กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ที่เราจะเห็นเพื่อนฝูงลงรูปไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย หรือกระทั่งรีวิวพาเที่ยวก็มีเห็นบนหน้าฟีดส์ไม่รู้หมด ราวกับเรียกร้องให้คนออกเดินทางไปหาประสบการณ์ใหม่อยู่เรือยไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ ด้วยข้อจำกัดหลายรูปแบบ วันลาที่จำกัด หน้าที่ความรับผิดชอบในงานของแต่ละคน และอื่น ๆ อีกมากมาย
ดังนั้น ในครั้งนี้ The MATTER เลยมาถามความเห็นของซีอีโอวัยสามสิบ “คุณเล็ก รุ่งโรจน์ ตันเจริญ” แห่งดิจิทัลเอเยนซี่ชื่อดังอย่าง Rabbit Digital Group ว่าเขามีมุมมองต่อประเด็น “คนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในการเดินทาง” อย่างไรรวมถึง การเดินทางในแต่ละครั้งจะสามารถเติมเต็ม passion ในการทำงานของตัวเองและให้กับลูกน้องอย่างไร ในฐานะที่เขาเป็นหัวหน้าที่มีลูกน้องเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น
คุณคิดอย่างไรกับคำที่ว่า “คนรุ่นใหม่เอะอะก็ลาไปเที่ยว”
จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยว อาจจะต้องตั้งคำถามก่อนว่าทำไม? ย้อนกลับไป มันมีคำหนึ่งที่บอกว่า คนสมัยนี้ไม่ได้ใช้เงินในการซื้อสิ่งของ แต่เราใช้เงินซื้อประสบการณ์มากกว่า แล้วก็มีงานวิจัยออกมาว่า การเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ มันดีกว่าการได้สิ่งของด้วย เพราะบางทีเราได้สิ่งของ เราสนุกกับมันและอาจจะจบในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ประสบการณ์แปลกใหม่มันติดตัวเราไปตลอด หรือกระทั่ง การเดินทางบางทริปมันเปลี่ยนแปลงตัวเราไปเลยก็มีนะครับ
อย่างตัวผมเอง ผมไม่ค่อยได้ไอเดียจากการนั่งในออฟฟิศ ผมมักได้ไอเดียจากการไปอยู่ข้างนอก อาจจะเป็นการไปเที่ยวบ้าง และไม่ใช่แค่การไปเที่ยวต่างประเทศอย่างเดียว แต่บางครั้งเกิดจากการที่เราไปพบปะพูดคุยกับผู้คนหลากหลาย หรือได้ไปงานสัมมนางานนู่นนี่ ซึ่งบางทีไม่ได้เกี่ยวกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) ด้วยซ้ำนะ
ยกตัวอย่าง 3 ปีที่ผ่านมา ผมพยายามสร้างระบบนิเวศภายในองค์กร (Ecosystem) ขึ้นมา คือการทำให้บริษัทหลายบริษัทภายใต้ Rabbit Digital Group ของเราสามารถเชื่อมต่อกัน แทนที่จะมีแค่บริษัทเดียว หรือมุ่งเน้นแบบต่างคนต่างโตอย่างเดียว เราหันกลับมาสร้างระบบนิเวศให้มันแข็งแรง เพื่อรวมทั้งหมดในการสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ไอเดียที่จะสร้างระบบนิเวศนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ผมนั่งประชุมกับใครในบริษัท แต่เกิดจากการที่ผมไปคุยกับคนนู้นคนนี้ แล้วไปฟัง ไปเจอ ถึงเกิดไอเดียในการสร้างมูลค่าภาพรวมว่าต้องทำแบบนี้ 1 2 3 4 แล้วกลับมาที่บริษัท แรงบันดาลใจเหล่านี้ได้จากการออกไปเปิดโลกกว้าง คุยกับคนข้างนอกทั้งนั้น เราได้เอาสิ่งที่เราเจอมาในแต่ละวันข้างในไปผสานกับแนวคิดต่างๆด้านนอก มันก็คือสาเหตุว่าทำไมการก้าวออกไป การออกไปที่อื่นบ้างถึงสำคัญ เพราะไอเดียมันเกิดจากตรงนั้น
