นี่คือประเทศที่มีประชากรเพียง 5.6 ล้านคน หากสนามบินเพื่อการพาณิชย์ที่มีอยู่แห่งเดียวของประเทศกลับรองรับผู้โดยสารเฉลี่ย 62 ล้านคนต่อปี
ไม่เพียงเท่านั้นสายการบินประจำชาติอย่าง Singapore Airlines ยังติดอันดับสายการบินที่ดีที่สุดจากสื่อหลายสำนัก เช่นเดียวกับท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี (Singapore Changi Airport) ที่ติดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกจาก Skytrak 6 ปีติดต่อกัน
นี่คือประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่เอาเข้าจริงยังต้องนำเข้าน้ำจืดจากประเทศเพื่อนบ้านใช้อุปโภคและบริโภคอยู่เลย แต่นั่นล่ะ ความมุ่งมั่นของผู้คนในแห่งนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าถึงประเทศไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมพรั่ง แต่ก็สามารถขึ้นเป็นที่หนึ่งบนท้องฟ้า และเร็วๆ นี้อาจจะขึ้นไปพิชิตอวกาศได้อีก
Terminal 4 และ Jewel Changi
เป็นเจ้าแห่งการบินไม่ยาก เพียงทำให้การเดินทางเป็นเรื่องง่าย
เปิดทำการไปเมื่อปลายปี 2560 การเล่าถึงนวัตกรรมสุดล้ำของ Terminal 4 (T4) หรืออาคารผู้โดยสารแห่งที่ 4 อันเป็นอาคารฯ แห่งล่าสุดของสนามบินชางงี ดูจะเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว กระนั้นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในชานชาลาที่ 4 รวมไปถึง Jewel
อาคารศูนย์การค้าภายในสนามบินที่มีกำหนดจะเปิดภายในปีนี้ (2019) ก็ช่วยสะท้อนวิธีคิดและความทะเยอทะยานต่อการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีการบินของสิงคโปร์ได้ดี
สะท้อนอย่างไร?
สะท้อนก็ตรงที่นี่คือการนำนวัตกรรมมารับใช้ผู้โดยสารเพื่อให้การเดินทางหรือการต่อเที่ยวบินเป็นไปอย่างเรียบง่ายและราบรื่นที่สุดอย่างที่อาคารผู้โดยสารควรจะเป็น ขณะเดียวกันนี่ยังเป็นเวทีโชว์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศต่อผู้คนจากทั่วโลกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบ Fast and Seamless มาใช้ในฝั่งผู้โดยสารขาออก นี่คือกระบวนการเช็คอิน ฝากกระเป๋า ตรวจหนังสือเดินทาง ฯลฯ โดยระบบอัตโนมัติทุกขั้นตอน เพื่อให้กระบวนการขึ้นเครื่องของผู้โดยสารสะดวกและรวดเร็วที่สุด ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกรวมไปถึงสื่อบันเทิงภายในอาคารฯ ก็เป็นระบบอัตโนมัติที่นำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้ทั้งหมด (อีกทั้งการจัดสวนภายในอาคารที่สะท้อนแนวคิด garden in the city อันเป็นอีกหนึ่ง signature ของประเทศนี้ได้ดี)
ในขณะที่สิงคโปร์พยายามใช้ Terminal 4 เป็นเครื่องมือในการสะท้อนเทคโนโลยีและระบบการจัดการสุดล้ำภายในท่าอากาศยาน (รวมไปถึงการเป็นพื้นที่นำร่องทางเทคโนโลยี ก่อนจะมีการเปิด Terminal 5 ที่มีแผนจะเปิดในปี 2020) Jewel Changi ศูนย์การค้าแห่งใหม่ภายในพื้นที่ของสนามบิน (บริเวณด้านหน้า Terminal 1) ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ตอบจุดประสงค์หลักอันทะเยอทะยานของรัฐบาลประเทศนี้ไม่ต่างกัน
Jewel Changi คืออาคารรูปทรงโดมแก้วขนาดยักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ 53,800 ตารางเมตร บนความสูงเท่ากับอาคาร 10 ชั้น (พร้อมน้ำตกตรงกลางสูงกว่า 40 เมตร บริเวณพื้นที่ส่วนกลาง) รองรับร้านค้าปลีกเกือบ 300 ร้านค้า โรงภาพยนตร์ 11 แห่ง และ Canopy Park สวนป่าขนาดใหญ่ภายใต้โดมกระจก อาคารแห่งนี้มีทางเดินต่อเชื่อมจากสถานีรถไฟใต้ดินสู่อาคารผู้โดยสารของสนามบินชางงี
ราวกับหลุดมาจากฉากในภาพยนตร์ sci-fi แฟนตาซี หากโครงการที่รัฐทุ่มงบประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญซึ่งริเริ่มในปี 2013 ก็กำลังจะเปิดให้บริการภายในปี 2019 นี้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ซึ่งทันทีที่มันเปิดให้บริการ นี่ก็จะช่วยย้ำสถานะของการเป็นศูนย์กลางทางการบินระดับภูมิภาคบนมาตรฐานระดับโลกของประเทศเล็กๆ ประเทศนี้โดยสมบูรณ์
Seletar Aerospace Park รากฐานแห่งความก้าวล้ำ
จากท่าอากาศยานชางงีที่อยู่สุดปลายทิศตะวันออกของเกาะสิงคโปร์ เราเดินทางขึ้นเหนือไปเล็กน้อยสู่สนามบิน Seletar Airport สนามบินเก่าแก่ของประเทศที่เปิดทำการตั้งแต่ปี 1928 ก่อนจะมีการปรับปรุงให้กลายเป็น Seletar Aerospace Park ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมทางอากาศแห่งสำคัญของประเทศ
Seletar Aerospace Park คือมาสเตอร์แพลนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 โดยเป็นการขยายรันเวย์เพื่อรองรับการบินภาคพลเรือนอยู่ ในขณะเดียวกันก็แบ่งพื้นที่ให้กับบริษัททดลอง ศึกษาวิจัย และผลิตเครื่องบินชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Singapore Technology Aerospace, Jet Aviation, Airbus Helicopters, Rolls-Royce Holdings, Pratt & Whitney รวมไปถึง Airbus Asia Training Center ศูนย์ฝึกการบินของแอร์บัสที่กำลังจะมาเปิดที่นี่เป็นที่แรกในเอเชีย
