบและได้ผ้าที่สามารถรีดได้ง่าย มีความนุ่มลื่น และเมื่อใส่ไปแมทช์กับตัวอื่นๆ ก็ดูแล้วไม่ธรรมดา มีความสมาร์ท ร่วมสมัย
ต่อมา ‘Shaka S-Curve’ เนื่องจาก Shaka ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร S ซึ่งถ้าเราใส่ตัว S เป็น Curve ไปบนโครงเสื้อ เช่นตรงอก จะทำให้ผู้หญิงดูมีทรวดทรง และถ้าใส่ไปตรงเอวก็จะมีเอวมากขึ้น จุดนี้ต้องรู้จักสอดแทรกไอเดียไปในตรงไหนของไอเท็ม เช่น ตรงหน้าอก ตรงเอว ตรงขอบกระเป๋าอะไรต่างๆ เพื่อให้ดีไซน์น่าสนใจมากขึ้น
และสุดท้าย ‘Sustainability Material’ แน่นอนในกระบวนการผลิต มันก็จะมีเศษผ้าเหลือจากการตัดผ้า หรือพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ขณะเดียวกัน เราก็ต้องหาแมททีเรียล กระดุม หรือไอเท็มที่จะมาประกอบเป็นตัวเสื้อ เราก็พยายามที่จะดูว่ามีอะไรสามารถที่จะมาต่อยอดทำตัวกระดุม เราก็เลยลองพัฒนาแล้วก็เริ่มจากขึ้นบล็อกในรูปแบบที่เป็นตัวตนของเรา ใส่ความเป็น S-Curve ลงไป นำของที่เหลือใช้มาขึ้นรูปเป็นกระดุม แทนที่จะไปซื้อกระดุมพลาสติกหรือกระดุมเปลือกหอย และยังมีโปรเจกต์อื่นๆ ที่จะนำเศษผ้า มาต่อยอดของตัวรีไซเคิลแมททีเรียลด้วย
ตอนนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้คำว่าความยั่งยืนสำคัญมากๆ และทำให้หลายๆ แบรนด์แฟชันต้องกลับมาสนใจตรงนี้ เพราะผู้บริโภคไม่ยอมรับแบรนด์ที่ไม่รับผิดชอบต่อเรื่องพวกนี้ ทาง Shaka มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับประเด็นนี้
เรื่องความยั่งยืนต้องทำยาวนานพอสมควร และเราเข้มงวดในเรื่องคุณภาพของเสื้อผ้าอยู่แล้ว ถ้าเกิดว่าคนที่เป็นแฟน Shaka ก็จะรู้ว่าเสื้อผ้าเราค่อนข้าง Timeless ในเชิงการใส่ โอกาสในการใส่ไม่ใช่ครั้งเดียว ทุกวันนี้ยังมีลูกค้าที่ยังถามหาแบบเก่าๆ ดีไซน์เก่าๆ อยู่เลย ซึ่งสามสี่ปีมานี้ เราเริ่มปรับในมุมของดีไซน์ที่ไม่ได้อิงเรื่องของเทรนด์มากซักเท่าไหร่ แต่ยึดถึงความคุ้มค่าและโอกาสในการใช้งานมากกว่า
ในฐานะแบรนด์แฟชัน เราจะโดนโจมตีเยอะมากเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราเป็นแบรนด์หนึ่งที่คำนึงถึงเรื่อง Sustainability ความยั่งยืนเป็นวิสัยทัศน์มาตลอด และไม่ใช่แค่เรื่องการผลิตเท่านั้น เรามองไปถึงเรื่องของ HR เรื่องของคนด้วย เราใส่ใจในคุณภาพชีวิตของพนักงาน ซึ่งเรามองว่าเขาเป็นหุ้นส่วนของเรานะจริงๆ แล้ว
เราสนใจในคำว่าความยั่งยืนของพนักงาน พอจะขยายความให้ฟังหน่อยได้ไหม
อย่างพนักงานในโรงงาน ก็มักจะเป็นพนักงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมการผลิต ที่เป็นช่างตัดเย็บค่อนข้างเยอะ ในช่วงที่ตั้งมาปีแรกๆ ก็มีพนักงานหลายคนที่แต่งงาน ตั้งครรภ์ ลาคลอดแล้วก็กลับมา พอเวลามาทำงานจะต้องส่งลูกไปให้คุณย่าคุณยายเลี้ยง หรือว่าจ้างคนเลี้ยง แล้วก็เจอปัญหาคุณภาพชีวิตต่างๆ