ทีนี้ ในมุมมองของบริษัท บริษัทของเรามีคนทำงานช่วงอายุตั้งแต่น้องจบใหม่ อายุ 22-23 ปี ไปจนถึงพี่ ๆ ผู้บริหารอายุ 40 ปีกว่า ๆ แต่ส่วนใหญ่คือคนกลุ่มเจนวาย (Gen-Y) ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่าคนเจนวายโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต พร้อมกับโซเชียลเน็ตเวิร์กที่คนแลกเปลี่ยนกัน เราโตมากับโลกที่มันเปิดมาก ๆ ได้เห็นนู้นนี้ผ่านหน้าจอ เราก็อยากไปเจอประสบการณ์สิ่งเหล่านั้น คนรุ่นใหม่ถึงชอบเที่ยว มันถึงมีรีวิว กระทู้การท่องเที่ยวไปนู้นไปนี้มากมายหลากหลาย
กลับมาในมุมบริษัท เราเลยเข้าใจว่าเขาชอบไปเที่ยว งั้นก็ไปเที่ยวเลย ตราบใดที่คุณบริหารจัดการตัวคุณเองได้ ไม่ใช่ไปแล้วทิ้งงานไปเลย ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องมาคู่กัน คือสามารถที่จะไปเที่ยวหรือใช้ชีวิตได้เต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันคุณต้องบาลานซ์ในสิ่งที่คุณรับผิดชอบไปด้วยคู่กัน ซึ่งอันนี้ผมว่ามันคือสิ่งที่สำคัญ
ดูเหมือนคุณให้ความสำคัญกับคนทำงานมาก ๆ นี่เป็นเหตุผลที่คุณลงทุนทำออฟฟิศให้ออกมาสวย รึเปล่า?
หลัก ๆ บริษัทเราทำเกี่ยวกับงานดิจิทัล ซึ่งเอาเข้าจริง เราไม่มีสินค้าเลยนะ เราไม่มีน้ำ เราไม่มีอาหาร เราไม่มีของที่ต้องขาย แต่สิ่งที่เราขายคือคน คือสิ่งที่อยู่ในหัวของคนล้วน ๆ
เนื้องานบริษัทเราเป็นแนวครีเอทีฟ และเราเป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ มีความเป็นดิจิทัล ซึ่งถ้าสังเกต เราทำงานอยู่กับคำ 2 คำ คือ “ความคิดสร้างสรรค์” กับ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดในพื้นที่การทำงาน ยิ่งเด็กสมัยนี้ชอบไปนั่งร้านกาแฟกัน ชอบไปทำนู้นทำนี้ เบื่อไม่อยากนั่งที่โต๊ะ เราเลยทำโซนเปิด (Open space) ให้เป็นที่ที่มองไปแล้ว เวลาคิดงานไม่ออก ก็มานั่งถกไอเดียคุยงานกันได้ หรือเอาคอมพิวเตอร์มานั่งทำสบาย ๆ มีโซนเตียงนอนให้ได้นอนพัก เรียกว่าเป็นที่ที่ให้ทุกคนเปิดความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ นอกจากนี้ก็มีกิจกรรม ณ พื้นที่ตรงกลาง เพื่อให้เกิดการพบปะพูดคุยกัน ซึ่งผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเป็นบริษัทสำหรับคนรุ่นใหม่
กลายเป็นคำฮิตติดปากคนรุ่นใหม่ไปแล้ว กับ “การค้นหา Passion” คุณคิดยังไงกับประเด็นนี้?
