โรคภัยไข้เจ็บที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ แต่นวัตกรรมทางการแพทย์และกระบวนการรักษาช่วยให้ดีขึ้นได้
เช่นเดียวกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือ Congenital Heart Disease ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนในครรภ์มารดา โดยความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไปตามความผิดปกติของโรค ความท้าทายจึงเป็นเรื่องของการวินิจฉัยที่แม่นยำ เพื่อส่งต่อไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง
เคสของหมอกรวีร์เป็นหนึ่งในเคสของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่น่าสนใจ นั่นก็เพราะนอกจากกระบวนการรักษาที่สร้างแรงบันดาลใจและการเรียนรู้จนสร้างบุคลากรทางการแพทย์คุณภาพเพิ่มขึ้นให้กับประเทศได้อีกคนแล้ว ยังสร้างความผูกพันที่เกิดขึ้นตลอดระยะทางการรักษา จนกลายเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ส่งต่อความหวังและกำลังใจให้กับผู้ป่วยต่อไป
อุปสรรคชีวิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
ตั้งแต่จำความได้ หมอกรวีร์ก็อยู่กับอาการเหนื่อยง่ายมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่สามารถใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างโลดโผนได้เหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ แม้ในใจจะอยากออกไปวิ่งเล่นทำกิจกรรมกลางแจ้งกับเพื่อนก็ตาม
“จากที่คุณแม่เคยเล่าให้ผมฟัง ตั้งแต่เกิดมาผมมีอาการตัวเขียวปากเขียว จึงกลับไปเช็กกับคุณหมอที่โรงพยาบาลที่ทำการคลอดจึงพบว่าผมเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยมีอาการของผนังหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจพิการ และเส้นเลือดใหญ่สลับกัน นั่นทำให้ผมเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ขึ้นบันไดแค่ 2 ชั้นเราก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยแล้ว แต่ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่ได้บอกเรื่องนี้กับเพื่อน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งน่าอายสำหรับตัวเอง”
กระบวนการรักษาเพื่อแก้ไขความผิดปกติ โดยการผ่าตัดหัวใจเริ่มขึ้นครั้งแรกตอนหมอกรวีร์ยังอายุเพียง 7 ปี ซึ่งหลังจากที่ผ่าตัด เขาก็จะกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ อาการเหนื่อยที่เคยมีก็เริ่มน้อยลง แต่เมื่อร่างกายเติบโตขึ้น หัวใจขนาดใหญ่ขึ้น หลอดเลือดเทียมที่ผ่าเปลี่ยนในวัยเด็กไม่ได้เติบโตขึ้นตามไปด้วย นั่นทำให้เขาต้องทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เพื่อเปลี่ยนขนาดของหลอดเลือดสำหรับรองรับกับการทำงานของหัวใจและร่างกายที่โตขึ้นตามวัย ซึ่งการดูแลเรื่องหัวใจทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาของ ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิสิษฐ์กุล
“ผมรักษากับอาจารย์กฤตย์วิกรมมาตั้งแต่เด็กครับ ตอนนั้นผมต้องเจอกับอาจารย์ทุก 3 เดือน ความประทับใจของผมที่มีต่ออาจารย์เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กที่เกิดความผูกพันเหมือนกับเป็นผู้ปกครองอีกคนหนึ่ง จนเติบโตมาเป็นหมอเองแล้ว ผมก็ยังรักษากับอาจารย์ การมาพบแพทย์ทุกครั้งจึงเหมือนกับการมาหาคุณครูด้วย เพราะทุกครั้งที่ตรวจอาจารย์ก็จะสอนให้ผมรู้จักร่างกายของตัวผมเองดีขึ้น และคอยหาเทคนิคความรู้ใหม่ๆ ในการรักษา เพื่อประคองให้หัวใจและตัวผมใช้ชีวิตอยู่ต่อได้”
