หากจะหาสถานการณ์ที่สะท้อน motto ที่ว่า ‘สามัคคีคือพลัง’
การมองไปยังแวดวงการเงินของประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ผิดฝาผิดตัวเท่าไหร่ แม้ฟังดูเผินๆ นี่น่าจะเป็นแวดวงที่มีการขับเคี่ยวแย่งชิงกันอย่างดุเดือด ตามธรรมชาติของทุนนิยมก็เถอะ
วัดจาก GDP ปัจจุบันสิงคโปร์ไม่เพียงเป็นประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกมาหลายปีซ้อน หากยังเป็นประเทศผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology หรือ FinTech) ของโลก รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลาง FinTech ในระดับภูมิภาค
ฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้สิงคโปร์มาถึงจุดนี้ หาใช่สถาบันการเงินหนึ่งใด หากแต่เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ทำงาน (อย่างร่วมแรงร่วมใจ) ร่วมกับภาคเอกชน เนื่องจาก FinTech เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับระเบียบของภาครัฐมากที่สุด ธนาคารกลางของสิงคโปร์ (The Monetary Authority of Singapore หรือ MAS) จึงออกแบบเครื่องมืออันหลากหลายเพื่อยกระดับสังคมไร้เงินสดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกต่อการลงทุน รวมไปถึงการรวม blockchain ไว้ที่ศูนย์กลาง และการจัดอีเวนท์ระดับโลกที่สนับสนุนให้เกิดความคึกคักในอุตสาหกรรม อย่าง FinTech Festival Singapore ซึ่งเป็นทั้งการแนะนำนวัตกรรมและการชักชวนนักลงทุนจากทั่วโลกมาร่วมสังฆกรรม ขณะที่ธนาคารชั้นนำของประเทศอย่าง DBS และ OCBC ก็รับลูก MAS ในการสร้างนวัตกรรมการเงินที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่
และที่สำคัญ MAS ยังเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่กลุ่ม FinTech สตาร์ทอัพที่มีความคิดสดใหม่ พร้อมไปกับการสร้างทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานให้สตาร์ทอัพเหล่านี้พัฒนาอย่างสุดความสามารถ จนปัจจุบันประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้ มีบริษัทสตาร์ทอัพเฉพาะแค่แวดวงการเงินอย่างเดียวเกือบ 500 ราย โดยท่ามกลางจำนวนอันคับคั่งเหล่านั้น เราพบว่าในปี 2019 นี้มีบริษัทด้วยกัน 7 แห่งที่น่าจับตา ที่น่าจะมีบทบาทในการยกระดับแวดวง FinTech ไม่เฉพาะในภูมิภาคอาเซียน หากยังหมายรวมถึงทั่วโลก
Accuity
สตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการจัดการและกำกับดูแล (RegTech) ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องความปลอดภัย การรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน การจัดส่งข้อมูล การประมวลและวิเคราะห์ติดตามผล รวมไปถึงการสร้างรีพอร์ทเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ล่าสุดทาง Accuity ยังนำเสนอ Safe Banking System ระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านการเงิน อันรวมไปถึงเครื่องมือในการจัดการกับการฟอกเงิน (https://accuity.com/)
AutoWealth
AutoWealth คือที่ปรึกษาการเงินและการลงทุนด้วยระบบหุ่นยนต์ที่มีอัลกอริทึมเป็นของตัวเอง ซึ่งจะช่วยตัดกระบวนการและต้นทุนจากคนกลางหรือนายหน้า หากสามารถให้คำแนะนำแก่นักลงทุนได้ตอบโจทย์กับเงื่อนไขและพฤติกรรมทางการเงินของนักลงทุนผู้นั้นให้ได้ประโยชน์สูงสุด (https://www.autowealth.sg/)
Bambu
อีกหนึ่งที่ปรึกษาหุ่นยนต์ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งใช้ระบบ AI ที่เคลมว่าสามารถแม้กระทั่งแจกแจงข้อมูลทางการเงินแฝงในเชิงลึก รวมไปถึงการวางกลยุทธ์ทางการลงทุนที่ชาญฉลาด โดยสตาร์ทอัพรายนี้ก็เพิ่งได้รับรางวัล Fintech Innovate Award Africa ของทวีปแอฟริกามา และนอกจากสิงคโปร์ Bambu (http://www.bambu.life/)