แต่ก่อนเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เวลาผมไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย ผมมักจะบรรยายด้วยคำว่า “Passion” ว่าเราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงโลก ต้องฝันให้ใหญ่ แต่พอผมโตขึ้นเรื่อย ๆ และได้เจอคนเยอะขึ้น ถึงค่อยได้เห็นว่า Passion หรือความฝันของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เช่น คุณบอกว่าคุณอยากเปลี่ยนแปลงโลก อยากช่วยเหลือคนจน อยากเปลี่ยนแปลงด้านความอดอยากของเด็กในแอฟริกา ถ้าคุณมี Passion หรือคุณมีความฝันในสิ่งนั้น Go for It ลงมือทำมันไปเลย! แต่ในขณะเดียวกัน คนบางคนอาจมีความสุข หรือมี Passion เล็ก ๆ ในแบบของเขา เช่น เปิดร้านกาแฟ เปิดร้านหนังสือเล็ก ๆ หรืออย่างผมเห็นบางคน หรือผู้ใหญ่บางคนที่ยอมทำงานที่ตัวเองไม่ได้รักเลย ตั้งแต่ 9 โมงเช้า – 5 โมงเย็น ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้รักเลยนะ ไม่ได้ชอบ ไม่ได้สนุกกับมัน แต่เขารู้ว่าเขาทำสิ่งนั้นมาเพื่อเย็นนั้นเขาได้กลับมาอุ้มลูกเขา อันนี้คือความสุขของเขา นี่คือ Passion ของเขา ซึ่งมันเปรียบเทียบไม่ได้หรอก ว่าอะไรดีกว่าอะไร
เพราะฉะนั้น ผมว่าคำว่า Passion ไม่ว่าคุณจะมี Passion อะไรก็ตาม ไม่มีถูกผิด แต่ให้ค้นพบและรู้จักตัวเองจริง ๆ ว่า Passion ของตัวเองคืออะไร โลกปัจจุบันมันมีโซเชียลมีเดียหรือเราเดินไปร้านหนังสือ เราเห็นหนังสือเยอะมากเลย ที่บอกว่าเราต้องรวยเร็ว คุณต้องมีร้อยล้าน ก่อนอายุ 30 เราก็ต้องถามตัวเองว่า อันนั้นคือสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ หรือเปล่า หรือมันคือสิ่งที่คุณคิดว่าคุณต้องการ เพราะคุณไปเห็นในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่สังคมพาไป แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คุณชอบจริง ๆ ก็ได้
ฉะนั้น การค้นหา Passion ตัวเอง ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ไม่สำคัญ แต่ขอให้คุณซื่อสัตย์กับเสียงข้างในตัวเอง และเป็นสิ่งที่คุณอยากจะเป็น
แล้ว Passion ของคุณคืออะไร?
Passion ของผมวันนี้ ผมเป็นคนที่ชอบค้นหา (Explore) อะไรใหม่ ๆ เจออะไรใหม่ ๆ ในทุก ๆ มุมเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นมุมสนุก มุมความรู้ มุมเทคโนโลยี มุมวิทยาศาสตร์ มุมทางปรัชญา มุมทาง Spiritual (จิตวิญญาณ) ผมสนุกกับการที่จะได้เจอสิ่งใหม่ ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน
คุณคิดว่า Passion เกี่ยวกับการทำงานอย่างไร?