จากโรคที่ป่วย สู่แรงบันดาลใจ
“แรงบันดาลใจหลักของการเป็นหมอคือคุณแม่ครับ ท่านอยากให้ผมเป็นหมอเพื่ออย่างน้อยจะได้มีความรู้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น และแรงบันดาลใจอย่างที่สองคือ ผมรู้ตัวแล้วว่าผมไม่สมบูรณ์แบบ การที่เราเป็นหมอจึงเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่อาจจะเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเหมือนผม หรือเป็นโรคอื่นๆ ให้มีกำลังใจสู้ต่อครับ”
แรกเริ่มที่หมอกรวีร์ในวัยเด็กทำการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ก่อนส่งต่อเคสมาที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยขั้นตอนการรักษามีทั้งการผ่าตัดใหญ่ ร่วมกันกับการใช้วิธีการที่ทำให้หัวใจทำงานอย่างเป็นปกติ เพื่อชะลอการผ่าตัดครั้งถัดไปให้นานที่สุด เช่น การสวนหัวใจ การใส่สเต็นท์ (Stent) หลอดเลือดและลิ้นหัวใจควบคู่ไปกับการติดตามอาการและสุขภาพหัวใจโดยตลอด
ถึงหมอกรวีร์จะเป็นผู้ใหญ่และเดินเส้นทางอาชีพสายแพทย์แล้ว ก็ยังคงต้องแวะเวียนกลับมาพบแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวางแผนการรักษาในขั้นตอนต่อไป ทั้งเรื่องทางร่างกายของระบบหัวใจ พยาธิสภาพของโรค และการดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องที่เขาสนใจเป็นพิเศษร่วมไปกับผลพลอยได้ทางจิตใจที่ทำให้เขาใช้ชีวิตทุกย่างก้าวอย่างระมัดระวัง
บทเรียนตลอดชีวิตของเขาจึงถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือเป็นบทความที่เขียนขึ้นเอง และได้รับรางวัลจากแพทยสภาในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนแพทย์ ด้วยความตั้งใจที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยทุกคน “ทางแพทยสภาได้จัดประกวดกิจกรรมการเขียนบทความเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ในตอนนั้นผมเล่าเรื่องของตัวเองว่าตั้งแต่เกิดมา ได้รับการรักษา และสามารถเรียนแพทย์ได้จนถึงปัจจุบัน ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง และการต่อสู้ครั้งนี้ของผมเหมือนกับเป็นการบอกว่า ผู้ป่วยทุกคนไม่ได้เดียวดาย และยังมีความหวัง”
การติดตามโรคและการรักษายังคงต้องเกิดต่อเนื่องตลอดชีวิตของหมอกรวีร์ “จากการป่วยทำให้ผมใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท มีสติมากขึ้น ในส่วนการแพทย์เอง แน่นอนว่าผมเรียนรู้เยอะมาก และสุดท้ายผมก็เรียนรู้ว่า จนวันนี้ที่ผมได้เป็นหมอแล้ว ผมก็ยังต้องมาหาหมอที่เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจโดยตรง สิ่งนี้คือความหวังของผมที่อยากใช้ชีวิตและมีครอบครัวที่ราบรื่นปกติเหมือนกับทุกคนครับ”
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด : การดูแลและรักษาหัวใจ
ภายใต้การดูแลและการรักษาโดย ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิสิษฐ์กุล ซึ่งได้ติดตามสภาพหัวใจของหมอกรวีร์มาตั้งแต่ยังเด็ก อาจารย์เล่าให้เราฟังถึงอาการผิดปกติของหัวใจที่ให้เห็นเป็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