BetterTradeOff (BTO)
สตาร์ทอัพที่ออกแบบแอปพลิเคชั่นมาสำหรับบุคคลทั่วไปที่จะวางแผนการเงินในระยะยาว โดยการประมวลผลจากสถานะการเงินของลูกค้า รายได้ ภาษีที่ต้องจ่าย รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เพื่อสร้างแผนการเงินที่ยั่งยืนไปตลอดชีวิตสำหรับลูกค้าแต่ละคน ล่าสุด BTO จะได้รางวัล Global FinTech Hackcelerator 2018 ในงาน Singapore FinTech Festival ของปีที่ผ่านมาด้วย
Cardup
สตาร์ทอัพที่สนับสนุนสังคมไร้เงินสดผ่านการใช้บัตร โดยทำงานร่วมกับบัตรเครดิตชั้นนำ อันทำให้ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินจำนวนมากผ่านบัตรได้โดยตัดกระบวนการโอนเงินของธนาคารไป (และผู้รับเงินปลายทางที่ไม่มีระบบรับเงินผ่านบัตรเครดิต ก็สามารถรับเงินได้ เช่นการจ่ายภาษี) ด้วยเหตุนี้ Cardup ยังทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้วงเงินบัตรเครดิตคืนกลับมามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขยายวงเงินกับธนาคาร (https://cardup.co/)
Revolut
Revolut คือธนาคารแนวใหม่ที่ให้ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชั่นใช้จ่ายเงินได้โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมกว่า 150 ประเทศทั่วโลก นั่นยังหมายรวมถึงการแลกเปลี่ยนเงินตราผ่านทางแอปพลิเคชั่นได้ถึง 24 สกุลเงินในอัตราแลกเปลี่ยนจริง แม้นี่จะไม่ใช่สตาร์ทอัพของคนสิงคโปร์ หากเพิ่งได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการในประเทศนี้ ซึ่งมีรายงานว่ามีคนเฝ้ารอจะใช้แอปพลิเคชั่นดังกว่า 100,000 คนทั้งในสิงคโปร์และญี่ปุ่น (https://www.revolut.com/)
NETS
NETS ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1985 โดยมีจุดประสงค์จะเปลี่ยนให้สิงคโปร์เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (ตั้งแต่ 34 ปีที่แล้ว!) ความท้าทายของ NETS ในปัจจุบันคือการผลักดันให้ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์ หรือแผงขายอาหารสตรีทฟู้ดทั่วประเทศหันมาใช้เงินออนไลน์แทนเงินสด! ทั้งนี้ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์ ของที่นั่นดูจะเป็นบริการหลักบริการเดียวของประเทศที่พ่อค้าแม่ค้านิยมใช้เงินสดเพื่อความสะดวก และลดปัญหายุ่งยากต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ กระนั้นล่าสุด NETS ก็พัฒนาระบบการโอนเงินที่รวดเร็วขึ้น จากแต่ก่อนการจ่ายเงิน e-wallet ต้องใช้เวลามากกว่า 1 วันในการโอนเงินจากผู้ซื้อเข้าสู่บัญชีของผู้ขาย หาก NETS ก็ทำให้กระบวนการดังกล่าวรวดเร็วและให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว รวมไปถึงการลดค่าธรรมเนียม เพื่อกระตุ้นให้เกิดสังคมไร้เงินสดโดยสมบูรณ์
ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและเหล่ายูนิคอร์นในวงการ Start Up ที่ได้ยกตัวอย่างมา ทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งให้ประเทศที่เซ็กซี่ที่สุดสำหรับธุรกิจสายการเงินของโลก และในวันที่ 19-21 มีนาคมนี้ จะเกิดมหกรรมสัมมนา Money20 / 20 Asia ที่รวมเอาเหล่าผู้นำทางธุรกิจสายการเงินยักษ์ใหญ่ในเอเชียไปจนถึงเหล่า Start Up หน้าใหม่ที่โดดเด่นเพื่อทำการแลกเปลี่ยนความรู้ นำเสนอโปรดักส์ใหม่ๆ
ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นเจตนารมณ์ของประเทศสิงคโปร์ที่ต้องการผลักดันให้เดินความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับโลกใบนี้