เรารู้ว่าแม้คุณจะรู้สึกสิ่งที่ทำไม่มีความหมายนักต่อชีวิตอันเคยสดใส แต่เมื่อการลาออกไม่ใช่คำตอบของหัวใจ จะโหมไฟแห่งความสร้างสรรค์กลับมาอย่างไรให้ไฟลุกอีกครั้ง เพราะหากคุณไม่จั้มพ์สตาร์ทด้วยตัวคุณเอง มันก็ยากจะหาใครมาคอยทำให้แทนคุณ
มันน่าแปลกมิใช่หรือที่เมื่อก่อนคุณเคยบอกกับตัวเองว่า ‘งานที่ทำอยู่มันน่าตื่นเต้นสุดๆ’ อยู่จุดนี้ได้ไม่ใช่เพราะดวงแน่ๆ แต่กลายเป็นว่าคุณกลับไม่รู้สึกพอใจในงานที่ทำอยู่ สิ่งที่เคยใฝ่ฝันกลายเป็นกับดักอันขมขื่นค่อยๆ กัดกร่อนคุณทีละน้อย
หากเริ่มรู้สึกแบบนี้ทุกๆ เช้า (หรือทุกๆ วินาที) เราว่าคุณ ‘หมดไฟ’ แล้วล่ะ! ขอต่อไฟด่วนๆเลย
หลายคนปล่อยงานให้เดธไลน์ขยับมาทีละน้อย เพราะรู้สึกไร้เรี่ยวแรงที่จะทำงานต่อให้สำเร็จ แต่ John Gaspari นักจิตวิทยาด้านสังคมอธิบายช่วงเวลานี้ที่คุณเองเปิด “โหมดเอาตัวรอด” ถี่ๆ มันอาจไม่ Work ในระยะยาว เพราะสมองคุณไม่ได้ออกแบบให้เจอภาวะจนตรอกบ่อยๆ!!
ใน “โหมดเอาตัวรอด” เรามีทางเลือกแค่ 2 ทาง “จะสู้หรือถอยหนี” ซึ่งสมองส่วนดึกดำบรรพ์ที่สุดของเรา คือ “ส่วนสมองสัตว์เลื้อยคลาน” (Reptilian brain) อันเป็นสมองส่วนแรกๆที่พัฒนาในกรอบของวิวัฒนาการสมอง ที่จะทำงานตามสัญชาตญาณดิบล้วนๆ และจะปิดกั้นการทำงานของสมองชั้นสูงอื่นๆ
ถ้ามนุษย์เราถูกบีบให้อยู่ในภาวะเอาตัวรอดนานๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ ผลกระทบด้านลบจะมาเยือนสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตจะมาเคาะประตูบ้านไม่นานเดินรอ เมื่อเผชิญความเครียดที่กดดัน การทำงานของสมองส่วนที่พัฒนาแล้ว จะทำงานลดลง นั่นหมายความว่า เราอาจมองข้ามทักษะการสื่อสารระหว่างผู้คน การเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ไปโดยปริยาย
‘ความหมดไฟ’ ที่ดูเป็นเรื่องเบสิกไม่ว่าใครๆ ก็ต้องเผชิญ กลับกลายเป็นของแปลกประหลาดในวงการจิตวิทยา ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็มึนตึ้บไปตามๆ กัน เพราะจู่ๆ ผู้คนหันหลังให้งานตัวเอง เหนื่อยล้า อ่อนแรงราวกับถูกโรคระบาด ในช่วงต้นปี 1970 เป็นจุดเริ่มต้นของคำอุบัติใหม่ ‘Burnout (หมดไฟ)’ เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะสังคมคนทำงานด้านบริการ และพนักงานตามบริษัทห้างร้านใหม่ๆ ที่เปิดตัวราวกับดอกเห็ด แต่โอกาสการทำงานที่มากขึ้นจริง ก็ไม่ได้การันตีสวัสดิภาพการทำงานที่ดี พนักงานส่วนใหญ่กลับเผชิญสภาพแวดล้อมบีบคั้นและแข่งขันสูง จนเกิดการลาออกกันพรวดๆ ดั่งภาวะสมองไหล
เปลี่ยนความหมดไฟเป็นพลังงานใหม่ที่ไม่มีวันหมด (ถ้าคุณเติมเป็น)
จะออกจากงานเหรอ? เอาเป็นว่ามันอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับคุณ (และพวกเราส่วนใหญ่) ซึ่งยังมีภาระดุจชนักติดหลังอันเขื่อง และการเปลี่ยนงานอย่างกะทันหันก็ไม่ได้ทำให้คุณพบงานในฝันแบบเสกราวเวทมนต์ หากพวกเรายังไม่เข้าใจธรรมชาติของความหมดไฟ ต่อในคุณรับงานชิ้นใหม่ ลูปนรกก็พร้อมกลืนกินคุณอยู่ดี