ทุกวันนี้คนจะชอบพูดว่า “เราต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ” แต่เมื่อเราทำงานจริง ๆ เมื่อเราเริ่มทำงานผมมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่อาจจะต่างจากชาวบ้านผมไม่เชื่อว่าทุกคนจะได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักทุกอย่างแบบ 100% ที่ผมพูดแบบนี้ เพราะผมได้คุยกับพี่ ๆ ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน
คนมักบอกว่าคุณต้องทำในสิ่งที่รัก แต่ว่าจริงๆแล้ว มันมีคำถัดมาว่า “คุณต้องรักในสิ่งที่ทำด้วย” มันต่างกันนะ สองคำนี้ ทำในสิ่งที่รักคือ เรามี Passion กับเรื่องนี้ เช่น เรามี Passion กับเรื่องการตลาด หรือเทคโนโลยีดิจิทัล คือเราอยากทำ เราทำในสิ่งที่รักแล้วมีความสุขมาก ๆ เลย แต่ในส่วนที่ทำงาน มันก็มีส่วนที่เราไม่ชอบเหมือนกัน เราอาจจะไม่ชอบเรื่องแก้ไขปัญหา เราอาจไม่ชอบเรื่องการบริหารคน หรือเรื่องนู้นเรื่องนี้ แต่คุณก็ต้องทำ หรือขณะเดียวกัน บางคนชอบทำขนม ชอบกาแฟ แต่คุณไม่ได้อยากมาทำเรื่องธุรกิจ เรื่องการบริหารคนหรอก แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ต้องรักในสิ่งที่ทำ ต้องพยายามรักมัน เพื่อให้คุณได้ทำในสิ่งที่คุณชอบด้วย
อย่างตัวผมเอง อาจจะครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำเป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบทำ แต่ผมต้องทำ ผมทำเพื่อให้ผมได้ทำในสิ่งที่ผมรักด้วย ผมรู้สึกว่าในปัจจุบันหลายคนหรือเด็กรุ่นใหม่อาจจะบอกว่า ฉันไม่มี Passion กับมันเลย ไม่อยากทำมันเลย อยู่ ๆ ก็ถอยออกมา เพราะแบบนี้เขาเลยบอกว่าทำไมเด็กเจนวายถึงถอยออกมาง่ายจัง แต่ถ้าเราปรับมุมมองจริง ๆ จะเห็นว่าเราพยายามรักในสิ่งที่เราทำได้ไหม พยายามหามุมที่เราชอบได้ไหม อย่างที่ผมบอกว่าหลายอย่างผมไม่ชอบนะ แต่ว่ามันมีมุมไหนไหมที่มันเป็นความท้าทายสำหรับเรา ลองสู้กับมันสักตั้ง หลาย ๆ อย่างเราไม่ชอบก็จริง แต่ต้องทำเพราะมันไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว มันเป็นเรื่องของคนอื่น ๆ เรื่องของน้อง ๆ ของคนในออฟฟิศ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญมาก ๆ
แล้วคุณคิดว่า บริษัทสามารถช่วยพนักงานในการค้นหา Passion ตัวเองได้ไหม?
ถ้าถามว่าเป็นหน้าที่ของเราไหม ผมมองว่าเราอาจจะไม่ได้เข้าไปช่วยเขาหา Passion เพราะผมเชื่อว่าทุกคนต้องค้นหาตัวเอง เราไม่สามารถไปช่วยทุกคนได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เราทำสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบต่าง ๆ ให้ดี เราทำโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ แล้วสิ่งอื่น ๆ มันจะออกมาเอง ผมว่าสิ่งนี้สำคัญ เช่น ในบริษัทเรา เราอาจจะมีสัก 3-5 เรื่องที่น่าสนใจ
ยกตัวอย่าง เนื่องจากเรามีพื้นที่เปิดส่วนกลาง (Office Space) วันดีคืนดีมีคนมาจัดกิจกรรม มาเปิดท้ายขายของ มือสองกัน เพราะเรามีพื้นที่ตรงนี้ ทุกคนก็เอาของมือสองของตัวเองมาขาย เราก็มาเดินช้อปปิ้งเป็นตลาดนัดกันเองในบริษัท จะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้บอกว่าเราจะต้องทำ แต่มันเกิดขึ้นจากการที่เราสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เขา
หรืออีกสิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งเปิดตัวไปคือ Passion Club เราเชื่อว่าเวลาคนทำงาน มันก็มีสิ่งที่เรารักในงานที่เราทำ และเราก็อาจจะชอบสิ่งอื่นด้วย เราเลยเปิดเป็น Passion Club เลย เหมือนเป็นชมรมในมหาวิทยาลัยว่าคุณมี Passion กับอะไร เช่น บางคนอาจมี Passion กับการเที่ยว การวิ่ง การเต้น ก็ให้คนสามารถเสนอว่า คุณอยากตั้งชมรมอะไร แล้วให้บริษัทสนับสนุนอะไร ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือทรัพยากรต่าง ๆ ถ้าอันไหนไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราทำได้เราก็ช่วยๆ กันทำ เราสนับสนุนเต็มที่ แล้วให้คนเข้ามาจอยตรงนี้ อันนี้คือสิ่งที่บริษัทของเราพยายามทำครับ
คุณมีสถานที่หรือ Destination อะไรที่อยากแนะนำไหม? ในการค้นหา Passion
มีประเทศหนึ่งที่เดินทางไม่ไกล และเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือสิงคโปร์ ผมว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่เหมือนใครเลยนะ ปกติแล้วถ้าคุณไปประเทศไหน สิ่งที่คุณได้รับและได้ซึมซับก็คือประเทศนั้นๆ เท่านั้น แต่ถ้าคุณไปสิงคโปร์ คุณเหมือนได้เห็นแบบโกลบอล (Global) คือคุณได้เข้าไปเปิดโลกที่กว้างขึ้น เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดนตรี งานศิลปะ หรืองานอีเว้นท์ (event) กิจกรรมหลากหลายเกิดขึ้นมากมาย
อย่างงานสำคัญ ๆ ก็จัดที่นู้นหมดเลยนะ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ งานแสดงศิลปะก็มาจัดที่สิงคโปร์บ่อยมาก งานโฆษณาจะมีงานหนึ่งชื่อ Spikes Asia เป็นงานครีเอทีฟในระดับภูมิภาค ก็จัดที่สิงคโปร์ หรือคนที่ชอบพวกงานเทศกาลดนตรี อย่างล่าสุดก็มีงาน Ultra Singapore มันเลยน่าสนใจ เพราะสิงคโปร์ไม่ได้มีทรัพยากร แต่ว่าด้วยทรัพยากรมนุษย์ของเขา ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเขา ด้วยการวางแผนอย่างดีของเขา มันเลยทำให้เขาเป็นประเทศที่น่าสนใจ และหลากหลายขึ้นมามากทีเดียวครับ
ซึ่งผมชื่นชมสิงคโปร์นะ เขาเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากร สิ่งที่เขามีอย่างเดียวคือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็คล้ายกับธุรกิจของผม ที่เป็นเอเยนซี่โฆษณา เราเองไม่ได้มีทรัพยากร เราไม่ได้มีสินค้าที่จะขาย แต่สิ่งที่เรามีคือสิ่งที่อยู่ในหัวคนล้วน ๆ เลย
คุณบอกว่า สิงคโปร์ กับ Rabbit Digital Group นั้นมีส่วนที่คล้ายกัน ถ้าเช่นนั้นแล้ว มีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับสิงคโปร์ที่คุณนำมาปรับใช้ได้?
สิงคโปร์สร้างประเทศขึ้นมาด้วยการเปิดกว้าง ด้วยการที่รัฐบาลไม่ลงมาเป็นผู้เล่นเองในทุกเรื่อง แต่รัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริม เป็นพี่เลี้ยงคอยผลักดันคนสิงคโปร์ โดยสร้างนโยบาย คุมกฎ เป็นกรรมการ ว่าทุกคนต้องเล่นบนสนามที่เท่าเทียมกัน เพราะถ้าคุณเล่นบนสนามที่เท่าเทียมกัน คุณมี Passion อะไร คุณอยากทำอะไร คุณก็สามารถสร้างให้มันเกิดขึ้นได้ที่บนเกาะแห่งนั้น เพราะรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนคุณเต็มที่
สำหรับ Rabbit Digital Group ผมมองว่าเราเป็นบริษัทก็จริง แต่เราก็พยายามทำอะไรที่คล้าย ๆ กัน เพราะเราเป็นบริษัทคนรุ่นใหม่ และเราทำงานด้านดิจิทัล ซึ่งคำว่าดิจิทัล คือโลกมันเปลี่ยนไปทุกวัน ทุกวันนี้โลกมันหมุนเร็วขึ้นมาก
เขาบอกว่า ผู้ที่จะอยู่รอดไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่คือคนที่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด แล้วการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงคืออะไร คือ คนของเราในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เราอยู่ เราไม่สามารถทำเรื่องเดิมซ้ำได้ อย่างเวลาเราจัดอบรม (Training) สไลด์นำเสนอ (Presentation) ในการอบรมของเราจะต้องปรับใหม่ทุก ๆ 6 เดือน บางทีเวลาผ่านไปหนึ่งปี ครึ่งหนึ่งใช้ไม่ได้แล้วนะ เพราะมันต้องใหม่ ต้องเปิดกว้างหลากหลายอยู่เสมอ DNA ของบริษัทเรา จึงเป็นคำว่า “Open for possibilities”
แล้วในอุตสาหกรรมที่เปิดกว้างขนาดนี้ เราสามารถที่จะบังคับให้ทุกคนต้องทำ ให้คุณต้องลุยนะ ให้คุณต้องเรียนรู้ได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาเปิดกว้าง ให้เขาได้เติบโต ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากขึ้น เราเป็นเสมือนพี่เลี้ยง บริษัทเป็นพี่เลี้ยงที่จะคอยช่วยให้พี่ ๆ น้อง ๆ ในบริษัทเราให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เปิดเวทีให้กว้าง อยากทำกิจกรรมอะไร ก็ทำเลย อะไรที่เราสนับสนุนได้ เราก็สนับสนุนเต็มที่ ผมว่ามันมีความคล้ายคลึงกับปรัชญาของสิงคโปร์อยู่เหมือนกัน
สุดท้ายอยากให้ทิ้งท้ายกับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่ออกเดินทางก็แล้ว ค้นหาตัวเองเท่าไรก็แล้ว แต่ยังไม่เจอ Passion สักที เขาต้องยังไง?
คำถามนี้เป็นคำถามที่คนชอบมาถามผมบ่อย ๆ ว่าตัวเองไม่มี Passion ไม่รู้ว่าชอบอะไร ซึ่งคำตอบผม ผมตอบอย่างกำปั้นทุบดิน คือค้นหามันต่อไป แล้วค้นหามันอย่างจริงจัง
ถ้าสังเกตบางคนไม่มี Passion ก็ได้นะ แต่คุณต้องถามตัวเองว่าคุณพยายามเปิดประตูทุกบานในชีวิตแล้วหรือยัง คุณบอกคุณไม่มี Passion แต่ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม เช้าไปทำงาน ไปนู้นไปนี้ เย็นกลับมา ไม่ได้ไปเปิดโลกใหม่ ๆ ไม่ได้ไปเจอคนใหม่ ๆ หรือไม่ได้อ่านหนังสือใหม่ ๆ ไม่ได้ไปท่องเที่ยวที่ใหม่ ๆ ถ้าคุณไม่มี Input เหล่านั้น คุณจะมี Output ที่ดีได้อย่างไร คุณต้องไปหา Input มากขึ้น ๆ เรื่อย ข้อแรกคือคุณต้องเข้าไปค้นหา (Explore) คือคุณต้องไปเติมน้ำในแก้วของคุณให้มากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ
ข้อที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันคือ คุณได้เอาจริงเอาจังกับประตูแต่ละบานหรือยัง ผมมองว่าเพราะเราอยู่ในยุคที่เรามีทางเลือกเยอะมาก ซึ่งบางทีเยอะเกินไป ทำให้เราไม่ได้ไปค้นหาตัวเองสุดสักทางหนึ่งเลย อย่างเช่นพอเริ่มเปิดประตู ติดนู่นนิดติดนี้หน่อย เห็นอะไรนิดหน่อย ไม่เอาแล้ว ถอยออกมา เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นดีกว่า แบบนี้ก็ยากที่จะเจอ ผมเพิ่งเห็นคลิปใน Youtube มาอันหนึ่ง ว่าคนยุคใหม่แบบพวกเราเป็นยุคที่มีประตูมากมายเปิดรอเราอยู่ เราชอบที่จะมีประตูเยอะแยะเปิดค้างไว้ มันเป็นเรื่องที่ดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี แต่อย่าลืมว่าเราก็ไม่สามารถอาศัยบนทางเดินนี้อยู่ตลอดไปได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น คุณต้องลองเปิดประตู เดินเข้าไปในห้องแต่ละห้อง และลุยกับมันอย่างเต็มที่ ถ้าคุณคิดว่าใช่ ก็จงอยู่กับมันและทำมันให้สำเร็จ