กล่าวได้ว่าพื้นที่ขนาด 354 ไร่ของอุทยานแห่งนี้ เป็นเสมือน Silicon Valley ของอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาคก็ไม่ผิดนัก กระนั้นการมีโครงสร้างพื้นฐานและสนามวิจัยที่พร้อมพรั่งก็หาใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศนี้ เพราะหากขาดการสนับสนุนทางกิจกรรมและการสร้างโครงข่ายร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลกผ่านอีเวนท์ระดับโลกอย่าง Singapore Airshow และ Aviation Festival Asia ซึ่งไม่เพียงการอัพเดตนวัตกรรมการบินใหม่ๆ จากทั่วโลก ยังเป็นอีเวนท์ที่จุดประกายให้คนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์หันมาให้ความสนใจในสายอาชีพการบินอย่างจริงจัง
นี่จึงเป็นแรงขับสำคัญอันเริ่มต้นมาจากสนามบินแห่งเก่า การเปิดรับและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมกับโลก สู่ผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมในสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่เปิดทำการอยู่ในปัจจุบัน
2020’s Space Odyssey เรื่องของคนรุ่นใหม่ผู้อยากพิชิตอวกาศ
หลังจากมีแผนจะพัฒนาตั้งแต่ปี 2003 สิงคโปร์ใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการส่งดาวเทียมดวงแรกของประเทศ นามว่า X-SAT อันเป็นผลงานร่วมกันระหว่าง DSO National Laboratories, Nanyang Technological University และ National University of Singapore ขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้สำเร็จ สิงคโปร์ก็ดูเหมือนจะไม่หยุดพัฒนาการวิจัยเทคโนโลยีอวกาศมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดสปอตไลท์ก็ตกไปอยู่กับกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของประเทศ ที่มีแววว่ากำลังจะเป็นขึ้นสู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมอวกาศยานในระดับเอเชีย
Equatorial Space Industries (https://equatorialspace.com/) คือสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษา National University of Singapore เพื่อออกแบบและพัฒนาจรวดขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่อวกาศ โดยตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการส่งดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2021 ซึ่งล่าสุดโครงการพัฒนา Volans Black 1 จรวดที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 70 กิโลกรัมที่สตาร์ทอัพกลุ่มนี้พัฒนา ก็เพิ่งคว้ารางวัล Mohammed Bin Rashid Space Space Center (MNRSC) Innovation Challenge 2018 ที่ดูไบ นี่คือรางวัลที่มอบให้กับสตาร์ทอัพที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมทางอวกาศทั่วโลก ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ไม่เพียงกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย ในอีกมุม James และ Adam Gilmour จากออสเตรเลียก็จับมือร่วมหุ้นกับนักลงทุนและทีมผู้ผลิตในสิงคโปร์ ก่อตั้ง Gilmour Space Technologies (https://www.gspacetech.com/) หวังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจอวกาศเอกชนรายแรกในภูมิภาค โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาจรวดสำหรับส่งดาวเทียม Eris Q4 จรวดที่รองรับน้ำหนักได้มากถึง 400 กิโลกรัม ซึ่งตั้งเป้าจะปล่อยขึ้นสู่วงโคจรให้ได้ภายในปี 2020 นี้
แน่นอน, หาก Eris Q4 ประสบความสำเร็จ ความฝันในการเป็นบริษัทเอกชนบริษัทแรกในภูมิภาคที่ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศก็ไม่น่าไกลเกินเอื้อม
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในแวดวงสตาร์ทอัพทางอวกาศของสิงคโปร์ ควบคู่ไปกับความพยายามอย่างถึงที่สุดในการเป็นผู้นำของการคมนาคมทางอากาศของสนามบินแห่งชาติของสิงคโปร์ ซึ่งก็น่าสนใจทีเดียวว่าในช่วงเวลาอีกหนึ่งถึงสองปีที่จะถึงนี้ คือช่วงเวลาที่ทั้งสนามบินและกลุ่มสตาร์ทอัพที่เราเล่าไปต่างตั้งเป้าว่าโครงการที่ริเริ่มไว้จะประสบความสำเร็จ
นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีทางอวกาศให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากน้อยเพียงใด
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.tripzilla.com/changi-t4-sneak-peek/69768
https://www.straitstimes.com/singapore/new-brands-local-flavour-at-jewel-changi-airport
http://www.spacetechasia.com/singapore-launch-company-equatorial-space-industries-wins-2018-mbrsc-innovation-challenge/
https://www.forbes.com/sites/outofasia/2017/10/27/why-an-australian-space-entrepreneur-chose-tiny-singapore-to-build-a-rocket-factory/#3e53ee5198bc