ทำไมประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ถึงดึงดูดการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจได้?
ทุกคำถามมีคำตอบของมัน Saw Ken Wye คือผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท CrimsonLogic Pte. Ltd. (www.crimsonlogic.com) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่วางรากฐานระบบ e-citizen ให้แก่รัฐบาลสิงคโปร์ รวมไปถึงระบบการจัดการออนไลน์ให้แก่หน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจอื่นๆ ในเอเชีย ภูมิภาคตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore Manufacturing Federation: SMF) ผู้บริหารระดับมันสมองที่เชื่อมโยงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับภาคอุตสาหกรรม จนทำให้เกาะเล็กๆ อันเป็นบ้านเกิดของเขา กำลังเป็นที่จับตามองของแวดวงอุตสาหกรรมโลก
เริ่มงานด้าน IT ตั้งแต่ปี 1983 Saw คือผู้บุกเบิกนโยบายและกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับประเทศผ่าน National Computer Board (NCB) ก่อนจะไปทำงานระดับบริหารใน Microsoft อีก 16 ปี และแยกออกมาก่อตั้ง CrimsonLogic Pte. Ltd. โดยหนึ่งในผลงานอันเป็นที่จดจำคือการทำ SingPass หรือระบบบัญชีกลางบริการภาครัฐของประเทศ ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเป็นโมเดลที่รัฐบาลของหลายประเทศนำไปปรับใช้ทั่วโลก
ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์กำลังขับเคลื่อนแคมเปญ Passion Made Possible (ทุกความชอบที่ใช่ เป็นไปได้ที่สิงคโปร์) The MATTER มีโอกาสได้คุยกับ Saw Ken Wye นักบริหารวิสัยทัศน์ไกล ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มวงการสตาร์ทอัพคนแรกในภูมิภาค กุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์กลายเป็น Smart Nation โดยสมบูรณ์ในปัจจุบัน
คุณจบการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ แต่เลือกทำงานด้าน IT เมื่อ 30 กว่าปีก่อน อะไรที่ทำให้คุณเห็นว่าแวดวงนี้มีศักยภาพ และคนสิงคโปร์ในยุคนั้นมองเห็นแบบคุณหรือยัง
ผมคิดว่าเพราะค่าตั้งต้นของประเทศเราคือการไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ เลย นั่นทำให้แต่ไหนแต่ไรมา เราจึงมองตรงกันว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ผมเข้ามาทำงานในช่วงเดียวกับที่รัฐบาลเริ่มลงทุนในเรื่องนี้อย่างเต็มตัว โดยก่อตั้ง National Computer Board (NCB) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิวัติดิจิทัล ก่อให้เกิดเครือข่ายเทคโนโลยีและบุคลากรสายสารสนเทศมากมาย เหล่านี้กลายมาเป็นทรัพยากรหลักในประเทศ จากเทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นใช้เอง ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการส่งออกเทคโนโลยี เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้รวมถึงชักชวนนักลงทุนเข้ามา
หลังจาก NCB คุณก็เข้าทำงานที่ Microsoft ประสบการณ์ที่นั่นได้เปลี่ยนความคิดคุณไปมากน้อยเพียงใด
ผมทำงานกับ NCB 16 ปี เท่ากับที่ทำให้ Microsoft ที่นั้นผมมีโอกาสทำงานหลายตำแหน่ง เป็นทั้งผู้จัดการระดับประเทศ เป็นรองประธานฝ่ายขายและการตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอื่นๆ การได้ทำงานที่หลากหลาย ทำให้ผมเข้าใจเทคโนโลยีทั้งในแง่มุมนวัตกรรม ธุรกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม Microsoft ไม่ได้เปลี่ยนความคิดผม เพียงแต่ทำให้มีความเข้าใจและมุมมองที่รอบด้านมากขึ้น
คุณริเริ่ม CrimsonLogic ได้อย่างไร
พอมองย้อนกลับไปในยุค 1980s อุตสาหกรรม IT ของประเทศเราเล็กมากๆ และเราจำเป็นต้องยืมเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยวางรากฐานและพัฒนาบุคลากรให้ จนมาถึงปัจจุบันที่เราสามารถมีทรัพยากรเป็นของเราแล้ว จึงคิดว่าน่าจะสร้างหน่วยงานมาขับเคลื่อนตรงนี้ได้ CrimsonLogic Pte. Ltd. เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาล เป็นหน่วยงานด้าน IT ที่ทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนโยบายภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ
รัฐบาลสิงคโปร์พยายามชักชวนให้บริษัทเทคโนโลยีจากทั่วโลกมาลงทุนในประเทศ ในฐานะที่คุณมีส่วนในการวางนโยบายด้าน IT ด้วย คุณมีวิธีจูงใจบริษัทเหล่านั้นอย่างไร
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และเราพร้อมต้อนรับทุกคนอยู่แล้ว สิ่งที่จูงใจนักลงทุนได้ดีที่สุดคือการแสดงให้เห็นความพร้อมของทรัพยากรทางเทคโนโลยีที่เรามี รวมไปถึงบุคลาการ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ
เทคโนโลยีในอนาคตกำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และระบบหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ คุณจะแนะนำแรงงานรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
เป็นเรื่องจริงที่ว่าโลกสมัยใหม่ สิ่งใดที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็จะถูกแทนที่ นี่คือสิ่งที่เราต้องยอมรับให้ได้ คุณลองคิดถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อสองร้อยปีก่อนดูสิ ประชากร 80% ทำเกษตรกรรมกันหมด แล้วมาดูตัวเลขในปัจจุบัน เหลือคนทำงานในสายอาชีพนี้เพียง 2% ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า 78% ที่เหลือจะตกงาน แต่เขาไปทำงานอย่างอื่น ก็เหมือนกับเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็แทนที่การทำงานหนึ่งๆ เมื่องานใหม่เกิดขึ้น โอกาสใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น
อยากให้คุณช่วยยกตัวอย่างโอกาสใหม่ๆ ที่ว่า
งานที่เป็น routine อย่างการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน หรือการตรวจเช็คสัมภาระ ผมคิดว่าเทคโนโลยีสามารถแทนที่แรงงานคนได้สบาย เราไม่ต้องใช้แรงงานในการเช็คกระเป๋า แต่ควรไปทำอย่างอื่นแทนแล้ว เช่น คอยสอดส่องพฤติกรรมผู้โดยการ หรือดูการตอบสนองของบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่คุณแค่มองเห็น แต่จะต้องทำการตรวจสอบ เทคโนโลยีไม่สามารถเอาชนะมนุษย์ในเรื่องนี้ได้ ผมหมายถึงความชาญฉลาดทางอารมณ์ และความเข้าใจในเชิงลึก
แต่สัดส่วนที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ก็ยังเยอะอยู่ดี เราจะหาทางออกให้พวกเขาอย่างไร
นี่เป็นความท้าทาย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นั่นต้องเกิดการแทนที่ เป็นเรื่องยากที่จะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลเหล่านั้นตั้งใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือมีศักยภาพพอจะเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการทำงานให้เพิ่มมากขึ้นหรือแตกต่างกว่าที่เป็นอยู่แค่ไหน
ในฐานะที่คุณทำงานสภาอุตสาหกรรม ที่พยายามส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม 4.0 คุณมีวิธีการสร้างสมดุลระหว่างประเทศอุตสาหกรรม กับการเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมอย่างไร
อย่าลืมว่าในขณะที่สิงคโปร์เป็นป่าคอนกรีต เรามีพื้นที่สีเขียวที่หนาแน่นพอกัน เรามีการวางแผนในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนมาตลอดอยู่แล้ว ที่สำคัญคือการที่เรามีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาใช้เชื่อมต่อ ซึ่งจะลบภาพการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ไปเลย
คุณมีความคิดเห็นต่อคำว่า Passion ในแคมเปญ Passion Made Possible อย่างไร
ผมคิดถึงสิ่งที่จะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่า มันเริ่มต้นจากตรงนี้แหละ อนาคตที่ดีกว่าเริ่มต้นจากการสร้างสรรค์หลายสิ่งที่แตกต่างกัน ทำงานเหล่านั้นด้วยความกล้าหาญ เปิดกว้างกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าถ้าเราทำมันได้ อนาคตที่ดีก็เป็นไปได้จริง
แล้วคุณจินตนาการอนาคตของสิงคโปร์ไว้อย่างไร
ผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในอนาคตของสิงคโปร์คือ ประชากรของเราจะอายุยืนขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องการให้ประเทศสามารถสนับสนุนสวัสดิการได้ทั้งคนหนุ่มสาวและคนชรา ประชากรไม่ได้เติบโตขึ้นเร็วทันกัน คุณจึงต้องแน่ใจว่าคนชราจะมีโอกาสและศักยภาพที่สามารถทำงานต่อไปได้ ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตและการทำงานอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลได้
ความสมดุลของคุณภาพชีวิตและการทำงานนี่แหละ คืออนาคตที่ผมอยากเห็นในสิงคโปร์