“ปกติหัวใจเราจะมีหลอดเลือดดำใหญ่ที่ส่งเลือดไปฟอกที่ปอดจากหัวใจห้องขวา และหลอดเลือดแดงที่รับเลือดกลับมายังหัวใจเพื่อส่งต่อไปเลี้ยงร่างกาย แต่ของหมอกรวีร์คือเส้นเลือดสองเส้นนี้ออกสลับที่กัน ซึ่งพอเลือดออกไปผิดที่ เลือดก็ลำเลียงออกซิเจนออกไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่คลอดออกมา มีอาการตัวเขียว และในเคสนี้ยังมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยคือ รูรั่วในหัวใจ และหลอดเลือดดำตีบแคบ เราจึงรอให้ร่างกายมีน้ำหนัก 20 กิโลกรัมก่อน จึงค่อยผ่าตัดครั้งแรก”
การผ่าตัดครั้งแรกเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขความผิดปกติภายในหัวใจทั้งหมด โดยการสลับหลอดเลือดให้หลอดเลือดแดงสามารถส่งต่อเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ส่วนหลอดเลือดดำที่ตีบแคบก็ทำการต่อท่อใหม่พร้อมกับลิ้นหัวใจเทียม ทำให้ระบบการลำเลียงเลือดและการทำงานของหัวใจกลับสู่ภาวะปกติเหมือนคนทั่วไป
“ผมเริ่มเข้ามาดูแลเขาในช่วงก่อนการผ่าตัดครั้งแรก ถ้านับถึงวันนี้ก็ประมาณ 23-24 ปีแล้ว โดยทำการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการทำ Echocardiogram หรือการทำอัลตราซาวนด์หัวใจ แล้วจึงทำการสวนหัวใจ นั่นคือการใส่สายเข้าไปเพื่อฉีดสารทึบแสง ทำให้มองเห็นความผิดปกติระหว่างการไหลเวียนเลือดในหัวใจ จึงสามารถวางแผนการรักษา และการผ่าตัดได้ ซึ่งเขาก็ได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ครับ”
ชีวิตใหม่ การรักษาที่มอบความหวังและอนาคต
การผ่าตัดครั้งถัดมาจึงเกิดขึ้นเมื่อขนาดของร่างกายเติบโตขึ้นจนเป็นวัยผู้ใหญ่ ในช่วงปี 2541 โดยใช้การผ่าตัดเพื่อใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนซึ่งเป็นวิทยาการรักษาใหม่ในตอนนั้นเพราะช่วยลดความเสี่ยงและไม่ทำให้เนื้อหัวใจเกิดแผลเหมือนการผ่าตัด Bypass แบบเดิม
“จนถึงตอนนี้ก็เกือบจะ 20 ปีแล้ว ท่อก็จะเริ่มทำงานไม่ค่อยดีเหมือนเดิม อย่างลิ้นหัวใจในท่อก็เริ่มขยับน้อยลงเนื่องจากหินปูนที่เกาะ ตอนนี้ก็ถึงกระบวนการที่ต้องนั่งคิดแล้วว่า ลำดับถัดไปอาจจะต้องพิจารณาใส่ลิ้นซ้ำเข้าไปอีกตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัด โดยให้หัวใจยังคงรักษาการทำงานได้อย่างปกติ”
หลังจากการผ่าตัด ทำให้หมอกรวีร์สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบเหมือนคนปกติ เพียงแต่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่มีการปะทะ นั่นเท่ากับว่าตลอดชีวิตของหมอกรวีร์และอ.กฤตย์วิกรมคือความผูกพันที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการให้คำปรึกษาในเรื่องอาการป่วยทางกาย แต่ยังเป็นคำปรึกษาในเรื่องการใช้ชีวิต พร้อมกับให้กำลังใจเพื่อให้หมอกรวีร์ได้เดินตามความฝันของตัวเองต่อไป
“ชีวิตเขาควรจะดำเนินไปได้เหมือนกับชีวิตเด็กอื่นๆ ทั่วไป เขาไม่ได้มีอะไรที่เสียเปรียบชาวบ้าน สามารถเข้าเรียน เข้ามหาวิทยาลัย ประกอบอาชีพได้ ผมว่านี่เป็นอะไรที่สำคัญในการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคมาตั้งแต่เด็ก ไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะมองว่าเขาทำอะไรไม่ได้เลยหรือ ต้องระวังมากเกินไปไหม อย่างในเคสนี้ผมเห็นว่าผลการรักษาดี ผมก็พยายามสนับสนุนให้เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำ ได้โตเป็นผู้ใหญ่สมกับความที่เขาอยากเป็น”
“ความยากของเคสนี้คือ การติดตามผลการรักษาในช่วงชีวิตที่ต่างกันไป หมอเองต้องมีความเข้าใจตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ กระบวนการและรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการของผู้ป่วย นี่เป็นความยากที่ว่า ในภาพรวมจะต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มองกระบวนการพวกนี้ตลอดอายุเวลาของเขา จนรู้ว่าผู้ป่วยต้องการอะไร แล้วเราก็ช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาควบคู่ไปกับทำให้เขามีชีวิตอยู่ในสังคมได้ การรักษากับการใช้ชีวิตมันต้องไปด้วยกันให้ได้”
