ไม่ใช่แค่บริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ ที่ต่างก็มุ่งเข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศสิงคโปร์ หากกระทั่งล่าสุดแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายเจ้า ก็มองประเทศเกาะเล็กๆ นี้เป็นหมุดหมายใหม่ของการตั้งสำนักงานอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างล่าสุดแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Dyson ก็เพิ่งประกาศย้ายฐานที่มั่นของตัวเองจากประเทศอังกฤษที่อยู่มาเกือบ 30 ปี มาเปิดสำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ โดยหวังจะลุยตลาดในภูมิภาคเอเชียอย่างเต็มตัว ขณะที่ Facebook ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ของตัวเองในสิงคโปร์อยู่แล้ว ก็มีแผนจะสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) เป็นฐานทัพคลังข้อมูลแห่งแรกในเอเชียที่ประเทศแห่งนี้เช่นกัน
แน่นอน การที่ประชากรสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สิงคโปร์ดึงดูดภาคธุรกิจใหญ่ๆ มาลงทุน แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลเดียว ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เหตุผลที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ หากการที่รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ (ซึ่งได้รับการวางรากฐานมานับตั้งแต่สิงคโปร์ก่อตั้งประเทศ) พร้อมไปกับการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างเต็มขั้น และการที่รัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนให้มากที่สุด นั่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่สิงคโปร์เป็นสิงคโปร์เช่นทุกวันนี้
ในขณะที่ปัจจุบัน เราได้ยินวลีที่ว่า ‘สังคมยุค 4.0’ กันจนเกร่อ หากย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสิงคโปร์ จะพบว่ารัฐบาลมีความทะเยอทะยานนำประเทศเข้าสู่โลกดิจิทัลมาตั้งแต่ยุค 80’s แล้ว ภายหลังรวบรวมเทคโนแครตชั้นนำทั้งในและต่างประเทศร่างแผนการ IT ในระดับวาระแห่งชาติ ก่อนที่อีกสองทศวรรษต่อมา ในปี 2006 สิงคโปร์ก็เป็นประเทศแรกในเอเชียที่นำข้อมูลประชากรทั้งหมดเข้าระบบได้สำเร็จ ผ่าน SingPass ซึ่งเปิดให้ภาคประชาชนทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานแต่อย่างใด
ขณะที่รัฐบาลขยับ GovTech หรือเทคโนโลยีที่รัฐบาลที่ใช้เพื่อบริการประชาชนในกิจสาธารณะ ภาคเอกชนต่างๆ ทั้งการเงิน การธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงเรื่องยิบย่อยในชีวิตประจำวันอีกหลากหลาย ก็ล้วนทยอยกัน transform ไปสู่โลกดิจิทัล และแปลงออกมาเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่ทำให้ผู้คนพบว่าชีวิตประจำวันช่างง่ายดายเสียนี้กระไร และต่อจากนี้คือส่วนหนึ่ง
เทคโนโลยีที่เปลี่ยนกระเป๋าสตางค์มาเป็นโทรศัพท์มือถือและบัตรประชาชน
สิงคโปร์เริ่มคิ๊กออฟนโยบายที่ผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดครั้งใหญ่ในปี 2017 เมื่อ 9 ธนาคารชั้นนำของประเทศ (รวมถึง Bank of China และ HSBC) ร่วมกันผลักดันแอปพลิเคชั่น PayNow แอปพลิเคชั่นสำหรับการจ่ายเงินส่วนบุคคลผ่านโทรศัพท์มือถือหรือบัตรประชาชน โดยผู้จ่ายหรือโอนเงินไม่จำเป็นต้องใช้เลขที่บัญชีของผู้รับโอน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี QR Code มาช่วยอำนวยความสะดวก
แม้ว่าเพียงปีแรกที่มีการเปิดตัว ชาวสิงคโปร์มากกว่าหนึ่งล้านคน ก็เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเข้าสู่แอปพลิเคชันนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง (โดยมีเงินหมุนเวียนผ่านแอปพลิเคชั่นสูงถึง 900 ล้านเหรียญสหรัฐ) กระนั้น PayNow ก็ไม่อาจเป็นกลไกเดียวที่ทำให้สิงคโปร์เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะต้องไม่ลืมว่ายังมีธุรกิจอีกหลากหลายที่ผู้ประกอบการต้องการเงินสดมาหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือธุรกิจร้านอาหารตาม Hawker Center ที่เป็นเหมือนห้องครัวหลักของผู้คนทุกชนชั้น หากปัจจุบัน NETS (Network for Electronics Transfers) หรือบริษัทที่รับผิดชอบเรื่องการชำระเงินออนไลน์ของประเทศ (ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1985) ก็พยายามทำให้การจ่ายเงินออนไลน์ใน Hawker Center รวดเร็วและสะดวกต่อผู้ค้า เพื่อทำให้ใครก็ตามที่มากินอาหารที่นี่ ไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์มาก็ได้
นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัพในแวดวงการเงินอีกมาก ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อพัฒนาให้สังคมไร้เงินสดครอบคลุมวิถีชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ CardUp ที่ขยายวงเงินในธุรกรรมบัตรเครดิต เพื่อให้บัตรเครดิตกลายเป็นทางเลือกหลักในการใช้จ่ายเงิน, Revolut ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้จ่ายเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น
