ในสังคมทุกวันนี้ ผู้คนกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อมที่บั่นทอนสุขภาพกายให้แย่ลงเรื่อยๆ หนักไปกว่านั้นคือเรื่องสุขภาพใจ เครียด เหงา เศร้า ท้อแท้กับชีวิต กลายเป็นสถานะปกติที่เกือบทุกคนต้องเผชิญ
แน่นอนว่าความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ทุกคนต่างมีความปรารถนาดีต่อกันอยู่แล้ว แต่หลายครั้งที่ความหวังดีหรือความห่วงใยที่แสดงออกไปนั้นอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจอีกฝ่ายได้ทั้งเชิงบวกและลบ เพราะแต่ละคนมีปัญหา และความต้องการการให้กำลังใจที่ไม่เหมือนกัน
ลองไปดูกันว่าจะมีวิธีไหน ที่จะใช้ ‘ความเข้าใจ’ เพื่อให้ ‘กำลังใจ’ ได้อย่างถูกวิธีบ้าง
ฟังอย่างเข้าใจ
หลายคนอาจคิดว่า การให้กำลังใจคือการแสดงออกถึงความปรารถนาดีผ่านคำพูด คำแนะนำเท่านั้น แต่สำหรับบางคนแล้ว การรับฟังคือการให้กำลังใจที่ดีที่สุด เพราะทางออกของปัญหาเขาสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ต้องการคือคนที่พร้อมรับฟังหรือต้องการระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา
Margaret Wheatley นักเขียน นักพูด และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสัมพันธ์ชาวอเมริกัน เคยเขียนบทความลงในนิตยสาร Shambhala Sun ว่า การฟังเป็นการกระทำที่ง่ายที่สุด แต่ต้องเป็นการฟังโดยที่ไร้คำพูดหรือคำแนะนำใดๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นการสร้างช่วงเวลาดีๆ ที่สามารถเยียวยาความรู้สึกของอีกฝ่ายได้แล้ว เพราะการฟังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน
หัวใจสำคัญคือเราต้องรับฟังโดยไม่ตัดสินหรือพยายามใส่ความคิดอะไรลงไป เพียงฟังด้วยความเข้าใจว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญคืออะไร แม้จะไม่ได้ลงมือช่วยเหลือ แต่เป็นการรับรู้ปัญหานั้นไปด้วยกัน ให้เขารู้สึกว่ามีคนพร้อมรับฟังอยู่ข้างๆ ให้เขาได้ปลดปล่อยความรู้สึกออกมาจนรู้สึกสบายใจ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
พูดด้วยความรู้สึก
บางคนอาจเคยผ่านช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ ท้อแท้ แต่ก็สามารถหาทางออกด้วยตัวเองได้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการคำแนะนำ เพื่อเป็นแสงสว่างในวันที่มืดมิด การเริ่มต้นทำความเข้าใจปัญหาของเขาอย่างลึกซึ้ง รับรู้ถึงสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ หลังจากนั้นใช้คำพูดที่ช่วยทำให้เขามองเห็นคุณค่าในตัวเองและศักยภาพที่มี เพื่อเรียกความมั่นใจในตัวเองกลับคืนมา
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Management Science ของอเมริกา โดย Dr.Wood Brooks พบว่า คนส่วนใหญ่ที่ไม่กล้าขอคำปรึกษา เพราะกลัวว่าตัวเองจะดูเป็นคนที่ไร้ความสามารถในสายตาคนอื่น จึงเก็บปัญหานั้นไว้คนเดียว สิ่งที่เราต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือคือการพูดว่า “ให้ฉันช่วยไหม”
เมื่ออีกฝ่ายเริ่มเปิดใจที่จะให้ช่วยเหลือ จึงเลือกใช้คำพูดที่ไม่ใช่คำพูดให้กำลังใจทั่วไป แต่ต้องเป็นคำพูดที่มาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ เชื่อว่าเขาจะรับรู้ผ่านน้ำเสียงและถ้อยคำ ซึ่งจะกลายเป็นพลังใจสำคัญที่จะดึงเขาให้กลับมาเข้มแข็งได้
พิมพ์อย่างตั้งใจ