อนาคตของนวัตกรรมทางการแพทย์ และการดูแลหัวใจตลอดชีวิต
ยุคสมัยที่ก้าวหน้า มนุษย์ที่เติบโตขึ้นทุกวัน เดินทางไปพร้อมกับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ถูกคิดค้นและวิจัยเพื่อพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทั้งหมดนี้มาอยู่ในมือของทีมแพทย์ นับเป็นการสร้างกระบวนการรักษาที่ต่อเนื่องและส่งผลดีที่สุดกลับไปยังตัวผู้ป่วย
“ถึงตอนนี้ก็ใกล้จะครบรอบที่ต้องผ่าตัดรักษาอีกครั้งหนึ่งแล้ว จากเมื่อก่อนที่ใช้ CT Scan หรือ MRI ที่ต้องดูผ่านจอ 2 มิติ ตอนนี้ทางศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์เราสามารถทำภาพ 3D Printing ได้เหมือนกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคนไข้แล้วสามารถใช้โมเดลจากการพิมพ์แบบ 3 มิติในการชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติภายในหัวใจได้เลย คนไข้จึงเข้าใจสิ่งที่เราพูดคุยได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถวางแผนการรักษาร่วมกันได้”
“สำหรับผมแล้ว โรคหัวใจของหมอกรวีร์แบ่งได้เป็นหลายประเด็นสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ อันดับแรกคือ ผู้ป่วยเป็นโรคซับซ้อน ซึ่งการวินิจฉัยและการดูแลจำเป็นจะต้องทำตั้งแต่วัยเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์จะดูแลโดยแพทย์ทีมเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้การรักษาต่อเนื่อง มีการบันทึกการรักษาอย่างละเอียด ทำให้เห็นข้อมูลการเชื่อมโยง แล้วขยายทีมการดูแลให้เป็นภาพรวมของการรักษาในลำดับถัดๆ ไป”
“นอกจากนั้นแล้ว ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ยังประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและทีมสหสาขา เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตลอดการรักษา และอันดับสุดท้ายคือการบริการที่ดีพร้อมกับการรักษาที่เหมาะสม ผมว่าที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นบริบทที่ดีในการทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบาย และผลประกอบการของเรายังส่งกลับไปสนับสนุนพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอีกด้วย”
ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ได้ทิ้งท้ายถึงความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาหมอกรวีร์ และได้เห็นอนาคตที่เติบโตจนสร้างครอบครัวและพร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ที่จะลืมตามาดูโลกเร็วๆ นี้ “ผมเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก แล้วรู้สึกภูมิใจที่การรักษาได้ผลสำเร็จดี จนถึงปัจจุบันที่เขาเดินมาบอกว่า ผมมีครอบครัวแล้วครับ มีลูกแล้วครับ ไม่ใช่เฉพาะกับเคสนี้นะ แต่กับผู้ป่วยทุกคนที่รับการรักษา เรารู้สึกว่าเราสามารถทำให้เขาไปถึงจุดที่เขาควรจะไปได้ โดยที่โรคพวกนี้ไม่ได้ดึงเขาไว้ แล้วคนไข้กลุ่มนี้ก็โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ช่วยเหลือสังคม”
“เหมือนกับเราช่วยเหลือหนึ่งคน แล้วส่งเขาไปช่วยได้อีกหลายๆ คน ผมว่าอันนี้เป็นความภาคภูมิใจมากที่สุด”