ดังนั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทเราจึงสร้างเนอร์สเซอรีในโรงงาน เพื่อที่จะให้พนักงานฝากลูกๆ ไว้ในช่วงเช้าก่อนเข้างาน พอมีเวลาเบรก หรือกลางวันก็มาให้นมได้ ในส่วนนี้ Shaka ก็ทำมาด้วยความตั้งใจ นอกจากนั้นแล้วเรามีโรงอาหารกลางวันที่สะอาด และราคาถูกสำหรับพนักงาน การดูแลพนักงานที่ยั่งยืนของเราจะเป็นลักษณะอย่างนั้น
ซึ่งพอดูมาตรฐานคำว่า Sustainability ของยุโรปที่เขาทำมาตั้งแต่ก่อตั้งอุตสาหกรรม มันก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่การเอากระดุมรีไซเคิล หรือการเอาวัสดุ Reuse ที่มาใช้เท่านั้น มันหมายถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต พนักงาน และวิสัยทัศน์ต่างๆ ในการทำงานให้ยั่งยืนไปพร้อมๆ กันด้วย
คิดว่าเอกลักษณ์อะไรของ Shaka ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่ชื่นชอบของคนไทย
เราเน้นเรื่องของดีไซน์ที่เป็นตัวเอง แบบดีไซน์เสื้อผ้าเราก็ค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น ตอนปลายปีที่แล้วเราได้ทำวิจัย Focus Group จากลูกค้า เราก็ได้รับข้อมูลมาการันตีให้มั่นใจว่าจริงๆ ลูกค้ามองแบรนด์เรา โดยที่เห็นตัวตนเราชัด ลูกค้าตอบว่า Shaka มีความเป็นเอกลักษณ์ค่อนข้างชัดเจน และเรามีสิ่งใหม่ๆ มีดีไซน์ใหม่ๆ นำเสนอเขาอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่กระโตกกระตาก หรือหวือหวาจนเกินไป อีกทั้งราคาก็สมเหตุสมผล ทำให้เขาเลือกแบรนด์ Shaka เสมอมา
ปีนี้เป็นอีกปีที่ยากลำบากของทุกอุตสาหกรรม รวมถึงแบรนด์เสื้อผ้าด้วย ในฐานะเจ้าของกิจการ คุณมองการบริหารงานในปีนี้ ด้วยนิยามแบบไหน
ปีนี้ใช้คำว่า SMART เป็นมุมมองของคนทั้งองค์กรเกือบ 400 คน ใช้นิยามนี้ผ่านปัญหาไปด้วยกัน
S มาจาก SUCCESS / SUPPORT ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
M มาจาก MISSION / MINDSET มีเป้าหมายร่วมกัน เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่เพื่อรับความเปลี่ยนแปลง
A มาจาก ACTION / ATTITUDE ลงมือทำ ไม่ว่าเจอปัญหาอะไร เราจะมี Attitude ที่ดี
R มาจาก REDUCE / REFRESH อะไรที่จะกลายเป็นขยะ เราจะลดการใช้
และทุกคนต้องทำงานด้วยความ Refresh ให้กำลังใจกัน แอคทีฟให้คนอื่นเห็น
T มาจาก TIME / TRUST ฉับไว ทันเวลา และความเชื่อใจ เชื่อมั่น
T ตัวสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราก้าวเข้ามาถึง 20 ปี เรามั่นใจในตัวเอง มั่นใจในทีมงาน ในพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่น และสิ่งที่เราส่งมอบให้กับลูกค้าของ Shaka ทั้งหมด มันคือความเชื่อใจ
ซึ่ง Smart ไม่ได้แปลว่าเราเรียนเก่งนะ เรารู้จักว่าเราจะทำอะไรในสิ่งที่เรามีภาระหน้าที่ ทำอย่างดีที่สุดตามหน้าที่ของเรา นั่นก็คือความฉลาด
ทำความรู้จัก Shaka มากขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก: https://www.shakastyles.com/