นี่อาจเป็นสวนสาธารณะที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่ง ในประเทศที่มีขนาดพื้นที่เล็กๆ อย่างสิงคโปร์
เรากำลังพูดถึงสนามหญ้าบนชั้นดาดฟ้าของอาคารควบคุมประตูน้ำ มารีน่า บาร์ราจ (Marina Barrage) ที่ซึ่งหลายคนรู้จักที่นี่จากการเป็นหนึ่งในจุดชมทิวทัศน์อ่าวมารีน่า (Marina Bay) ที่ดีที่สุด เพราะไม่เพียงท้องทะเล หากฉากหลังที่เป็นอาคารระฟ้าและเหล่าสิ่งปลูกสร้างอันเป็นแลนด์มาร์คยุคใหม่ของสิงคโปร์ก็ต่างเรียงรายอวดโฉมความศิวิไลซ์สู่สายตานักท่องเที่ยว
กระนั้น มารีน่า บาร์ราจ ก็มีอะไรมากกว่าจุดชมวิวและสถานที่พักผ่อนของคนเมือง (ทั้งจากสวนบนดาดฟ้า, ทางปั่นจักรยาน และที่พายเรือคายัค) เพราะนี่คืออ่างเก็บน้ำแห่งสำคัญของประเทศ พื้นที่ขนาด 1,500 กว่าไร่สำหรับการจัดสรรน้ำให้ผู้คนกว่า 5.6 ล้านคนบนเกาะ รวมไปถึงเป็นประตูระบายน้ำที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง ขณะเดียวกันที่นี่ยังมี Solar Park พื้นที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุด (มีด้วยกัน 400 แผง) เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบประตูน้ำและอาคารปฏิบัติการ
จะว่าไปสถานที่แห่งนี้ก็เป็นเครื่องสะท้อนวิธีคิดแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกมาทั้งฝูงของสิงคโปร์ได้ดี เพราะอย่างที่บอก เพียงพื้นที่พื้นที่เดียว เป็นทั้งแหล่งพักผ่อนของคนในเมือง สำนักงาน อ่างกักเก็บและประตูน้ำ สถานีรองรับพลังงานหมุนเวียน (กระทั่งสวนบนชั้นดาดฟ้าก็ยังติดแผ่นรองรับพลังงานแสงอาทิตย์มาหมุนเวียนใช้ในอาคารด้วย) และภายในอาคารปฏิบัติการยังเป็นที่ตั้งของ Sustainable Singapore Gallery พิพิธภัณฑ์แบบอินเตอร์แอคทีฟที่ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวของการจัดการน้ำในประเทศ หากยังพูดถึงแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต
ครับ หากคุณคิดว่าสิงคโปร์ก็แค่เมืองในป่าคอนกรีตที่มีแต่พนักงาน white collar, ตลาดหุ้น, การลงทุน, ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ, สวนสนุก แหล่งช้อปปิ้งระดับโลก และรูปปั้นเมอร์ไลอ้อน ฯลฯ การได้มาเยือนอ่างเก็บน้ำและสำรวจพิพิธภัณฑ์ข้างต้น คุณอาจจะเปลี่ยนมุมที่มองมายังประเทศนี้ใหม่
ใช่, องค์ประกอบที่เล่ามาก็ถูกหมด เพียงแต่องค์ประกอบที่จะเล่าต่อจากนี้ต่างหาก คือรากฐานของความมั่งคั่งและสีสันทั้งหมดของสิงคโปร์
ศักดิ์ศรีของประเทศแล้งน้ำ
แม้จะรายล้อมด้วยน้ำทะเล หากเป็นที่ทราบกัน สิงคโปร์คือประเทศที่จะแทบไม่มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ เพราะลำพังแหล่งน้ำจืดที่ซึ่งเป็นโครงสร้างสุดพื้นฐานของการใช้ชีวิต ก็ยังแทบไม่มีเป็นของตัวเอง
ด้วยเหตุนั้น ในปี 1961 รัฐบาลจึงทำสัญญาขอซื้อน้ำจืดจากประเทศมาเลเซีย แน่นอนรัฐบาลของ ลี กวน ยู รู้ดีมาตลอดว่านี่คือการยืมจมูกคนอื่นหายใจ สัญญามีอายุ 100 ปี นั่นทำให้สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2061 สิงคโปร์ไม่เพียงจะต้องเป็นประเทศที่มีน้ำจืดใช้อย่างเพียงพอโดยไม่พึ่งพาใคร หากยังตั้งเป้าหมายสูงสุด ให้ตัวเองเป็น ‘ศูนย์กลางน้ำของโลก’ (Global Hydro Hub) แหล่งรวมวิทยาการด้านชลประทานและการวิจัยน้ำอย่างรอบด้าน