เทคโนโลยีที่ทำให้การซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์โปร่งใสและเป็นธรรม
สิงคโปร์ขึ้นชื่อเรื่องค่าอสังหาริมทรัพย์ที่แพงหูฉี่ รวมไปถึงมาตรการทางกฎหมายที่ทำให้ประชาชนไม่อาจถือครองกรรมสิทธิ์ของพื้นที่ได้ตลอดไป ฟังดูเหมือนชีวิตเป็นเรื่องยาก แต่ข้อดีของมันก็คือแม้ราคาจะแพงอย่างไร หากการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของที่นี่ก็อยู่ในเรทราคาจริง และโปร่งใสทีเดียว
หนึ่งในเหตุผลที่เรากล้าพูดเช่นนั้นก็เพราะระบบฐานข้อมูลที่กรมที่ดินสิงคโปร์ (Singapore Land Authority) ที่เปิดให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพียงแค่นำรหัส SingPass ไปล็อกอินในเว็บ www.sla.gov.sg/MyProperty ผู้ใช้ก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับที่ดินทั่วประเทศ ทั้งชื่อเจ้าของ ข้อมูลของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ระยะเวลาการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ รวมไปถึงราคาประเมิน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
ฐานข้อมูลนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่ชาวสิงคโปร์ใช้ประกอบการตัดสินใจเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยที่ยังได้ทราบราคากลาง ชื่อผู้เป็นเจ้าของ รวมถึงข้อกำหนดเฉพาะต่างๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แห่งนั้นๆ อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของที่นี่โปร่งใสและเป็นธรรม
เทคโนโลยีที่ทำให้ต้นไม้ในเมืองยั่งยืน
การสร้างสมดุลระหว่างป่าคอนกรีตอันเกิดจากอาคารสูงระฟ้า กับพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าจริงๆ ยังเป็นอีกเสน่ห์ของเกาะสิงคโปร์ เพราะต้นไม้คือต้นธารแห่งความร่มรื่นและบรรยากาศของความน่าอยู่ รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ในเมือง ไม่ต่างอะไรจากสาธารณูปโภคแห่งอื่นๆ
ซึ่งก็อย่างที่ทราบกัน หากใครสักคนริจะไปเด็ดดอกไม้หรือใบไม้จากต้น ก็อาจถูกตำรวจจับและปรับหลังอานได้ และเพราะเห็นว่าต้นไม้สำคัญขนาดนี้ จึงทำให้นอกจากการทำฐานข้อมูลของประชาชน และอสังหาริมทรัพย์แล้ว ต้นไม้ทุกต้นในเมืองยังถูกลงทะเบียนดิจิทัลด้วย โดยการลงทะเบียนก็ครอบคลุมตั้งแต่ ชื่อสายพันธุ์ของต้นไม้ ทำเลที่ตั้ง อายุ ประวัติการดูแลรักษา (ราวกับระเบียนคนไข้) การระบายน้ำ สุขภาพของผืนดิน ข้อมูลพวกนี้ไม่เพียงอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจเช็คสุขภาพและประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมไปถึงแนวทางการตัดแต่งต้นไม้ที่จะไม่ส่งผลอันตรายต่อผู้สัญจร (ในกรณีต้นไม้ตั้งอยู่ริมถนน) หากข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาเปิดให้ประชาชนได้รับรู้ ก็ยังเป็นเครื่องมือทำให้ผู้คนมีจิตสำนึกในการร่วมเป็นเจ้าของพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ไปพร้อมกัน
เทคโนโลยีที่ทำให้การจ่ายตลาดเป็นเรื่องง่าย
ขอแนะนำให้รู้จัก Habitat ซูเปอร์มาร์เก็ตอัจฉริยะที่ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนทุกกระบวนการ ตั้งแต่การลำเลียงสินค้าผ่านระบบสายพาน การบรรจุลงหีบห่อ การทำความสะอาด รวมไปถึงการชำระเงิน (แน่นอน, โดยไม่ใช้เงินสด) โดย Habitat คือโปรเจกต์ของ Honestbe สตาร์ทอัพของสิงคโปร์ ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและอาหารบนแอปพลิเคชัน ซึ่งปัจจุบันให้บริการในกว่า 16 เมือง 8 ประเทศ โดย Habitat ถือเป็นตลาดออฟไลน์ครั้งแรกของสตาร์ทอัพรายนี้ หากก็นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
ไม่เพียงแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตไร้พนักงาน หากเร็วๆ นี้สิงคโปร์กำลังจะมีระบบขนส่งมวลชนไร้คนขับเปิดให้บริการอีกด้วย โดยนี่เป็นผลงานของนักพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยาง (Nanyang Technological University) ที่กำลังพัฒนารถ Shuttle Bus ไร้คนขับ จำนวน 24 ที่นั่ง สำหรับใช้ขนส่งในระยะใกล้ (ในเบื้องต้น) ก่อนจะมีการทดลองเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการขนส่งมวลชนหลักในอนาคต
และเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่ทุกภาคส่วนในสิงคโปร์เห็นถึงความสำคัญ และร่วมลงทุนลงแรงพัฒนาร่วมกัน ซึ่งยังไม่นับรวมการสร้างโอกาสผ่าน event สำคัญๆ ที่รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนให้เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Smart Nation Innovation Week สัปดาห์แห่งการแบ่งปันนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเหล่านักคิด นักออกแบบ และองค์กรชั้นนำทั่วโลก, ConnectTech Asia อีเวนท์ทางเทคโนโลยีแห่งทวีปเอเชีย หรือ Hannover Messe อีเวนท์ระดับโลกเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 เป็นต้น