ก่อนหน้านี้นักจิตวิทยาพยายามหาข้อสรุปจากข้อมูลที่มีอยู่น้อยนิดว่า ‘ความหมดไฟเกิดจากการทำงานหนักโดยขาดการพักผ่อน’ แต่เมื่อมีการศึกษาชุดใหม่ๆ เพิ่มเติม ปรากฏว่าความเหนื่อยล้าไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของการแพร่ระบาดทางอารมณ์ แต่เสมือนเป็นการกรุยทางเล็กๆ ให้คุณอยากจะถีบตัวออกจากบรรยากาศการทำงานแบบเดิมๆ หรือจะกล่าวว่า “เหนื่อยกายไม่เท่าเหนื่อยใจ” หากจะมองในมิตินี้ก็ไม่ผิดนัก
ผลสำรวจพบว่า คนทำงานที่อยู่ในตำแหน่งกลางๆ ในองค์กร มักประสบปัญหาหมดไฟมากที่สุด เนื่องจากหมดความหวังที่จะไต่เต้าในระดับที่สูงกว่า และไม่มีความรู้สึกอยากก้าวหน้าในสายอาชีพ ส่วนคนทำงานด้านบริการจะรู้สึกหมดไฟจากเวลาการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่กดดัน จำเจ ก็เป็นตัวจุดระเบิดชั้นดีเช่นกัน
ตามหา little C ที่สูญหาย
ความสร้างสรรค์เสมือนน้ำมันที่ไม่ต้องรอซากพืชซากสัตว์ทับถม แต่สภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบันกลับไม่เอื้ออำนวยให้คุณใช้มันมากนัก โครงสร้างบริหารองค์กร Workflow ที่ล้วนถูกออกแบบมาแล้ว เพื่อให้คุณเดินตามเจตจำนงพันธกิจองค์กร
แต่จากปรากฏการณ์ที่ผ่านๆ มา พบว่า ผู้คนวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือมีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี เริ่มมีอาการ ‘น็อตหลุด’ ประสบปัญหาภาวะตีบตันในความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถกลั่นความสดใสออกมาได้เหมือนตอนสมัยรุ่นๆ
Big C หรือ Big Creativity คือแนวคิดที่สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์คนในสังคม หรือผลผลิตที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการ หลายองค์กรพยายามคาดหวังให้คุณตกผลึกมันอย่างเร็วที่สุด แต่กลายเป็นว่าการตามหา Big C ดูเหมือนไล่ตามอากาศธาตุ มันเป็น Goal ที่สูงก็จริง แต่คนทำงานกลับไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดนั้นอย่างไร
หลายคนจะข้ามช็อตไปยังจุด Big C โดยทันที แต่ลืมลงทุนให้กับ ‘little C’ หรือความคิดสร้างสรรค์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่เปรียบเสมือนกล่องทางความคิดเล็กๆ ที่ค่อยๆ ซ้อนทับกันจนกลายเป็นชิ้นใหญ่ นักจิตวิทยาหลายคนเชื่อว่ากระบวนการสร้างความสร้างสรรค์นั้นมันสอนได้ (Teachable) และตามรอยได้ (Traceable)
ทุกคนนิยมฟังเรื่องราวนักคิดหรืออัจฉริยะค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรือ จังหวะ ‘ยูเรก้า’ แต่ต่อให้ผลแอปเปิ้ลหล่นใส่ ‘เซอร์ ไอแซค นิวตัน’ หมดทั้งสวน เขาก็จะคิดไอเดียอะไรไม่ได้เลย หากในแต่ละวันไม่สร้าง little C ไว้อย่างสม่ำเสมอ
ชุบชีวิตความสร้างสรรค์ จากการหมดไฟได้ไหม?
จริงๆ ไม่จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ ใช้ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่างหาก Robert Epstein นักวิจัยด้านจิตวิทยาของสถาบัน American Institute for Behavioral Research ศึกษากลไกการทำงานของความคิดสร้างสรรค์หลายชุดวิจัย มันมีหลักการที่เริ่มทำได้ง่ายๆ โดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพียงเล็กน้อย ไม่ฝืน และเป็นธรรมชาติมากที่สุด
- Capturing
คนทั่วไปมักคิดว่า พวกเขาไม่มีเวลามานั่งฝันหวานหรอก แต่คิดผิดถนัด เพราะการจุดประกายทางความคิดไม่เคยมีการบอกเวลาล่วงหน้า มันเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาของชีวิต การเก็บบันทึกช่วงเวลาต่างๆ โดยปราศจากการตัดสินว่ามันถูกหรือผิดก็ช่วยได้
Otto Loewi นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาความรู้เรื่องชีววิทยาของเซลล์ (Cell biology) ก็ไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จนักในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ แต่เขาเป็นนักบันทึกโมเมนต์ตัวเองที่หาตัวจับยาก ในช่วงที่กำลังนอนหลับ หากอะไรแว่บเข้ามาในความคิด เขาจะกระวีกระวาดลุกขึ้นมาขีดๆ เขียนๆ ทิ้งไว้ข้างเตียง แต่เมื่อรุ่งเช้ามาเยือน เขากลับอ่านไม่รู้เรื่องเลยสักนิดว่าเขียนอะไรลงไปบ้าง มันคงอยู่ในความทรงจำเขาสักระยะ ก่อนที่ช่วงบ่ายๆ ความเชื่อมโยงทั้งหมดก็พุ่งพรวดแบบรวบยวด
- Surrounding
ความคิดสร้างสรรค์ติดต่อกันได้อย่างโรคระบาด (Contagious) แต่ในนัยยะที่ดี การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ทำให้คุณรับไอเดียใหม่ๆ จากคนอื่นๆ สิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง หรือแม้กระทั่งธรรมชาติ ออกไปพบปะกับผู้คนใหม่ๆ ที่มีความสนใจใกล้เคียงกับคุณ หรือไม่ก็ต่างจากคุณสิ้นเชิงไปเลย
- Challenging
งานยากสร้างความต่างได้มากกว่า และการรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งที่คุณจะเจอความท้าทาย แต่อย่าทำให้มันกัดกร่อนความตั้งใจเดิมของคุณ ลองออกจากพื้นที่เดิมๆ ที่คุ้นเคย ไปเที่ยวในที่ที่คุณอยากลองมาเต็มแก่แต่ยังไม่กล้าเสียที หรือหากคุณเป็นคนเก็บตัว บรรยากาศที่เงียบสงบก็เป็นช่วงเวลาบ่มเพาะความคิด (Incubation time) ที่ดีเหมือนกัน
- Take breaks
ซัลวาดอร์ ดาลี หาเวลานอนงีบทุกครั้งที่มีโอกาส แต่เขาเหนือชั้นไปกว่าคนทั่วไปหน่อย ศิลปินเอกเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์มักมาพร้อมกับสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ขณะที่กำลังจะงีบ เขาจะถือช้อนไว้ในมือ ซึ่งมีจานสังกะสีวางอยู่บนพื้น เมื่อช้อนตกกระทบจานเมื่อไหร่ เขาจะตื่นขึ้นมาบันทึกความรู้สึกนั้น เพราะจริงๆ แล้วแม้ตอนคุณนอนหลับสมองก็ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา
- 30 Minutes Rule
ใช้กฎ 30 นาที นักจิตวิทยาแนะนำให้คุณเปลี่ยนวงจรชีวิตตัวเองโดยทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 30 นาที เช่นตื่นก่อน 30 นาที ออกจากบ้านก่อน 30 นาที เพื่อให้คุณรู้สึกว่าควบคุมเวลาได้ และกล้าที่จะจัดการกับเวลาของตัวเองมากขึ้น บรรยากาศของเวลา 30 นาทีก็แตกต่างไปแล้วจากรูทีนชีวิตเดิมๆ
- Be Selective
ไม่ต้องมีพันธมิตรทุกคน ขอเพียง’บางคน’ ไม่มีใครทำให้ทุกคนรักได้ ดังนั้นจึงคัดสรรเพื่อนร่วมทำงานเพียงบางคนที่คุณสามารถหาเวลาทำกิจกรรมลดความตึงเครียดร่วมกันได้ พลังสนับสนุนของมิตรภาพสร้างพันธมิตรทางอารมณ์ได้อย่างดี แชร์ความล้มเหลวให้เขารับรู้บ้าง คุณจะทราบว่าคนรอบๆ ตัวคุณล้วนอ่อนไหวต่อความรู้สึก ถ้าคุณเริ่มก่อน
- Craft your own things
คราฟต์งานตัวเอง ไม่มีใครรู้หรอกว่างานในฝันของคุณคืออะไร แล้วอาจไม่มีตำแหน่งนั้นอยู่เลยก็ได้ การคราฟต์งานตัวเองทีละนิดและค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ หรือลงทุนกับมันไปบ้างตามความเหมาะสม ทำให้คุณอยู่กับงานได้นานขึ้น และงานที่คุณรักจะเติมเชื้อไฟที่ดีได้
- Be fitter, Be more
ฟิตกว่าเดิม สุขภาพคือปราการด่านแรกที่จะทำให้คุณแกร่งกว่าเดิม การนอนหลับอย่างเพียงพอ ได้รับสารอาหารครบในแต่ละวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้คุณไม่หมดแรงง่ายๆ แม้เปลี่ยนงานไม่ได้ แต่คุณเปลี่ยนร่างกายได้ สุขภาพที่ดีจะทำให้คุณเป็นเจ้าของวงจรชีวิตอีกครั้ง ชีวิตส่วนตัวคุณเองก็จำเป็นต้องได้รับการเติมเต็ม การออกแบบโครงสร้างชีวิตส่วนตัวขึ้นมาทำให้รู้ว่า ใครกำลังกุมบังเหียนชีวิตอยู่ ไม่ใช่ระบบหรอกที่มาครอบมันไว้
ลองสัมผัสคุณประโยชน์รูปแบบใหม่นม “เมจิ สตาร์ท” ผสานสองคุณประโยชน์จากน้ำนมโคจากธรรมชาติและข้าวไรซ์เบอร์รี่ ให้พลังงานที่ดีกับร่างกายด้วยโปรตีน ผสานกับใยอาหารหรือไฟเบอร์ที่สูงถึง 5,000 มก. เป็นการผสานประโยชน์อย่างลงตัวของนมกับข้าว เพราะปกติในนมจะไม่มีใยอาหาร และให้พลังสมองจากวิตามินต่างๆสูง โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่ช่วยเพิ่มพลังสมองในการต่อยอดความคิดการทำงาน ซึ่งรวมอยู่ใยในขวดเดียว ได้สารอาหารครบถ้วน ทำให้คุณพร้อมกลับสร้างแรงบันดาลใจเรียกไฟให้ลุกอีกครั้ง เพราะการรอคอยให้อภินิหารให้เกิดขึ้นกับชีวิตคุณไม่มีอยู่จริง ตัวเราเองทั้งนั้นที่จะสตาร์ทไฟให้กลับมาคุกรุ่น
รักษาเด็กน้อยผู้สดใสที่ยังแอบแฝงในตัวคุณอยู่ มันจึงเป็นเรื่องท้าทายที่คุณจะเลี้ยงพลังเหล่านี้ไว้ตลอด แม้แต่ในวัยทำงานอันหัวหมุนก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Early Predictors of Job Burnout and Engagement. Christina Maslach and Michael P in Journal of Applied Psychology Vol. 93 May 2008
Organizational Predictiors and Health Consequences of Changes in Burnout in Organizational Behevior, Vol. 34 October 2013
Burned Out. Michael P. Leiter Scientific American MIND 98