ซึ่งก็น่าสนใจทีเดียวว่าผ่านมา 58 ปี นับแต่วันเซ็นสัญญาซื้อน้ำระหว่างประเทศ ทุกวันนี้คนสิงคโปร์สามารถลดการใช้น้ำจากมาเลเซียและหันมาใช้น้ำที่ผลิตได้เองในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังกลายเป็นจุดหมายที่หากรัฐบาลของประเทศใดกำลังหาสถานที่ดูงานว่าด้วยการจัดการน้ำ สิงคโปร์จะต้องเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ
Sustainable Singapore Gallery
ตั้งอยู่ในอาคารข้างประตูน้ำมารีน่า บาร์ราจ Sustainable Singapore Gallery คือพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าว่าคนสิงคโปร์เอาน้ำมาจากไหน และในอนาคตจะผลิตน้ำของตัวเองได้อย่างไร
นี่คือสถานที่ที่รัฐบาลสิงคโปร์นำโดย Public Utilities Board (PUB) ใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียและการออกแบบที่ล้ำสมัย บอกเล่าวิสัยทัศน์การจัดการน้ำเพื่อรับมือกับโลกอนาคต เพราะอย่างที่บอก สิงคโปร์ไม่นิ่งดูดายกับการขอซื้อน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านไปตลอด ที่นี่จะทำให้เรารู้ว่า PUB มีกระบวนการกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเลอย่างไร (ปัจจุบันมีโรงงานเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด 3 แห่ง ซึ่งสิงคโปร์ตั้งเป้าจะเปิดอีก 2 โรงงาน ในปี 2020)/ วิธีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 17 แห่งทั่วเกาะ (จากเดิมที่สิงคโปร์มีอ่างเก็บน้ำธรรมชาติเพียง 3 แห่ง)/ และนวัตกรรมที่สำคัญอย่าง NEWater ซึ่งเป็นการบำบัดน้ำเสียด้วยการกรองและฆ่าเชื้อด้วยอัลตร้าไวโอเลต เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (PUB เพิ่งเปิดทำการอุโมงค์ใต้ดินระยะทาง 48 กิโลเมตร สำหรับระบายน้ำใช้แล้วเพื่อส่งตรงเข้าระบบบำบัดน้ำของ NEWater ไปเมื่อปีที่แล้ว)
ไม่เพียงความเอาจริงเอาจังเรื่องน้ำของ PUB หากการมีชีวิตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมคือโจทย์สำคัญของสิงคโปร์ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทและถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย
เครื่องเล่นที่ให้คุณตอบคำถามเพื่อประเมินว่าชีวิตประจำวันของคุณใช้คาร์บอนไปเท่าไหร่, นิทรรศการที่บอกเล่าถึงความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของประเทศ, เกมบนหน้าจอทัชสกรีนที่ช่วยให้ข้อมูลว่าขยะที่พวกเราสร้างขึ้นในชีวิตประจำวันจะถูกนำไปรีไซเคิลได้อย่างไรและเป็นอะไรได้บ้าง/ จักรยานแบบอินเตอร์แอคทีฟให้ผู้ชมปั่นไปพร้อมกับการสร้างจิตสำนึกและการย้ำแนวคิดของเมืองปลอดเครื่องยนต์ในอนาคต (นี่ยังเป็นอีกวิธีที่ PUB ทำให้เราเห็นว่าเส้นทางปั่นจักรยานในสิงคโปร์ใช้ได้จริง โดยไม่มีรถ แผงลอย หรือเสาใดๆ มาจอดขวาง) ฯลฯ
เหล่านี้คือเครื่องเล่นอินเตอร์แอคทีฟที่พิพิธภัณฑ์ตั้งใจจะสร้างบทสนทนาถึงความยั่งยืนกับผู้ชม ไปพร้อมกับนิทรรศการที่บอกเล่าว่าสิงคโปร์มีแนวคิดในการดูแลเมือง สาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียว (ที่เป็นอีกหนึ่งวาระแห่งชาติ) ต่อไปในอนาคตอย่างไร
คุณภาพชีวิตในเมืองที่มีความหนาแน่นกว่ากรุงเทพมหานครสองเท่า
ไม่เพียงเขื่อน Marina Barrage ที่สิงคโปร์เปลี่ยนสำนักงานราชการให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ ที่สำนักงานผังเมือง Urban Redevelopment Authority (URA) ที่ตั้งอยู่ในไชน่าทาวน์ ไม่เพียงจะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการพื้นที่ขนาด 718 ตารางกิโลเมตรของประเทศ (รวมถึงการขับเคลื่อนแผนการถมทะเลขยายที่ดินต่อไปในอนาคต) หาก URA ยังเป็นที่ตั้งของ Singapore City Gallery พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าว่าสิงคโปร์มีวิธีการจัดการพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากร 7,909 คนต่อตารางกิโลเมตร (มากกว่ากรุงเทพที่มีราว 3,600 คนต่อตารางกิโลเมตร) อย่างไรให้ผู้คนยังคงเข้าถึงพื้นที่สีเขียว สาธารณูปโภค และอากาศที่บริสุทธิ์