ในยุคสมัยที่โซเชียลเน็ตเวิร์กกลายเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารกัน การพูดคุยกันผ่านตัวอักษรนั้น มีพลังมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะข้อความเพียงแค่สั้นๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนคนหนึ่งได้เลยทีเดียว
มีเคสตัวอย่างของ WelTel บริการทางการแพทย์ในประเทศแคนาดา ที่เลือกใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอย่างการส่งข้อความ ด้วยข้อความง่ายๆ ว่า “How are you?” หาผู้ป่วย เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์และเป็นการติดตามการรักษาระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ซึ่งเป็นช่องทางการรักษาอีกช่องทางหนึ่ง ช่วยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV และวัณโรคอาการดีขึ้นได้
แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจในการส่งข้อความหากัน โดยเฉพาะกับคนที่อ่อนไหวและใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพราะข้อความไม่มีน้ำเสียงเหมือนการพูดคุยกันต่อหน้า บางครั้งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ เคล็ดไม่ลับในการให้กำลังใจผ่านข้อความ คือการอ่านสิ่งที่เขาส่งมาให้ละเอียดก่อนที่จะส่งข้อความกลับ การตอบกลับข้อความเหล่านั้น เราอาจจะต้องไตร่ตรองและทบทวนอีกสักครั้งก่อนที่จะส่งกลับไป เพื่อแสดงถึงความใส่ใจในทุกๆ ข้อความที่ส่งมา รวมถึงความต้องการของคู่สนทนาอย่างแท้จริง ว่าเขานั้นต้องการให้เราตอบกลับแบบไหน ต้องการกำลังใจ หรือแค่ต้องการระบายความรู้สึกที่ไม่สบายใจออกมา
สัมผัสให้เข้าถึง
การสื่อสารระหว่างมนุษย์ไม่ได้มีแต่การพูดคุยหรือการส่งข้อความเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องของภาษากายที่สามารถสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกได้ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นการให้กำลังใจกันด้วยการกอดหรือการจับมือ เป็นการให้กำลังใจที่มีความเป็นมนุษย์และส่งต่อพลังและกำลังใจได้ดีที่สุด
มีการวิจัยของ Carnegie Mellon University ในอเมริกา ได้สัมภาษณ์คู่ผู้ชายและผู้หญิงจำนวนกว่า 404 คน ถึงเรื่องความขัดแย้งกัน และจำนวนครั้งของการกอดที่ได้รับ พบว่าคนที่ถูกกอดจะมีความรู้สึกด้านลบน้อยกว่าคนที่ไม่ถูกกอดอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการยืนยันว่า การกอดสามารถช่วยลดความเครียดและช่วยเปลี่ยนอารมณ์ด้านลบให้กลายเป็นบวกได้ อีกทั้งยังช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
บางครั้งในช่วงเวลาที่อีกฝ่ายกำลังต้องการกำลังใจ การกอดกันแน่นๆ ก็สามารถเยียวยากันและกันได้
กำลังใจที่เข้าใจ
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีใดในการ
เพราะกำลังใจที่ดี…เริ่มต้น ที่ความเข้าใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.joinonelove.org/learn/5-ways-your-words-can-empower-your-friend/
https://www.wikihow.com/Encourage-a-Friend
https://www.aconsciousrethink.com/6745/how-to-encourage-someone/
https://www.earth.com/news/hug-healing-power/
https://medium.com/@jenniferbrandel/listening-is-a-form-of-healing-710c701343af
https://www.inc.com/marcel-schwantes/10-magic-phrases-you-need-to-say-often-to-increase-trust.html
https://www.msfhr.org/news/i2c-smart-text-analytics