Singapore City Gallery
Singapore City Gallery หรือ พิพิธภัณฑ์เมืองสิงคโปร์ แบ่งนิทรรศการออกเป็น 10 ส่วน ครอบคลุมถึงที่มาของเมือง การเจริญเติบโตสู่มหานครไปพร้อมกับแนวทางการอนุรักษ์อาคารเก่า การขยายพื้นที่ และแนวทางการพัฒนาผังเมืองที่สอดคล้องไปกับแผนแม่บทว่าด้วยความยั่งยืน… ซึ่งวางกันไปยาวถึงจินตภาพเมืองในอีกครึ่งศตวรรษหน้ากันเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับ Sustainable Singapore Gallery พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ย่อยข้อมูลที่หากอ่านแค่ text เฉยๆ คงน่าเบื่อ ให้กลายมาเป็นมัลติมีเดียที่หลากหลาย สนุก และเข้าใจง่าย
ไม่ว่าจะเป็นวีดิทัศน์บนจอโปรเจกเตอร์โค้ง 270 องศาที่นำเสนอภูมิทัศน์ของเมือง, อินโฟกราฟิกดีไซน์เก๋ที่บอกเล่าวิวัฒนาการของเมืองตั้งแต่ยุคของเมืองแห่งการประมงสู่ศูนย์กลางแห่งการลงทุน, โมเดลที่ผ่าตัดให้เห็นโครงสร้างภายในอาคารประวัติศาสตร์แห่งต่างๆ ทั่วประเทศ, แผนที่ใต้ดินของสิงคโปร์ที่เผยให้เห็นการขับเคลื่อนของเมืองทั้งจากระบบขนส่งมวลชน พื้นที่การค้า และอุโมงค์ส่งน้ำ รวมไปถึงงานจิตรกรรมขนาดยักษ์รูปภูมิทัศน์ของเมืองที่วาดโดย Stephen Wiltshire ศิลปินชาวอังกฤษที่มีอาการออทิสติก (เขาวาดรูปทิวทัศน์ทั้งเมืองจากการเพียงนั่งเฮลิคอปเตอร์ชมเมืองเพียงรอบเดียว) และโมเดลแผนผังของเมืองขนาด 11×11 เมตรที่ไม่เพียงให้ผู้ชมเห็นกายภาพเมือง แต่ยังเห็นพื้นที่ที่กำลังพัฒนาและกำลังจะเกิดในอนาคตอีกด้วย
Singapore City Gallery ทำให้เราเห็นภาพ 3 องค์ประกอบสำคัญที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกันไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประเทศในปัจจุบัน นั่นคือด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือความสามารถในการพึ่งพาตัวเองอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน
ต้นไม้คือเครื่องอวดความศิวิไลซ์
จากประเทศแล้งน้ำสู่เมืองที่หนาแน่นด้วยประชากรติดอันดับโลก สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่ไม่มีผืนป่า แต่กลับมีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลกอีกด้วย (จัดอันดับจาก World Economic Forum โดยคำนวณพื้นที่สีเขียวได้มากถึง 29.3% ของพื้นที่)
เพราะไม่เพียงจะมีสวนสาธารณะมากถึง 350 แห่ง (ขณะที่กรุงเทพฯ ที่ใหญ่กว่าหลายเท่า กลับมีสวนสาธารณะไม่ถึง 40 แห่งในปัจจุบัน) หากแนวคิดสำคัญที่ตั้งใจให้พื้นที่สีเขียวติดตามผู้คนไปทุกที่ทุกทาง นั่นทำให้นอกจากริมถนน ทางเท้า ในพื้นที่ชุมชน หากในอาคารสำนักงานสูงระฟ้าก็ล้วนมีสวนแนวตั้งให้ความร่มรื่นอยู่ทุกหัวระแหง
เช่นเดียวกับเรื่องน้ำ เพราะเริ่มต้นจากความขาดแคลน นั่นทำให้พร้อมไปกับกระบวนการที่ทำให้ประเทศลืมตาอ้าปาก ลี กวน ยู จึงวางนโยบาย Garden City ไปพร้อมกับแผนแม่บทในการวางผังเมืองตั้งแต่ปี 1967 นี่คือแผนการที่ปลูกฝังให้สถาปนิก ภูมิสถาปนิก นักออกแบบ นักลงทุน และบุคคลทั่วไปตระหนักว่าไม่ว่าจะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใดก็ตาม ไม่ว่าจะสำนักงาน ถนนหนทาง หรือกระทั่งลานจอดรถ พื้นที่สีเขียวคือหัวใจสำคัญ
Garden City คือนโยบายที่ทำให้ทุกภาคส่วนของรัฐบาลและเอกชนระดมกันเติมต้นไม้ให้ประเทศ ขณะเดียวกันก็ลงทุนกับการศึกษาวิจัยเพื่อการดูแลต้นไม้อย่างเป็นระบบ (สิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มี ‘หมอต้นไม้’ สำหรับการดูแลรักษาต้นไม้เป็นอาชีพ) พร้อมไปกับการก่อตั้ง Parks and Recreation Department หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องสวนสาธารณะในเมืองโดยตรง
ด้วยเหตุนี้ต้นไม้ทุกต้นในประเทศสิงคโปร์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ทางกฎหมายมาก ไม่เพราะต้นไม้จำนวนกว่า 1.4 ล้านต้น (สำรวจเมื่อปี 2017) ได้รับการลงทะเบียน คล้ายมีสำมะโนประชากร หากลำพังแค่มนุษย์อย่างเราไปเด็ดใบไม้ หรือตัดกิ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ผู้กระทำผิดก็อาจถูกปรับหรือต้องขึ้นศาลเป็นคดีความจริงจัง แต่นั่นล่ะ ที่เข้มงวดเช่นนั้นไม่ใช่เพราะเหตุผลเรื่องภูมิทัศน์และความร่มรื่นอย่างเดียว แต่นี่คือวิธีการจัดการต้นไม้อย่างเป็นระบบ และเป็นการป้องกันไม่ให้ต้นไม้เป็นภัยต่อสวัสดิภาพของผู้คนในพื้นที่สาธารณะในยามที่เกิดพายุ หรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันอีกด้วย
จากวิสัยทัศน์เรื่อง Garden City ของลี กวน ยู ปัจจุบันสิงคโปร์ต่อยอดสู่นโยบาย Garden In The City อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาเมือง 2014-2030 ภายใต้แนวคิด More Land, More Homes, More Greenery เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกับเศรษฐกิจและสังคมด้วยกัน ขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็ยังไฮไลท์พื้นที่สีเขียวของตัวเองให้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใครได้มาเยือน ก็ต้องไม่พลาดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Gardens by the Bay, Woodlands Waterfront หรือ Singapore Botanic Gardens สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศ ที่รัฐบาลยังผลักดันให้กลายเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2558 อีก
ไม่เพียงแนวคิดการบูรณาการทุกอย่างทั้งเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน หากทุกองคาพยพที่รัฐบาลสิงคโปร์ขับเคลื่อน ยังสะท้อนให้เห็นความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของภาครัฐด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยผู้รับผิดชอบในแต่ละโครงการชัดเจน การย่อยนโยบายของเมืองเพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายและทั่วถึง การปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อเมืองผ่านนิทรรศการและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงการเปิดเผยแผนแม่บทในอนาคตที่ทำให้ทุกคนรับรู้และพร้อมที่จะรับมือ
เหล่านี้คือความฉลาดแบบสิงคโปร์ ความฉลาดที่เกิดมาจากความไม่ยอมจำนนต่อต้นทุนที่ขาดแคลน – พลังของผู้คนจากดินแดนเกาะเล็กๆ ที่กระทบกระเทือนและกลายเป็นแรงบันดาลใจระดับโลก จึงเกิดอีเวนท์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น Event Singapore International Energy Week, World City Summit, Singapore International Water Week และ Green Urban Space ที่ชวนให้คนจากทั่วโลกเข้าไปสัมผัส